Saturday, November 25, 2006

เกษียร ประเมินบทบาท นิธิ (และตัวเอง) ก่อนรัฐประหาร โดยเฉพาะในประเด็นสถาบันกษัตริย

(24 พฤศจิกายน 2549)



ในการสัมมนาที่เชียงใหม่ในเดือนมิถุนายน ที่ ฟ้าเดียวกัน นำมาตีพิมพ์ในฉบับ "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" เกษียร ได้กล่าวประเมินถึงท่าทีทางการเมืองของตัวเขาเองและของนิธิในระยะเวลาที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวกับ สิ่งที่ McCargo เรียกว่า Network Monarchy ข้อสังเกตตอนนี้ของเกษียร เป็นข้อสังเกตที่ผมเห็นว่าแหลมคมยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง

( note: ความจริง เกษียรเป็นคนที่ผมถือว่า สรุป-จับประเด็นทางการเมือง-ทฤษฎี ได้อย่างแหลมคมยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในไม่กี่คนของยุคนี้ (ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลังๆ ก่อน รปห. ผมจึงใช้ความพยายามที่จะตามอ่านบทความเกษียรในมติชนอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าบทความนิธิ ซึ่งผมรู้สึกมีแต่ plot เก่าๆ ผมอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนหลัง รปห.จึงกลับมาอ่านใหม่ เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเล่นๆ แม้แต่ในกรณีที่ออกจะส่วนตัว - ผมขอให้ดูคำนำในหนังสือประจักษ์, ข้อสังเกตในการวิจารณ์บทความสายชลปีกลาย เรื่องความแตกต่างระหว่างธงชัย, ผม กับเขาเอง, นิธิ และสายชล ก็แหลมคมอย่างยิ่ง) แต่ปัญหาของเกษียรในความเห็นของผม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง คือ เรื่องการเมือง คือ เมื่อจับประเด็นได้ หรือ ทั้งๆที่จับประเด็นได้ แต่มักจะเลือกการเมืองที่แย่ เรื่องนี้ ทำให้ผมมักจะคิด และเคยพูดในห้องเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์รัสเซียที่ผมสอนว่า เกษียร ทำให้ผมนึกถึง Bukharin มีลักษณะหลายอย่างมากที่เหมือนกัน โดยเฉพาะด้าน high intellect, bad politics ของทั้งคู่ (ไม่นับประเด็นอื่นๆ เช่น ลักษณะ loyalty ต่อบางคน ลักษณะ sensitive ต่อด้านที่เป็นเชิงอารมณ์แบบ human emotions) และที่เหมือน ฺBukharin คือ เกษียร มักใช้ความสามารถอย่างสูงของตัว ไปรับใช้ cause ที่แย่ หรือกระทั่งไปทำให้ cause ที่แย่ "ดูดี" ขึ้นกว่าที่ตัวมันเองเป็น (ผมเคยพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงหลายครั้งว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะเขียนบทความทำนอง "เกษียร กับ บูคาริน")... ตัวอย่างที่กำลังจะพูดถึงเป็นเรื่องหนึ่ง)

นี่คือคำพูดของเกษียร (เน้นคำของผม) :
ผมคิดว่าพันธมิตรระหว่างขบวนการประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ก่อตัวในช่วงสิบปีหลังพฤษภาฯ 2535 ...[ note นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านที่ค้านกับการที่ธงชัยพยายามเน้นย้อนหลังกลับไปที่ 14 ตุลา - สมศักดิ์] ....สิ่งที่เรียกว่า monarchical network หรืออาจแปลเป็นไทยเพื่อความเข้าใจได้ว่า "เครือข่ายในหลวง" เครือข่ายนี้ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในช่วงสิบปีหลังพฤษภาฯ 2535 คือปรากฏปีกเสรีนิยมที่รวมตัวกันเข้มข้นขึ้นมา ถ้าพูดถังตัวบุคคลคือ คุณอานันท์ ปัญญารชุน หมอประเวศ วะสี พออ่านมาถึงตอนนี้ผมก็ฉุกคิดว่าอาจครอบคลุมถึง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าความรับรู้หรือเจตนาสำนึกทางอัตวิสัยจะเป็นเช่นใด ทว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ทางภววิสัยได้พ่วงพาเข้ามาอยู่ใน liberal monarchical network ด้วย.... ดังนั้น พันธมิตรดังกล่าวไม่ได้เพิ่งมาก่อตัวเมื่อจัดตั้ง 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ต้นปีนี้นะครับ หากมีการปูพื้นมานานกว่าที่จะเดินมาถึงจุดนี้ และเมื่อมาย้อนคิดดู พูดตรงๆ ถ้าสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่ไปร่วมกลุ่มนี้แล้ว จะให้ไปร่วมกลุ่มไหน?
นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากในทัศนะของผม นิธิเอง หรือคนอื่นๆที่ชืนชมนิธิอีกมาก อาจจะไม่ยอมรับ หรือมองไม่เห็นประเด็นที่เกษียรเสนอ (ดูที่ผมทำตัวหนาครั้งแรกข้างต้น ["ทั้งนี้ไม่ว่า..."] ซึ่งผมเห็นว่าเป็นตัวอย่างของความแหลมคมของข้อเสนอนี้) แต่ผมเห็นว่า ถ้าจะสรุปให้แหลมคม และ disregard ประเด็นย่อยๆ หรือท่าทีเฉพาะบางครั้งบางเวลา งานเขียนของนิธิในช่วงก่อนรัฐประหาร มีลักษณะอย่างที่เกษียรสรุปนี้จริง คือ อยู่ในกลุ่มปัญญาชนที่แชร์ร่วมกับราชสำนัก ด้านที่แอนตี้นักการเมือง การเมืองแบบการเลือกตั้ง และด้านที่เน้นเชิง "คุณธรรม" "จริยธรรม" "ราษฎร" "ชาวบ้าน" แม้ว่า นิธิจะมีวิธีอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ละเอียดอ่อน และ sensitive ต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เหนือกว่าประเวศอย่างมหาศาล แต่โดยรวมแล้ว ด้านที่นิธิแชร์การเมืองกับประเวศ (และเกษียร) และราชสำนัก เป็นสิ่งที่เป็นจริงอย่างแน่นอน

เรื่องนี้ผมเห็นว่าสำคัญต่อการเข้าใจ และอธิบายท่าทีของนิธิต่อการรัฐประหาร และยังมีนัยยะสำคัญต่อความเข้าใจสิ่งที่เราอาจเรียกว่า "ภูมิหลังทางอุดมการและทางภูมิปัญญา" ของการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆก็เกิดขึ้นแบบลอยๆ หรือกระทั่งเป็นปัญหาในเชิงการ "ปรับตัว" แบบ pragmatic กับสิ่งที่เกิดขึ้น ในแง่นี้ การเรียกท่าทีทำนองนี้ว่า pragmatic จึงทำให้หลงทางได้ เพราะอันที่จริง ท่าทีทำนองนี้ "ผุด" (spring) จากรากฐานเชิงอุดมการ-ความคิด ที่มีลักษณะของ "หลักการ" มากกว่าเรื่องของการ "ปรับตัว" อย่างที่คำว่า pragmatic ชวนให้เข้าใจ ......

