Thursday, September 28, 2006

ท่าทีใหม่ของ ม.เที่ยงคืน (แต่งดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราว): พวกคุณกำลังหลอกใครเล่น?

(29 กันยายน 2549)



(โปรดอ่านประกอบ รายงานข่าวท่าทีใหม่ของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน จากประชาไท ที่นี่ หรือ ที่นี่ และดูตัวบทแถลงการณ์ที่นี่ )

ท่าทีใหม่สุดของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน เกิดขึ้น หลังจากท่าทีแรกสุดที่มีลักษณะชวนสมเพชอย่างยิ่ง (ดูความเห็นผมที่นี่) ท่าทีใหม่นี้ ดูเหมือนกับจะแสดงความ "กล้าหาญ" อย่างคาดไม่ถึง (แต่งชุดดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) แต่ในความเป็นจริง เมื่อมองเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงและบริบทต่างๆแล้ว ผมเห็นว่า ท่าทีใหม่อาจจะชวนสมเพชยิ่งกว่าด้วยซ้ำ


(1) ท่าทีใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจาก มีกลุ่มแอ๊กติวิสต์หลายกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็น "เด็ก" อ่อนอาวุโสกว่านักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และไม่มี protection ใดๆ หรือมีน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ออกมาแสดงความกล้าหาญ ไม่เพียงประณาม คัดค้าน ยังทำการ "ขัดขืน" คำสั่งคณะปฏิรูป ตลอด 10 วันที่ผ่านมา ในขณะที่บรรดานักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ซึ่งทำตัวเป็น "หัวหอก" ของการประท้วงคัดค้านในสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง กลับมีท่าทีอันชวนสมเพชดังกล่าว การออกมาแสดงท่าทีตอนนี้ ยิ่งในลักษณะของการใช้ stunt (ชุดดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญ) จึงกลับชวนให้รู้สึกว่า นี่คือการ "ฉวยโอกาส" สร้างภาพชดเชย กับท่าทีกระมิดกระเมี้ยน (timidity) ก่อนหน้านี้ ทั้งยังเป็นการ "ฉวยโอกาส" เอาความดีจาก "เด็กๆ" ที่แสดงความกล้าหาญ เสี่ยงนำทางไปก่อน (ดูประเด็นต่อมาประกอบ)


(2) จากข้อ (1) (การ "มาช้า", ใช้ stunt) เมื่อมองเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่สำคัญยิ่งอีกข้อหนึ่ง ยิ่งชวนให้เห็นว่า นี่ไม่เพียงมีลักษณะของการ "ฉวยโอกาส" (ในความหมายที่เพิ่งพูด) เท่านั้น หากยังเรียกได้ว่า น่าสมเพช และน่าถูกวิพากษ์ประนามเสียเองด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงที่ว่าคือ

จนกระทั่งวินาทีนี้ ก็ยังไม่มีคำว่า (เราขอ) "ประนามคัดค้านการรัฐประหาร" จาก ม.เที่ยงคืน!!

ก่อนที่ใครจะหาว่าผม "ชอบจับผิด" หรือ "จุกจิก" ขอให้คิดดูให้ดีๆ เป็นความจริงว่าในแถลงการณ์นี้ มีการพูดว่ารัฐประหารครั้งนี้ "เป็นการทำลายหลักการสำคัญการปกครองและพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย" (น่าสังเกตว่าคนอย่างเสน่ห์ หรือ ชัยวัฒน์ ก็บอกว่ารัฐประหาร "ผิดรัฐธรรมนูญ" หรือ "ผิดศีลธรรม" โดยไม่ยอม "ประนามคัดค้าน" เช่นกัน)

การพูดเช่นนี้ แต่ไม่ยอมใช้คำว่า "ประนามคัดค้าน" สำคัญไหม? มีความแตกต่างอะไรไหม?

ผมเสนอว่า สำคัญ และ แตกต่างอย่างยิ่ง

ใครที่อ้างว่าไม่สำคัญ ไม่แตกต่างกัน ต้องถามกลับว่า ถ้าไม่แตกต่างกันจริงๆ ทำไมไม่ยอมใช้คำว่า "ประนามคัดค้าน"?

ความจริงคือ ถ้าสังเกตให้ดี ไม่หลงไขว้เขวไปกับ stunt ที่ใช้ จะเห็นว่า ท่าทีใหม่ของม.เที่ยงคืนครั้งนี้ แท้ที่จริง เพียงพุ่งเป้าที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารเท่านั้น

พวกเขากำลังบอกว่าอะไร?

รัฐประหาร โอเค รัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้นที่คัดค้าน?

เมื่อมองจากสถานภาพของบรรดานักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และบทบาทสมัยรัฐบาลเลือกตั้งของพวกเขา ท่าทีไม่ยอมประนามคัดค้านรัฐประหารนี้ ชวนให้เหลือเชื่อยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ถ้าเปรียบเทียบกับแถลงการณ์ของ 4 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความกล้าหาญและมีเกียรติของนักวิชาการเป็นอย่างไร โปรดดูที่นี่) นี่คือแถลงการณ์ประเภทที่ นักวิชาการใหญ่ๆแห่งม.เที่ยงคืน ควรจะออกแต่แรก หรือถ้าไม่กล้าออกแต่แรก ก็ควรออกในขณะนี้ การไม่ยอมมีท่าทีเช่นนี้แม้ในขณะนี้ แต่กลับทำ stunt เรื่องแต่งดำ ฉีกรัฐธรรมนุญ เป็นเรื่องยากจะกลืนได้จริงๆ ในความเห็นของผม

(ดู "เหตุผล" หรือ "คำแก้ตัว" ที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งของการไม่ยอมประนามรัฐประหาร ในข้อต่อไป)


(3) ในการออกมาแสดงท่าทีใหม่ครั้งนี้ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ยังคงยืนยัน ย้ำสิ่งที่พวกเขาพูดไปก่อนหน้านี้คือรัฐประหารเป็นเรื่องที่ "ผ่านไปแล้ว", "ยังไงเราก็ย้อนกลับไม่ได้" (สมเกียรติ ตั้งนโม กล่าวในครั้งนี้ว่า "อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้" และดูบทความนิธิในมติชน "สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว" และแถลงการณ์ ม.เที่ยงคืนฉบับแรก "เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้แล้ว")

ผมต้องสารภาพว่า จนบัดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า การที่พวกเขาย้ำแล้วย้ำอีกประเด็นนี้เพื่ออะไร แปลว่า อะไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นสิ่งเหลือเชื่อที่นักวิชาการอันมีชื่อเสียงในแง่การคิดอัน "แหลมคม" ของ ม.เที่ยงคืน มาย้ำประเด็นที่โง่เขลาเช่นนี้

ถ้านี่เป็นการย้ำเพื่อจะแก้ตัวกับการไม่ยอมประนามการรัฐประหาร ประเภท "ไม่มีประโยชน์ที่จะประนามคัดค้าน รัฐประหาร เพราะผ่านไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว" ....

ถ้านี่คือสาเหตุ (ทั้งสำนึกหรือใต้สำนึก) ของการย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องนี้จริงๆ ก็ต้องบอกว่า การสร้างความชอบธรรมให้กับความขลาดกลัวของตัวเองของพวกคุณอยุ่ในระดับที่ต่ำกว่าความจำเป็นของการวิจารณ์ให้ได้ประโยชน์แล้ว

ถ้าไม่นับเรื่องนี้ (คือย้ำเพื่อแก้ตัวแทนการไม่ยอมประนาม) มีคำอธิบายที่เป็นไปได้อะไรอีก?

ก่อนอื่น พวกคุณคงไม่ได้หมายถึง การย้อนเวลาในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ (time travel ไปก่อนรัฐประหาร!) แน่ เพราะในแง่นี้ ไม่มีใครสติเสียพอที่จะเสนอ ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องมาพูดย้ำหลายครั้ง

หรือพวกคุณน่าจะหมายถึงการ "ย้อนกลับ" ในความหมาย ของ "สภาพทางการเมือง"?

แต่ในความหมายนี้ ยิ่งแย่กับพวกคุณเข้าไปใหญ่ เพราะสะท้อนให้เห็นลักษณะความจำสั้น และการขาดจิตใจที่วิเคราะห์วิจารณ์และมีจินตนาการ (analytical, critical and imaginative mind) ของพวกคุณเอง ไม่สมกับชื่อเสียงเลย

ถ้าการย้ำเรื่องนี้ เพื่อจะบอกว่า เราต้องมีลักษณะแบบที่ฝรั่งเรียกว่า realism ("มองโลกอย่างเป็นจริง") คือเราไม่สามารถรื้อฟื้นสภาพการเมืองก่อนรัฐประหารขึ้นมาได้อีก ทำนอง "ทำอะไรไม่ได้แล้ว ยังไงทหารก็ไม่ยอมลง ไม่ยอมเลิก" - ถ้านี่เป็นสิ่งที่ realistic คือจะเกิดขึ้นจริงๆ คือยังไงทหารก็ไม่ยอมลง ไม่ยอมเลิก หรือยังไงก็ "เอาพวกนี้ลงไม่ได้" จริง ก็ไม่เห็นมีประโยชน์ที่ต้องมาบอกซ้ำๆตอนนี้

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ใครบอกพวกคุณว่า "สภาพการเมือง" เป็นเหมือนก้อนอะไรก้อนเดียว ถ้า "ย้อนกลับคืน" ต้องหมายถึง การ "ย้อน" ทีเดียว "ทั้งก้อน"?

กรณี 17 พฤษภา คืออะไร ถ้าไม่ใช่การ "ย้อนเวลากลับไปก่อน รสช."?

อันที่จริง 17 พฤษภา ไม่เพียง "ย้อนกลับไปก่อน รสช." คือ ย้อนเวลากลับไปประมาณปีครึ่งเท่านั้น แต่เป็นการ "ย้อนเวลา" กลับไปไกลกว่าก่อน รสช. เกือบ 20 ปี คือกลับไปประมาณปี 2516-2517 หลัง 14 ตุลา เมื่ออำนาจทางการเมืองของทหารถูกบั่นทอนลงไปอย่างรุนแรง!

นี่ไม่ใช่การ "ย้อน" สภาพการเมือง ("เวลา") บางด้านที่สำคัญหรือ?

ผมจึงกล่าวว่า ใครบอกพวกคุณว่า "เวลา" หรือ "สภาพการเมือง" ถ้าจะย้อน ต้องย้อน ทั้งก้อน?

การย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องนี้ของพวกคุณ นอกจากสะท้อนให้เห็นความขาดกลัวอย่างลึกๆแล้ว ยังสะท้อนการขี้ลืม ความจำสั้น ขาดการวิเคราะห์วิจารณ์และจินตนาการอย่างมากด้วย

(ผมพูดตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมสนับสนุนให้เกิด 17 พฤษภา ความไม่เห็นด้วยต่อลักษณะบางอย่างของ 17 พฤษภาของผม คงเป็นที่รู้กันดี แต่ใครบอกว่า ขบวนการแบบ 17 พฤษภา จะต้องลงเอยด้วยการนองเลือดเสมอไปเท่านั้น?)


(4) ผมจะเก็บประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ไว้พูดถึงในโอกาสหน้า เพราะเรื่องนี้ มีหลายกลุ่มที่พูดถึงพร้อมกัน ผมอยากพูดสั้นๆในทีนี้ว่า ข้อเสนอของ ม.เที่ยงคืน หรือของกลุ่มอื่นๆในหลายวันมานี้ สะท้อนการ ไม่รู้จักเรียนรู้และคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่กี่ปีนี้ ที่สำคัญคือยังคงหลอกตัวเองเรื่องไอเดีย "ปฏิรูปการเมือง" เรื่อง "รัฐธรรมนูญ 40" เป็น "ประชาธิปไตยที่สุด" "ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด" (ด้านที่รัฐธรรมนุญนี้ให้อำนาจแบบสมบุรณาญาสิทธบางอย่างแก่กษัตริย์ และริดรอนสิทธิพื้นฐานที่สุดในการเลือกตั้งของประชาชนกลับกลายเป็นเรื่องถูกมองข้ามง่ายๆ) ฯลฯ

(รวมทั้งคิดว่า คงไม่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นลักษณะ กระมิดกระเมี้ยน ของข้อเสนอบางข้อที่อยู่ภายใต้ "ฉากหน้า" stunt ที่ "กล้าหาญ" เช่น เรื่องที่ ม.เที่ยงคืน เสนอให้ คปค. "สลายตัวไปหลังเลือกตั้ง" ทำไมช่าง "กล้า" เช่นนี้? ทำไมไม่เสนอให้ "สลายตัวทันที" (มีหลายกลุ่มเสนอแล้ว) หรืออย่างน้อย "หลังจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว (ก่อนเลือกตั้ง)"?)

สรุปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่า นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน กำลังหลอกใครเล่น? ตัวเอง หรือ ประชาชน หรือ ทั้งคู่?

Tuesday, September 26, 2006

ความรุนแรงของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

(27 กันยายน 2549)



ใครที่อยู่หรือติดตามความเคลื่อนไหวในวงวิชาการทั้งในไทยและตะวันตกในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา หรือไม่เพียงแต่ในวงวิชาการ แต่รวมถึงแม้กระทั่งวงการรัฐบาล งานประเภทสังคมสงเคราะห์ และ ngo ต่างๆ ย่อมยากจะไม่ทราบว่า มีความพยายามที่จะ "ขยายคำนิยาม" คำหรือจินตภาพ (concepts) จำนวนมาก ที่ก่อนหน้านั้น เคยมีความหมายอย่างจำกัด เช่น คำหรือ concepts ประเภท "การลวนลามทางเพศ" (sexual harrasment), "การทารุณเด็ก" (child abuse) เป็นต้น ให้มีความหมายหรือ "นิยาม" ที่กว้างขึ้น

ในบรรดาคำหรือ concepts ที่มีการพยายามขยายความหมายนี้ คำว่า "ความรุนแรง" จัดว่าเป็นคำหรือ concept ที่เด่นที่สุดคำหนึ่ง

ในอดีต คำนี้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ "ความรุนแรงทางกายภาพ" (physical violence) คือการใช้กำลัง (physical force) ต่อกัน เช่น ตบตี ชกต่อย ไปจนถึงฆ่ากันด้วยอาวุธ นักวิชาการและวงการรัฐบาลสมัยใหม่ ได้พยายามขยายความหมายคำนี้ออกไป ให้รวมถึงรูปแบบอื่นๆที่แม้จะไม่ใช่การใช้กำลัง แต่กล่าวกันว่า มีผลเหมือนๆกัน เช่น "ความรุนแรง" ทางวาจา (verbal violence) หรือกระทั่ง (นี่เป็นคำ favorite ในหมู่ผู้พยายามขยายนิยาม) "ความรุนแรง" ทางโครงสร้าง (คือ "โครงสร้าง" สังคม มีลักษณะหรือทำให้เกิดความ "รุนแรง" ต่อสมาชิก) ฯลฯ

โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ต้องสัมพันธ์หรือเข้าถึงสิ่ง (things) ต่างๆ โดยผ่านตัวกลาง (mediation) และตัวกลางนี้ (ที่สำคัญคือ ภาษา (language) และ จินตภาพ (concepts) ต่างๆ) ไม่ได้อยู่ในลักษณะ "ติด" กับสิ่งต่างๆมาโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องทีคนในสังคม ตกลงร่วมกันที่จะ "ผูก" คำหรือ concepts ใด เข้ากับสิ่งใด โดยมีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามเวลา หรือในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะมีความแตกต่างภายในกลุ่มคนที่ต้องการ "ผูก" หรือเชื่อมโยงคำหรือ concepts ทีต่างกัน เข้ากับสิ่งเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำการ พูดคุยเจรจา ต่อรองตกลง ไปถึงรณรงค์ ต่อสู้ ฯลฯ ในหมู่ผู้คนในสังคม

นี่คือกระบวนการพยายามขยายคำนิยาม หรือ จำกัดการขยายคำนิยาม ดังกล่าวข้างต้น

ในกรณีคำหรือ concept เรื่องความรุนแรงนั้น นอกจากการต่อสู้ขัดแย้งเรื่องควรขยายความหมายของคำนี้ ให้ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ทางคำพูด, ทาง "โครงสร้าง" ฯลฯ มากน้อยแค่ไหนแล้ว กล่าวได้ว่า แทบไม่มีใครคิดจะย้อนรอย กลับไปจำกัดความหมายหรือนิยามเดิมที่มีอยู่ช้านานแล้ว ("ความรุนแรงคือการใช้กำลัง/อาวุธ") ให้ลดลง

จึงเป็นเรื่องยิ่งกว่า irony (ตลกร้าย) เสียอีกที่คนอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่สร้างชื่อเสียงตัวเองเป็น "นักสันติวิธี" และมีบทบาทในการโฆษณาขยายความหมายของคำหรือ concept เรื่อง "ความรุนแรง" ในลักษณะพยายามให้ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" กลับมาบอกใครต่อใครเสียเองว่า การรัฐประหารยึดอำนาจด้วยอาวุธครั้งนี้ ทำไปอย่างไม่รุนแรง (staged non-violently)

การที่จนวันนี้ยังไม่มีใครเลือดตกยางออก ยังไม่มีใครโดนยิงด้วยลูกกระสุนหรือฟาดด้วยพานท้ายปืนของทหารคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เหตุผลแม้แต่น้อยที่จะบอกว่า นี่เป็น "การยึดอำนาจที่ทำไปอย่างไม่รุนแรง"

การเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครันเข้ายึดที่ต่างๆในกรุงเทพ และบังคับให้สื่อมวลชนต้องออกกระจายเสียงตาม อันที่จริงคือ บังคับทำลายทุกๆอย่าง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง?

ชัยวัฒน์ คิดว่าที่พวกนี้ทำสำเร็จได้เพราะอะไร? ไม่ใช่เพราะความรุนแรงที่ใช้ไปแล้วเหล่านี้ และความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอีก ที่พวกเขาขู่ให้คนรู้ว่าพร้อมจะใช้หรอกหรือ?

มีใครที่ยังสติดี ที่กล้าพูดว่า ถ้าในวันที่ 19 หรือวันต่อๆมา หรือต่อๆไป หากมีประชาชนแสดงการต่อต้านขัดขืนการยึดอำนาจ (เดินขบวนไปปิดล้อม ขวางทางทหาร รถถัง ฯลฯ) ทหารเหล่านั้นจะไม่เหนี่ยวไก หรือฟาดประชาชนเหล่าน้นด้วยพานท้ายปืน?

