Tuesday, September 26, 2006

สมชาย, เกษียร "ตุลาการภิวัฒน์" และ รัฐธรรมนูญ 40

(22 กันยายน 2549)



(จากบันทึกสัมมนาที่เชียงใหม่ ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับล่าสุด)


ความจริง ผมชอบบทความที่ สมชาย วิจารณ์อมร ในฟ้าเดียวกัน 2-3 ฉบับก่อน แม้ว่า ผมจะมีความรู้สึกว่า เป็นการวิจารณ์ ที่ไม่เพียงพอ เมื่อผมอ่านที่สมชายพูดที่เชียงใหม่ จึงรู้สึกว่า ความรู้สึกแรกเมื่ออ่านบทวิจารณ์นั้น น่าจะถูกต้อง

ที่สะดุดใจผมมากคือ แม้จนบัดนี้ (มิ.ย.49) สมชาย ก็ยังคงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ฉบับประชาชน" และด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่เขาตั้งขึ้นมา "ทำไม สถานภาพของภาคประชาชนเสื่อมถอยลง" (เรื่องคำว่า "ภาคประชาชนก็เช่นกัน แต่ผมขอผ่านไปก่อน) จึงดูเป็นปัญหาขึ้นมา

แต่มีเหตุผลอะไรที่ถือว่านี่เป็น "ฉบับประชาชน" ตั้งแต่แรก?

รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชบางอย่างกับกษัตริย์ และที่ห้ามประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดสมัครเลือกตั้ง เรียกเป็น "ฉบับประชาชน" ได้อย่างไร?

โดยเฉพาะในประเด็นหลัง ที่การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ ลงเลือกตั้ง คือ ห้ามเข้ามาในกระบวนการอำนาจรัฐเอง บรรดานักวิชาการที่อ้าง "ประชาชน" ไมเพียงแต่สมชาย แต่ตั้งแต่นิธิ เกษียร รังสรรค์ ฯลฯ ฯลฯ (เรียกว่าเอกฉันท์) ก็ยังยืนกราน หลอกคนว่าเป็น "ฉบับประชาชน"

ที่พวกเขาหลอกตัวเองและหลอกประชาชนได้ ก็เพราะถือว่า สิทธิเข้าสมัครเลือกตั้งของประชาชนเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องใหญ่พอ ที่จะถือว่า นี่เป็นรัฐธรรมนูญแอนตี้ประชาชน แอนตี้ประชาธิปไตย

ที่ผมยืนกรานเรื่องความวิปริต ของวิธีคิด ของปัญญาชน เหล่านี้ ในกรณีการเลือกตั้ง นอกจากแสดงออกที่การผลิตวาทกรรมมาแอนตี้ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับยอมรับอย่างกลายๆหรืออย่างตรงๆ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังแสดงออกที่เรื่องนี้ด้วย

นั่นคือ ถือว่า การเข้ามาเสนอตัวเลือกตั้งเองของประชาชนเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็อ้างความเป็น "ภาคประชาชน" ของตน อย่างไม่หยุด

จะมีอะไรที่ ปากว่าตาขยิบ หน้าไหว้หลังหลอก ในวิธีคิดทางการเมืองได้มากกว่านี้อีก?

พวกคุณเป็น "เทวดา" หรืออย่างไร จึงมาตัดสินแทนประชาชนว่า "พวกมึง (ตาสีตาสา ที่ไม่จบปริญญาตรี) ไม่จำเป็นต้องมาเล่นการเมือง ไม่ต้องสมัคร ส.ส. ส.ว. หรอก เฟ้ย พวกกู ปริญญาตรีชนทั้งหลายจะทำหน้าที่เป็น "ประชาชน" แทนพวกมึงเอง"!!



ในการสัมมนาเดียวกัน สมชาย ยังพูดถึง "ตุลาการภิวัฒน์" ของธีรยุทธ ในลักษณะ ที่ "อ่อน" อย่างน่าแปลกใจ

บทความธีรยุทธ โดยธาตุแท้คือ การสร้างความชอบธรรมให้การใช้อำนาจกษัตริย์เข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยอาศํยศาลเป็นเครื่องมือ

ไม่ทราบว่า ในหมู่ปัญญาชน "ภาคประชาชน" นี่ วิจารณ์กันเองแรงๆ ตรงๆ แบบนี้ไม่ได้เชียวหรือ?

นี่คือวงสนทนาทางภูมิปัญญา ทางการเมือง หรือ วงสังคมแบบเจ้าขุนมูลนายกันแน่?