ข้อความของเกษียรที่ผมยกมา ยังยืนยันในประเด็นที่ผมพูดถึงเกษียรข้างต้นเรื่อง high intellect, bad politics เพราะในย่อหน้าเดียวนี้ ได้สะท้อนทั้งด้านความสามารถในการตั้งข้อสังเกต และสรุปรวบยอด กลั่นกรองเป็นประเด็นที่แหลมคมออกมา ขณะเดียวกัน ประโยคสุดท้าย ที่ว่า " พูดตรงๆ ถ้าสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่ไปร่วมกลุ่มนี้แล้ว จะให้ไปร่วมกลุ่มไหน? " ก็เป็นการสะท้อนสิ่งที่ผมเรียกว่า bad politics ข้างต้น ที่วา "เมื่อจับประเด็นได้ หรือ ทั้งๆที่จับประเด็นได้ แต่มักจะเลือกการเมืองที่แย่"

..............

(ยังมีต่อ ?)

เกี่ยวกับการที่ "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับพิเศษ รัฐประหาร 19 กันยา ไม่มีบทความของผม

(23-24 พฤศจิกายน 2549)



สืบเนื่องจากกระทู้ที่ผมเขียนแลกเปลี่ยนกับ "บ.ก.ลายจุด" (23 พฤศจิกายน 2549) และได้พาดพิงถึงท่าทีของกลุ่มฟ้าเดียวกัน ซึ่งผมมองว่ามีลักษณะเดียวกัน ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา" พร้อมกันนั้น ผมได้เขียนไปว่า
ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก

คุณธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน ได้เขียนตอบ (23 พฤศจิกายน 2549) ดังนี้
เรียนอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมคิดว่าประเด็นที่อาจารย์ยกขึ้นมาคนที่อภิปรายเรื่องนี้ดีที่สุดคือ ตัวอาจารย์เอง ผมคิดว่าในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ หรือฉบับอื่นเรายังเปิดกว้างรับความเห็นอยู่ครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา(ไม่ว่าจะลงฟ้าเดียวกันหรือลงที่อื่นก็ตาม) เพราะจะได้เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นๆ ร่วมถกเถียงกับอาจารย์ด้วย ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เห็นความสำคัญของการโพสต์ในเว็บบอร์ดนะครับ

ธนาพล


ผมจึงได้โพสต์ข้อความต่อไปนี้ตอบ (24 พฤศจิกายน 2549) :

เกี่ยวกับ ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษ และ ผม

ความจริง เมื่อฟ้าเดียวกัน ริเริ่มจะทำ "ฉบับพิเศษ รปห. 19 กันยา" ได้ติดต่อขอบทความเก่าผมเรื่องหนึ่งเพื่อไปตีพิมพ์

ผมได้ตอบไปว่า บทความเรื่องนั้น ผมยังไม่ต้องการตีพิมพ์ซ้ำ เนื่องจาก อยากจะแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อนตีพิมพ์ใหม่ (ซึ่งยังไม่พร้อมจะทำขณะนี้)

ที่สำคัญผมได้แจ้งให้ทราบว่า
"หาก ฟ้าเดียวกัน จะทำฉบับเรื่อง รปห.19 กันยา ผมออกจะแปลกใจไม่น้อยที่พวกคุณขอบทความนี้ [คือบทความเก่านั้น] จากผม.....เพราะความจริง ในหลายวันที่ผ่านมา ผมได้เขียนและโพสต์เกี่ยวกับกรณีรปห.ครั้งนี้ไว้มากมาย ดังนั้น หากจะต้องการความเห็นผมที่เกี่ยวกับ 19 กันยา โดยตรง ผมก็ขอเสนอให้ตีพิมพ์ข้อความที่โพสต์เหล่านั้น"
ทาง ฟ้าเดียวกัน ได้ตอบกลับมาทำนองว่า ถ้าผมมีบทความอะไรอยากตีพิมพ์ในฉบับพิเศษ ก็ขอให้ส่งต้นฉบับภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้

ผมเองออกจะแปลกใจในคำตอบดังกล่าว เพราะได้บอกไปชัดเจนว่า มีที่อยากตีพิมพ์อยู่ คือข้อความที่โพสต์ๆเหล่านั้น ซึ่งหาก ฟ้าเดียวกัน ต้องการจะตีพิมพ์ ก็เพียงแต่นำต้นฉบับจากเว็บบอร์ด หรือจาก blog ของผม ไปตีพิมพ์ได้เลย

ผมจึงเขียนย้ำไปอีกว่า
"มีอยู่อย่างเดียวที่ผมอยากพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ตอนนี้ คือพวกที่โพสต์ไปนั่นแหละ หาก [ฟ้าเดียวกัน] ไม่ต้องการพิมพ์ ก็คงไม่มีอย่างอื่นอีก"
ซึ่งผมคิดว่า น่าจะชัดเจนว่า ผมมี "ต้นฉบับ" เสนอให้พิมพ์จริงๆ

แต่หลังจาก ผมตอบย้ำไปเช่นนั้น ก็ไม่ได้รับการติดต่อเรื่องฉบับพิเศษนั้นกลับมาอีก ผมจึงเข้าใจว่า ฟ้าเดียวกัน ไม่ต้องการจะพิมพ์ "ต้นฉบับ" ที่ผมเสนอไป ซึ่งย่อมเป็นสิทธิ และดุลยพินิจของ ฟ้าเดียวกัน

ประเด็นที่ผมเขียนในกระทู้แลกเปลี่ยนกับ "บ.ก.ลายจุด" ความจริงก็เป็นประเด็นที่ขยายเพิ่มเติมจากกระทู้รัฐประหารที่ผมได้โพสต์ไปแล้ว และเสนอให้ตีพิมพ์เหล่านั้นนั่นเอง (คำถามของผมโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารก็ยังคงเดิมคือ ถ้าพวกคุณ "2 ไม่เอา" คือ "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" หรือที่ บ.ก.ลายจุด มาเขียนใหม่ว่า "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" พวกคุณจะเอาอะไร?)