อันที่จริง ผมสงสัยว่า ถ้านี่เป็นการกระทำที่ "ไม่รุนแรง" จริงๆ คนอย่างชัยวัฒน์ คงไม่พูดอะไรที่งี่เง่าออกมาอย่างนี้แน่

ใครๆก็รู้ว่า ที่บรรดานักวิชาการเปลี่ยนจากปากกล้าต่อนักการเมือง กลายเป็น อ่อนน้อมประนีประนอมกับกล่มอำนาจใหม่ ก็เพราะกลุ่มหลังนี้ได้ใช้วิธีการรุนแรงไปแล้ว และแสดงให้ทุกคนรู้ว่า พร้อมจะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก ถ้ามีคนไม่ยอมทำตามในระดับที่พวกเขาเห็นว่ารับไม่ได้




(ปล. โดยส่วนตัวผมไม่ใช่ผุ้ที่ฝรั่งเรียกกันว่า pacifist และไม่เคยเห็นว่าการโฆษณาเรื่อง "สันติวิธี" ของชัยวัฒน์ ในหลายปีที่ผ่าน และใครต่อใครออกมาแสดงความชื่นชมนักหนานั้น เป็นเรื่องดีอะไร เพราะการโฆษณานี้ มีลักษณะของการ "มอมเมา" หรือ "หลอกคน" อยู่ในตัว ในเชิง "ละเว้นไม่ยอมพูดบางเรื่องอย่างถึงราก" (radical exception) เพราะแท้จริงแล้วคุณไม่กล้าที่จะ "พูดสันติวิธี" กับบางพวกที่ใช้ความรุนแรงทีสำคัญจริงๆ ("คุณกล้าพูดอย่างเปิดเผยว่าใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรง 6 ตุลา?" หรือ "คุณกล้ารณรงค์โดยสนติวิธี ("อารยะขัดขืน") ให้ลงโทษ - แค่วิจารณ์ก็ได้ - คนบางคนจริงๆ?" เป็นต้น) แต่ผมก็นึกไม่ถึงว่า ชัยวัฒน์ จะไปไกล หรือ "ลงต่ำ" ได้ขนาดนี้)

บางครั้งผมจนปัญญาหาคำด่าไม่ได้ ในกรณีอย่างเสน่ห์ จามริก, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

(26 กันยายน 2549)



ตอนนี้ผมยอมรับว่า ผมเริ่มจนปัญญา ในการหาคำมาด่าปัญญาชนนักวิชาการบางคน ที่แก้ต่างให้กับการข่มขืนการเมืองครั้งนี้ โดยเฉพาะพวกที่ทำตัวแนบเนียน ที่คลับคล้ายคลับคลาว่า "ไม่เห็นด้วย" แต่ในความเป็นจริง กลับ supply เหตุผล สร้างความชอบธรรมให้

ความจริง โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า พวกนี้แย่ยิ่งกว่า โฆษกคณะชื่อยาวนั้นเสียอีก พวกหลังนี้ แก้ต่างให้ตามหน้าที่ แต่พวกปัญญาชนนักวิชาการที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ความจริง ไม่มีหน้าที่เลย แต่ด้วยการขาดความกล้าอย่างลึกซึ้ง (radical cowardice) ทำให้หลอกตัวเอง และหลอกคนอื่นว่า แท้จริงแล้ว "ตัวข้าพเจ้านี้ ก็คัดค้านการรัฐประหารนะ" แต่ที่จริง ด้วยการขาดความกล้าอย่างลึกซึ้งนั่นเอง ทำให้ หาทางสร้างเหตุผลมาวาดภาพสวยงามให้การยึดอำนาจ เพื่อปลอบใจปกปิดความไม่กล้าต่อต้านของตน

เหตุผลสร้างความชอบธรรมสำคัญที่คนเหล่านี้ supply ให้กับการรัฐประหารคือ

"ความจริงรัฐธรรมนูญตายไปนานแล้ว" [the constitution was long dead] (ถูก "ระบอบทักษิณ" ทำลายไปนานแล้ว) และ "สมัยรัฐบาลทักษิณเป็นเผด็จการอย่างลึกซึ้งมานานแล้ว.." [Thaksin government was not democratic in the profound sense of the term] นี่คือคำพูดของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ [Bangkok Post, 25 September 2006, p12] แต่ชัยวัฒน์ มีวิธีเขียนที่แนบเนียน (นี่เป็น typical ของเขา ถ้าใครฉลาดพอจะสังเกตได้ในเรื่องอื่นๆด้วย) เขาเขียนทำนองว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นคนอื่นเสนอ ซึ่งถ้าอ่านไม่ดี ตาไม่ไว อาจจะข้ามที่เขาพูดในไม่กี่บรรทัดต่อมาว่า เขาเห็นด้วยว่า เหตุผลที่ ("คนอื่น") ให้เหล่านี้ เป็นความจริง [those who believe that these reasons are probably true...I count myself among them] (ประโยคช่วงนี้ของเขาเขียนวกวนมากจนถ้าไม่ตาไวๆ จับไม่ได้จริงๆ) ซึ่งก็คือเป็นความเห็นของเขาด้วยนั่นเอง

เสน่ห์ เองก็ให้เหตุผลทำนองเดียวกัน เมื่อสั่งสอนใครต่อใครเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า "อย่ามองว่ารัฐประหารเป็นเรื่องถอยหลัง" เพราะ "รัฐธรรมนูญถูกทำลายไปนานแล้วโดยทักษิณ"...

นัยยะของการให้เหตุผลแบบนี้คือ

"เพราะฉะนั้น จะว่ารัฐประหารนี้ ฉีกรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเผด็จการ ไม่ได้"
(เพราะทั้ง 2 อย่างนั้นเกิดมานานแล้ว โดยทักษิณ)


สัปดาห์ที่ผ่าน ผมบอกหลายคนว่า ในขณะที่ผมไม่เคยหลงคารมของนักวิชาการเหล่านี้ ไม่เคยเป็น "แฟน" ของคนเหล่านี้ ผม (นี่พูดด้วยความจริงใจสุดๆ ไม่ใช่โวหาร) ก็คาดไม่ถึงจริงๆว่า พวกนี้จะ "จมได้ต่ำขนาดนี้"

เอาละ ลองมาทำการทดลองทางปัญญาดู

"สมัยทักษิณ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ตายไปนานแล้ว"

ในช่วงที่ผ่านมา ผมเห็นคนจำนวนมาก เขียนการ์ตูนล้อถือป้าย "หน้าเหลี่ยม" ไม่เห็นมีใครถูกจับ

ถ้าผมเขียนการ์ตูนล้อ หน้า พลเอกสนธิ แล้วเขียนทำนองเดียวกัน "หน้า..." ไปยืนประท้วงหน้ากองทัพบก ผมคงไม่ถูกจับ?

ถ้าผมเขียนบทความประนามคณะชื่อยาว แบบเดียวกับที่ท่านนักวิชาการทั้งหลายเขียนประนามทักษิณ, ถ้าผมทำการประท้วงด้วยวิธีต่างๆ (ล่าลายชื่อถอดถอน, ฟ้องศาลปกครอง ศาลอาญา จัดเวทีไฮด์ปาร์ค จัดอภิปรายในหอประชุมธรรมศาสตร์ ฯลฯ ฯลฯ) ผมคงไม่โดนจับเหมือนกัน?

ถ้าผมซีเรียส ประกาศจะต้อง "โค่น ระบอบ..." แบบที่มีการประกาศจะ "โค่นระบอบทักษิณ" มาเป็นปีๆ ผมคงปลอดภัยเหมือนกัน?

ถ้าผมจะทำรายงานข่าว สืบสาวต้นตอของกลุ่มรัฐประหาร ว่ามีใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังบ้าง แล้วนำมาเสนอแบบเดียวกับที่มีหลายคนทำเรื่อง เทมาเส็ก กุหลาบแก้ว ฯลฯ ผมก็คงปลอดภัยเหมือนกัน?

ถ้าผมเรียกร้องให้พวกยึดอำนาจตอนนี้เปิดเผยทรัพย์สินของตัว ของลูกเมีย คนรอบข้าง...
ถ้าผมเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำการสอบสวนการจัดซื้อหาในกองทัพ ระดับเงินเดือน โบนัส ของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ฯลฯ

ฯลฯ ฯลฯ

ถ้าผมทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเห็นใครต่อใครทำกัน สมัยรัฐบาลทักษิณที่นักวิชาการว่าเป็น "เผด็จการ ฉีกรัฐธรรมนูญไปนานแล้ว" แต่ไม่เป็นไร ผมก็คงไม่เป็นไรเหมือนกัน?


ไม่ทราบท่านนักวิชาการเหล่านี้ต้องการจะหลอกใคร หรือคิดว่า เราเป็นอะไร?
เด็กปัญญาอ่อน?
(เพราะแม้แต่เด็ก ป.4 ก็รู้ ความแตกต่าง ระหว่าง การ "ฉีกรัฐธรรมนูญ - เผด็จการ" ที่นักวิชาการสร้างภาพขึ้นมาหลอก กับ การ "ฉีกรัฐธรรมนูญ - เผด็จการ" จริงๆที่เห็นๆกันอยู่ขณะนี้)

ผมบอกแล้วว่า ผมไม่รู้จะหาคำอะไรมาด่าพวกนี้แล้ว

อันนี้น่าสนใจแฮะ แถลงการณ์ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ไชยันต์ รัชชกูล, สุพิญญา กลางณรงค์, เธนศ อาภรณ์สุวรรณ ฯลฯ

(25 กันยายน 2549)



เพิ่งเห็นแถลงการณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า นักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ลงชื่อ รวมทั้ง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เธนศ อาภรณ์สุวรรณ, ไชยันต์ รัชชกูล, สุภิญญา กลางณรงค์ และ นศ.หลังป.ตรีอีกหลายคนในไทยและต่างประเทศ (ผมอ่านจากประชาไท)

มี 2 ย่อหน้านี้ น่าสนใจ ชวนให้อดยิ้มน้อยๆไม่ได้
กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันว่า กลุ่มฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับระบอบทักษิณ แต่ก็ไม่สนับสนุนวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้อำนาจทางทหารและอาวุธ เพราะวิธีการดังกล่าว เป็นการทำลายจิตสำนึกและวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่คนในสังคมไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้น"

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯ มีความเข้าใจดีว่า เราไม่อาจหมุนเวลาคืนกลับเพื่อยับยั้งเหตุการณ์การยึดอำนาจโดยกำลังทหารที่เกิดขึ้นแล้ว และสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันกำลังมีความซับซ้อนตึงเครียดเกินกว่าที่จะหวังให้ฝ่ายกุมอำนาจยอมก้าวถอยหลัง
ที่น่าสนใจ และชวนยิ้มในความรู้สึกของผม มีดังนี้

จะเห็นว่ากลุ่มยังยืนกรานว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับระบอบทักษิณ"
โอเค ไม่ว่าอะไร เป็นสิทธิที่ใครจะยืนกรานเรื่อง "ระบอบทักษิณ" (ไม่ว่าคืออะไรก็ตาม) และเป็นสิทธิที่ใครจะแกล้งทำเป็นเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อด้านที่ตัวเองมีส่วนในการ undermine ไม่เพียงแต่ สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" แต่กระบวนการเลือกตั้ง-ประชาธิปไตย และปูทางให้กับการยึดอำนาจ ฯลฯ

แต่ที่น่าสนใจมากคือ ข้อความถัดไป โปรดสังเกตภาษาที่ใช้ให้ดี

"แต่ [กลุ่ม] ก็ไม่สนับสนุนวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้อำนาจทหารและอาวุธ..."

"แต่ก็ไม่สนับสนุน"
กับ
"ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง"

อืม....
ไอ้ "ระบอบ" ที่ล้มไปแล้ว (ที่ด่าพ่อล่อแม่ได้) "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง"
แต่ ไอ้ เอ้ย คุณ.. "วิธีการ" ที่กำลังทำกันอยู่ (ข่มขืนการเมืองด้วยอาวุธ) กลุ่ม (เพียงแค่) "ไม่สนับสนุน"....??


เอ๊ะ อีกทีซิ

"ไม่สนับสนุน"
คำนี้ในภาษาไทย ไม่ได้แปลว่า "คัดค้าน" (ไม่ต้องพูดถึง "ประณาม") ไม่ใช่หรือ?
อืม บางทีกลุ่มฯจะรู้สึกว่า "สิทธิมนุษยชน" ใน "ระบอบทักษิณ" นี่เป็นอะไรที่ "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง"
แต่ ที่วิธีการ "เรียงคิวการเมือง" ที่กำลังทำๆอยู่นี้
เราแค่ "ไม่ (อาจ) จะสนับสนุน" ได้ แค่นั้น....

ย่อหน้าถัดไปยิ่งน่าสนใจใหญ่ ลองกลับไปอ่านกันดูนะ "อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯ มีความเข้าใจดีว่า เราไม่อาจหมุนเวลาคืนกลับเพื่อยับยั้งเหตุการณ์การยึดอำนาจโดยกำลังทหารที่เกิดขึ้นแล้ว..."

อันนี้ก็คล้ายๆกับที่นิธิหรือ ม.เที่ยงคืนเขียน

แวบหนึ่งผมอดรู้สึก งงๆ ไม่ได้

เอ หรือนี่เป็น ritual ใหม่ ในหมู่นักวิชาการ?

คือ นอกจาก ritual ที่วา ต้องประกาศก่อนนะว่าตัวเองก็ "ประณาม ต่อต้าน ระบอบทักษิณ" ยังต้องบอกด้วยว่า

"อะไรที่มันผ่านมาแล้วก็ผ่านเลย แก้อะไรไม่ได้แล้ว"...

ที่ งง เพราะไม่แน่ใจว่า ritual แบบนี้หมายความว่าอะไร ยิ่งประโยคถัดมา ที่พูดเรื่อง "ความซับซ้อน" อะไรนั่น

ไม่ทราบว่าทังย่อหน้านี้ ต้องการจะบอกว่าอะไร?

"คัดค้านประณาม" ไปก็ "ไลฟ์บอย"??
(ดูที่ผมเขียนถึงนิธิว่า ถ้านักวิชาการทังหลายเชื่อแบบนี้จริงๆ ความจริง น่าจะเลิกเขียนหนังสือได้เลย เพราะที่เขียนๆ ก็ล้วนแต่เรื่องที่ "ผ่านไปแล้ว-แก้คืนไม่ได้" เป็นส่วนใหญ่)

อืม หรือว่าต้องการบอกใคร?

บอกพวกนักเรียงคิวว่า "เอาละ ยังไงๆ พวกเราก็ไม่คิดจะไล่คุณกลับหรือไล่คุณลงอยู่แล้ว ใจเย็นๆ ไม่ต้องตกใจ"? (โปรดสังเกตคำว่า "มีความเข้าใจดี")

How nice, how re-assuring !!



ปล. น่าสงสารพวก "ระบอบทักษิณ" และ นักการเมือง โดยทั่วๆไปจัง
เวลาอยู่ให้เขาด่าพ่อล่อแม่ เขากลับไม่ยอมใช้ภาษา nice แบบนี้บ้าง

ไม่มีความกล้า ไม่มีความละอาย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

(25 กันยายน 2549)



ผมขอสารภาพว่า ผมนึกว่า ระดับความโกรธของตัวเอง ที่เห็นปฏิกิริยาของบรรดาปัญญาชนใหญ่ๆของเรา ได้ peaked (คือขึ้นสู่ระดับสุดแล้ว) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

แต่เมือ่ผมได้อ่านบรรทัดแรก ในบทความของนิธิในมติชนวันนี้ ผมจึงรู้ว่า ตัวเองสามารถโกรธยิ่งกว่าที่โกรธเมื่อหลายวันก่อนได้

ข้อเขียนนี้ ผมเขียนด้วยความยากลำบาก เพราะโกรธเสียจน ต้องหยุดเขียนเป็นระยะๆ และสงสัยว่า คงเขียนได้น้อยกว่าที่อยากจะเขียนเยอะ

ในบทความวันนี้ นิธิ ขึ้นต้นว่า

"จะผิดหรือจะถูก จำเป็นหรือไม่จำเป็น สมควรหรือไม่สมควรก็ตาม สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว ปัญหาคือจะประคองสิ่งที่ทำไปแล้วให้ออกมาเป็นผลดีที่สุดได้อย่างไร"

ตกลงว่า ในความเห็นของนิธิ รัฐประหารครั้งนี้ ผิดหรือถูก?
รัฐประหารครั้งนี้ จำเป็น หรือ ไม่จำเป็น?
รัฐประหารครั้งนี้ สมควร หรือ ไม่สมควร?

สำหรับคนที่จะมาแก้ต่างแทนนิธิว่า นิธิ ไม่สามารถเขียนว่า "รัฐประหารครั้งนี้ผิด" เพราะถ้าเขียนแล้ว บ.ก.ก็คงไม่สามารถลงให้ได้ ขอให้คิดก่อนพูด

นิธิเป็น "เจ้าภาษา" ความสามารถในการใช้ภาษา โดยเฉพาะในการด่านักการเมือง ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องพูดอีก popularity ของเขาในหลายปีที่ผ่านมา อยู่บนพื้นฐานของสิ่งนี้

นิธิสามารถเขียนง่ายๆว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ ผมเห็นว่าไม่จำเป็น และไม่สมควร"

ผมค่อนข้างเชื่อว่า บ.ก. ยังไงก็ไม่ถึงกับกลัวจนไม่กล้าลงบทความที่มีประโยคเรียบๆง่ายๆเช่นนี้

แต่ต่อให้ นิธิห่วงเรื่องการไม่ลงของบ.ก. ถ้าเขียนตรงๆเช่นนี้

เขาสามารถใช้ "ลูกเล่น" ก็ได้ คือ หลังจากเขียนประโยคเช่นนี้แล้ว เขียนในบรรทัดต่อมาด้วยเครื่องหมาย

..............

แล้วบอกผู้อ่านว่า "ผมเขียนบทความนี้โดยเริ่มต้นเป็น 2 เวอร์ชั่น ถ้าผู้อ่าน เห็นบรรทัดแรกของผมขึ้นต้นด้วย ......... ก็แสดงว่า บ.ก.เห็นว่า ข้อความบรรทัดแรกในเวอร์ชั่นหนึ่งของผมมันแรงไป ไม่สามารถลงได้"

ฯลฯ ฯลฯ

อย่างนี้เป็นต้น

ผมยกตัวอย่าง ความเป็นไปได้ เช่นนี้ ซึ่งความจริง ระดับ "เจ้าภาษา" อย่างนิธิ ย่อมสามารถคิดวิธิทำนองนี้ได้มากกว่าที่ผมยกตัวอย่างอยู่แล้ว

แต่ต่อให้ เป็นจริงที่วา บ.ก.กลัวจนไม่กล้าเอาบทความนิธิที่มีคำว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้..."

แล้วไง?

ต่อให้ บ.ก.เซนเซอร์ บางส่วนหรือกระทั่งทั้งบทความของนิธิ เขาย่อมสามารถเผยแพร่ทางอื่นๆได้ง่ายๆอยู่แล้ว

การเขียนแบบที่เขียน จึงเป็นการเขียนที่ไร้ข้อแก้ตัวใดๆ (ยกเว้นแต่ความจริงคือนิธิ ไม่รู้ว่า รัฐประหารครั้งนี้ ผิดหรือถูก จำเป็นหรือไม่จำเป็น จริงๆ)

ถ้าข้อความแรก ยากจะแก้ตัวได้ ข้อความที่ตามมา ยิ่งไม่อาจแก้ตัวเลย

"สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว"

(ในแถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน ที่นิธิ (และคนอื่นๆในม.เที่ยงคืน) "ซ่อนตัว" อยู่ ไม่ยอมลงชื่อ ก็เขียนทำนองนี้ว่า "แม้เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้แล้ว")

ผมขอถามว่า จะให้หมายความว่าอย่างไร?

จะให้หมายความว่า "ไหนๆก็รัฐประหารไปแล้ว คัดค้านไปก็ไม่มีประโยชน์" หรือ?

นิธิ (และม.เที่ยงคืน) มีวิธีคิดโง่เขลาเช่นนี้จริงๆ?

