Tuesday, September 26, 2006

ไม่มีความกล้า ไม่มีความละอาย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

(25 กันยายน 2549)



ผมขอสารภาพว่า ผมนึกว่า ระดับความโกรธของตัวเอง ที่เห็นปฏิกิริยาของบรรดาปัญญาชนใหญ่ๆของเรา ได้ peaked (คือขึ้นสู่ระดับสุดแล้ว) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

แต่เมือ่ผมได้อ่านบรรทัดแรก ในบทความของนิธิในมติชนวันนี้ ผมจึงรู้ว่า ตัวเองสามารถโกรธยิ่งกว่าที่โกรธเมื่อหลายวันก่อนได้

ข้อเขียนนี้ ผมเขียนด้วยความยากลำบาก เพราะโกรธเสียจน ต้องหยุดเขียนเป็นระยะๆ และสงสัยว่า คงเขียนได้น้อยกว่าที่อยากจะเขียนเยอะ

ในบทความวันนี้ นิธิ ขึ้นต้นว่า

"จะผิดหรือจะถูก จำเป็นหรือไม่จำเป็น สมควรหรือไม่สมควรก็ตาม สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว ปัญหาคือจะประคองสิ่งที่ทำไปแล้วให้ออกมาเป็นผลดีที่สุดได้อย่างไร"

ตกลงว่า ในความเห็นของนิธิ รัฐประหารครั้งนี้ ผิดหรือถูก?
รัฐประหารครั้งนี้ จำเป็น หรือ ไม่จำเป็น?
รัฐประหารครั้งนี้ สมควร หรือ ไม่สมควร?

สำหรับคนที่จะมาแก้ต่างแทนนิธิว่า นิธิ ไม่สามารถเขียนว่า "รัฐประหารครั้งนี้ผิด" เพราะถ้าเขียนแล้ว บ.ก.ก็คงไม่สามารถลงให้ได้ ขอให้คิดก่อนพูด

นิธิเป็น "เจ้าภาษา" ความสามารถในการใช้ภาษา โดยเฉพาะในการด่านักการเมือง ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องพูดอีก popularity ของเขาในหลายปีที่ผ่านมา อยู่บนพื้นฐานของสิ่งนี้

นิธิสามารถเขียนง่ายๆว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ ผมเห็นว่าไม่จำเป็น และไม่สมควร"

ผมค่อนข้างเชื่อว่า บ.ก. ยังไงก็ไม่ถึงกับกลัวจนไม่กล้าลงบทความที่มีประโยคเรียบๆง่ายๆเช่นนี้

แต่ต่อให้ นิธิห่วงเรื่องการไม่ลงของบ.ก. ถ้าเขียนตรงๆเช่นนี้

เขาสามารถใช้ "ลูกเล่น" ก็ได้ คือ หลังจากเขียนประโยคเช่นนี้แล้ว เขียนในบรรทัดต่อมาด้วยเครื่องหมาย

..............

แล้วบอกผู้อ่านว่า "ผมเขียนบทความนี้โดยเริ่มต้นเป็น 2 เวอร์ชั่น ถ้าผู้อ่าน เห็นบรรทัดแรกของผมขึ้นต้นด้วย ......... ก็แสดงว่า บ.ก.เห็นว่า ข้อความบรรทัดแรกในเวอร์ชั่นหนึ่งของผมมันแรงไป ไม่สามารถลงได้"

ฯลฯ ฯลฯ

อย่างนี้เป็นต้น

ผมยกตัวอย่าง ความเป็นไปได้ เช่นนี้ ซึ่งความจริง ระดับ "เจ้าภาษา" อย่างนิธิ ย่อมสามารถคิดวิธิทำนองนี้ได้มากกว่าที่ผมยกตัวอย่างอยู่แล้ว

แต่ต่อให้ เป็นจริงที่วา บ.ก.กลัวจนไม่กล้าเอาบทความนิธิที่มีคำว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้..."

แล้วไง?

ต่อให้ บ.ก.เซนเซอร์ บางส่วนหรือกระทั่งทั้งบทความของนิธิ เขาย่อมสามารถเผยแพร่ทางอื่นๆได้ง่ายๆอยู่แล้ว

การเขียนแบบที่เขียน จึงเป็นการเขียนที่ไร้ข้อแก้ตัวใดๆ (ยกเว้นแต่ความจริงคือนิธิ ไม่รู้ว่า รัฐประหารครั้งนี้ ผิดหรือถูก จำเป็นหรือไม่จำเป็น จริงๆ)

ถ้าข้อความแรก ยากจะแก้ตัวได้ ข้อความที่ตามมา ยิ่งไม่อาจแก้ตัวเลย

"สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว"

(ในแถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน ที่นิธิ (และคนอื่นๆในม.เที่ยงคืน) "ซ่อนตัว" อยู่ ไม่ยอมลงชื่อ ก็เขียนทำนองนี้ว่า "แม้เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้แล้ว")

ผมขอถามว่า จะให้หมายความว่าอย่างไร?