ดังนั้น จึงออกจะแปลกใจอยู่ที่ คุณธนาพล แห่ง ฟ้าเดียวกัน เขียนว่า ผม "ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา" เพราะผมก็นึกว่า ได้เขียนไปไม่น้อยแล้ว และได้เสนอให้พิจารณาไปแล้ว


ครั้งนี้ คุณธนาพล ได้เขียนตอบ (24 พฤศจิกายน 2549) ว่า

เรียนอ.สมศักดิ์

ผมคิดว่าคงมีความเข้าใจที่ผิดพลาดบางประการในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องบทความ ของอาจารย์

ตอนที่อาจารย์เสนอว่าให้นำข้อความใน "เว็บบอร์ด" มาตีพิมพ์นั้นผมก็สนใจ แต่ผมเข้าใจว่าอาจารย์จะเอาไป "เรียบเรียง" มาให้เป็นบทความแต่ดูเหมือนอาจารย์จะยืนยันว่าให้เอา ที่เป็นกระทู้นั่นแหละมาตีพิมพ์ ผมจึงต้องปฏิเสธไป

เหตุผลก็คือ ในแง่ของการจัดพิมพ์หนังสือ ผมค่อนข้างจะลำบากใจพอสมควรที่จะเอา ข้อความที่โพสต์ในเว็บบอร์ดไปตีพิมพ์โดยตรง เนื่องจากธรรมชาติของการเขียนไม่เหมือนกัน
(แต่ไม่ได้บอกว่าการเขียนความเห็นโพสต์ในเว็บบอร์ดไม่สำคัญ หรือไม่มีประโยชน์)

ดังนั้นเมื่ออาจารย์บอกว่า
“ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก”
ผมจึงบอกไปว่า
”ประเด็นที่อาจารย์ยกขึ้นมาคนที่อภิปรายเรื่องนี้ดีที่สุดคือ ตัวอาจารย์เอง ผมคิดว่าในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ หรือฉบับอื่นเรายังเปิดกว้างรับความเห็นอยู่ครับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา(ไม่ว่าจะลงฟ้าเดียวกันหรือลงที่อื่นก็ตาม) เพราะจะได้เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นๆ ร่วมถกเถียงกับอาจารย์ด้วย”
แต่ถ้ามีอะไรทื่ทำให้เข้าใจผิด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ธนาพล

ผมจึงเขียนตอบกลับอีกครั้ง (24 พฤศจิกายน 2549) ดังนี้

เรียน คุณธนาพล และ ฟ้าเดียวกัน

ขอบคุณอย่างสูงที่กรุณาชี้แจงมา

อันที่จริง จากที่กล่าวมา แสดงว่า เราไม่ได้มีความเข้าใจผิดในการสื่อสารแต่อย่างใด กล่าวคือ ผมเสนอให้ตีพิมพ์กระทู้ต่างๆของผมที่โพสต์เกี่ยวกับรัฐประหาร ("มีอยู่อย่างเดียวที่ผมอยากพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ตอนนี้ คือพวกที่โพสต์ไปนั่นแหละ หาก [ฟ้าเดียวกัน] ไม่ต้องการพิมพ์ ก็คงไม่มีอย่างอื่นอีก") และทาง ฟ้าเดียวกัน ตัดสินใจว่า ไม่สามารถพิมพ์ได้ ("เหตุผลก็คือ ในแง่ของการจัดพิมพ์หนังสือ ผมค่อนข้างจะลำบากใจพอสมควรที่จะเอา ข้อความที่โพสต์ในเว็บบอร์ดไปตีพิมพ์โดยตรง...") ซึ่งดังที่ผมกล่าวแล้วข้างต้นว่า "ย่อมเป็นสิทธิ และดุลยพินิจของ ฟ้าเดียวกัน"

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ผมไม่ค่อยแน่ใจ หรือสามาถเห็นด้วยได้นัก กับการมองว่า บทความ กับ กระทู้มี "ธรรมชาติของการเขียนไม่เหมือนกัน" โดยเฉพาะ สำหรับผม ในกรณีเรื่องรัฐประหารนี้ กระทู้หลายกระทู้ที่ผมเขียนไป ผมรู้สึกชอบมากกว่าบทความหลายบทความที่เคยเขียน และในการประเมินของผมเอง ในแง่เนื้อหา ประเด็น และคุณภาพ ก็อยู่ในระดับที่ไม่น้อย หรือมากกว่า บทความทั้งทีตัวเองเขียนในเรื่องอื่นๆ และ "บทความ" ที่คนอื่นเขียน ในกรณีรัฐประหาร

ด้วยความนับถือ
สมศักดิ์


ผมขออนุญาต ยกตัวอย่าง เพื่อความ "บันเทิง" (และ สาระ) ตัวอย่างหนึ่ง

ที่ว่าเพื่อความ "บันเทิง" ก็เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีใครก็ไม่ทราบ ไป nominate คำพูดจากกระทู้หนึ่งของผมที่ว่า "ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย 'มึง' ควรละอายใจตัวเอง" ว่าเป็น "คำพูดแห่งปี"

ความจริง ผมไม่สนใจในแง่ "คำพูดแห่งปี" อะไรนั่น แต่อดรู้สึกชอบใจไม่ได้ เพราะผมเองชอบกระทู้นั้นจริงๆ แน่นอน ในแง่หนึ่ง กระทู้ดังกล่าว อาจจะดูไม่เป็น "บทความ" อย่างที่บางคนเขียนๆกัน

แต่ประเด็นที่กระทู้นั้น "ฟันธง" ให้เห็นว่า นักวิชาการชั้นนำของเรา ในระหว่างรัฐบาลเลือกตั้ง-นักการเมือง อยู่ในอำนาจ ใช้ถ้อยคำประเภท "กู" "มึง" "อัปรีย์" กับคนเหล่านั้น แต่พอคณะรัฐประหารขึ้นมา กลับมีทีท่า "หน่อมแน้ม" (timid) อย่างที่เห็นอยู่ เป็นอะไรที่สมควรละอายใจอย่างยิ่ง นี่เป็นประเด็นที่สำคัญหรือไม่ (และมีนัยยะให้ตั้งคำถามกับบทบาททั้งหลายของปัญญาชนในระยะที่ผ่านมา) ผมเห็นว่าเป็น

ส่วนการนำเสนอในลักษณะที่ผมทำในกระทู้ดังกล่าว ถ้า "ทำให้เป็นบทความ" จะต่างกัน?