ถ้าเช่นนั้น แทบจะทุกๆอย่างที่นิธิเคยเขียน ไม่ทราบว่าเขียนไปทำไม? เพราะล้วนแต่เขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเรื่องการด่านักการเมือง-รัฐบาลเลือกตั้ง

ผมไม่เคยเห็นนิธิเขียนทำนองนีว่า "สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว ก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว" (คอรัปชั่น, มาตรการปิดกั้นเสรีภาพ, นโยบายยาเสพย์ติด ฯลฯ ฯลฯ)

ในที่สุดแล้ว ถ้าจะอธิบายว่า บทความในมติชนของนิธิ คงไม่สามารถคาดหวังให้มีอะไรมากได้ เพราะเขียนให้ลง นสพ.รายวัน ซึ่งเราทุกคนรู้ว่า ยิ่งในวันแรกๆของการยึดอำนาจ โอกาสที่ นสพ.จะใช้ท่าที "ปลอดภัยไว้ก่อน" มีสูงมาก

ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้านิธิเขียนอะไรที่ดู "แรง" ในสายตาของนสพ. อาจจะไม่ได้ลงเลยก็ได้

แล้วทำไม?

ไม่ลงก็ไม่ลง เผยแพร่ทางอื่นก็ได้ นิธิคงไม่กลัวเรื่องจะเสียค่าเรื่องสัปดาห์เดียวถ้าไม่ได้ลงกระมัง?

ที่สำคัญ ต้องถาม อย่างที่ผมถามไปตั้งแต่วันแรกว่า

ทำไมจึงไม่มีแถลงการณ์ในนามนิธิ ว่า "ขอดัดค้านประณามการรัฐประหารครั้งนี้"

เมื่อเปรียบเทียบกับ การออกแถลงการณ์ในนามนิธิ นับครั้งไม่ถ้วน ที่ประณามคัดค้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเรียกร้องเช่นนี้เป็นสิ่งมากเกินไปเชียวหรือ?

ต่อให้นิธิกลัวมากขนาด ไม่กล้าใช้ชื่อของตัวเอง (อย่างที่ใช้ในการด่านักการเมือง) ก็ย่อมสามารถ "ซ่อนตัว" อยู่ใน "ชื่อรวมหมู่" อย่าง ม.เที่ยงคืน แล้วออกแถลงการณ์ "ประณามคัดค้านการรัฐประหาร" ครังนี้ได้ (ผมได้ชี้ให้เห็นความ "กล้าหาญ" ของ ม.เที่ยงคืนไปแล้ว ว่าออกแถลงการณ์ทั้งฉบับ ไม่กล้าแม้แต่จะใช้คำว่า "คัดค้าน" "ประณาม" "ไม่เห็นด้วย" ได้แต่ใช้คำว่า "ปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร")

ตัวอย่างที่ "เด็กๆ" หลายๆกลุ่ม (ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่านิธิไม่รู้กี่ล้านเท่า ไม่มี protection อะไรเลย) ออกแถลงการณ์ กระทั่งชุมนุม นัดชุมนุม "ประณามคัดค้าน" รัฐประหารครั้งนี้ ในรอบหลายวันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำ

แต่ต่อให้ไม่มีตัวอย่าง "เด็กๆ" เหล่านี้ คนอย่างนิธิต้อง "รอ" ให้เด็ก แสดงตัวอย่างให้ดูก่อนหรือ?

เอาละ สมมุติว่า นิธิรู้สึกว่า "เสี่ยง" เกินกว่าจะเขียนอะไรที่เป็นเชิงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้เลย ไม่ว่าในรูปบทความ นสพ.รายวัน หรือ แถลงการณ์ในนามตัวเองหรือในนามกลุ่ม

มีอยู่อย่างหนึ่ง ที่นิธิสามารถเขียนเชิงวิจารณ์ได้แน่ๆ คือตัวนิธิเองนั่นแหละ

นิธิสามารถเขียนทำนองนี้ได้แน่ๆ :

"ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเขียนบทความโจมตีรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรุนแรง ... ณ วินาทีนี้ ผมตระหนักว่า การโจมตีดังกล่าว ขาดมุมมองที่เหมาะสม (proper perspective) ที่วา รัฐบาลและนักการเมืองเหล่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะ "เลว" อย่างไร อย่างน้อยยังสามารถให้เราโจมตีได้ ซึ่งตรงข้ามกับในขณะนี้"


นิธิตั้งชื่อบทความของตัวเองวันนี้ว่า "บทความที่ไม่มีชื่อ" ความจริง สิ่งที่บทความนั้น (และคนเขียนบทความนั้น) ไม่มี ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ

วาทกรรม "แอนตี้ทักษิณ-นักการเมือง" ผิดตรงไหน? และความรับผิดชอบต่อการรัฐประหาร

(24 กันยายน 2549)



เช่นเดียวกับสมัยก่อน 2500 ที่ วาทกรรมแอนตี้พิบูลเผ่า ที่แพร่หลาย ส่วนสำคัญที่สุด ได้รับการผลิตโดยปัญญาชนนักเขียนฝ่ายซ้ายที่ล้อมรอบ พคท. (ไม่จำเป็นที่ทุกคนเป็นสมาชิก)

วาทกรรม "แอนตี้ทักษิณ" "แอนตี้นักการเมือง" ในระยะหลายปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะ 1 ปีที่ผ่านมา) ได้รับการผลิตโดยปัญญาชนนักวิชาการแอ๊กติวิสต์ที่เรียกกันว่า "ภาคประชาชน" (คงไม่ต้องเตือนกันว่า ไอเดียเรื่อง "ระบอบทักษิณ" ที่มีบทบาทใหญ่หลวงต่อการรณรงค์แอนตี้ทักษิณ ก็ถูกผลิตโดยคนเหล่านี้เอง และถูกนำไปใช้ตั้งแต่ ประชาธิปัตย์ ถึง ไทยรัฐ)

การผลิตวาทกรรม "แอนตี้ทักษิณ-แอนตี้นักการเมือง" เหล่านี้ ผิดหรือไม่?

ผมยืนยันว่าผิด

ไม่ใช่เพราะไม่เป็นความจริง

หลายส่วนของวาทกรรมเหลานี้เป็นจริง (หลายส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มีบางส่วนสำคัญที่ผิดความจริง หรือไม่สมเหตุสมผล แต่ขอผ่านประเด็นนี้ไป)

แต่การผลิตวาทกรรมเหล่านี้ เป็นเรื่องผิด เพราะว่า

ในขณะที่ผลิตวาทกรรมเหล่านี้จนล้นหลาม พวกคุณไม่ได้บอก หรือ พยายามจะบอก ประชาชนไปพร้อมๆกันด้วยว่า ที่คุณสามารถผลิตวาทกรรมแอนตี้คนเหล่านี้ได้ แท้จริงแล้ว ก็เพราะคนเหล่านี้ เป็นนักเลือกตั้ง คือเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง

พวกคุณไม่ได้บอก หรือ พยายามจะบอกประชาชนว่า คุณไม่สามารถผลิตวาทกรรมแอนตี้ ผู้มีอำนาจกลุ่มอื่น ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

พวกคุณไม่เคยระบุ หรือพยายาม ระบุ ว่า ผู้อำนาจที่คุณแตะต้องด้วยวาทกรรมลักษณะเดียวกันไม่ได้ มีใครบ้าง

พวกคุณไม่ได้บอก หรือ พยายามจะบอกประชาชนว่า ถ้าคุณมีเสรีภาพที่จะประยุกต์ประเด็นต่างๆที่คุณใช้ ในการ แอนตี้ทักษิณ-นักการเมือง กับ ผู้มีอำนาจกล่มอื่นบางกลุ่ม นั้น ก็จะได้ประเด็นที่สมควรแอนตี้ไม่แพ้กัน หรือในบางกรณีอาจมากกว่าด้วยซ้ำ

แม้แต่คำว่า "ระบอบทักษิณ" ที่พวกคุณใช้ พวกคุณไม่เคยบอก หรือ พยายามบอกประชาชนว่า คุณไม่สามารถใช้คำลักษณะเดียวกันนี้ กับกลุ่มอำนาจบางกลุ่มอื่นได้

นี่ไม่ต้องพูดถึงว่า พวกคุณไม่เพียง "ละเว้น" การบอก หรือพยายามบอกเรื่องเหล่านี้แก่ประชาชนเท่านั้น บ่อยครั้ง พวกคุณกลับพูดเป็นนัยตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ว่า กลุ่มอื่นที่คุณแตะต้องไม่ได้ หรือไม่ยอมแตะต้อง "ดีกว่าทักษิณ-นักการเมือง"

วาทกรรม "แอนตี้ทักษิณ-นักการเมือง" ในหลายปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา) ในทางเป็นจริง จึงเป็นการทำงาน ทางวัฒนธรรม-อุดมการณ์ ให้กลุ่มอำนาจกลุ่มอื่น ที่พวกคุณไม่ต้องการ ไม่พยายาม ไม่มีปัญญา หรือ ไม่มีความกล้าหาญพอจะแตะต้องนั้น

วาทกรรม "แอนตี้ทักษิณ-นักการเมือง" จึงมีลักษณะ "บิดเบือน" ในทางภววิสัย โดยตลอด ตั้งแต่ต้น

"บิดเบือน" ในที่นี้ ไม่ใช่หมายความ "ไม่จริง" ในตัวเอง แต่ "บิดเบือน" เพราะเป็น วาทกรรมที่สร้างขึ้น ในบริบทของการละเว้นอย่างรุนแรง (radical exception) ดังกล่าว

ความรับผิดชอบทางการเมือง-ศีลธรรม ต่อการบ่อนทำลายทางอุดมการณ์ ต่อประชาธิปไตย ต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดของประชาธิปไตย ต่อการสร้างอุดมการณ์ดัดจริต ศักดินา ผู้นำนิยม กล่าวอย่างสรุปคือ
ต่อการปูทางทางวัฒนธรรม การเมือง อุดมการณ์ ให้แก่การรัฐประหารครั้งนี้....

อยู่ที่พวกคุณ

unprincipled unity / civility.

(24 กันยายน 2549)



พวกฝ่ายขวาชอบเรียกร้องว่า "เราคนชาติเดียวกัน ควรมีเอกภาพกันไว้"
"เราคนชาติเดียวกัน ควรมีความรักซึ่งกันและกันไว้" ("คนไทยด้วยกัน รักกันไว้")

ที่พวกฝ่ายขวาพูดแบบนี้ ก็พอจะ "เข้าใจ" ได้อยู่

แต่ในหมู่พวกที่เรียกว่า "ภาคประชาชน" เรียกร้องว่า "เรา "ภาคประชาชน" ด้วยกัน ควรแสดงความ civility and respect ต่อกัน"
นี่ไม่ทราบจะให้อธิบายอย่างไร?

เอกภาพ, civility and respect นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร?

ผมไม่เคยเห็นใครในหมู่ที่เรียกตัวเองว่า "ภาคประชาชน" เสนอให้ถกเถียงว่า ที่ "เอกภาพ" และ "ดีๆต่อกัน" ในเวลาที่ผ่านมาน่ะ
วางอยู่บนพื้นฐานอะไร?

(คงไม่ใช่ "คนไทยด้วยกัน" แน่ๆ)

คำตอบประเภท "เป็น "ภาคประชาชน" ด้วยกัน" น่าสมเพชพอๆกับ "คนไทยด้วยกัน"

อันที่จริง น่าสมเพชยิ่งกว่าด้วยซ้ำ

เพราะ "ชุมชน" นี้ เหนืออื่นใด เป็นชุมชนการเมือง

หรือคนที่เรียกร้อง จะบอกว่าตัวเอง สนับสนุน "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เหมือนๆ เสน่ห์, จอน, นิธิ, เกษียร, ฯลฯ ? ? ?

ใครรับผิดชอบที่ เสนห์ หรือ ประเวศ หรือ ธีรยุทธ หรือ (เติมชื่อเอาเอง)...?

(24 กันยายน 2549)



การที่คนอย่าง เสน่ห์ อย่างประเวศ อย่าง ธีรยุทธ มีสถานะอย่างที่มี
ที่สามารถ เขียนงาน เสนอ ปูทาง ให้ข้ออ้าง ความชอบธรรม กับอำนาจปฏิกิริยา
เพราะอะไร?
แน่นอน "สังคม" มีสภาพที่แน่นอนบางอย่าง ที่ทำให้เกิด "พื้นที่" ให้คนเหล่านี้ มีสถานะอย่างที่มี

แต่ความรับผิดชอบของคนใน "ภาคประชาชน" เองล่ะ อยู่ที่ไหน?
โดยเฉพาะพวกที่ตอนนี้กำลังอ้างว่า ต่อต้านรัฐประหาร

กี่ครั้ง ที่เข้าร่วมกับคนเหล่านี้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ยอมทำให้สาธารณชนเข้าใจว่า มีจุดยืนที่แตกต่างกับคนเหลานี้ที่สำคัญเพียงใด?
กี่ครั้งที่ปล่อยให้คนเหล่านี้ พูด pro-royalist trashes โดยไม่ยอมคัดค้าน?

ฯลฯ ฯลฯ

เมื่อคนอย่าง เสนห์ , ธีรยุทธ, จอน , ชัยวัฒน์ ฯลฯ มา provide comfort ให้กับการรัฐประหาร (หรือกรณีธีรยุทธ ก่อนหน้านี้ คือต่อการใช้พระราชอำนาจ)
ไม่รู้สึกน่าหัวร่อหรือ ที่เรียกร้อง civility ?
เพื่ออะไร?
เพื่อที่ในอนาคต คนเหล่านี้ จะได้พูด pro-royalist trash
หลอกลวง ล้างสมอง สาธารณะต่อไป?

มีอะไรที่น่าหัวร่อกว่านี้?

(24 กันยายน 2549)



Is there anything around more ridiculous than people who profess to be sick to the sotmach by this coup to call for 'civility and respect' among academic/'people sector' community (whatever that is) at this juncture?

when people in 'high-esteem' in this 'community' like Saneh (or even Jon himself) say, in effect 'It's OK to stage the coup', 'The coup is understandable' , etc. etc.

Perhaps I should add Charnvit's name....

(24 กันยายน 2549)



perhaps I should add Charnvit to the list in the last line of a previous topic?

For over a year the campaign against the so-call 'relocation of Thammasat' had used the image and the sentence of Sanya Thammasat whom they call 'Man of the Land' (translation: Man of His Majesty the King)

For over a year the whole campaign was full of tacit pro-Royalist ideological discourse.

Charnvit even at one point accused the uni administration of action 'inappropriate' (to HM) ("การกระทำที่มิบังควร")

And, need I remind everyone, who was on top of the letter of protest of that campaign, but Prawet Wasi?

It seems somebody is fond of providing 'comfort' to serious mistakes in the name of 'civility' and 'respect' for the 'academic'/'people sector' community.
Perhaps to keep the adoring audience happy?

What is this 'community' anyway?
What is its rationale?
What makes it compelling to belong to it, so compelling that one should keep one's eyes shut to such mistakes?

นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเลือกตั้งแล้ว ได้นายกฯไม่ถูกใจ "พวกกู"... นายกฯต้องออกไป

(24 กันยายน 2549)



ตลอดช่วงรณรงค์แอนตี้ทักษิณ ผมยืนกรานว่า พวกปัญญาชน แอ๊กติวิสต์ "2 ไม่เอา" มีตรรกะและการปฏิบัติที่พิลึกชอบกล ที่เสี่ยงต่อการเป็น "ปากว่าตาขยิบ"

ด้านหนึ่ง พวกเขาชูป้าย ตะโกนคำขวัญ "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" (คือ "ไม่เอานายกฯพระราชทาน")

(พูดกันจริงๆ ผมว่า มองแบบเป็นกลางๆ ใครๆก็ต้องยอมรับว่า ด้านชูป้าย ตะโกนคำขวัญ หรือเขียนเรืองนี้ ของพวกเขา ทำไปแบบครึ่งๆกลางๆเท่านั้น แต่ผมขอผ่านไป สมมุติว่า เขาทำเท่าๆกับที่ตะโกนคัดค้านว่า "ไม่เอานายกฯพระราชทาน" ก็แล้วกัน)

แต่ครั้น การเลือกตั้งทำให้ได้นายกฯจริงๆ คือ ทักษิณ

พวกเขากลับตะโกนว่า

"ทักษิณต้องออกไป"!!!!

ไม่ทราบนี่เป็นตรรกะหรือการปฏิบัติประเภทไหนกัน?

นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง
แต่ถ้าเลือกตั้งแล้ว ได้นายกฯไม่ถูกใจ "พวกกู"
นายกฯเลือกตั้งคนนั้นต้องออกไป


เมื่อผมเห็นการชูป้ายที่สยามของกล่มใจ หรือเห็นแถลงการณ์ของกล่มเช่น "ฟ้าเดียวกัน" ที่คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ ผมจึงอดรู้สึกชอบกลไม่ได้ว่า จนวินาที พวกเขาก็ไม่ยอมมองเห็นว่า ตรรกะและวิธีการเคลื่อนไหว ของพวกเขาตลอดเวลาที่ผ่านมามีลักษณะขัดแย้งกันเองขนาดไหน

(อีกครั้ง อย่าอ้างว่า "สนับสนุนนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่า วิจารณ์นายกฯเลือกตั้งไม่ได้"
นี่เป็นคนละเรื่องเลย เพราะคุณรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่ประเด็นว่า วิจารณ์นายกฯจากเลือกตั้งได้หรือไม่ได้ วิจารณ์ได้อยู่แล้ว แต่นี่คือการเคลื่อนไหวเพื่อเอานายกฯจากการเลือกตั้งออกไป หลังการเลือกตั้งแล้วทันที! นี่คือ การไม่มีความหมายอะไรของการตะโกน "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" ของพวกคุณแหละ เพราะ เลือกตั้งมาแล้ว ไม่ได้คนที่เห็นด้วย คุณก็ตะโกนทันที "นายกฯต้องออกไป!!" นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการเคลื่อนไหวของพวกคุณ จึงมีผลอย่างเดียว คือสนับสนุนกระแสปฏิกิริยา ที่ปฏิเสธการเลือกตั้งในฐานะตัวตัดสินทางการเมือง โดยธาตุแท้แล้ว พวกคุณเองก็ปฏิเสธเช่นนี้เหมือนกัน สำหรับพวกคุณแล้ว การได้ผู้นำที่คุณต้องการเป็นเรื่องสำคัญกว่า การตัดสินของคนเป็น 10 ล้าน... วิธีคิดเหมือนพวกปฏิกิริยาดัดจริตทั้งหลาย)


ปล. "personal" หน่อย (จริงๆแล้วไม่ใช่ personal ในความหมายแท้จริง จึงใส่ "..")

ในวงการวิชาการหรือแอ๊กติวิสต์ หลายครั้ง คนอื่นๆชอบวิจารณ์ผมทำนองว่า ผมยืนกรานความเห็นตัวเอง ไม่ฟังความเห็นคนอื่น ฯลฯ ผมได้ยินเรื่องนี้ โดยเฉพาะในบริบทของการรณรงค์ของปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ส่วนใหญ่ในเรื่องทักษิณทีไร อดรู้สึก ขันกึ่งสมเพช ไม่ได้

ใครกันที่ยืนกรานความถูกต้องของตัวเอง ไม่ยอมฟังคนอื่น? ไม่ใช่พวกคุณหรือ?

"คนอื่น" 10 กว่าล้าน เขาเลือกนายกฯมา พวกคุณก็ยังยืนกรานว่า "นายกฯ (ที่พวกเขาเพิ่งเลือกมา) ต้องออกไป" (ดูป้ายชุมนุมที่สยาม, แถลงการณ์ฟ้าเดียวกัน ฯลฯ)

หารู้ไม่ว่า นี่เป็นความ arrogance ของปัญญาชนอภิสิทธิชนขนาดไหน!!

