Tuesday, September 26, 2006

สืบเนื่องจากกระทู้ "นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ '2 ไม่เอา' มีส่วนรับผิดชอบต่อการรัฐประหารเพียงใด?"

(21 กันยายน 2549)



วิธีคิดและการให้เหตุผลของผมในกระทู้ "นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ '2 ไม่เอา' มีส่วนรับผิดชอบต่อการรัฐประหารเพียงใด?"
บางครั้งถูกถาม-โต้แย้ง ว่า
"ถ้าเช่นนั้น คุณจะไม่ให้ประท้วงรัฐบาล กระทั่งเรียกร้อง หรือล้มรัฐบาลเลยหรือ แล้วอย่างนี้จะเป็นเประชาธิปไตยยังไง"
คำตอบของผมคือ
ถ้าคุณคิดว่านี่เป็นเรื่อง ประชาธิปไตย หรือ สิทธิประชาธิปไตย ล้วนๆ ในการคัดค้านรัฐบาล
คุณก็ "พาซื่อ" ไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับการเมือง-สังคมไทย

ถ้านี่เป็นประชาธิปไตยแบบในตะวันตก (โดยทั่วไป)
การรณรงค์ประท้วงรัฐบาล ไม่วาจะเข้มข้น รุนแรงในระดับไหน
กระทั่งลงเอยที่การไล่หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐบาลทั้งชุดออกได้
ผู้ที่จะมาแทนที่ ก็เป็นเพียง พรรคอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งมาจากกระบวนการเลือกตั้ง-ตัดสินใจของประชาชนเหมือนกับพวกที่ถูกล้มไป และภายใต้สถานการณ์ ที่ประกัน เสรีภาพของการแสดงออก เหมือนๆกัน

ถ้าเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ คุณจะคัดค้าน เสนอให้รัฐบาลออก ให้ "ล้ม" ยังไง ก็ตามสบาย ผมไม่มีปัญหาใดๆ

แต่ในประเทศไทย ความจริงของการเมืองไทย เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่การเมืองที่ประกัน freedom of speech
ที่สำคัญ นี่เป็นการเมือง ที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่อย่างสำคัญตลอดเวลา

อย่าว่าแต่ ล้มรัฐบาล
เพียงแค่วิพากษ์ โจมตี ประนาม รัฐบาลอย่างรุนแรง
ก็มี "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ได้รับประโยชน์ ในทางการเมือง และในทางอุดมการณ์-ความคิด อยู่ตลอดเวลา

ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ดังกล่าว ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

(และนี่คือความจริง ของปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ที่สุด ที่ทำตัวเป็นปัญญาชนสาธารณะ ทุกวันนี้ คือ
พวกเขาไม่เห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" เป็นประเด็นสำคัญ
บางคน - เช่น เกษียร - เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญ ถึงกับเขียนสนับสนุน "อำนาจ" ดังกล่าวด้วยซ้ำ
หรือ แม้แต่นิธิ ก็ยังเสนอให้มอง "อำนาจ" ดังกล่าว ในลักษณะเป็นตัว "คานอำนาจ" กับรัฐบาลเลือกตั้ง
เป็นสิ่งที่ "แนบแน่นกับประชาชน" ได้ (ในขณะที่รัฐบาล "นายทุน" ไม่ได้ เพราะต้อง "ผ่าน" "ตัวกลาง" อย่าง "เงิน" และ "บัตรลงคะแนน" - ผมเคยอภิปรายประเด็นทางปรัชญา เกี่ยวกับ mediated relations ในกระดานข่าวเก่า ขอไม่ขยายความในที่นี้)

แต่ถ้าคุณ (เหมือนผม) ที่เห็นว่า "อำนาจนอกรัฐธรรมนุญ" นี้เป็นประเด็นสำคัญ

อันที่จริง ในความเห็นของผม เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดขั้นชี้ขาดของการเมือง-สังคมไทย

ในการด่าโจมตีรัฐบาล คุณก็ควรถามตัวเองให้หนัก

ก่อนอื่นคือ คุณกล้าพอ จะโจมตี ทุก "อำนาจ" ในลักษณะรุนแรงเท่าๆกันหรือ?
คุณมีความสามารถที่จะทำจริงๆหรือ?

ยิ่งถ้าในการรณรงค์ระดับต้องการ ล้ม รัฐบาล หรือยิ่งล้มอะไรที่คุณเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"

คุณจะเอาใคร หรือ อำนาจอะไรมาแทน? (คุณกำลังพูดถึงทั้ง "ระบอบ" เชียว!)

พรรคการเมืองฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่ง?

หรือ....?

พวกคุณที่ชอบบอกว่า
ต้องการ คัดค้าน กระทั่งโค่นล้ม รัฐบาลเลือกตั้ง (ของพรรคหนึ่ง) เฉยๆ
ไม่ได้ต้องการให้พรรคเลือกตั้งอีกพรรคหนึ่งมาแทน
ไม่ได้ต้องการให้ "อำนาจอื่น" มาแทน

พวกคุณที่ชอบพูด ชอบตะโกนเช่นนี้
เป็นทั้ง "พาซื่อ" "ไร้เดียงสา", และ "ไม่รับผิดชอบ"

ในที่สุดแล้ว ข้อเสนอพื้นฐานที่สุดของผม ไม่ใช่ ให้รักษารัฐบาลไว้ at all cost เพราะมิเช่นนั้น "อำนาจอื่น" จะได้ประโยชน์
แต่คือ จะต้องหาทาง "จัดการ" กับ "ทุกอำนาจ" พร้อมๆกัน
อย่างน้อย ในระดับ "วาทกรรม" คุณต้อง ผลิต "วาทกรรม" ที่โจมตี "อำนาจอื่น" ได้พร้อมๆกับที่โจมตีรัฐบาล
คุณต้องพยายามไม่ทำการโจมตีรัฐบาล ที่ให้ประโยชน์ในทางการเมือง ทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ อย่างที่ ปัญญาชนทั้งหลายทำกัน

ในขณะที่บรรดาปัญญาชนใหญ๋ในบ้านเรา เกือบทั้งหมด ล้วนแต่ หลอกตัวเอง และหลอกผุ้คน
ด้วยการใช้คำประเภท "โครงสร้าง" "ระบบ" ฯลฯ

แท้จริงแล้ว พวกเขา "ดีแต่ด่านักการเมือง" เท่านั้น

เบื้องหน้า "อำนาจอย่างอื่น" ทั้งในยามปกติ หรือในยามทุกวันนี้ พวกเขาเป็นได้แค่ ... (เติมเอาเองก็แล้วกัน)