อาจจะ

แต่ทำไมต้องทำให้ต่างกัน? ทำไมการนำเสนอในลักษณะนั้นทำไม่ได้? เมื่อคำนึงถึงลักษณะน่าละอายอย่างยิ่งนั้น

นอกจากประเด็นที่เพิ่งยกมานี้แล้ว "มีประเด็น" อะไรอีก? นี่คือ "ตัวอย่าง" ของประเด็นที่ผมเสนอ/วิพากษ์ในกระทู้เหล่านั้น

"วาทกรรมแอนตี้เลือกตั้ง", "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้", "ว่าด้วยคำว่า ระบอบทักษิณ", "2 ไม่เอา", "อาณาจักรแห่งความกลัว", "อารยะขัดขืน", "ความรับผิดชอบของปัญญาชนต่อการรัฐประหาร", "รัฐประหารเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว" ฯลฯ ฯลฯ

ผม "คลับคล้ายคลับคลา" อยู่ว่า หลังจากผมเขียนประเด็นเหล่านี้ไปแล้วหลายวัน (สัปดาห์-เดือน) มีคนมาเขียน "บทความ" ตีพิมพ์หรือโพสต์ในที่ต่างๆ (และในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ?) พูดถึงประเด็นเหล่านี้เหมือนกัน

แลกเปลี่ยนกับ "บ.ก. ลายจุด" แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" และ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

(23-26 พฤศจิกายน 2549)



เว็บไซต์ของ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งรับผิดชอบโดย "บ.ก.ลายจุด" (คุณสมบัติ บุญงามอนงค์) แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" ได้ชูคำขวัญ "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"



คำวิจารณ์ของผม
(23 พฤศจิกายน 2549)


เรียนถาม "บ.ก.ลายจุด" แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" และ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร (และ ฟ้าเดียวกัน ฯลฯ) ด้วยความนับถือ: "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" แล้วจะเอาอะไร?


เรียน ถาม 3 ข้อ ที่ต่อเนื่องกัน

(1) "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง"
ดี แต่จะเอาอะไรครับ?

(2) ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ "เอาทักษิณ"
การ "ไม่เอาทักษิณ" นี่แปลว่าอะไร? ไม่ยอมรับการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่?
ถ้าเช่นนั้นจะต่างอะไรกับพวก "รถถัง"?

(3) จุดยืนนี้ มีส่วนในการปูทางทางความคิดให้กับการรัฐประหารอย่างไร? เคยคิดบ้างไหม?

สิ่งที่ผมมีปัญหากับ ธงชัย, ฟ้าเดียวกัน, เครือข่าย 19 กันยา และคนอื่นๆในแนวเดียวกัน ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" หรือที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา") ก็คือประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ 3

ในความเป็นจริง ในเมื่อพวกคุณมีแต่ตะโกนคำขวัญประเภท "2 ไม่เอา" แต่ไม่เคยพูดว่า "ในเมื่อทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ ทักษิณมีสิทธิที่จะเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล" ที่สำคัญ ในการตัดสินใจสนับสนุนการเคลื่อนไหวแอนตี้ทักษิณ ตั้งแต่ในตอนต้น (ไอเดียเรื่องล่ารายชื่อที่ลานโพธิ์ ของ "กลุ่มนศ.รักประชาชน" ไอเดียเรื่อง "NO VOTE" ผมเห็นว่าในที่สุดแล้ว มาจากกระแสทางพวกคุณ หรือได้รับผลสะเทือนจากกระแสทางพวกคุณ เพราะตอนแรก พวกสนธิ มุ่งให้มีการรัฐประหาร และ "ชูธงเหลือง" การเคลื่อนไหว 2 อันที่ยกมานี้ ไม่ได้ทำไปภายใต้การ "ชูธงเหลือง") การรณรงค์ของพวกคุณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโค่น "ระบอบทักษิณ" ที่ปูทางให้กับการรัฐประหาร

ผมมีความรู้สึกว่า การทำราวกับว่า สิ่งที่ "ผ่านไปแล้ว" (3 ข้อข้างต้น) ไม่สำคัญอะไร ไม่ต้อง "วิจารณ์ตนเอง" หรือ defend ตนเอง เป็นลักษณะที่มีคนเรียกว่า pragmatism (สัมฤทธิผลนิยม) อย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากที่คนเรียกวิจารณ์คนอื่น (by the way ในบริบทของประวัติศาสตร์ปรัชญาฝรั่ง โดยเฉพาะปรัชญา analytic ร่วมสมัย คำนี้ pragmatism มีความหมายคนละอย่างกับที่กำลังใช้เรียกในกรณีไทยปัจจุบัน ในแง่นี้ ผมออกจะไม่เห็นด้วยกับการใช้คำนี้นัก pragmatism ของปรัชญา analytic ร่วมสมัย อย่าง Rorty, Davidson, Bernstein, Putnum มีหลายอย่างที่ผมเห็นว่าน่าชื่นชม)

ขอเสริมเรื่องการรณรงค์ NO VOTE ที่พวกคุณสนับสนุน (หรือเป็น "ต้นธารความคิด" ) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรณรงค์แอนตี้ทักษิณ เมื่อบวกกับการบอยคอตต์ไม่ลงเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ชาติไทย ฯลฯ

พวกหลัง (ประชาธิปัตย์ ฯลฯ) ทำการบอยคอตต์ เพื่อปูทางให้กับการรัฐประหารโดยตรง (โดยกษัตริย ใต้ข้ออ้าง "มาตรา 7" หรือ กองทัพ)

แต่ในการรณรงค์ NO VOTE ของพวกคุณ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ move ปูทางรัฐประหารของพวกนี้สำเร็จ พวกคุณไม่เคย make clear ต่อมวลชนเลยว่า " เสียง NO VOTE ไม่ใช่การทำให้การเลือกตั้งนี้เป็น "โมฆะ" (ไม่ใช่ทำให้ "มั่ว") และ ถ้าเสียง NO VOTE แพ้ ทักษิณ มีสิทธิเป็นรัฐบาล"

ดังนั้น การรณรงค์ NO VOTE ของพวกคุณ จึงเป็นการรับใช้โดยตรงให้กับพวกปูทางรัฐประหาร

ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก




"บ.ก. ลายจุด" (คุณสมบัติ บุญงามอนงค์) แสดงความเห็นตอบ

(24 พฤศจิกายน 2549)


ผมขอแลกเปลี่ยนดังนี้

หนึ่ง....ไม่เอารถถัง
ตรงนี้ คงไม่ต้องอธิบายมาก ว่าเหตุใด ไม่เอารถถัง

สอง....ไม่เอาทักษิณ
ณ วินาทีนี้ ผมเห็นว่า คุณทักษิณไม่ควรกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีสิทธิกลับเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้ง และ แน่นอนว่า หากเขากลับมาและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เขาย่อมมีสิทธิทางการเมืองที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คุณทักษิณไม่ควรกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งด้วยเหตุผลดังนี้

- ผมเชื่อสนิทใจว่า ทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน
- ทักษิณแทรกแซงกลไกอิสระจริง
- ทักษิณ เป็นหนึ่งในปมความขัดแย้ง ที่หากนำขึ้นสนามอีกครั้ง ก็ต้องบอกว่า นักมวยคนนี้ช้ำ และง่ายต่อการนำพาความขัดแย้งนั้นกลับมาอีกคร้ง
- ผมเชื่อว่า ประเทศชาติต้องเดินหน้าได้ด้วยคนในชาติ ที่จะต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถในระดับไม่น้อยกว่าคุณทักษิณ และ ประชาชนควรได้มีโอกาสคัดเลือกบุคคลเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยไม่ควรยอมรับว่า หากขาดทักษิณแล้ว ประเทศไทยไปไม่ได้