(อดขัน สมเพช ที่บางคนมาเสียดสี ด้วยการอุทานว่า wow! กับความเห็นของผมไม่ได้
wow!! พวกคุณนี่แหละแน่จริงๆ
ไม่อยากได้ใครเป็นนายกฯ
คนอื่นๆที่มากกว่าพวกคุณเป็น ล้านๆเท่า จะเอา
"กู" จะไม่เอาซะอย่าง!! ใครจะทำไม?)
ช่าง arrogance จริงๆ

Call for 'civility' and 'respect' is just a bad excuse for not admitting one own's mistakes.

(24 กันยายน 2549)



In the context of recent political development among the so-called 'people sector'

"call for respect and civility in the exchanges of opinions"

is nothing more than bad excuse for not admitting one's own political mistakes.


perhaps people who've made this call should start by showing some 'civility' and 'respect' for elective politicians who got big majority support of our fellow citizens.

WHEN was the last time the pro-Royalist opinions among the 'people sector' academics/activists got criticized by fellow 'people sector' activists?

WHEN was the last time ANYBODY among them criticize, e.g., people like Prawet or Thirayut, who PUBLICLY and INCESSANTLY produce pro-Royalist tracts?

(or, though not as often but equally significant nonetheless, people like Kasian or Nidhi, not to mention Jon Ungphakorn himself)

ถึง บรรดาปัญญาชน แอ๊กติวิสต์ ที่ชอบพูดว่า "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้"

(23 กันยายน 2549)



ในรอบปี (อันที่จริงนานกว่านั้น) ที่ผ่านมา ประโยคหรือไอเดียหนึ่งที่ชอบพูดกันนักในหมู่ปัญญาชน แอ๊กติวิสต์ (เรียกว่าเป็นเอกฉันท์ ไม่ว่าคุณจะอ่านในงาน นิธิ เกษียร สมชาย อรรถจักร ฯลฯ ไปถึงงานระดับ ngo ฯลฯ) คือ

"เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้"
(ดังนั้น ที่ทักษิณได้รับเลือก 3 ครั้ง ครั้งสุดท้าย ในท่ามกลางการด่าโจมตีในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็ไม่มีความหมายอะไร "กู" จะเอา "มัน" "ออกให้ได้" จะ "ล้มระบอบทักษิณ" ให้ได้)

โอเค เพื่อประโยชน์การอภิปราย
ผม "ยอมรับ" ตอนนี้ก็ได้ "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้")

แต่ขอถามว่า

ถ้า "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้" แล้ว

แล้วที่กษัตริย์ ตัดสิน ว่าอะไรควรเป็นอะไร (5 เมษา 25 เมษา)

หรือ

ทหารถือปืน ตัดสิน ว่าอะไรควรเป็นอะไร (19 กันยา)

(และ ห้ามวิจารณ์การ "ตัดสิน" นั้นเด็ดขาด)

แปลว่า ควรยอมรับว่า "ตัดสินได้"??


ด้านที่ arrogant, hypocritical ของปัญญาชน และแอ๊กติวิสต์ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรชัดเจนกว่านี้อีกแล้ว

ถ้าพวกคุณว่า 2 อย่างหลังที่เพิ่งพูดไป ก็ "ตัดสินไม่ได้" เหมือนกัน

ไหนล่ะ การคัดค้าน ของพวกคุณ?

ไหนล่ะ วาทกรรม คัดค้าน 2 เรื่องนี้ แบบเดียวกับที่คุณผลิตจนล้นตลาด เรื่อง วาทกรรม แอนตึ้เลือกตั้ง "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้" ของพวกคุณ?

แค่พูดแบบเดียวกันว่า "....ตัดสินอะไรไม่ได้" หรือ "...ไม่มีสิทธิตัดสิน" ก็ไม่กล้าพูดแล้ว


ปล.

กรณีใจกับสหาย ไปยกป้ายที่ สยาม ผมก็ว่าดีในแง่หนึ่ง หรือแม้แต่กรณี กลุ่มต่างๆ ("ฟ้าเดียวกัน" ฯลฯ) ออกแถลงการณ์ ผมก็ว่าดี ในระดับหนึ่ง

แต่ผมขอถามว่า การยืนกราน จนกลายเป็นเป็น ritual ว่า "ไม่เอาทักษิณ" นี่มีความหมายว่าอะไร?

ว่า "ยังไงๆ พวกกู ก็ไม่ยอมรับเด็ดขาดว่า 10 กว่า ล้านคน จะ "ตัดสิน" เอาทักษิณ ยังไง"

ด้านหนึ่ง ใช่ นี่เป็น "สิทธิการแสดงออก" ที่พวกคุณจะแสดงออกว่า "ไม่เอาทักษิณ"

แต่พวกคุณรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เท่านั้น

พวกคุณคิดในเชิง ยุทธวิธี ในเชิงการต่อสู้ทางการเมืองตลอดเวลาอยู่แล้ว

ผมถามอีกครั้งว่า "ทักษิณออก" ใครแทน? (your candidate)

และถามว่า (นี่คือประเด็นต่อเนื่องจากประเด็นหลักของกระทู้)

คุณจะยอมรับให้มี "อะไรบางอย่างที่เป็นตัวตัดสินทางการเมือง" หรือไม่?

ที่พวกคุณอ้างเรื่อง "สิทธิการแสดงออก" ในประเด็นนี้ ก็เพราะพวกคุณไม่เคยยอมรับ "การเลือกตั้ง" ให้เป็นตัว "ตัดสิน" ด้วยต่างหาก

ผมไม่เคยเห็นใครในหมู่พวกคุณ ออกมายืนยัน เบื้องหน้าการเรียกร้องโค่นทักษิณของพวกปฏิกิริยาว่า

"ทักษิณมีสิทธิ ควรได้เป็นนายก เพราะการเลือกตั้งได้ตัดสินให้เขาเป็น"

พวกคุณ "กระดาก" เกินกว่าจะยืนยันในหลักการนี้

แต่ยังคงยืนกรานเรื่อง "ทักษิณออกไป"

ในรอบปีที่ผ่านมา ด้านนี้ ไม่ใช่ด้านที่พวกคุณบอกว่า "ไม่เอาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" คือด้านที่มีผลจริงๆ ต่อการอภิปรายสาธารณะ

นี่คือด้านที่พวกคุณแชร์ร่วมกับพวกปฏิกิริยาในระยะ 1 ปีที่ผานมา
นี่คือด้านที่ "วาทกรรม" ของพวกคุณ กับ "วาทกรรม" ของพวกปฏิกิริรยา เหมือนกันราวกับแกะ ("เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้" "เลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย" "ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง")

นีคือด้านที่พวกคุณช่วยพวกปฏิกิริยาปูทางให้การยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ 19 กันยา

ในฐานะผู้ที่อ้าง "ประชาชน" "ประชาธิปไตย"
ความรับผิดชอบทางการเมือง-ศีลธรรมต่อการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่พวกคุณ



(ปล.2 สำหรับ พวก idiot ที่ไม่มีปัญญาหาเหตุผลมาโต้แย้ง แล้วคิดจะแย้งผมกลับว่า "วาทกรรมเลือกตั้ง" ของผมเหมือนพวกทักษิณ นั้น
so what?
การยืนกรานเรื่อง ต้องให้การเลือกตั้งตัดสิน ผิดตรงไหน?
สังคมสมัยใหม่ ที่แต่ละคนมีความคิดของตนเอง ที่แตกต่างกัน ถ้าไม่ใช่ให้การเลือกตั้งตัดสิน แล้วจะให้อะไรตัดสิน? กษัตริย์ ทหาร ? หรือ ปัญญาชน ตัดสินให้แทน ว่าอะไรคือ "ทางเลือก" หรือ "ไม่มีทางเลือก"

การไม่ยอมให้เลือกตั้งตัดสิน และ ว่า "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้" แต่ยอมรับการตัดสินของกษัตริย์และทหาร (และปัญญาชน) ต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่พวกที่อ้าง "ประชาธิปไตย" และ "ประชาชน" ต้องอธิบาย

ว่าด้วยความล้มละลายทางการเมืองของเสน่ห์ จามริก (อีกครั้ง)

(22 กันยายน 2549)



ผมไม่อยากพูดยาวแล้ว เรื่องเสน่ห์
อ่านคำสัมภาษณ์ล่าสุดแล้ว ได้แต่สมเพชอย่างเดียว (คือเลิกโกรธแล้ว รู้สึกไม่มีค่าให้โกรธอีก ได้แต่สมเพช)

ขอสั้นๆว่า

โดยสรุปคือ ยังยันเรื่อง "ไม่มีทางเลือก"

ไม่ทราบเสน่ห์ หรือ สนธิ บญฯ หรือ ใครที่ไหน เป็นเทวดา มีสิทธิมาตัดสินแทนผมและคนอื่นๆว่าเมื่อไร ยังมีทางเลือก หรือ ยังไม่มีทางเลือก
แล้วใช้อำนาจปืนและรถถัง มาบังคับให้ต้องยอมรับว่า "ไม่มีทางเลือก" ตามไปด้วย

ส่วนกรณีที่ เบลม ทักษิณ นั้น
เป็นวิธีให้เหตุผลแบบปัญญาอ่อน

เพื่อประโยชน์การอภิปราย สมมุติ ทักษิณผิดจริงๆ

ไม่ทราบ คุณเป็นเทวดาหรืออย่างไร จึงมีอำนาจมาใช้ปืน บังคับให้ล้มทั้งกระดานแบบนี้?


(ขอต่อ ย้ำประเด็น ไม่ใช่เฉพาะเสน่ห์ แต่กับปัญญาชนสาธารณะเกือบทั้งหมดที่ผ่านมาว่า
สิ่งที่ผมรู้สึกน่าขยะแขงมากๆ เรื่องคนเหล่านี้คือ
ชอบพูดราวกับว่า การที่คน 10 กว่าล้าน - คนส่วนใหญ่ - ยังหนุนทักษิณ เป็นเรื่องไม่มีความหมายอะไร
มีแต่ "พวกกู" เท่านั้น (เทวดา ปัญญาชน ฉลาดกว่าคนอื่นๆ) จึงเป็นความถูกต้อง
"พวกกู" บอกว่า "ไม่มีทางเลือก" (เพราะ "กู" จะไม่เอาทักษิณ ทักษิณ ไม่ยอมออกตามที่ "กู" ต้องการ
ดังนั้น "กู" จึง "ไม่มีทางเลือก"
ส่วนที่ ไอ้พวกหน้าโง่ 10 กว่าล้านคน ยังเลือกทักษิณ (นี่คือ "ทางเลือก" ของพวกเขาล่ะ) ไม่มีความหมายอะไร
"กู" บอกว่า "ไม่มีทางเลือก" ก็ "ไม่มีทางเลือก" สิวะ

ถึง จอน อึ๊งภากรณ์

(22 กันยายน 2549)



ไม่รู้สึกว่าตัวเองอหังการเกินไปหน่อยหรือ

ที่ยังอ้าง-อุปโลกน์ ตัวเอง เป็น "ภาคประชาชน"?

ครั้งสุดท้ายที่ผมเช็ค ประชาชน หมายถึงพลเมืองของรัฐนี้ มีประมาณ 60 ล้านคน
ไม่ทราบ อะไรทำให้คุณถือดีว่า คุณ หรือพวกคุณ พูดแทนพวกเขา? หรือพูดในนามพวกเขาได้?
ไม่รู้สึกดัดจริต ยิ่งกว่านักการเมืองหรือ?


ว่าแต่ว่า ท่าทีทีในระยะเวลาที่ผ่านมา คุณมีต่อรัฐบาล
การอ้างเรื่อง "หลักการ" ต่างๆโดยตัวคุณเอง
ตอนนี้ไปอยู่ไหน?
พอเกิดเรื่องนี้ ตอนนี้เลย ถอนตัวแล้ว ไม่ยอมเป็น "พวก ก"

หรือจะให้ถือว่า

ความ "ปากกล้า" เรื่อง "หลักการ" ในอีดตของคุณมีไว้ต่อ นักการเมืองเท่านั้น?

อำนาจอื่นๆ ไม่วา จะใช้กำลังกระทำชำเราการเมืองอย่างไร เป็นเรื่องต้อง "ใจเย็นๆ"?

ไม่ทราบคุณถือเอาอะไรจึงคิดว่าตัวเองมีความเหนือกว่าทางศีลธรรม
กว่านักการเมือง กว่ารัฐบาล
หรือกว่าคนอื่นๆ?

ไม่ทราบคนอย่างเสน่ห์ ชัยวัฒน์ นี่เป็นอะไร? เจ้าขุนมูลนาย เทวดา พระเจ้า ที่วิจารณ์ไม่ได้?
มีแต่นักการเมืองเท่านัน จึงเป็นพวกที่วิจารณ์ได้แรงๆสำหรับคุณ
ที่เหลือ ขอแต่ให้อ้างว่าเป็ฯ "ภาคประชาชน" ก็ไม่ควรวิจารณ์แรงๆ (ไม่ทราบต้องใช้บัตรประจำตัว, ใบสมัคร หรืออะไร จึงจะนับ? หรือจะให้ดูทีนามสกุล?)

ไม่บ้าไปหน่อย เป็นไสยศาสตร์ เป็นศักดินา ไปหน่อยหรือครับ

สมชาย, เกษียร "ตุลาการภิวัฒน์" และ รัฐธรรมนูญ 40

(22 กันยายน 2549)



(จากบันทึกสัมมนาที่เชียงใหม่ ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับล่าสุด)


ความจริง ผมชอบบทความที่ สมชาย วิจารณ์อมร ในฟ้าเดียวกัน 2-3 ฉบับก่อน แม้ว่า ผมจะมีความรู้สึกว่า เป็นการวิจารณ์ ที่ไม่เพียงพอ เมื่อผมอ่านที่สมชายพูดที่เชียงใหม่ จึงรู้สึกว่า ความรู้สึกแรกเมื่ออ่านบทวิจารณ์นั้น น่าจะถูกต้อง

ที่สะดุดใจผมมากคือ แม้จนบัดนี้ (มิ.ย.49) สมชาย ก็ยังคงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ฉบับประชาชน" และด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่เขาตั้งขึ้นมา "ทำไม สถานภาพของภาคประชาชนเสื่อมถอยลง" (เรื่องคำว่า "ภาคประชาชนก็เช่นกัน แต่ผมขอผ่านไปก่อน) จึงดูเป็นปัญหาขึ้นมา

แต่มีเหตุผลอะไรที่ถือว่านี่เป็น "ฉบับประชาชน" ตั้งแต่แรก?

รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชบางอย่างกับกษัตริย์ และที่ห้ามประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดสมัครเลือกตั้ง เรียกเป็น "ฉบับประชาชน" ได้อย่างไร?

โดยเฉพาะในประเด็นหลัง ที่การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ ลงเลือกตั้ง คือ ห้ามเข้ามาในกระบวนการอำนาจรัฐเอง บรรดานักวิชาการที่อ้าง "ประชาชน" ไมเพียงแต่สมชาย แต่ตั้งแต่นิธิ เกษียร รังสรรค์ ฯลฯ ฯลฯ (เรียกว่าเอกฉันท์) ก็ยังยืนกราน หลอกคนว่าเป็น "ฉบับประชาชน"

ที่พวกเขาหลอกตัวเองและหลอกประชาชนได้ ก็เพราะถือว่า สิทธิเข้าสมัครเลือกตั้งของประชาชนเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องใหญ่พอ ที่จะถือว่า นี่เป็นรัฐธรรมนูญแอนตี้ประชาชน แอนตี้ประชาธิปไตย

ที่ผมยืนกรานเรื่องความวิปริต ของวิธีคิด ของปัญญาชน เหล่านี้ ในกรณีการเลือกตั้ง นอกจากแสดงออกที่การผลิตวาทกรรมมาแอนตี้ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับยอมรับอย่างกลายๆหรืออย่างตรงๆ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังแสดงออกที่เรื่องนี้ด้วย

นั่นคือ ถือว่า การเข้ามาเสนอตัวเลือกตั้งเองของประชาชนเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็อ้างความเป็น "ภาคประชาชน" ของตน อย่างไม่หยุด

จะมีอะไรที่ ปากว่าตาขยิบ หน้าไหว้หลังหลอก ในวิธีคิดทางการเมืองได้มากกว่านี้อีก?

พวกคุณเป็น "เทวดา" หรืออย่างไร จึงมาตัดสินแทนประชาชนว่า "พวกมึง (ตาสีตาสา ที่ไม่จบปริญญาตรี) ไม่จำเป็นต้องมาเล่นการเมือง ไม่ต้องสมัคร ส.ส. ส.ว. หรอก เฟ้ย พวกกู ปริญญาตรีชนทั้งหลายจะทำหน้าที่เป็น "ประชาชน" แทนพวกมึงเอง"!!



ในการสัมมนาเดียวกัน สมชาย ยังพูดถึง "ตุลาการภิวัฒน์" ของธีรยุทธ ในลักษณะ ที่ "อ่อน" อย่างน่าแปลกใจ

บทความธีรยุทธ โดยธาตุแท้คือ การสร้างความชอบธรรมให้การใช้อำนาจกษัตริย์เข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยอาศํยศาลเป็นเครื่องมือ

ไม่ทราบว่า ในหมู่ปัญญาชน "ภาคประชาชน" นี่ วิจารณ์กันเองแรงๆ ตรงๆ แบบนี้ไม่ได้เชียวหรือ?

นี่คือวงสนทนาทางภูมิปัญญา ทางการเมือง หรือ วงสังคมแบบเจ้าขุนมูลนายกันแน่?



เกษียร ได้พูดตอบการนำเสนอของสมชาย ด้วยการชื่นชมว่า สมชาย ได้ "วิเคราะห์อย่างแหลมคม" ได้ ชี้ให้เห็นประเด็นที่ ก่อนหน้านี้ เขา "อาจจะคิดน้อยไป" "ขอบคุณมากที่ช่วยชี้ให้เห็นอันนี้กระจ่าง" ... ประเด็นที่ว่า คือ เรื่อง "ชนชั้นนำ พลังของสถาบัน หรือ ...พระราชอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงครอบงำ" .. "หลายตอนผม [เกษียร] นึกถึงตัวเองที่เข้าไปมีส่วนทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนห่าง แล้วก็มาตกใจภายหลังว่า เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร"

สรุปคือ พูดราวกับว่า นี่เป็นอะไรบางอย่าง ที่เขาคิดไม่ถึง มองข้าม มองไม่เห็นสมัยนั้น

คำของเกษียรนี้ อย่างต่ำ ต้องเรียกว่า misleading อย่างสูง อาจจะเข้าขั้น dishonest

เพราะเกษียร รู้ดีว่า ประเด็นสำคัญใหญ่ๆที่เขาว่า สมชาย เพิ่งมาชี้ให้เขาเห็น "อย่างแหลมคม" และมีส่วนทำให้เขาคิดขึ้นได้นี้ แท้จริงแล้วเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอเชิงวิพากษ์ต่อรัฐธรรมนูญและกระบวนการที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน

ที่ว่าเขาต้องรู้ดี ก็เพราะเขาเองนั่นแหละ ออกมาเขียนโต้ปฏิเสธผมลงในผู้จัดการ มากกว่า 1 สัปดาห์ (นี่คือบทความที่ผมขึ้นต้นว่า "ถึงมิตรร่วมขบวน.." เกษียร เขียนโต้ล้อเลียนว่า "ร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง")

(ไม่ต้องพูดถึงการเสนอและโต้แย้งหลังจากนั้นอีก แม้แต่กรณีที่ผมเสนอเรื่อง ปัญญาชน 14 ตุลา กับการ คืนดีกับสถาบัน ก็มีอายุ 6 ปีแล้ว และเสนอครั้งแรกอย่างเป็นระบบในที่สัมมนาต่อหน้าเกษียรเอง... ฯลฯ)

ผมขอพูดอย่างหนักว่า ที่พูดนี้ไม่ใช่ต้องการอ้างเครดิตของการเสนอก่อนสมชาย โดยเฉพาะอ้างทวงกับเกษียร ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

แต่เพื่อจะนำไปสู่ประเด็นสำคัญมากคือ

ที่เกษียร พูดราวกับว่า ประเด็นต่างๆเหล่านั้นในรัฐธรรมนูญ 40 (โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน) เป็นอะไรบางอย่างที่เขาคิดไม่ถึง มองข้าม จนต้องรอให้สมชายมาชี้นั้น

แท้จริง เป็นผลจากการตัดสินใจ/เลือกอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของเขาเอง (conscious political choice / decision) ในท่ามกลางการถกเถียงกับคนอื่น

ความแตกต่างระหว่าง 2 กรณีนี้ สำคัญ เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง (การตัดสินใจอย่างสำนึกจากวิวาทะ) หมายความว่า นี่เป็นความผิดพลาดทางการเมือง ทางความคิดครั้งใหญ่ ที่ควรต้องมีความรับผิดชอบสูง และซีเรียส ยิ่งกว่าเรื่อง (กรณีแรก) ของการ "นึกไม่ถึง" หรือ "คิดไม่พอ"

ถ้าเป็นกรณีหลัง ก็ต้องถามอย่างหนักว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และ ความรับผิดชอบทางการเมืองที่ตัดสินใจแบบนั้นอยู่ที่ไหน?