เกษียร ได้พูดตอบการนำเสนอของสมชาย ด้วยการชื่นชมว่า สมชาย ได้ "วิเคราะห์อย่างแหลมคม" ได้ ชี้ให้เห็นประเด็นที่ ก่อนหน้านี้ เขา "อาจจะคิดน้อยไป" "ขอบคุณมากที่ช่วยชี้ให้เห็นอันนี้กระจ่าง" ... ประเด็นที่ว่า คือ เรื่อง "ชนชั้นนำ พลังของสถาบัน หรือ ...พระราชอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงครอบงำ" .. "หลายตอนผม [เกษียร] นึกถึงตัวเองที่เข้าไปมีส่วนทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนห่าง แล้วก็มาตกใจภายหลังว่า เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร"

สรุปคือ พูดราวกับว่า นี่เป็นอะไรบางอย่าง ที่เขาคิดไม่ถึง มองข้าม มองไม่เห็นสมัยนั้น

คำของเกษียรนี้ อย่างต่ำ ต้องเรียกว่า misleading อย่างสูง อาจจะเข้าขั้น dishonest

เพราะเกษียร รู้ดีว่า ประเด็นสำคัญใหญ่ๆที่เขาว่า สมชาย เพิ่งมาชี้ให้เขาเห็น "อย่างแหลมคม" และมีส่วนทำให้เขาคิดขึ้นได้นี้ แท้จริงแล้วเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอเชิงวิพากษ์ต่อรัฐธรรมนูญและกระบวนการที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน

ที่ว่าเขาต้องรู้ดี ก็เพราะเขาเองนั่นแหละ ออกมาเขียนโต้ปฏิเสธผมลงในผู้จัดการ มากกว่า 1 สัปดาห์ (นี่คือบทความที่ผมขึ้นต้นว่า "ถึงมิตรร่วมขบวน.." เกษียร เขียนโต้ล้อเลียนว่า "ร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง")

(ไม่ต้องพูดถึงการเสนอและโต้แย้งหลังจากนั้นอีก แม้แต่กรณีที่ผมเสนอเรื่อง ปัญญาชน 14 ตุลา กับการ คืนดีกับสถาบัน ก็มีอายุ 6 ปีแล้ว และเสนอครั้งแรกอย่างเป็นระบบในที่สัมมนาต่อหน้าเกษียรเอง... ฯลฯ)

ผมขอพูดอย่างหนักว่า ที่พูดนี้ไม่ใช่ต้องการอ้างเครดิตของการเสนอก่อนสมชาย โดยเฉพาะอ้างทวงกับเกษียร ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

แต่เพื่อจะนำไปสู่ประเด็นสำคัญมากคือ

ที่เกษียร พูดราวกับว่า ประเด็นต่างๆเหล่านั้นในรัฐธรรมนูญ 40 (โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน) เป็นอะไรบางอย่างที่เขาคิดไม่ถึง มองข้าม จนต้องรอให้สมชายมาชี้นั้น

แท้จริง เป็นผลจากการตัดสินใจ/เลือกอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของเขาเอง (conscious political choice / decision) ในท่ามกลางการถกเถียงกับคนอื่น

ความแตกต่างระหว่าง 2 กรณีนี้ สำคัญ เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง (การตัดสินใจอย่างสำนึกจากวิวาทะ) หมายความว่า นี่เป็นความผิดพลาดทางการเมือง ทางความคิดครั้งใหญ่ ที่ควรต้องมีความรับผิดชอบสูง และซีเรียส ยิ่งกว่าเรื่อง (กรณีแรก) ของการ "นึกไม่ถึง" หรือ "คิดไม่พอ"

ถ้าเป็นกรณีหลัง ก็ต้องถามอย่างหนักว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และ ความรับผิดชอบทางการเมืองที่ตัดสินใจแบบนั้นอยู่ที่ไหน?

และควรต้องถามต่อไปว่า แล้วเรื่องอื่นๆที่ตามมา (จนถึงกรณีเรื่อง "ระบอบทักษิณ") ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของระบบวิธีคิดอันผิดพลาดอันเดียวกัน หรอกหรือ?


ผมขอย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่ moral blackmail ที่เกษียรอ้างเพื่อหลีกความรับผิดชอบอย่างหน้าตายเลย

แต่เป็นเพียงการ call to account ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติ ของการเมืองสาธารณะ (ต่อนักการเมือง หรือใครก็ตาม) ต่างหาก
ซึ่งเขาหรือนักวิชาการใด ก็ไม่ควรอ้างอภิสิทธิยกเว้น