ความเห็นแย้งของผม
(26 พฤศจิกายน 2549)



"แลกเปลี่ยน" กับ บ.ก.ลายจุด ว่าด้วย "2 ไม่เอา" อีกครั้ง


ขอบคุณ "บ.ก.ลายจุด" ที่กรุณามา "แลกเปลี่ยน" ประเด็น "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"

ผมมี rejoinder ดังนี้

อันที่จริง การที่ บ.ก.ลายจุด แลกเปลี่ยนกับผมด้วยการพยายามอธิบายว่า ทำไม "ไม่เอารถถัง" และ ทำไม "ไม่เอาทักษิณ" นั้น ไม่ตรงกับประเด็นที่ผม raise

เพราะผมไม่ได้ถามว่า ทำไม จึง "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"

แน่นอน อันนี้ก็ย่อมเป็นสิทธิของ บ.ก.ลายจุด หรือของใคร ที่จะ "ตอบ" หรือ "แลกเปลี่ยน" ในแง่มุมที่ผมไม่ได้ raise ปัญหาคือ ประเด็นที่ผม raise ซึ่งผมยืนยันว่า เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับ บ.ก.ลายจุด และคนอื่นๆที่ "ชูคำขวัญ" ลักษณะเดียวกัน (ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา" ยังคงอยู่

ผมยังเห็นว่า เป็นประเด็น หรือข้อวิจารณ์ที่ บรรดาคนที่ชูคำขวัญอย่างนี้ ไม่เคยตอบได้ และตอบไม่ได้ ซึ่งที่สำคัญ มีผลต่อการเคลื่อนไหวทีผ่านมา หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อีกครั้ง: ประเด็นของผมคือ ถ้า "2 ไม่เอา" แล้วเอาอะไร?


ไม่เคยมีใครในหมู่พวกคุณที่พยายามตอบคำถามอย่างนี้อย่างจริงจัง ซึ่งผมเห็นว่า ในฐานะคนที่ออกาเคลื่อนไหวสาธารณะในเรื่องสำคัญเช่นนี้ ออกจะเป็นการไม่รับผิดชอบทางการเมืองนัก

ที่สำคัญ ในการ raise ประเด็นนี้ ผมมีนัยยะเชิงวิจารณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า

ในเมื่อ พวกคุณชูประเด็น "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" การที่พวกคุณยืนกราน "ไม่เอาทักษิณ" (ไม่ใช่เฉพาะตอนนี้ แต่ท่สำคัญตลอดปีที่ผ่านมา) ไม่เป็นการ "กลืนน้ำลายตัวเอง" หรอกหรือ?

ลักษณะนี้ ไม่เป็นการสะท้อนวิธีคิดแบบพวกศักดินา ที่ไม่แคร์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เขาจะเลือกใคร แต่ทำตัวเป็นเทวดา อยากไล่ใครออก (ด้วยปืนรถถังและ "บารมี") ก็ทำตามใจชอบ หรอกหรือ?


ตลอดปีที่ผ่านมา การที่พวกคุณ "เอาด้วย" กับกระแสแอนตี้ทักษิณของพวกรถถังและพวกศักดินา ก็เพราะ ในที่สุดแล้ว พวกคุณแชร์กับพวกรถถัง-ศักดินา ด้านที่ไม่แคร์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เขาอยากให้ใครเป็นนายกฯในขณะนั้น

ผมพูดตั้งแต่ต้นของการรณรงค์ ที่พวกคุณ "เอาด้วย" กับพวกเขาว่า สิ่งที่น่าละอาย น่าขยะแขยง สะอิดสะเอียน (distastful) ที่สุด ก็คือประเด็นที่ว่า บรรดาปัญญาชนทั้งหลาย รู้ดีว่า ถ้าให้ตัดสินด้วยการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้ทักษิณเป็นนายกฯ แต่ก็ยืนกราน ทำราวกับว่า เรื่องนี้ ไม่สำคัญอะไร ("กูจะขอไล่ของกูออกให้ได้")

นี่คือการทำตัวเป็นเทวดา ว่ารู้ดีกว่าคนกว่าสิบล้าน เหมือนพวกรถถัง-ศักดินา

(ผมเคยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่กระแส "เอาด้วยกับเจ้า" สูง ในหมู่ปัญญาชน ในหลายปีที่ผ่านมา (ไม่ใช่เฉพาะปีที่ผ่าน) ต้องมี "รากฐาน" บางอย่าง ที่ลึกซึ้ง ร่วมกัน ระหว่างปัญญาชนกับพวกศักดินา และประเด็นนี้แหละ คือประเด็นสำคัญอันหนึ่ง คือด้านที่ไม่แคร์ต่อกระบวนการเลือกตั้ง ด้านที่ถือว่า ความเป็นอภิสิทธชนของตัวเอง ทำให้ตัวเองกลายเป็นเหมือน "เทวดา" ที่รู้ดี ตัดสินใจแทนคนอื่นๆได้หมด)

แลกเปลี่ยนกับหลวงพี่ไพศาลวิสาโล

(18-21 พฤศจิกายน 2549)



คำถามเริ่มต้นของผม
(18 พฤศจิกายน 2549)

หลวงพี่ครับ

แม้หลวงพี่จะให้สัมภาษณ์ ("คนวงใน", ไอทีวี, 18 พฤศจิกายน 2549) ในประเด็นความสัมพันธ์ระดับชาวบ้านระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมภาคใต้เป็นสำคัญ แต่ก็มีหลายตอนที่พาดพิงถึงการเมืองปัจจุบันในแง่นโยบาย-ท่าทีของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการที่หลวงพี่กล่าวในตอนหนึ่งว่า "อาตมาเองคิดว่ารัฐบาลทำมาถูกทางแล้ว..."