และควรต้องถามต่อไปว่า แล้วเรื่องอื่นๆที่ตามมา (จนถึงกรณีเรื่อง "ระบอบทักษิณ") ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของระบบวิธีคิดอันผิดพลาดอันเดียวกัน หรอกหรือ?


ผมขอย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่ moral blackmail ที่เกษียรอ้างเพื่อหลีกความรับผิดชอบอย่างหน้าตายเลย

แต่เป็นเพียงการ call to account ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติ ของการเมืองสาธารณะ (ต่อนักการเมือง หรือใครก็ตาม) ต่างหาก
ซึ่งเขาหรือนักวิชาการใด ก็ไม่ควรอ้างอภิสิทธิยกเว้น

เกษียร, นิธิ และ วาทกรรมแอนตี้การเลือกตั้ง

(22 กันยายน 2549)



หมายเหตุ: ข้อความข้างล่าง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนภายใต้ ภายใต้หัวข้อ "ในบริบทสังคมไทย วาทกรรมแอนตึ้การเลือกตั้ง เป็นวาทกรรมที่ใช้ตรรกะแบบวิปริต" ซึ่งผมเขียนไว้ 1-2 เดือนแล้ว แต่ไม่ได้โพสต์มาก่อน ในทีนี้ ผมตัดบางส่วนมาโพสต์ในชื่อใหม่ และเขียนเพิ่มเติมต่อท้าย



ประเด็นใหญ่มากประเด็นหนึ่งในบรรดาวาทกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณขณะนี้ คือประเด็น แอนตี้การเลือกตั้ง ไม่เพียงแอนตี้การเลือกตั้งในลักษณะเฉพาะครั้งนี้เท่านั้น แต่เกินเลยไปถึง "การเลือกตั้ง" ในตัวเอง (per se) ด้วย

คนที่นิยมวาทกรรมนี้จะพูดซ้ำๆซากๆ ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง"

ใครที่พูดคำขวัญนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นนักวิชาการปัญญาชน ผมเห็นว่า นอกจากปัญญาอ่อนแล้ว ยังน่าขยะแขยงด้วย

คุณหาว่า คนที่สนับสนุนการเลือกตั้ง ที่ให้ความสำคัญการเลือกตั้งที่สุด ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ว่าไม่ใช่แค่ "การเลือกตั้ง"

แท้ที่จริง พวกคุณเองนั่นแหละที่ บิดเบือน "การเลือกตั้ง" คือ ทำให้เป็นเพียงการหย่อนบัตรลงคะแนน

"การเลือกตั้ง" เป็นแค่นั้น อย่างที่พวกคุณบิดเบือนหรือ?

ขอถามหน่อยว่า

ที่คุณแอนตี้ "นักเลือกตั้ง" ได้มากขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะมี "การเลือกตั้ง" หรอกหรือ?

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง คุณสามารถ "ด่า" ใครได้มากขนาดนี้หรือ?

ถ้า "แม้ว" ไม่ได้ลงเลือกตั้ง คุณสามารถ แม้แต่จะเอาชื่อเล่นของเขามาด่าสาธารณะได้มากขนาดนี้? (ไอ้แม้ว, พ่อไอ้แม้ว, ฟักแม้ว ฯลฯ)

คุณสามารถ เอาใตรมาพาดพิงในวาทกรรมสาธารณะ หรือ ถ้าไม่ใช่เพราะเป็น "นักเลือกตั้ง" คือผู้ที่ต้องได้อำนาจมาโดยผ่านการเลือกตั้ง

คุณใช้คำอย่าง "หน้าเหลี่ยม" กับใครที่มีอำนาจโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้หรือ?


เหตผลที่พวกคุณมี "สิทธิ" หรือรู้สึกว่ามี "สิทธิ" ในการแสดงออกเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะว่า พวกนี้คือนักการเมืองจากการเลือกตั้ง?

คุณมีสิทธิ หรือรู้สึกตัวว่ามสิทธิ ที่จะ "ด่า" คนอื่นๆที่อยู่ในอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้วิธีการแบบนี้?

พวกวาทกรรมแอนตี้เลือกตั้ง กล่าวว่าประชาธิปไตย ไม่ใช่การเลือกตั้ง
โดยให้เข้าใจโดยนัยว่า "การเลือกตั้ง" คือการหย่อนบัตร

การเลือกตั้ง ไม่ใช่การหย่อนบัตรอย่างแน่นอน แต่คือ สิ่งที่พวกคุณกำลังทำนี่แหละ

ดังนั้นเวลาที่คุณแอนตี้การเลือกตั้ง แท้จริง ก็เพราะคุณมองแบบบิดเบือนตัวเอง

การผลิตวาทกรรมแบบที่กำลังทำอยู่ เป็นไปได้ ก็เพราะผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง

การมีการเลือกตั้งประชาธิปไตย คือกระบวนการที่เปิดให้ ผู้ที่จะมาใช้อำนาจสาธารณะ ต้องอนุญาตให้ตรวจสอบ ต้องอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง และอนุญาตให้เลือกออกจากตำแหน่ง หรือแข่งแย่งชิงตำแหน่งได้



เพิ่มเติม 22 กันยายน 2549

"แอนตี้การเลือกตั้ง" เป็น 1 ใน 3 ประเด็นใหญ่ ที่ผมเสนอว่า ปัญญาชน กลุ่มที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 14 ตุลา" มี "ฉันทามติ" ร่วมกัน (ดูกระทู้ก่อนหน้านี้)

ลักษณะการเขียนที่ ด่า เยอะเย้ย เสียดสี โจมตี นักการเมือง และเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น เป็นสิ่งที่ใครที่อ่านงานเขียนของ นิธิ, เกษียร หรือ รังสรรค์ หรือ อรรถจักร หรือ ฯลฯ ฯลฯ ยากจะมองข้ามได้

เมื่อเร็วๆนี้ เกษียร ได้เปิดเผยในบทความใน NLR ว่า คำนูญ (1 ในมันสมองการเคลื่อนไหวของสนธิ) คือผู้คิดคำ "เลือกตั้งธิปไตย", "นักเลือกตั้ง" แต่ในทัศนะของผม งานเขียนของคำนูญ ไม่มีพลังพอจะทำให้คำนี้ กลายเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็น "จิตสำนึกร่วมสมัย" (zeitgeist) ได้เท่ากับงานของเกษียร ผมคิดว่า สามารถพูดได้ว่า เหนือกว่าคนอื่นๆทั้งหมด เกษียร เป็นคนรับผิดชอบต่อการทำให้คำนี้กลายเป็นคำสาธารณะที่ได้รับความนิยมทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ นักศึกษา แอ๊กติวิสต์ ngo (กรณีที่งานเกษียร ตีพิมพ์ใน NLR ครั้งนี้ ผมเสียใจไมน้อย ที่ NLR ไม่รู้ backgrounds งานของเกษียรเพียงพอ ไม่มีนักสังคมนิยม หรือซ้ายที่ไหน โจมตีการเลือกตั้ง และแสดงท่าทีอ่อนข้อต่อสถาบันกษัตริย์ อย่างที่เกษียร ทำในงานหลายปีที่ผ่านมา)

ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่คำ แต่นัยยะ ที่ตามมา ที่สรุปเป็นคำขวัญประเภท "ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง"
พลังของคำขวัญนี้ มีมหาศาลเพียงใด ในระหว่างการเคลื่อนไหว แอนตี้ทักษิณที่ผ่านมา น่าจะจำกันได้


งานของเกษียร และโดยเฉพาะงานของนิธิ ที่ตอกย้ำไอเดียนี้ ที่ทำให้ "การเลือกตั้ง" กลายเป็น dirty words มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการเป็นขุมพลังทางปัญญาให้กับขบวนการแอนตี้ทักษิณ ซึ่งเปิดทางให้กับการรัฐประหาร

มองในแง่ "ภววิสัย" ผมเห็นว่า การนำเสนอไอเดีย "แอนตี้การเลือกตั้ง" ของนิธิ, เกษียร ฯลฯ เป็นการแสดงบทบาทปฏิกิริยาทางประวัติศาสตร์

ในประเทศไทย การที่พวกเขาแอนตี้โจมตีการเลือกตั้ง และผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่บ่อยครังกลับแสดงท่าทีอ่อนต่อ อำนาจที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง เป็นอะไรบางอย่างที่ผมเห็นว่า วิปริต, และน่าขยะแขยง อย่างยิ่ง

(กรณีนิธิ หลังๆ ถึงขั้น เอาคำว่า "เหลี่ยม" มาเขียนเสียดสีโจมตีทักษิณ...
แน่จริง ไม่ลองหาคำประเภทเดียวกันนี้มาใช้คำหัวหน้าคณะรัฐประหารตอนนี้ล่ะครับ? ไม่ต้องพูดถึงใช้กับ "ใครบางคน" ที่คุณรู้ดีว่าผมหมายถึงใคร)

ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย "มึง" ควรละอายใจต่อตัวเอง

(22 กันยายน 2549)



(หมายเหตุ: คำว่า "มึง" ที่ใช้ในหัวข้อ ไม่ใช่คำของผมเอง ผมเพียงเลียนแบบวิธีที่นักวิชาการใหญ่ท่านหนึ่ง ใช้ในการด่าประนาม นักการเมือง กรุณาอ่านต่อไปข้างล่าง)



สำหรับผม ด้านที่น่าสะอิดสะเอียนที่สุด ของสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ

เมื่อเปรียบเทียบท่าทีที่บรรดาปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย มีต่อรัฐบาลเลือกตั้ง ต่อนักการเมือง ("นักเลือกตั้ง" "เลือกตั้งธิปไตย" ที่พวกเขาประนาม)

กับ

ท่าทีที่มีต่อนักข่มขืนทางการเมือง

ไหนล่ะ ความ "ปากกล้า" ที่เคยแสดงต่อพวกแรก?

ไหน "แถลงการณ์ประนาม"?

......

ดังที่เคยกล่าวแล้ว่า วันก่อนมีการสัมมนาที่ธรรมศาสตร์ โดยบรรดาปัญญาชนสาธารณะชื่อดัง ตั้งหัวข้อว่า "การจัดการควมจริงในอาณาจักรแห่งความกลัว"

ผมไปร่วมเพระหมั่นไส้การตั้งหัวข้อ "อาณาจักรแห่งความกลัว"

นี่เป็น theme ที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนประจำ
อ้างว่า "ระบอบทักษิณ" สร้าง "ความกลัว" ทำให้ "ประชาชน" ไม่กล้าต่อสู้ ฯลฯ

ในความเห็นของผม นี่เป็นความเห็นที่ดัดจริต
เสนอขึ้นมาเพื่อโฆษณาตัวเอง (self-promotion)

ไหน ใคร "กลัวทักษิณ"? เห็นด่ากันไม่หยุดแต่ละสัปดาห์ (ช่วงวิกฤต แต่ละวัน)

นิธิเองบางครั้ง ใช้คำ "กู" "มึง" (ไม่ใช่ในแง่เรียกตัวเอง กับเรียกรัฐบาล แต่ก็ใช้ในบริบท ที่เป็นการ "ด่า" รัฐบาล ให้สะใจ (คืออ้างคำชาวบ้านๆมาด่าแทน)

หรือยังจำได้ไหมว่า รังสรรค์ ชอบด่า นักการเมืองว่า "อัปรีย์" (ดูเหมือนเคยใช้คำว่า "สภาอัปรีย์" ด้วยซ้ำ

[ผมกำลังรอดูอีกคนหนึ่ง เกษียร ซึ่งเขียน "ระบบอบทักษิณ" มาขู่คน จนเชื่อไปหมด และถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มปฏิกิริยาในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา
ทีชอบเขียนอ้างว่า "ระบอบทักษิณ" ใช้ "สมบุรณาญาสิทธิ" ฯลฯ
ขอให้ลองอ่านข้อเขียนเขาดู จะกล้าใช้ภาษาแรงๆแบบนี้ (เอาแค่ครึ่งเดียวก็ได้) กับพวกนักข่มขืนทางการเมืองหรือไม่?]

................................

ไหนล่ะ คำว่า "กู" "มึง" คำว่า "อัปรีย์"?

ความ "ปากกล้า" เหล่านี้หายไปไหน

ผมขออนุญาตใช้คำไม่สุภาพกับนักวิชาการเหล่านี้ในทีนี้บ้าง

ถุย
อ้วก


(ขออภัย ถ้าใครเคยอ่านที่ผมเขียนในหลายปีมานี้ คงรู้ว่า ผมด่านักวิชาการปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้ ด้วยเรื่องเหล่านี้มาก่อน ส่วนใหญ่ ได้รับปฏิกิริยาตอบในทางลบรุนแรง จากผู้ชื่นชมพวกเขา.. บอกตรงๆ ขนาดผมไม่เคยรู้สึกพวกนี้มีน้ำยาทางการเมืองอะไร ยังนึกไม่ถึง ในความ
ขี้ขลาดสุดๆ ของพวกนี้ ขนาดนี้)

สืบเนื่องจากกระทู้ "นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ '2 ไม่เอา' มีส่วนรับผิดชอบต่อการรัฐประหารเพียงใด?"

(21 กันยายน 2549)



วิธีคิดและการให้เหตุผลของผมในกระทู้ "นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ '2 ไม่เอา' มีส่วนรับผิดชอบต่อการรัฐประหารเพียงใด?"
บางครั้งถูกถาม-โต้แย้ง ว่า
"ถ้าเช่นนั้น คุณจะไม่ให้ประท้วงรัฐบาล กระทั่งเรียกร้อง หรือล้มรัฐบาลเลยหรือ แล้วอย่างนี้จะเป็นเประชาธิปไตยยังไง"
คำตอบของผมคือ
ถ้าคุณคิดว่านี่เป็นเรื่อง ประชาธิปไตย หรือ สิทธิประชาธิปไตย ล้วนๆ ในการคัดค้านรัฐบาล
คุณก็ "พาซื่อ" ไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับการเมือง-สังคมไทย

ถ้านี่เป็นประชาธิปไตยแบบในตะวันตก (โดยทั่วไป)
การรณรงค์ประท้วงรัฐบาล ไม่วาจะเข้มข้น รุนแรงในระดับไหน
กระทั่งลงเอยที่การไล่หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐบาลทั้งชุดออกได้
ผู้ที่จะมาแทนที่ ก็เป็นเพียง พรรคอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งมาจากกระบวนการเลือกตั้ง-ตัดสินใจของประชาชนเหมือนกับพวกที่ถูกล้มไป และภายใต้สถานการณ์ ที่ประกัน เสรีภาพของการแสดงออก เหมือนๆกัน

ถ้าเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ คุณจะคัดค้าน เสนอให้รัฐบาลออก ให้ "ล้ม" ยังไง ก็ตามสบาย ผมไม่มีปัญหาใดๆ

แต่ในประเทศไทย ความจริงของการเมืองไทย เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่การเมืองที่ประกัน freedom of speech
ที่สำคัญ นี่เป็นการเมือง ที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่อย่างสำคัญตลอดเวลา

อย่าว่าแต่ ล้มรัฐบาล
เพียงแค่วิพากษ์ โจมตี ประนาม รัฐบาลอย่างรุนแรง
ก็มี "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ได้รับประโยชน์ ในทางการเมือง และในทางอุดมการณ์-ความคิด อยู่ตลอดเวลา

ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ดังกล่าว ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

(และนี่คือความจริง ของปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ที่สุด ที่ทำตัวเป็นปัญญาชนสาธารณะ ทุกวันนี้ คือ
พวกเขาไม่เห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" เป็นประเด็นสำคัญ
บางคน - เช่น เกษียร - เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญ ถึงกับเขียนสนับสนุน "อำนาจ" ดังกล่าวด้วยซ้ำ
หรือ แม้แต่นิธิ ก็ยังเสนอให้มอง "อำนาจ" ดังกล่าว ในลักษณะเป็นตัว "คานอำนาจ" กับรัฐบาลเลือกตั้ง
เป็นสิ่งที่ "แนบแน่นกับประชาชน" ได้ (ในขณะที่รัฐบาล "นายทุน" ไม่ได้ เพราะต้อง "ผ่าน" "ตัวกลาง" อย่าง "เงิน" และ "บัตรลงคะแนน" - ผมเคยอภิปรายประเด็นทางปรัชญา เกี่ยวกับ mediated relations ในกระดานข่าวเก่า ขอไม่ขยายความในที่นี้)

แต่ถ้าคุณ (เหมือนผม) ที่เห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนุญ" นี้เป็นประเด็นสำคัญ

อันที่จริง ในความเห็นของผม เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดขั้นชี้ขาดของการเมือง-สังคมไทย

ในการด่าโจมตีรัฐบาล คุณก็ควรถามตัวเองให้หนัก

ก่อนอื่นคือ คุณกล้าพอ จะโจมตี ทุก "อำนาจ" ในลักษณะรุนแรงเท่าๆกันหรือ?
คุณมีความสามารถที่จะทำจริงๆหรือ?

ยิ่งถ้าในการรณรงค์ระดับต้องการ ล้ม รัฐบาล หรือยิ่งล้มอะไรที่คุณเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"

คุณจะเอาใคร หรือ อำนาจอะไรมาแทน? (คุณกำลังพูดถึงทั้ง "ระบอบ" เชียว!)

พรรคการเมืองฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่ง?

หรือ....?