จะให้หมายความว่า "ไหนๆก็รัฐประหารไปแล้ว คัดค้านไปก็ไม่มีประโยชน์" หรือ?

นิธิ (และม.เที่ยงคืน) มีวิธีคิดโง่เขลาเช่นนี้จริงๆ?

ถ้าเช่นนั้น แทบจะทุกๆอย่างที่นิธิเคยเขียน ไม่ทราบว่าเขียนไปทำไม? เพราะล้วนแต่เขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเรื่องการด่านักการเมือง-รัฐบาลเลือกตั้ง

ผมไม่เคยเห็นนิธิเขียนทำนองนีว่า "สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว ก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว" (คอรัปชั่น, มาตรการปิดกั้นเสรีภาพ, นโยบายยาเสพย์ติด ฯลฯ ฯลฯ)

ในที่สุดแล้ว ถ้าจะอธิบายว่า บทความในมติชนของนิธิ คงไม่สามารถคาดหวังให้มีอะไรมากได้ เพราะเขียนให้ลง นสพ.รายวัน ซึ่งเราทุกคนรู้ว่า ยิ่งในวันแรกๆของการยึดอำนาจ โอกาสที่ นสพ.จะใช้ท่าที "ปลอดภัยไว้ก่อน" มีสูงมาก

ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้านิธิเขียนอะไรที่ดู "แรง" ในสายตาของนสพ. อาจจะไม่ได้ลงเลยก็ได้

แล้วทำไม?

ไม่ลงก็ไม่ลง เผยแพร่ทางอื่นก็ได้ นิธิคงไม่กลัวเรื่องจะเสียค่าเรื่องสัปดาห์เดียวถ้าไม่ได้ลงกระมัง?

ที่สำคัญ ต้องถาม อย่างที่ผมถามไปตั้งแต่วันแรกว่า

ทำไมจึงไม่มีแถลงการณ์ในนามนิธิ ว่า "ขอดัดค้านประณามการรัฐประหารครั้งนี้"

เมื่อเปรียบเทียบกับ การออกแถลงการณ์ในนามนิธิ นับครั้งไม่ถ้วน ที่ประณามคัดค้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเรียกร้องเช่นนี้เป็นสิ่งมากเกินไปเชียวหรือ?

ต่อให้นิธิกลัวมากขนาด ไม่กล้าใช้ชื่อของตัวเอง (อย่างที่ใช้ในการด่านักการเมือง) ก็ย่อมสามารถ "ซ่อนตัว" อยู่ใน "ชื่อรวมหมู่" อย่าง ม.เที่ยงคืน แล้วออกแถลงการณ์ "ประณามคัดค้านการรัฐประหาร" ครังนี้ได้ (ผมได้ชี้ให้เห็นความ "กล้าหาญ" ของ ม.เที่ยงคืนไปแล้ว ว่าออกแถลงการณ์ทั้งฉบับ ไม่กล้าแม้แต่จะใช้คำว่า "คัดค้าน" "ประณาม" "ไม่เห็นด้วย" ได้แต่ใช้คำว่า "ปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร")

ตัวอย่างที่ "เด็กๆ" หลายๆกลุ่ม (ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่านิธิไม่รู้กี่ล้านเท่า ไม่มี protection อะไรเลย) ออกแถลงการณ์ กระทั่งชุมนุม นัดชุมนุม "ประณามคัดค้าน" รัฐประหารครั้งนี้ ในรอบหลายวันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำ

แต่ต่อให้ไม่มีตัวอย่าง "เด็กๆ" เหล่านี้ คนอย่างนิธิต้อง "รอ" ให้เด็ก แสดงตัวอย่างให้ดูก่อนหรือ?

เอาละ สมมุติว่า นิธิรู้สึกว่า "เสี่ยง" เกินกว่าจะเขียนอะไรที่เป็นเชิงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้เลย ไม่ว่าในรูปบทความ นสพ.รายวัน หรือ แถลงการณ์ในนามตัวเองหรือในนามกลุ่ม

มีอยู่อย่างหนึ่ง ที่นิธิสามารถเขียนเชิงวิจารณ์ได้แน่ๆ คือตัวนิธิเองนั่นแหละ

นิธิสามารถเขียนทำนองนี้ได้แน่ๆ :

"ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเขียนบทความโจมตีรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรุนแรง ... ณ วินาทีนี้ ผมตระหนักว่า การโจมตีดังกล่าว ขาดมุมมองที่เหมาะสม (proper perspective) ที่วา รัฐบาลและนักการเมืองเหล่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะ "เลว" อย่างไร อย่างน้อยยังสามารถให้เราโจมตีได้ ซึ่งตรงข้ามกับในขณะนี้"


นิธิตั้งชื่อบทความของตัวเองวันนี้ว่า "บทความที่ไม่มีชื่อ" ความจริง สิ่งที่บทความนั้น (และคนเขียนบทความนั้น) ไม่มี ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