หลวงพี่ไม่คิดว่า เป็นการ endorse รัฐบาลนี้มากเกินไป? ผมไม่อยากจะคิดว่า หลวงพี่เองสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ แต่ถ้าเช่นนั้น การให้สัมภาษณ์ทั้งชุดออกจะ(ไม่)ชอบกลไปหน่อย

ด้วยความระลึกถึง
สมศักดิ์


(ปล. ผมไม่มีปัญหาใดๆกับการที่พระจะแสดงความเห็นทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่นั่นหมายความว่า พระเองต้องพร้อมจะเข้าสู่วงวิวาทะทางการเมือง รวมทั้งการถูกวิพากษ์จิจารณ์ด้วย)



คำตอบของหลวงพี่
(19 พฤศจิกายน 2549)


เจริญพร อ.สมศักดิ์

ในคำให้สัมภาษณ์แก่ไอทีวี อาตมาเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มาถูกทางแล้วในเรื่องการใช้มาตรการ "รุก"ทางการเมือง เช่น การกล่าวขอโทษสำหรับความผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้ว และการถอนฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบ การให้ความเห็นเช่นนี้ไม่ได้เป็นการ endorse ทุกอย่างและทั้งหมดที่รัฐบาลชุดนี้ทำ หากแต่เป็นการสนับสนุนมาตรการเฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่ถ้าคำให้สัมภาษณ์จะทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะเหมารวมเช่นนั้น ก็เป็นความเข้าใจผิดของผู้ฟัง หรือไม่ก็เป็นการพูดที่ไม่รัดกุมพอของอาตมา
อาตมาเองแม้จะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะขาดฐานที่เข็มแข็งในแง่ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่อะไรที่รัฐบาลทำถูกหรือก่อให้เกิดผลที่ดีงามต่อส่วนรวม ก็สมควรที่จะได้รับความสนับสนุน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลทักษิณ แม้จะทำไม่ถูกหลายอย่าง แต่ส่วนไหนที่เขาทำดีหรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็สมควรได้รับคำชมหรือความสนับสนุนเช่นกัน ไม่เป็นการสมควรเลยที่จะติเรือทั้งโกลน หรือถือคติ "สองขาดี สี่ขาเลว"อย่างใน animal farm

ธรรมและพร
พระไพศาล


คำแย้งของผม
(21 พฤศจิกายน 2549)


เรียน หลวงพี่ไพศาล

การได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลนี้ด้วยการยึดอำนาจรัฐประหารของ คปค/คมช. ไม่ใช่เป็นเพียงการ "ขาดฐานที่เข็มแข็งในแง่ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย" ผมเห็นว่าในทางการเมือง การยึดอำนาจครั้งนี้ เหมือนการ "ฆาตกรรม" หรือ "ข่มขืน" ผู้ที่เป็น "ฆาตกร" และ "นักข่มขืน" ทางการเมือง ไม่มีสิทธิในการดำเนินนโยบายทางการเมืองใดๆตั้งแต่ต้น ในทุกๆวินาทีที่ "ฆาตกร/นักข่มขืน" ทางการเมืองเหล่านี้ อยู่ในอำนาจ เป็นการเหยียบย่ำและเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของคนนับสิบล้านคน

ในส้งคมสมัยใหม่ คน 10 คน สามารถมีความเห็น 10 อย่างว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่รัฐบาลควรทำในกรณีหนึ่งๆ นโบายที่หลวงพี่เห็นว่าดี หรือ "ถูก" ในกรณีภาคใต้ ก็มีคนอื่นที่เห็นว่าไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง นโยบายรัฐจึงต้องได้มาด้วยการนำเสนอและรณรงค์อย่างเปิดเผย ในบรรยากาศเสรีภาพ ให้ได้มา รัฐบาลที่ได้อำนาจมาด้วยการใช้ปืนใช้กำลังยึดอำนาจอย่างรัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีสิทธิใดๆที่ใช้นโยบายใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งนโยบายที่เราเห็นว่า "ถูก" ด้วย มิเช่นนั้น ขอเพียงแต่อ้างว่ามี "นโยบายที่ถูกต้อง" ก็สามารถใช้กำลังอาวุธหรือวิธีการใดๆก็ได้เพื่อให้ได้อำนาจมา

(ผมไม่คิดว่าภาษิตที่หลวงพี่ยกมาเกี่ยวข้องหรืออธิบายอะไรได้ แต่ไหนแต่ไร ผมไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายเรื่องทางการเมืองด้วยภาษิต เช่น "สองขาดีสี่ขาเลว" ฟังดู "มีพลัง" เพราะเหมือนเป็นการวิจารณ์การ "เหมารวม" แต่หากผมเปลียนเป็น "นักข่มขืนเลว ผู้ไม่ข่มขืนดี" (ในกรณีความสัมพันธ์ทางเพศ) การพูดแบบ "เหมารวม" ในกรณีหลังก็ย่อมถูกต้อง เรื่อง "อย่าติเรือทั้งโกลน" ก็เช่นกัน ถ้าผมบอกว่า "ห้ามลงมือใช้กำลังข่มขืน ไม่ต้องรอดูว่า 'ผล' ของมันจะเป็นอย่างไรก่อน" อย่างนี้ถือว่า เป็น "ติเรือ" ในขณะที่เป็นเพียง "โกลน" หรือไม่ ถ้าใช่ ผมก็ว่าทำได้... สรุปแล้ว ภาษิตต่างๆ ที่ฟังดู "มีพลัง" หรือ "เข้าท่า" บอกอะไรเราไม่ได้ สู้อภิปรายปัญหาอย่างเป็นเหตุผลรูปธรรมดีกว่า)


ด้วยความระลึกถึง
สมศักดิ์


ปล. ทาง ไอทีวี ออกอากาศการสัมภาษณ์ของหลวงพี่ในลักษณะเป็นการ endorse รัฐบาลแน่นอน (และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมรายวันให้กับการรัฐประหารและรัฐบาล) ผู้ประกาศได้แนะนำการสัมภาษณ์ โดยการ paraphrase คำของหลวงพี่ที่ว่า "ในการแก้ปัญหาภาคใต้ รัฐบาลได้ทำมาถูกทางแล้ว..."

สุนทรพจน์เปรียบเทียบเชอร์ชิล-สุรยุทธ ของเปรม : bad history, but most revealing

(17 พฤศจิกายน 2549)



เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง โดยมีพลเอกสรยุทธ จุฬานนท์ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย ตอนหนึ่ง พลเอกเปรมได้เปรียบเทียบยกย่อง พลเอกสุรยุทธ ว่าเหมือนกับวินสตัน เชอร์ชิล นายก รมต.สมัยสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษ (พูดง่ายๆคือเป็นการชมสุรยุทธต่อสาธารณะต่อหน้าสุรยุทธเองเลยทีเดียว!) ข้อความดังกล่าวมีดังนี้ (ดูรายงานใน ข่าวสด ผมได้เปรียบเทียบกับข่าวภาคค่ำของช่อง 11 เมื่อวานนี้ ซึ่งถ่ายทอดเสียงจริงตอนนี้ของพลเอกเปรม พบว่าตรงกัน - การเน้นคำในข้อความต่อไปนี้เป็นของผมเอง)

"ทุกคนต้องรู้จักมิสเตอร์วินสตัน เชอร์ชิลด์ เป็นนายกฯของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มาที่ไปก็คล้ายๆ กับคุณสุรยุทธ์ คือไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ถูกเชิญมาเพราะควีนส์เห็นว่าเหมาะสม คุณเชอร์ชิลด์พูดเรื่องเสียสละ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง นายกฯสุรยุทธ์ก็เหมือนกัน คล้ายกับเชอร์ชิลด์ มาเป็นนายกฯโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพื่อชาติบ้านเมือง"