พวกคุณที่ชอบบอกว่า
ต้องการ คัดค้าน กระทั่งโค่นล้ม รัฐบาลเลือกตั้ง (ของพรรคหนึ่ง) เฉยๆ
ไม่ได้ต้องการให้พรรคเลือกตั้งอีกพรรคหนึ่งมาแทน
ไม่ได้ต้องการให้ "อำนาจอื่น" มาแทน

พวกคุณที่ชอบพูด ชอบตะโกนเช่นนี้
เป็นทั้ง "พาซื่อ" "ไร้เดียงสา", และ "ไม่รับผิดชอบ"

ในที่สุดแล้ว ข้อเสนอพื้นฐานที่สุดของผม ไม่ใช่ ให้รักษารัฐบาลไว้ at all cost เพราะมิเช่นนั้น "อำนาจอื่น" จะได้ประโยชน์
แต่คือ จะต้องหาทาง "จัดการ" กับ "ทุกอำนาจ" พร้อมๆกัน
อย่างน้อย ในระดับ "วาทกรรม" คุณต้อง ผลิต "วาทกรรม" ที่โจมตี "อำนาจอื่น" ได้พร้อมๆกับที่โจมตีรัฐบาล
คุณต้องพยายามไม่ทำการโจมตีรัฐบาล ที่ให้ประโยชน์ในทางการเมือง ทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ อย่างที่ ปัญญาชนทั้งหลายทำกัน

ในขณะที่บรรดาปัญญาชนใหญ๋ในบ้านเรา เกือบทั้งหมด ล้วนแต่ หลอกตัวเอง และหลอกผุ้คน
ด้วยการใช้คำประเภท "โครงสร้าง" "ระบบ" ฯลฯ

แท้จริงแล้ว พวกเขา "ดีแต่ด่านักการเมือง" เท่านั้น

เบื้องหน้า "อำนาจอย่างอื่น" ทั้งในยามปกติ หรือในยามทุกวันนี้ พวกเขาเป็นได้แค่ ... (เติมเอาเองก็แล้วกัน)

นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ "2 ไม่เอา" มีส่วนรับผิดชอบทางการเมือง-ศีลธรรมต่อการรัฐประหารครั้งนี้เพียงใด?

(21 กันยายน 2549)



1. "โจทย์" หรือ "คณิตศาสตร์" พื้นฐาน

ตั้งแต่ต้น ผมยืนกรานมาโดยตลอดว่า "โจทย์" หรือ "คณิตศาสตร์" พื้นฐานที่สุดของวิกฤติทักษิณในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาคือ

ทักษิณได้รับการสนับสนุน โดยการเลือกตั้ง จากประชาชนส่วนข้างมากของประเทศ อย่างล้นหลาม
(และเลือกอีกกี่ครั้งในระยะใกล้ก็ชนะ)

ดังนั้น

ผุ้ที่ต้องการเอาทักษิณออก (แค่เอาเฉพาะตัว ไม่ต้องพูดถึงเอา "ระบอบทักษิณ" - ไม่ว่านั่นคืออะไร - ออก) ไม่มีทางจะเอาออกได้ด้วยวิธีทางเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ ด้วยวิธีการเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ ให้หันมาเลิกสนับสนุนทักษิณ

กลุ่มสนธิ-จำลอง-พันธมิตร (และบรรดาบุคคลลึกลับแอนตี้ทักษิณทั้งหลาย) ล้วนเข้าใจข้อนี้ดี

ยุทธวิธีของพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบ คือ การสร้าง สถานการณ์ทางการเมือง ให้เกิดภาวะ "ทางตัน"
เพื่อให้ "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ซึ่งก็คือ "อำนาจนอกการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ" เข้าแทรกแซง



2. ความเพ้อฝันของพวกคุณ

พวกคุณคิดและพูดอย่างเพ้อฝันว่า พวกคุณ "ไม่ต้องการทั้งทักษิณ" และ "ไม่ต้องการอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ"

แต่ในทางปฏิบัติ คุณไม่มีตัวแทนของคุณเอง ในระบบรัฐธรรมนูญ
พูดง่ายๆคือ ไม่มีพรรคการเมือง หรือนักการเมือง ที่จะขึ้นสู่อำนาจแทนทักษิณด้วยวิธีการเลือกตั้ง หรือเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่โดยผ่านการรณรงค์เลือกตั้งได้
(อันที่จริง ต่อให้คุณมี ตัวแทนนั้น ก็ไม่มีทางเอาชนะทักษิณได้ในระยะใกล้)

แต่พวกคุณก็ยังยืนกรานที่จะเข้าร่วมขบวนการแอนตี้ทักษิณต่อไป
โดยอ้างว่า พวกคุณต่างจาก สนธิและพันธมิตร เพราะพวกคุณยังยืนยันคัดค้าน "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ"

ไม่ต้องพูดว่า ความจริง ด้านที่ "คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" นั้น พวกคุณทำชนิด "ครึ่งๆกลางๆ" (half-hearted) เท่านัน

(อันที่จริง เรื่องนี้ มีความเป็นมายาวนานยิ่งกว่า วิกฤตทักษิณ เพราะตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา พวกคุณนั่นแหละ ที่มีส่วนรับผิดชอบอย่างสำคัญ ในการผลิต "วาทกรรม" ประเภท แอนตี้การเลือกตั้ง ("เลือกตั้งธิปไตย", "นักเลือกตั้ง") และเชิดชู "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นรากฐานทางภูมิปัญญาสำคัญให้กับขบวนการแอนตี้ทักษิณ รวมทั้งบรรดา พวก "พันธมิตร" ด้วย)

แต่ต่อให้ยอมรับ เพื่อประโยชน์การอภิปรายว่า ด้านที่ "คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ของพวกคุณ มี "น้ำหนัก" และ "ความกระตือรือร้น" (และต่อให้ยอมรับว่าประชาชนทั่วไปแยกออกจริงๆซึ่งยังน่าสงสัยอยู่)

ต่อให้ยอมรับเช่นนี้ ด้านที่ "คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ของพวกคุณ ก็ไม่มีน้ำยาเช่นกัน (ดูทุกวันนี้)

ผลโดยรวมคือ ด้านที่พวกคุณทำได้ผลหรือมีความหมายจริงๆ คือด้านที่พวกคุณร่วมส่วนในการแอนตี้ทักษิณ

ร่วมส่วนในการทำให้เกิดวิกฤต "ทางตัน" ขึ้น



3. ความรับผิดชอบทางการเมือง-ศีลธรรม

สมมุติเป็นจริงว่า พวกคุณคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับ "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ซึ่งก็คือ คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้จริงๆ

พวกคุณเองไม่คิดจะถามตัวเองบ้างหรือว่า พวกคุณมีความรับผิดชอบทางการเมืองและศีลธรรมอย่างไร ในการมีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์ ที่ปูทางให้เกิดการใช้ "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ครั้งนี้?

ถ้าพวกคุณสังกัดขบวนการหรือพรรคการเมืองเช่นสมัยก่อน (พคท., ขบวนการนักศึกษา)
ทิศทาง และกิจกรรมทางการเมืองในระยะที่ผ่านมาของพวกคุณ (ไม่ใช่เฉพาะ 1 ปี แต่ย้อนหลังไปถึง วาทกรรม "แอนตี้นักการเมือง" "ยอมรับสถาบัน" ของพวกคุณ)

ต้องถือเป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธี ทางนโยบายครั้งใหญ่ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ

ผมมี "ญาณพิเศษ" เห็นล่วงหน้า นครินทร์ ได้เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ

(21 กันยายน 2549)



เมื่อเช้าผมโพสต์กระทุ้ ยกย่องเชิดชู ภูมิปัญญาและจุดยืนทางการเมืองอันสูงส่งของท่านคณบดี รัฐศาสตร์ มธ.
แล้วผมก็เสนอว่า น่าจะตอบแทนความสูงส่งของท่านด้วยการให้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
บัดนี้ ผมเพิ่งเห็นข่าวจากประชาไทยว่า คณะชื่อยาวๆ นั่น ตั้งให้ท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ!!

ไชโย! ไชโย! ผมมี "ญาณวิเศษ" สามารถเห็นอนาคตได้ เอิ๊กๆๆ

โอเค seriously

ใครที่ไปทำงานให้ผู้ใช้กำลังอาวุธเข้าข่มขืนขำเราการเมือง เป็นคนที่ไม่มีความเคารพตัวเอง

ถ้ายืมคำที่ปรีดี พนมยงค์ ชอบใช้คือ

เป็นเพียงเศษสวะ

ภูมิปัญญาและจุดยืนอันสูงส่งของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

(21 กันยายน 2549)



ใน Bangkok Post วันนี้ มีรายงานคำสัมภาษณ์ความเห็นต่อการรัฐประหารของท่านคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.

ผมไม่สามารถหาคำสัมภาษณ์นี้ในหนังสือพิมพ์ไทย และไม่สามารถยืนยันว่า Bangkok Post สรุปคำสัมภาษณ์ มาอย่างถูกต้องหรือไม่ (โดยทั่วไป Post ค่อนข้างรายงานถูกต้อง หาก Post รายงานไม่ถูกต้อง ความจริง ท่านคณบดีก็ควรจะออกคำชี้แจง เพราะเรื่องนี้สำคํญ)

สมมุติว่า Post รายงานถูกต้อง ผมก็ต้องแสดงความนับถือในภูมิปัญญาและจุดยืนอันสูงส่งของท่านคณบดีว่า

ช่างคิดหาวิธีแก้ต่าง-แก้ตัว-ให้ความชอบธรรม ให้กับการใช้ปืน-รถถัง มากระทำชำเรา กับการเมือง ได้ดีจริงๆ

อย่างนี้น่าตั้งให้เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หรือไม่ก็เป็นที่ปรึกษา

หรือไม่... รมต.?



นี่คือคำสัมภาษณ์ ที่ว่า :

Nakarin Mektrairat, political science dean of Thammasat University, said the nation was left with no other option but the coup because normal political mechanisms could not function.

(แปล) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศชาติถูกปล่อยให้ไม่เหลือทางออกทางอื่นนอกจากรัฐประหาร เพราะกลไกทางการเมืองปกติไม่สามารถทำหน้าที่

ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา
ตอนที่ 2: การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่



หมายเหตุ : ข้างล้างนี้เป็นส่วนหนึ่ง ("ตอนที่ 2") ของข้อเขียนเรื่อง "ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา" ที่ผมเคยเผยแพร่ทางเว็บครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2547 โปรดสังเกต ส่วนที่ทำตัวเน้นสีแดง



ตอนที่ 2: การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่

ปัญญาชน 14 ตุลา เริ่มก่อรูปในลักษณะที่มีความหลากหลายอย่างมากที่สุด ตั้งแต่เสรีนิยมเชียร์เจ้า (อย่าง ชัยอนันต์ สมุทวนิช) ไปถึง ซ้าย พคท. (เช่น รวี โดมพระจันทร์) แม้ว่าการต่อต้านรัฐบาลทหารและที่สำคัญคือการเติบโตของอิทธิพล พคท.ในกลางทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 จะทำให้เกิดเอกภาพขึ้นในขบวนการนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปัญญาชนรุ่นนี้ แต่เอกภาพนี้มีลักษณะของการกีดกัน (marginalize) กระแสความคิดอย่างอื่น (หรือลดทอนให้เป็นแนวร่วม) มากกว่าจะเป็นเอกภาพที่เกิดจากการผสมผสานของกระแสต่างๆในปัญญาชนรุ่นนี้ (คือเป็นชัยชนะของกระแสพคท.เหนือกระแสอื่นๆ)

ในทางตรงข้าม สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจมากที่สุดในระยะประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือความเป็นเอกภาพของปัญญาชนรุ่นนี้อย่างกว้างขวางที่สุด ถึงระดับที่คนสำคัญๆเกือบทุกคนในหมู่พวกเขาสามารถเข้าร่วมสนับสนุนการรณรงค์เคลื่อนไหวเป็นเสียงเดียวได้อย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านั้น (ที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" และรัฐธรรมนูญ 2540) เมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งในปัญญาชน 14 ตุลาคนสำคัญ (รังสรรค์ ธนะพรพันธ์) ได้ประดิษฐ์คำว่า "ฉันทามติกรุงเทพ" (Bangkok Consensus) ขึ้นเพื่อบรรยายภาวะการเห็นด้วยร่วมกันในหมู่ปัญญาชนไทยเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ (ภายใต้การนำของกษัตริย์) โดยไม่ตั้งใจ คำนี้ได้สะท้อนความจริงที่กว้างกว่าประเด็นเรื่องทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ครอบคลุมถึงบรรยากาศทางภูมิปัญญาโดยทั่วไปของไทยปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของปัญญาชน 14 ตุลา จนเราอาจจะเรียกได้ว่า ยุคสมัยปัจจุบัน คือ ยุคสมัยแห่งฉันทามติ (Age of Consensus) ในหมู่ปัญญาชนไทย (ครั้งสุดท้ายที่มีการถกเถียงทางแนวคิดอย่างจริงจังในหมู่ปัญญาชนชั้นนำของไทยคือเมื่อไร? มีใครนึกออกบ้าง?)

ผมขอเสนอว่า การมีเอกภาพทางความคิดอย่างกว้างขวางในหมู่ปัญญาชนไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการที่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่ (thematic shift) ในหมู่พวกเขา กล่าวคือ ปัญญาชน 14 ตุลาได้หันเหหรือละทิ้งจากแนวคิดที่เคยยึดถืออยู่ในระยะก่อตัวของพวกเขาเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน หันมาเห็นด้วยร่วมกันในประเด็นหลักสำคัญๆ 2-3 ประเด็น การเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนประเด็นนี้ เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ใช่เพียงชั่วข้ามคืน และไม่ได้ผ่านการถกเถียง

ผมขอเสนอว่า ในปัจจุบัน มีประเด็นหลักอยู่ 3 ประเด็น ที่ปัญญาชน 14 ตุลา เห็นด้วยร่วมกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีใครเรียบเรียง (articulate) ประเด็นเหล่านี้ออกมา เป็นงานที่ได้รับการยอมรับทั่วไป และไม่ได้หมายความว่า เราจะพบประเด็นเหล่านี้ พร้อมๆกันทั้ง 3 ประเด็นในความคิดหรืองานของคนเดียวเสมอไป แต่โดยทั่วไป ผมคิดว่าไม่ผิดพลาดที่จะกล่าวว่า 3 ประเด็นนี้ประกอบกันขึ้นเป็น ขอบเขตของความคิด (limits of thought) เป็น "สามัญสำนึก" (common sense) หรือ "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย" (Zeitgeist) ของปัญญาชนปัจจุบัน ประเด็นเหล่านี้คือ

หนึ่ง reconciliation with the monarchy (ผมพยายามหาคำในภาษาไทยที่ฟังเข้าท่าสำหรับประเด็นนี้อยู่นาน ยังหาไม่ได้ ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษไปพลางๆก่อน ใครจะแปลว่า "คืนดีกับสถาบัน" ก็ได้) ในบรรดา 3 ประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึง ประเด็นแรกสุดนี้ ต้องถือว่าสำคัญที่สุด เพราะก่อนอื่นที่สุด เป็นประเด็นเดียวใน 3 ประเด็นที่กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จริงๆ ขณะที่อีก 2 ประเด็นสามารถกล่าวได้ว่า มีส่วนเป็นมรดกตกทอดมาจากกระแสความคิดแบบพคท.ที่ปัญญาชน 14 ตุลาจำนวนมากเคยอยู่ใต้อิทธิพลในสมัยก่อน และที่สำคัญ ผมขอเสนอว่า ประเด็นนี้เป็นตัวกำหนด (determinant) ประเด็นอื่นๆ ส่งผลสะเทือนชักนำประเด็นอื่นๆด้วย เหมือนกับเป็น "แกน" ของ "ฉันทามติ" หรือจิตวิญญาณร่วมสมัยที่เรากำลังกล่าวถึง

ผมกล่าวว่า ใน 3 ประเด็น นี่เป็น "สิ่งใหม่" จริงๆในหมู่ปัญญาชน 14 ตุลา ในความเป็นจริง นี่เป็นสิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์ปัญญาชนไทยโดยรวมด้วย กล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกนับแต่สมัย เทียนวรรณ เมื่อกว่า 100 ปีก่อน ที่ไม่มีกระแสสำคัญที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันในหมู่ชนชั้นปัญญาชน (the intelligentsia) สยาม/ไทยอยู่เลย

กล่าวสำหรับปัญญาชน 14 ตุลาในปัจจุบัน รูปแบบหลักของการแสดงออกของประเด็นนี้ ยังไม่ใช่ในลักษณะ อาเศียรพาทสดุดี แม้จะมีการแสดงออกประเภทนี้ให้เห็นบางชิ้นที่สำคัญมากๆ (ตั้งแต่ประเภทชัดเจนเต็มที่อย่าง บทความ "ฉันทามติกรุงเทพ" ของรังสรรค์ ที่กล่าวถึงข้างต้น, บทความ "ศึกษาพระราชดำรัสเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" ของธีรยุทธ บุญมี, ไปจนถึง แบบกระจัดกระจายในงานของนิธิ หรือประโยคประเภทในบทความของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล "ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีสถาบันและผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ให้ยอมรับนับถือกันเลยหรือ" หรือการเชียร์หนังสือ "บ้านพ่อ" ของแอ๊ด คาราบาว การถูก "ขอ" ให้เขียนการ์ตูนของชัย ราชวัตร การ "อิง" ในระหว่างรณรงค์ค้านการย้ายธรรมศาสตร์ ไปจนถึงการอ้างอิงเชิงสดุดีในหมู่เอ็นจีโอ ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้ แม้จะมีความสำคัญ และไม่เคยปรากฏมาก่อน (ซึ่งลำพังตัวอย่างเหล่านี้ก็เพียงพอให้ต้องขบคิด วิเคราะห์) แต่ก็ยังไม่ใช่รูปแบบการแสดงออกที่เป็นหลักของประเด็นนี้ แต่รูปแบบหลักคือ การถือว่าประเด็นเรื่องสถาบัน ไม่ใช่ประเด็น อีกต่อไป (no longer an issue) (ซึ่งก็ยังเห็นได้ถึงความแตกต่างเป็น "ระดับ" คือ ตั้งแต่ "ไม่ใช่ประเด็นเลย" ไปจนถึง "ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพูดตอนนี้" หรือ "ควรหลีกเลี่ยงประเด็นนี้เพื่อให้พูดประเด็นอื่นๆได้" หรือ "ไม่ใช่ประเด็นสำคัญพอที่จะเป็นอุปสรรคให้ร่วมมือกันไม่ได้")

(ผมขอเสนอด้วยว่า สิ่งที่เหมือนเป็น "ผลพลอยได้" ที่ตามมาอย่างหนึ่งของการ reconciliation with the monarchy คือการ reconciliation with the military กรณีที่เด่นชัดที่สุดคืองานของ สุรชาติ บำรุงสุข แต่มีให้เห็นได้ทั่วไปในหมู่ปัญญาชนคนอื่นด้วย ขอให้สังเกตปฏิกิริยา - คือ การไม่มีปฏิกิริยา - เมื่อมีการขอซื้อ-ขยายกำลังอาวุธต่างๆของกองทัพ)

สอง การปฏิเสธการเลือกตั้งในฐานะองค์ประกอบหลักสำคัญของประชาธิปไตย ในแง่หนึ่ง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยที่ปัญญาชน 14 ตุลา อยู่ภายใต้อิทธิพล พคท. มีการวิพากษ์ "ประชาธิปไตยรัฐสภา" วิพากษ์นักการเมือง พรรคการเมือง และด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกจากสมัยนั้น แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง "ใหม่" ของประเด็นนี้ในปัจจุบัน คือการวิพากษ์นั้น ได้ขยายขอบเขตเป็นการปฏิเสธ หรือสร้างอคติให้ต่อการเมืองแบบเลือกตั้ง per se

ในจารีตปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทย แม้จะมีการวิพากษ์การเลือกตั้ง หรือระบอบรัฐสภา ลักษณะการวิพากษ์เป็นไปในลักษณะที่ว่า การเลือกตั้งและระบอบรัฐสภาที่เป็นอยู่ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง (ประชาชนไม่มีสิทธิเต็มที่ในการสมัครเลือกตั้ง หรือรณรงค์ ตามความเชื่อทางการเมืองของตนอย่างแท้จริง) แต่การวิพากษ์ในปัจจุบัน เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ไปถึงขั้นสร้างความรู้สึก "แย่" ต่อการเมืองแบบการเลือกตั้งเอง ถึงขั้นที่ว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน สามารถจำกัดสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดได้ โดยได้รับการยกย่องว่าเป็น "รัฐธรรมนูญประชาชน" จากบรรดาปัญญาชน 14 ตุลา!

อาจจะกล่าวว่า ถ้าจะดู "ชัยชนะ" หรือ "ความสำเร็จ" ของ ปัญญาชน 14 ตุลา อย่างเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน คือ การที่พวกเขาสามารถทำให้ 2 คำ (หรือสิ่งที่เชื่อมโยงกับ 2 คำนี้) กลายเป็น "คำสกปรก" (dirty words) ใน "วาทกรรมทางการเมือง" ร่วมสมัยได้ คือ คำว่า "การเลือกตั้ง" และ "การพัฒนา"(cf. เกษียร กรณี "นักเลือกตั้ง" และ "เลือกตั้งธิปไตย" และ รังสรรค์ กรณี "อัปรีย์ชน")

ความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นนี้กับประเด็นแรก เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด (cf. ประโยคของเสกสรรค์ข้างต้น) นับเป็น irony อย่างใหญ่หลวง (นอกจากตัวอย่างที่ว่า รัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิพื้นฐานทางการเมืองของประชาชน ได้รับการยกย่องว่า รัฐธรรมนุญประชาชน) ที่ปัญญาชน 14 ตุลา ปัจจุบัน สามารถยอมรับ อำนาจกดหัวบังคับ ที่ไม่ได้แม้แต่จะมาจากการรณรงค์อย่างเปิดเผย ให้ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่กลับปฏิเสธ หรือ ทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ อำนาจที่อย่างน้อย ยังต้องผ่านกระบวนการชักชวน เรียกร้อง เปิดเผย ให้วิพากษ์วิจารณ์ (ที่เป็นการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะจำกัดอย่างไร)

สาม ลักษณะ populism คำนี้ ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทย น่าจะเป็น "ชาวบ้านนิยม" (นี่เป็นคนละความหมายกับ "ประชานิยม" populism ที่วงการหนังสือพิมพ์ไทยใช้ตามวงการ นสพ.ฝรั่ง ซึ่งมีความหมายถึงนโยบายที่ "เอาใจคนลงคะแนนเสียง") คำนี้ผมใช้สำหรับเป็นคำรวมถึงประเด็นย่อยที่ต่อเกี่ยวข้องกัน 2-3 ประเด็น คือ การให้ความสำคัญกับ "ชาวนา" หรือ "ชาวบ้าน" กับ "ชนบท", การต่อต้าน "การพัฒนา", สนับสนุน "เศรษฐกิจแบบพอเพียง", การยกย่อง "ท้องถิ่น" และ "ชุมชน" ซึ่งขยายไปถึงลักษณะเชิง "ชาตินิยม" เรื่อง ความเป็นไทย, "แบบไทยๆ" (ซึ่งเป็นคนละแบบกับแบบไทยของรัฐบาล แต่ก็เป็นแบบไทย)

การยอมรับ 3 ประเด็นนี้ประสานกัน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ปัญญาชนไทย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นำไปสู่การรณรงค์ร่วมกันครั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะคือสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิรูปการเมือง" และ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนำไปสู่ระบอบการเมืองปัจจุบัน ที่เป็น irony อย่างมากคือ ในปัจจุบัน หากดูปรากฏการณ์ภายนอก อาจจะรู้สึกว่า ปัญญาชน 14 ตุลา เอาแต่ "ค้านรัฐบาล" (ในรูปแบบต่างๆ จาก บทความนิธิ ถึงการรณรงค์ของ เอ็นจีโอ) ในความเป็นจริง รัฐบาลปัจจุบัน (ซึ่งองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และระบอบรัฐปัจจุบัน ("องค์กรอิสระ" ต่างๆ เป็นต้น ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน) ล้วนเป็นผลผลิตของกระแสความคิดที่ปัญญาชน 14 ตุลา เป็นกำลังสำคัญในการสร้างขึ้น และยกเว้นแต่เราจะหลงอยู่เพียงระดับของ โวหาร (rhetoric) การ "วิพากษ์" ของ "ปัญญาชน 14 ตุลา" ในรูปต่างๆดังกล่าว แท้จริง เป็นการ "วิพากษ์" ในระดับผิว ที่คลุมอยู่ด้วยคำที่น่ากลัวอย่าง "โครงสร้าง" "ระบบ" "ความเป็นอิสระจากรัฐและทุน" ฯลฯ เท่านั้น ไม่นับโวหารเหล่านี้ ในความเป็นจริงคือ ปัญญาชน 14 ตุลา ให้การสนับสนุน ระบอบรัฐปัจจุบัน ("โครงสร้าง") ที่ในการแสดงออกประจำวันพวกเขามีท่าที "วิพากษ์" อย่าง "ถึงราก" หรืออย่าง "เชิงโครงสร้าง"

ขอให้เรามาพิจารณาบางประเด็นข้างต้น ให้ละเอียดยิ่งขึ้น

(จบตอน ข้อเขียนนี้มีทั้งหมด 3 ตอน ฉบับเต็มยังไม่ได้เผยแพร่)

กำลังรอ "อารยะขัดขืน" ของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์...

(21 กันยายน 2549)



เมื่อไม่ปี่ปีก่อน ตอนชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำเสนอเรื่อง "อารยะขัดขืน" ที่ธรรมศาสตร์ ท่ามกลางความชื่นชมของหลายๆคน
ผมได้ไปแสดงความเห็นเชิงไม่เห็นด้วย กระทั่งเยอะเย้ย เสียดสีว่า นักวิชาการนั้น ดีแต่ใช้คำพูดหรูๆในเชิง "คัดค้าน" กับนักการเมือง
เวลาเอาจริง ต่อบางกลุ่มบางพวกก็ไม่กล้า
"กล้า อายะขัดขื่น กับพวกที่สนับสนุน บันดาลใจ ให้เกิด 6 ตุลา ไหมล่ะ?"
มีบางคนออกมาด่าผมหนักๆ

ตอนนี้ผมกำลังรออยู่ ให้ชัยวัฒน์ หรือคนที่ชื่นชมสนับสนุนเขา หรือแนวคิดของเขา
ออกมาเรียกร้องให้ "อารยะขัดขืน" การรัฐประหาร

ไม่ต้องทำ "อารยะขัดขืน" จริงๆหรอกครับ
แค่ "เรียกร้อง" ก็พอ

(ปล. สำหรับใครที่คิดจะโง่พอจะถามผมกลับว่า แล้วผมล่ะ ไม่ "อารยะขัดขืน" บ้าง ขอให้กลับไปอ่านดีๆ
แต่ไหนแต่ไร ผมเห็นว่า ไอเดียนี้ และ การนำเสนอไอเดียนี้ในสังคมไทย (โดยนักวิชาการใหญ่ๆ) เป็นเรื่อง bogus ทั้งสิ้น
"ข้อเรียกร้อง" ในที่นี้ของผม เพียงแค่ขอว่า อย่างน้อย พวกคุณที่เคยเรียกร้อง เคยโฆษณา เรื่องพวกนี้
มี ความเคารพตัวเอง พอจะออกมา "เรียกร้อง" เรื่องนี้ตอนนี้เท่านั้น)

แถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน น่าสมเพช เสียจน แทบไม่รู้จะพูดอย่างไร

(21 กันยายน 2549)



ไหน ความ "กล้า" ที่เคยแสดงต่อนักการเมืองในหลายปีที่ผ่าน
"นักเลือกตั้ง" .... นี่คือคำที่พวกคุณชอบใช้กับนักการเมือง ทำไมไม่กล้าหาคำอย่างเดียวกันสำหรับพวกที่ยึดอำนาจตอนนี้?
ช่างน่าสมเพชเสียจริง

ไหน คำประเภท "เราขอประนาม..." , "เราขอคัดค้าน...." ฯลฯ
ที่พวกคุณใช้จนติดปากเวลาออกแถลงการณ์ต่างๆต่อนักการเมือง

ไม่ทราบ พวกคุณมี self-respect ได้อย่างไร ลองกลับไปอ่าน "งาน" การเมืองที่ผ่านๆมาของพวกคุณดู

(ปล.ส่วนตัว : ถึง อรรถจักร, สมชาย ผมนึกว่า คุณมี self-respect มากกว่านี้เสียอีก)


ผมเขียนเป็น "ท่อนๆ" สั้นๆ เพราะบอกตรงๆว่า ความรู้สึกสมเพช มันมากจนทำให้มือไม่มีแรงจะเขียนต่อกันทีเดียวยาวๆ

แถลงการณ์พวกคุณขึ้นหัวว่า "ปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร"

นี่แม้แต่คำว่า "คัดค้าน" หรือ "เราขอคัดค้าน" ก็ไม่กล้าใช้เลยหรือ?
(ไม่ต้องพูดถึงคำว่า "ประนาม" ที่พวกคุณชอบใช้จนเมื่อไม่กี่วันนี้ด้วยซ้ำ)

นับว่า ความกล้า ความมีความเคารพตัวเองของพวกคุณอยู่ในระดับที่ "เหนือความคาดหมาย/คาดหวัง" ของผมจริงๆ

ในหลายปีนี้ กี่ครั้งที่พวกคุณกระตุ้นให้ "ประชาชน" ต่อสู้ กับ "อำนาจเถื่อน" ของ "นักการเมือง" ฯลฯ

ไม่รู้สึกระดากตัวเองบ้างหรือที่เขียนแถลงการณ์แบบนี้?

เวลา นักการเมือง "กลืนน้ำลายตัวเอง" พวกคุณเย้ยหยัน เสียดสี
พวกยึดอำนาจขณะนี้ กลืนน้ำลายตัวเอง คุณพูดกับเขาดีๆ
พวกคุณ "กลืนน้ำลายตัวเอง" .... well...

ได้แต่บอกอีกครั้งว่า น่าสมเพชจริงๆ

Monday, September 25, 2006

ความล้มละลายทางการเมืองของ เสน่ห์ จามริก

(20 กันยายน 2549)



ผมไม่เคยเป็น "แฟน" งานของ เสน่ห์ ไม่ว่าในยุคไหน
ทั้งสมัยเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์, ผอ.ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จนถึง ประธานสิ่งที่เรียกว่า "กรรมการสิทธิมนุษยชน"

ไม่เหมือนบรรดา ปัญญาชน นักวิชาการใหญ่ๆของเราในปัจจุบัน ที่ถือเขาเป็น hero อย่างเป็นเอกฉันท์

แต่ผมไม่เคยคิดว่า เขาจะสามารถแสดงธาตุแท้ล้มละลายทางการเมืองได้ขนาดนี้

การรัฐประหาร "อย่ามองว่าถอยหลัง"?

การรัฐประหาร โดยพื้นฐานที่สุด คือการใช้อำนาจปืน มาบังคับให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ

ข้อเท็จจริงพื้นฐานนี้ แม้แต่คนโง่ที่สุดก็เข้าใจได้

ทำไมในการสัมมนาที่เชียงใหม่ จึงไม่มีใครท้าทายนิธิ...

(20 กันยายน 2549)



ทำไมในการสัมมนาที่เชียงใหม่ จึงไม่มีใครท้าทาย (และให้บันทึกไว้เป็น record) ให้นิธิ justify ประโยค (และความคิด) แบบที่เขาเขียนนี้

""...แต่เพราะได้สัญญากับตัวเองไว้แล้วว่า จะไม่ทำอะไรที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรอ่อนแอลง แม้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรหลายประเด็น....."

ทำไมจึงไม่มีใคร ท้าทายให้นิธิ justify กับการยกย่องเชิดชู monarchist อย่าง ประเวศ ในหลายปีที่ผ่านมา (กระทั่งในที่อภิปรายที่ว่า "คัดค้าน ม.7")?

ทำไมไม่มีใครถามว่า ความรับผิดชอบของปัญญาชนที่ร่วมสัมมนาเหล่านั้น ในการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่ใช้กระแสโปรเจ้า (เช่นการเคลื่อนไหวเร่องย้ายธรรมศาสตร์) ในหลายปีที่ผานมาคืออะไร?

คำท้าทาย ต่อ นิธิ, เกษียร, อรรถจักร, สมชาย, สายชล, นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และ ฯลฯ ฯลฯ

(20 กันยายน 2549)



ผมเพิ่งคุยโทรศัพท์กับคนทำหนังสือบางคนในวงการ "ภาคประชาชน" และผมได้เสนออะไรบางอย่างที่ผมต้องการ repeat ในทีนี้

ผมขอท้าทายว่า นักวิชาการอย่าง นิธิ, เกษียร, อรรถจักร, สมชาย, สายชล, นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และ ฯลฯ ฯลฯ

กล้าใช้ภาษา ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในระดับภาษาที่ใช้กับ "ระบอบทักษิณ" กับ "นักเลือกตั้ง", "นักการเมือง" ในหลายๆปีที่ผ่านมา

ภาษาเสียดสี, ประณาม, เย้ยหยันถากถาง ฯลฯ

กล้าหรือไม่?

ถ้ากล้า ผมยินดีจะ "กราบ" พวกคุณ (ด้วยตัวอักษร) ในที่สาธารณะ

แต่ถ้าไม่กล้า ผมขอถามว่า

พวกคุณมี "ความกล้า" และ "ความรับผิดชอบ" อะไร กับการที่ใช้ ภาษา แบบนั้น กับ "นักการเมือง" ฯลฯ?

อะไรคือ "ความรับผิดชอบ" ของพวกคุณ
โดยเฉพาะในการทำ dirty work ให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น


(ปล. นี่ไม่ใช่ moral blackmail ที่เกษียร อ้างในที่สัมมนาเชียงใหม่ เพียงเพื่อปฏิเสธที่จะรับผิดชอบ คือ ใช้บรรทัดฐานอย่างเดียวกัน กับกลุ่มอื่น และกับตัวเอง สิ่งที่เขาอ้างว่าเป็น moral blackmail ที่เขา "ขอความเห็นใจ" แท้จริง คือ วิธีการมาแก้ตัว ว่า "ห้ามเอาความผิดทางการเมืองที่ผมทำ (สนับสนุนรธน.40, สนับสนุน Network Monarchy ฯลฯ) มาถามผม ถ้าคุณถาม ผมว่าเท่ากับ blackmail ผม"

เคยมีสักครั้งหรือที่เกษียร distance ตัวเอง กับการใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" ที่เขา popularize ของ "พันธมิตร" และกลุ่มอื่นที่ชูกระแสโปรเจ้าในหลายเดือนที่ผ่านมา? นี่เป็นการถามความรับผิดชอบ แบบที่คุณชอบถามนักการเมือง ฯลฯ นั่นแหละ)

ว่าด้วยคำว่า "ระบอบทักษิณ"

(20 กันยายน 2549)



ในที่สัมมนาที่มธ.เมื่อวานนี้ ผมเสนอว่า คำว่า "ระบอบทักษิณ" ซึ่งมีผลสะเทือนในแง่ให้ "พลัง" อย่างใหญ่หลวงต่อการเคลื่อนไหวของ "พันธมิตร" (และบรรดาพลังฉวยโอกาสต่างๆ เช่น ปชป. ฯลฯ) เป็นคำที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง ที่ปัญญาชน นักวิชาการสร้างขึ้น (ทำ dirty work ให้)

เพราะ คำนี้ เกิดขึ้น ในบริบทที่ปัญญาชนนักวิชาการ ไม่มีความกล้า ที่จะเรียก "ระบอบ" หรือ กลุ่มอื่นๆ ที่มีลักษณะ "เบ็ดเสร็จ" ในลักษณะเดียวกัน

ผมท้า อาจารย์ ... ซึ่ง repeat คำนี้ ในการอภิปรายว่า "อาจารย์กล้าเรียก.... ด้วยคำแบบนี้หรือ?"

แต่ไหนแต่ไร ผมจึงเห็นว่า บรรดาแอ๊กติวิสต์ทั้งหลาย แม้แต่ในกรณีอย่าง ฟ้าเดียวกัน ซึ่งบทบาทสำคัญในการ popularize คำนี้ และซึ่งผมมี sympathy ในเรื่องอื่นๆหลายเรื่อง มีลักษณะ "พาซื่อ" และ ไม่รู้จักใช้ความคิดให้ตลอด ในการ repeat คำนี้ ad nauseum

การประท้วง "ระบอบทักษิณ" กับ การประท้วง สิ่งที่เกิดขึ้น

(20 กันยายน 2549)



เข้าชื่อล่าลายเซ็นประท้วง ฟ้องศาล บอยคอต "กาช่องไม่เลือก" ฉีกบัตร ฯลฯ

บรรดามาตรการประท้วง ที่แอ๊กติวิสต์ทั้งหลาย ใช้กับ "ระบอบทักษิณ" และบรรดาปัญญาชนนักวิชาการ ให้การสนับสนุนอย่างกระตือรือร้น..........

บางอันเป็นข้อเสนอ ริเริ่มของท่านปัญญาชนนักวิชาการเหล่านั้นเอง (ใครเสนอ หรือทำอะไร อย่าให้ต้องเอ่ยชื่ออีกเลยครับ)

อยากดูว่า บรรดาปัญญาชนนักวิชาการผู้กล้าหาญของเรา จะมีข้อเสนออะไร หรือจะลงมือทำอะไร กับสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง

"อาณาจักรความกลัว" และ ความกล้าทางการเมือง

(20 กันยายน 2549)



ช่างประจวบเหมาะกระไร เมื่อวานนี้มีการจัดอภิปรายที่ มธ. ในหัวข้อ "อาณาจักรความกลัว" เชื่อหัวข้อ refer ถึงประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องนิยมพูดกันของนักวิชาการในหลายปีนี้ คือ "ระบอบทักษิณ" สร้าง "ความกลัว"
ผมได้ไปแสดงความเห็นคัดค้าน การตั้งชื่อ (และไอเดีย) อันดัดจริตนี้ (พอมีโน้ตอยู่ ถ้าอารมณ์ดีกว่านี้จะเรียบเรียงให้อ่านกัน)
เช่น ใครที่อ่านงานนิธิประจำ จะเป็นว่าเป็นประเด็นที่พูดบ่อย ("ทักษิณสร้างความหวาดกลัว ตอนนี้ประชาชนแสดงให้เห็นว่าไม่กลัวกัน.." ฯลฯ)

สิ่งที่ผมถามคือ ใครกลัวทักษิณ? มีหรือ? เห็นบรรดานักวิชาการใหญ่ๆ (นิธิ, เกษียร, ธีรยุทธ, ฯลฯ ฯลฯ) ออกมาด่า ไม่เคยหายไปไหน

หลังจากนั้น ผมได้ชี้ให้เห็นว่า "ความกลัว" จริงๆ ของนักวิชาการพวกนี้คืออะไร
(ตอนนี้ repeat ไม่ได้ เพราะกลัวมาก)

ตอนนี้ที่ผมกำลังอยากดูคือ บรรดานักวิชาการปัญญาชนเหล่านี้จะมีความ "กล้า" พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แบบเดียวกับ "กล้า" ที่จะประนาม ด่า "ระบอบทักษิณ" หรือไม่?