ข้อความตอนนี้ เป็น bad history เพราะข้อมูลเกี่ยวกับวินสตัน เชอร์ชิล ผิดอย่างถนัด 2 ประการคือ

(1) เชอร์ชิล เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ของเขต Epping ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Essex ตลอดช่วง 1924 ถึง 1945 (ซึ่งครอบคลุมช่วงที่เขาเป็นนายก รมต.ยามสงคราม ระหว่าง 1940 ถึง 1945) หลังจากนั้น ก็เป็น สส.เขต Woodford จากปี 1945 ถึง 1964 (เรียกได้ว่าจนถึงแก่กรรม เขาตายเมื่อ 24 มกราคม 1965) ช่วงเป็น สส.เขต Woodford นี้ เขาได้เป็น นายกฯอีกครั้ง ระหว่าง 1950-1955 ดูรายละเอียดเหล่านี้ได้จาก Churchill Archive

ความจริง เรื่อง เชอร์ชิล เป็น ส.ส. ขณะเป็นนายกรมต.นี้ ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับกรณีสุรยุทธ ยิ่งสำคัญ ในแง่ข้อมูลแวดล้อม คือ หลังจาก Chamberlain (ผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ทางประวัติศาสตร์ในฐานะนายกฯอังกฤษผู้ที "เอาใจ/อ่อนข้อให้" ฮิตเลอร์ กรณีเชคโกสโลวาเกีย) ลาออก เพราะล้มเหลวในการบริหารยามสงครามแล้ว ตอนแรก คนที่มีถูกทาบทามให้เป็นแทนคือ Lord Halifax ซึ่งไม่ใช่เป็น สมาชิกสภาล่าง (House of Common) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาสูง (House of Lord) ที่ไม่ใช่มาจากการเลือตั้ง แต่ Halifax ปฏิเสธตำแหน่ง เพราะเห็นว่า ตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกสภาล่าง จะนำประเทศไม่ได้ Chamberlain จึงเชิญให้เชอร์ชิลมาเป็นนายกฯแทน

(2) อันที่จริง ประมุขอังกฤษในขณะนั้น คือ กษัตริย์ (คิง) ไม่ใช่ราชินี (ควีน) ดังที่พลเอกเปรมเข้าใจ คือ King Goerge VI (พระราชบิดาพระนางเจ้าอลิซาเบธ ราชินีองค์ปัจจุบัน)

แต่ขณะที่ สุนทรพจน์เชอร์ชิล-สุรยุทธ ของพลเอกเปรม เป็น bad history เพราะผิดพลาดเรื่องข้อมูลสำคัญดังกล่าว แต่กลับเปิดเผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจมากๆบางอย่าง (most revealing) อันที่จริง ผมคิดว่า กล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรก ที่พลเอกเปรมยืนยันด้วยตัวเองถึงเบื้องหลังหรือผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประการครั้งนี้ (โดยไม่ตั้งใจ)!!

Thursday, November 02, 2006

ต้องระวังอย่าหลงประเด็น: แถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยา กรณีคุณนวมทอง

(3 พฤศจิกายน 2549)



ในแถลงการณ์ของเครือข่าย 19 กันยา กรณีคุณนวมทอง ไพรวัลย์ ฆ่าตัวตาย มีข้อความตอนหนึ่งว่า
พวกเราขอประณามเผด็จการทหาร-ตำรวจ เผด็จการพลเรือน และบรรดาผู้ที่ค้ำจุนความชอบธรรมให้กับอำนาจเผด็จการทั้งปวง ที่เป็นต้นเหตุแห่งความเลวร้ายนานัปการในปัจจุบันและที่กำลังดำเนินต่อไปในอนาคต และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คุณลุงต้องตัดสินใจ ‘พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย’ ด้วยการขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะขอประณามพันเอกอัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่สบประมาทคุณลุงว่า ‘ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้’ อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณลุงต้องตัดสินใจกระทำการ ‘พลีชีพเพื่ออุดมการณ์’ ในครั้งนี้
หากท่านใดอ่านที่ผมเขียนถึงคุณนวมทองก่อนหน้านี้ จะเห็นว่า มีประเด็น "เล็กๆ" ประเด็นหนึ่งที่ผมพยายามจะสื่อ คือ การอธิบายแรงผลักดันให้คุณนวมทองลงมือฆ่าตัวตายประท้วง ผมเห็นว่า ขณะที่เป็นความจริงที่ว่า คำพูด "สบประมาท" ของรองโฆษก คปค.เป็นแรงผลักดันอันหนึ่งที่คุณนวมทองเองยกขึ้นมา (และภรรยาได้กล่าวซ้ำ) ก่อนอื่น ความรู้สึก "ถูกสบประมาท" ในทีนี้เป็นเรื่องที่มีลักษณะการเมืองไม่ใช่ส่วนตัว คือมาจากความไม่เห็นด้วย/คัดค้านการรัฐประหารอย่างรุนแรงของคุณนวมทอง ความรู้สึกว่า "ถูกสบประมาท" จึงเกิดขึ้น

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า อันที่จริง คุณนวมทอง ตั้งใจจะฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงรัฐประหาร ตั้งแต่ก่อนจะมีการให้สัมภาษณ์นั้น นั่นคือ เมื่อคุณนวมทองขับรถแท็กซี่เข้าชนรถถังนั้น คุณนวมทองตั้งใจจะทำเพื่อฆ่าตัวตายพร้อมกันไปด้วย (แต่ "คำนวนผิด" เรื่องแรงชน ความเร็วของรถ ฯลฯ) นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันให้เห็นว่า เรื่อง "คำสบประมาท" นั้น เป็นแรงกระตุ้น (เพิ่มเติม?) ที่มาทีหลัง เป็นเรื่องรองและเล็กในการตัดสินใจฆ่าตัวตายครั้งนี้

(ความจริง ส่วนแรกของแถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยากล่าวอย่างถูกต้องเรื่องคุณนวมทอง "ตัดสินใจ 'พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย' ด้วยการขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถัง.." แต่ข้อความต่อมากลับไปเขียนว่า คำพูดสบประมาทของ รองโฆษก "เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลุงต้องตัดสินใจ")

Wednesday, November 01, 2006

คุณนวมทอง ไพรวัลย์

(1 พฤศจิกายน 2549)



ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ด้วยความยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการเขียน

ขอเรียนให้ทราบเพียงว่า

คุณนวมทอง ทำให้ผมรู้สึกละอายใจตัวเองอย่างยิ่ง

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ว่าด้วยกรณีจดหมายเปิดผนึกให้สุรพลเลือกระหว่าง สส. หรือ อธิการบดี มธ.