กล้าแต่ด่านักการเมืองเท่านั้นแหละครับ ปัญญาชนทศวรรษที่ผ่านๆมา
ช่างน่าสมเพชจริงๆ

(ในหลายปีมานี้ การที่บรรดา แอ๊ตติวิสต์ ให้การยกย่องนับถือนักวิชาการเหล่านี้ --- ผมพูดนี้ด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง แม้แต่กรณีอย่าง ฟ้าเดียวกัน (ไม่ต้องพูดถึงระดับ ประชาไท ฯลฯ) - - - เป็นอะไรบางอย่างที่น่าเศร้า)

ปัญญาชนนักวิชาการ กับ "พันธมิตร"

(20 กันยายน 2549)



"...แต่เพราะได้สัญญากับตัวเองไว้แล้วว่า จะไม่ทำอะไรที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรอ่อนแอลง แม้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรหลายประเด็น....."

นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ไกลสุดที่การเมืองชนชั้นนำจะพาไปได้"


ในระหว่างการเคลื่อนไหวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน สิ่งที่เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างยิ่งสำหรับผมอย่างหนึ่งคือ ท่าที "นุ่มนวล" ของปัญญาชน นักวิชาการ และ แอ๊กติวิสต์ จำนวนมาก ต่อกลุ่มที่เรียกว่า "พันธมิตร" แม้ว่า ตั้งแต่เริ่มการจัดตั้งกลุ่มนี้ พวกเขาจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร (จำคืนที่มีการประกาศจัดตั้งพันธมิตร ที่สนธิ ผู้จัดการ เดินไปยื่นหนังสือต่อ สนธิ ผบ.ทบ.ได้หรือไม่? และหลังจากนั้น ท่าทีเช่นนี้ ก็มีมาตลอด)

ข้อความข้างต้นที่น่าจะรู้จักกันดี เป็นข้อความที่นิธิมา "เปิดเผย" หลังสถานการณ์ชุมนุมผ่านพ้นไปแล้ว อันที่จริง ตั้งแต่ต้น ต่อให้ไม่มีการ "เปิดเผย" เช่นนี้ ใครที่รู้จักอ่านดีๆ ก็ย่อมเห็นท่าทีนี้ได้ (eg. เมื่อจำลองเข้าร่วม "พันธมิตร" และมีผู้ตั้งข้อสงสัยในบทบาทจำลองเมื่อ พฤษภาคม 35 นิธิได้ออกมาเขียนบทความปกป้องจำลอง - - ในความเห็นของผม ตัวอย่างของความไม่รับผิดชอบทางการเมืองอย่างร้ายแรงตัวอย่างหนึ่ง)

เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะปัญญาชนนักวิชาการเหล่านี้ทำราวกับว่า การเรียกร้องให้ทหาร หรือราชสำนัก รัฐประหาร เป็นเรื่อง "เล็กๆ" ที่มองข้ามไปได้ หรือเพียงแค่ "ติติง" แสดงความไม่เห็นด้วย

การที่ในหลายปีที่ผ่านมา ปัญญาชนนักวิชาการ ดีแต่ด่านักการเมือง แต่ไม่กล้า ไม่ยอม ด่ากลุ่มอื่น (ที่ไม่ได้มาจาก "เลือกตั้งธิปไตย") กระทั่งหันไปประนีประนอมกับพลังเหล่านั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาแชร์ร่วมกับพวกที่ทำการเคลื่อนไหวแอนตี้ทักษิณครั้งนี้ แต่ต้น

"ถ้าคุณโจมตีใครโดยคุณไม่มีทางเลือกของคุณเอง..."

(20 กันยายน 2549)



ถ้าคุณโจมตีใครโดยคุณไม่มีทางเลือกของคุณเองอย่างแท้จริง
ที่ผมเคยใช้คำว่า candidate ของตัวเอง ในกรณีต่อต้านทักษิณ
อันทึ่จริง ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรณรงค์ครั้งนี้ทั้งหมด ที่เริ่มจากปีที่แล้วด้วยซ้ำ
แต่หมายถึง "วาทกรรม" แอนตี้ "ระบอบทักษิณ" ทั้งหมด ตั้งแต่หลายปีก่อน
รวมถึง "วาทกรรม" แอนตี้ "นักการเมือง" แอนตี้ "เลือกตั้งธิปไตย" ทั้งหมด ตั้งแต่หลายปีก่อน

ผลลัพท์ของการโจมตี เหล่านั้น ย่อมตกอยู่กับ ....

(ถ้าไม่โง่เขลา หรือไม่ dishonest เกินไป อย่าตอบว่า "ตัวเลือก" ของคุณ มี คือ "ภาคประชาชน" เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงคำหลอกคน โดยเฉพาะตัวเองเท่านั้น)

(พูดตรงๆนะ จนบัดนี้ผมไม่เคยเข้าใจว่า ในหลายปีมานี้ บรรดาคนที่ intelligent ทั้งหลาย จะโง่พอที่ repeat คำนี้อยู่ได้ยังไง?)

ไอเดีย "ปฏิรูปการเมือง" มีลักษณะปฏิกิริยาตั้งแต่ต้น น่าเศร้าที่...

(20 กันยายน 2549)



ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อประเวศ กับคณะ เปิดรณรงค์ ภายใต้คำขวัญ "ปฏิรูปการเมือง" ผมมีความเห็นโดยตลอด (มาจนขณะนี้) ว่า ไอเดียเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" มีลักษณะ ปฏิกิริยา แอนตี้ประชาธิปไตยอย่างถึงราก (ดูบทความที่ผมเขียนโต้คำนูญ ในผู้จัดการรายวัน สิงหาคม 2538) ที่น่าเศร้า น่าโกรธ น่าสมเพช คือการที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ภาคประชาชน" ได้รับเอาไอเดียนี้มาใช้เป็นของตน และทำให้ไอเดียนี้มีความหมายในเชิง "อุดมคติ".... (หนึ่งในความน่าผิดหวังของการสัมมนาเชียงใหม่ ในฟ้าเดียวกันเล่มล่าสุดคือ ไม่มีใครยอมพูดถึงลักษณะปฏิกิริยาของไอเดียนี้ ในแง่รากเหง้าและ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ (ซึ่งไม่ใช่เพียงประเด็น elitist เช่น กรณีที่สมชาย พูดเท่านั้น) และอภิปราย ในลักษณะที่ราวกับว่านี่เป็นอะไรบางอย่างที่เรา "รับมาใช้อย่างสำเร็จรูป" (ในแง่ไอเดีย) ได้.... โดยแก่นแท้ นี่คือไอเดีย "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" สิ่งที่เป็น irony คือ ต้องให้บรรดา "ผู้นำเหล่าทัพ-ตำรวจ" มาแสดงให้เห็น "ธาตุแท้" ของไอเดียนี้...

ประเด็นไอเดียเรื่อง "ภาคประชาชน" ก็เช่นกัน ...

ความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

(19 กันยายน 2549)



เมื่อไม่นานมานี้ ผมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรู้จักบางคนว่า สถานการณ์การแอนตี้ทักษิณในระยะหลัง เข้าสู่ขั้นน่าห่วง น่ากลัว ผมได้ยกประเด็นเรื่องที่มี "แม่ทัพภาค" บางคน ออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่า มีคนในวงการรัฐบาล มีความโน้มเอียงจะล้มล้าง "สถาบัน" คนที่ผมคุยด้วย แสดงความรู้สึก "เหลือเชื่อ" และชี้ไปที่กิจกรรม "เฉลิมพระเกียรติ" ต่างๆ (โดยเฉพาะที่มีลักษณะเชิง mass marketing campaign) ของรัฐบาลทักษิณในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมไม่ได้เถียง

สิ่งที่ผมมองเป็นคนละเรื่องกัน นั่นคือ ในความเห็นของผม ผลจากการเร่งโจมตีทักษิณ โดยการยกประเด็น "สถาบัน" โดยเฉพาะนับตั้งแต่การจุดกระแส "ฟินแลนด์" มีความเป็นไปได้ที่จะช้าจะเร็ว จะไปส่งผลสะเทือนต่อ "elements" บางส่วนใน กลไกรัฐ ให้รู้สึก "สั่นคลอน" คล้อยตามได้ ยิ่งหลังจาก ทักษิณ gamble กรณี "ผู้มีบารมี" และ กลุ่มที่เรียกว่า "พันธมิตร" รวมทั้ง "ปัญญาชน" อีกหลายคน ออกมา "ขานรับ" และปัญญาชนอื่นๆที่แม้จะไม่เห็นด้วย ไม่ยอมออกมาโต้ ความเป็นไปได้นี้ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ....



ปล. "นอกเรื่อง" ผมอ่านบันทึกการสัมมนาที่เชียงใหม่ ที่ลงในฟ้าเดียวกัน ฉบับล่าสุด ด้วยความรู้สึกผิดหวัง เศร้า และโกรธ พร้อมๆกัน สิ่งที่ชวนสะดุดใจอย่างยิ่งในการสัมมนานั้นคือลักษณะ ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมืองแทบจะสิ้นเชิง ของปัญญาชนใหญ่ๆของเรา (เช่น) บางคนพูดราวกับว่า การที่ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุน เชียร์ รัฐธรรมนูญ หรือสนับสนุน เชียร์ กระแส ที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า Network Monarchy เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่อง "เล็กๆ" ... ดังที่รู้ๆกันว่า คำอย่าง "ระบอบทักษิณ" ที่กลุ่มพันธมิตร ฯลฯ ใช้ในหลายปีนี้ ปรากฏตัวครั้งแรกอย่างเป็นระบบชัดเจน โดยผ่านการสัมมนาที่ ฟ้าเดียวกัน จัดก่อนหน้านี้ "วาทกรรม" แอนตี้ทักษิณต่างๆ รวมทั้งกระแสเชียร์บางสถาบัน ความจริง ก็มาจากปัญญาชนกลุ่มนี้หลายคน (eg. ประเวศ วะสี หรือ ธีรยุทธ บุญมี มี "ชื่อเสียง" และ "ฐานะ" ดังปัจจุบันได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ ในบริบทของวัฒนธรรมการเมืองที่ปัญญาชนกลุ่มนี้มีส่วนสร้างขึ้น?) ผมเคยยกตัวอย่าง และขอยกถามซ้ำในที่นี้อีกครั้งว่า แม้แต่ในงานอภิปรายที่ว่ากันว่า "คัดค้าน ม.7" ของนิธิ ในงานนั้น นิธิยังกลาวชมเชย ประเวศ และงานที่ประเวศทำ ขอถามว่า กระแส monarchism ที่ "พันธมิตร" ฯลฯ ชู ไม่ได้มีส่วนมาจากผลงานของปัญญาชนเหล่านี้หรือ? ปัญญาชนเหล่านี้ ควรรบผิดชอบอะไร หรือจะรับผิดชอบอะไร กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น....

ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี รัฐธรรมนูญ 40 จะบอกอะไรแก่เรา ผมคิดว่า คำตอบคือ คงไม่เกิดอะไรขึ้น ปัญญาชนใหญ่ๆทั้งหลาย ก็คงแสดงโวหารทางการเมืองของตนต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง หรือทาง moral ใดๆ ต่อการทำตัวเป็น "คลังอาวุธทางความคิด" ให้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น (ได้ฟังแถลงการณ์ฉบับล่าสุดหรือไม่? อีกไม่นาน คงมีคำประเภท "ระบอบทักษิณ" อยู่ในแถลงการณ์...)

deja vu : ทักษิณ V นายกฯพระราชทาน, พิบล-เผ่า V สฤษดิ์

(เผยแพร่ครั้งแรก 10 มีนาคม 2549, เผยแพร่ซ้ำ 19 กันยายน 2549)



ในปี 2528 ผมได้สัมภาษณ์ ผิน บัวอ่อน อดีตกรมการเมืองของ พคท. (mentor ของคำนูญ หนึ่งใน "มือ" หลังเวที-ขบวนต่อต้านขณะนี้ คำขวัญ "เอาประเทศไทยของเราคืนมา" มี "ลายมือ" คำนูญอย่างชัดเจน) สมัยนั้นเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะได้สัมภาษณ์ (จนถึงเขาเสียชีวิต ผินเคยให้สัมภาษณ์ไม่กี่ครั้ง)ประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งที่ผินเสนอ คือ พคท.ได้ทำผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ ในช่วง "กึ่งพุทธกาล" แทนที่จะสนับสนุน กลุ่มพิบูล-เผ่า เพื่อสะกัดกั้น สฤษดิ์ กลับร่วมมือกับสฤษดิ์ โจมตีเผ่า จนมีส่วนทำให้เผ่าล้มไป สฤษดิ์ขึ้นมาได้ ครั้งที่สอง คือ หลัง 14 ตุลา แทนที่จะพยายามยับยั้งกระแส (คำของผิน) "ซ้ายจัด" ของขบวนนักศึกษา กลับช่วยหนุนเสริม

จนถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่ยอมรับการวิเคราะห์ประเด็นที่สองของผิน (ผมมีคำอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ พคท.-ขบวนการนักศึกษาคนละอย่าง) แต่สำหรับประเด็นแรก ผมมีความคล้อยตามไม่น้อย (นอกประเด็นเล็กน้อย ใครที่เคยฟังผม lecture ประวัติศาสตร์การเมือง อาจจะจำได้ว่า ผมเคยพูดว่า ปรีดีทำความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ใหญ่ 2 ครั้ง ผมเอารูปแบบการเสนอมาจากการวิจารณ์พคท.ของผินนี่เอง)

เมื่อผินเสนอว่า ฝ่ายซ้ายสมัย 2500 ควรจะสนับสนุนเผ่า (กลุ่มพิบูล-เผ่า ที่สำคัญกว่าคือ เผ่า ไม่ใช่พิบูล เพราะพิบูลแทบไม่มีกำลังแท้จริงแล้ว) แล้วตีสฤษดิ์ แทนที่จะเอาแต่ตีเผ่า อย่างที่ทำ ผินรู้ดีว่ากำลังพูดถึงอะไร เพราะเขามีชีวิตอยุ่ในช่วงนั้น

ที่สำคัญเขารู้ดีว่าเผ่ามีความเลวร้ายยังไง "มือเปื้อนเลือด" (almost literally เกือบจะจริงๆ ไม่ใช่เชิงโวหาร) เพียงใด : ฆ่า 4 รมต. ฆ่าเตียง ศิริขันธ์ ค้าฝิ่น "อัศวินแหวนเพ็ชร" ฯลฯ ฯลฯ

แต่ปัญญาชนฝ่ายซ้าย (และปัญญาชนวงกว้างออกไป) ในขณะนั้น เกลียดเผ่า เกลียดมาก (ทั้งเกลียดทั้งกลัว ถ้าจะว่าไป)

จึงรวมศูนย์กันโจมตีเผ่า ชนิด "รายวัน" ขุดคุ้ยเรื่องของเผ่ามาเปิดโปง โจมตีทั้งเผ่า และรัฐบาลขณะนั้นของพิบูลที่เผ่าเป็นแกน

ในความรู้สึกของปัญญาชนตอนนั้น เผ่าเป็นเหมือน Evil Number One

(นอกประเด็นเล็กน้อย คนจะเข้าใจเหตุผลที่ป๋วยสนับสนุนสฤษดิ์ได้ ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ในความเห็น/สมมุติฐานของผม ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการเกลียดเผ่าของป๋วยนี่เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ป๋วยแชร์ร่วมกับปัญญาชนสมัยนั้น)

การโจมตีเผ่าของปัญญาชนขณะนั้น บางคนทำไปพร้อมๆกับเชียร์สฤษดิ์ หรืออย่างน้อยมีความรู้สึก "ดี" ต่อสฤษดิ์ (ตามทฤษฎีของผม จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหนึ่งในกรณีเช่นนี้ ผมจะอธิบายไว้ในบทความต่างหาก)

สภาพการโจมตีเผ่าของปัญญาชนขณะนั้น แทบจะเรียกได้ว่า "เลือดเข้าตา" คือรู้สึก "มันส์" มาก เผ่า ซึ่งเคยเป็นที่เกลียดกลัวอย่างหนัก แค่กะพริบตาก็ส่งคนเข้าโลง กลายเป็น "sitting duck" (ตุ๊กตาเป็ดที่ใช้เป็นเป้ายิงปืนลม) ให้ตีอย่างสบายๆ

ระดับการตีเผ่าในขณะนั้น เกือบจะเป็นเหมือน "สงครามครูเสด" เลย คือ เหมือนกับกำลังทำในสิ่งที่ "ถูกจริยธรรม" (ล้างแค้นให้เหยื่อที่ถูกเผ่าฆ่า)

ปัญญาชนขณะนั้น เหมือนกับกำลังเป็น "นักรบจริยธรรม" ที่กำลัง "ปราบมาร"

ในระหว่างนั้น สฤษดิ์ ก็ไม่ต้องทำอะไร คอยปรากฏตัวออกมาในลักษณะ "ขวัญใจประชาชน" "ทำตามคำเรียกร้องของประชาชน" ในที่สุดก็เข้ายึดอำนาจปัจจัยสำคัญไม่น้อยของการขึ้นสู่อำนาจของสฤษดิ์ ก็คือ การรณรงค์ของสื่อมวลชน ปัญญาชน สมัยนั้น ในการ discredit เผ่านี่แหละ

(ถ้าไม่เชื่อผม ลองอ่านหนังสือทักษ์ ช่วงนี้ ทักษ์เองไม่รู้ข้อมูล เบื้องหลัง เรื่องปัญญาชนฝ่ายซ้ายตีเผ่า ซึ่งยิ่งทำให้สนับสนุนที่ผมกำลังพูดนี้ หรือ อ่านสัมภาษณ์ คุณประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ "อุชเชนี - นิด นรารักษ์" ที่ผมอ้างใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 40 คุณประคิณ ไม่ใช่ซ้าย แต่เป็นคาทอลิค ... คล้ายๆกับที่ คุณรสนา เป็นพุทธ ตอนนี้นั่นแหละ)

ในแง่วิธีการทางประวัติศาสตร์ (historical methodology) การเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ (historical anology) คือการดูความเหมือนกันของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 2 ช่วง มีข้อจำกัดอย่างมาก ในแง่การเข้าใจแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์จริงๆ เพราะไม่มีช่วงไหนที่ "เหมือน" กับช่วงไหนทั้งหมด (แต่ไหนแต่ไร ผมไม่เห็นด้วยกับที่เกษียรเปรียบเทียบทักษิณกับสฤษดิ์ เป็นต้น)

แต่วิธีการนี้ มีประโยชน์ไม่น้อยในการ "ให้ภาพ" ลักษณะสำคัญบางอย่างของช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งๆ

ถ้าคุณตั้งโจทก์ว่า ทักษิณเป็น Evil Number One ต้องเอาออกให้ได้
คุณก็เกือบจะหลีกเลี่ยงผลลัพท์ "นายกฯพระราชทาน" ไม่ได้

เพราะพวกคุณเอง (ที่เรียกกันว่า "ประชาชน" "ภาคประชาชน") ไม่มีกำลังพอของตัวเอง (ที่ผมเขียนว่า "ไม่มี candidate ของตัวเอง")

ความจริงแล้ว "คณิตศาสตร์" นี้ "ง่าย" มาก ถ้าคุณจะหยุดคิด

แต่ตอนนี้ทุกคนเหมือนกำลัง "เลือดเข้าตา" "มันส์" "สะใจ" ได้ตีทักษิณ ได้ตี "รัฐ" อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผมถามอีกครั้ง

ระหว่างให้ทักษิณอยู่ (ไม่ได้ห้ามการวิจาณ์ รณรงค์ในอนาคต) กับ ให้มี นายกฯพระราชทาน จะเอาอะไร?

เฮเกล สุดยอดนักปรัชญาประวัติศาสตร์เคยกล่าวว่า

บทเรียนประการเดียวที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์คือ ไม่มีใครเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์
(The only lesson we learn from history is that nobody learns lessons from history)