(1 พฤศจิกายน 2549)



วันหนึ่ง ในช่วงที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้ใช้ ม.7 ซึ่งสุรพล เป็นคนสำคัญคนหนึ่ง (อย่าลืมว่า การเรียกร้องนี้คืออะไร? คือการให้ยกเลิกส่วนสำคัญๆที่สุดของรัฐธรรมนุญที่ใช้อยู่ คือยกเลิกรัฐบาล และรัฐสภาทีมาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ เรียกร้องให้รัฐประหารนั่นเอง เพียงแต่เป็นรัฐประหารที่ให้พระมหากษัตริย์ทำโดยตรง แต่เป็นรัฐประหารแน่นอน) .. ผมไปที่ท่าพระจันทร์ และเดินสวนกับ อ. "..." ผมก็ทักทายกับเขา และพูดคุยเรื่องสถานการณ์ โดยเฉพาะบทความที่เขาเขียน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างสำคัญบางประเด็น .. ก่อนจะแยกทางกัน ผมพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงกับเขา ถึงเรื่องที่ตัวเองกำลังคิดๆอยู่ว่า "เฮ้ย ผมว่า ถ้าว่างๆ เสร็จเรื่องนี้เมื่อไร จะรณรงค์เอาสุรพลออกจากอธิการ คุณว่าดีไหม? มีอย่างที่ไหน อธิการบดี มธ.เรียกร้อง ม.7" เขาก็หัวเราะ และพูดว่า "เออ คุณเอาสิ ผมจะลงชื่อด้วย"... น่าเสียดายที่ผมเป็นคนขี้เกียจเกินไปจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการบริหารงาน ตำแหน่ง ฯลฯ สุดท้าย ก็เลยไม่ได้ทำอะไร .. ยิ่งกว่านั้น พอเกิดรัฐประหาร เรื่องเรียกร้อง ม.7 ตอนนั้นก็ไม่ใช่ priority ในการคิดไป...

เมื่อหลายวันก่อน เมื่อคุณอุเชนทร์ กับเพื่อน ริเริ่มทำจดหมายเปิดผนึก ล่าลายเซ็นเรียกร้องให้สุรพล เลือกเอาระหว่างตำแหน่ง สส. กับอธิการบดี มธ. ด้านหนึ่ง ผมก็ "ดีใจ" เล็กน้อย .. (ในแง่ที่คิดแบบขำๆถึงไอเดียคล้ายๆกันของตัวเอง ที่เล่าข้างต้น) แต่ขณะเดียวกัน ผมออกจะรู้สึก "ชอบกลๆ" ไม่ได้ ว่า ทำไมข้อเรียกร้องช่าง "หน่อมแน้ม" เหลือเกิน

จริงอยู่ จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องว่า ถ้าสุรพลจะยังเป็น สส. ก็ให้ลาออกจากอธิการ

แต่ในทางกลับกัน ตามข้อเรียกร้องเช่นนี้ หมายความว่า ถ้าสุรพลลาออกจาก สส. ก็เป็นอธิการบดีต่อไปได้

ยิ่งกว่านั้น เมื่อผมได้อ่านเหตุผลที่บางคนให้ในการลงชื่อสนับสนุน โดยเฉพาะเหตุผลของ จอน อึ๊งภากรณ์ (ลงชื่อลำดับที่ 19) ที่ว่า "ผมเคารพในเหตุผลของอาจารย์และคนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยทุกๆคนที่ตัดสินใจรับเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในครั้งนี้ แต่ผมเห็นว่าไม่ควรนำสถาบันที่ตนเป็นผู้บริหารสูงสุดเข้าไปด้วย..." (โดยมี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ลงชื่อลำดับที่ 78 เขียนสนับสนุนว่า "I agree with Jon Ungpakorn.")

ผมรู้สึกว่า การ "หน่อมแน้ม" นี้ชักจะไปกันใหญ่

คำว่า "เคารพ" (respect คำยอดฮิตของบางคน) ที่จอนและชาญวิทย์ใช้ในที่นี้ แปลว่าอะไร?

respect การที่ ศาตราจารย์ ผู้ใหญ่ทางกฎหมาย endorse (รับรอง) การยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการไปเป็น สส.ให้แล้ว?


และลองสมมุตินะ สมมุติว่าสุรพลเกิดลาออกจาก สส. จริงๆ โดยอาจจะให้เหตุผลทำนองว่า "งานยุ่ง รับภาระ สส. ไม่ได้" หรือกระทั่งว่า "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" (อย่าลืมว่า สุริยใส, เสน่ห์, ชัยวัฒน์ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" ทั้งนั้น) ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แปลว่า สุรพลควรยังเป็นอธิการบดีต่อไปได้?

คนที่เรียกร้องให้ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจ ม.7 คือ ให้พระมหากษัตริย์ทำรัฐประหาร คนที่รับเป็น สส.ให้คณะข่มขืนทางการเมืองไปแล้ว คนอย่างนี้ ยังควรเป็นอธิการบดี มธ.?

ต่อให้ไม่นับเรื่อง ม.7 ข้อเสนอแบบนี้ ราวกับว่า การที่ สุรพล ตัดสินใจรับเป็น สส.ไปแล้ว เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ต้องใช้วิจารณญาณตัดสินอะไรมาก ถ้าลาออกเสียตอนนี้ ก็โอเค เป็นอธิการต่อไปได้ ราวกับว่า เป็นเรื่องของเด็กๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ขอแต่ให้ "สำนึกได้" ก็แล้วกันไป เป็นอธิการบดีต่อไปได้

คนระดับศาตราจารย์ทางกฎหมายผู้ใหญ่ ระดับอธิการบดี ไปรับเป็น สส.ให้คณะรัฐประหาร นี่เป็นเรื่องไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหมือนเด็กๆ?

ตอนที่มีการรณรงค์คัดค้าน "ย้ายธรรมศาสตร์" (ชาญวิทย์, จอน, และอีกหลายคนที่ลงชื่อตอนนี้) เรียกร้องให้ ผู้บริหาร มธ. ลาออก เพราะ(กล่าวหาว่า) เป็นผู้ "ตัดสินใจ" ย้าย มธ. (ความจริง ผู้มีส่วนในการ "ตัดสินใจ" มีอีกหลายคน รวมทั้งพวกที่รณรงค์เอง)

แต่ตอนนี้ สุรพล ไป รับรองรัฐประหาร (มิหนำซ้ำ เพิ่งมีประวัติของการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทำรัฐประหาร) กลับเรียกร้องแค่ว่า ให้เลือกตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งเดียวก็พอ?

อย่างที่ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า แปลกมากๆที่ เมื่อเกิดเรื่องรัฐประหารคราวนี้ บรรดาปัญญาชน นักวิชาการ ช่างกลายเป็นคน "สุภาพ" มี "respect" มี "มารยาททางสังคม" เหลือเกิน.. เปรียบเทียบกับท่าทีที่ใช้กับนักการเมือง หรือผู้ที่ (ถูกหาว่า) ทำงานให้นักการเมืองในอดีตใกล้ๆ ...