Tuesday, September 26, 2006

ความรุนแรงของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

(27 กันยายน 2549)



ใครที่อยู่หรือติดตามความเคลื่อนไหวในวงวิชาการทั้งในไทยและตะวันตกในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา หรือไม่เพียงแต่ในวงวิชาการ แต่รวมถึงแม้กระทั่งวงการรัฐบาล งานประเภทสังคมสงเคราะห์ และ ngo ต่างๆ ย่อมยากจะไม่ทราบว่า มีความพยายามที่จะ "ขยายคำนิยาม" คำหรือจินตภาพ (concepts) จำนวนมาก ที่ก่อนหน้านั้น เคยมีความหมายอย่างจำกัด เช่น คำหรือ concepts ประเภท "การลวนลามทางเพศ" (sexual harrasment), "การทารุณเด็ก" (child abuse) เป็นต้น ให้มีความหมายหรือ "นิยาม" ที่กว้างขึ้น

ในบรรดาคำหรือ concepts ที่มีการพยายามขยายความหมายนี้ คำว่า "ความรุนแรง" จัดว่าเป็นคำหรือ concept ที่เด่นที่สุดคำหนึ่ง

ในอดีต คำนี้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ "ความรุนแรงทางกายภาพ" (physical violence) คือการใช้กำลัง (physical force) ต่อกัน เช่น ตบตี ชกต่อย ไปจนถึงฆ่ากันด้วยอาวุธ นักวิชาการและวงการรัฐบาลสมัยใหม่ ได้พยายามขยายความหมายคำนี้ออกไป ให้รวมถึงรูปแบบอื่นๆที่แม้จะไม่ใช่การใช้กำลัง แต่กล่าวกันว่า มีผลเหมือนๆกัน เช่น "ความรุนแรง" ทางวาจา (verbal violence) หรือกระทั่ง (นี่เป็นคำ favorite ในหมู่ผู้พยายามขยายนิยาม) "ความรุนแรง" ทางโครงสร้าง (คือ "โครงสร้าง" สังคม มีลักษณะหรือทำให้เกิดความ "รุนแรง" ต่อสมาชิก) ฯลฯ

โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ต้องสัมพันธ์หรือเข้าถึงสิ่ง (things) ต่างๆ โดยผ่านตัวกลาง (mediation) และตัวกลางนี้ (ที่สำคัญคือ ภาษา (language) และ จินตภาพ (concepts) ต่างๆ) ไม่ได้อยู่ในลักษณะ "ติด" กับสิ่งต่างๆมาโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องทีคนในสังคม ตกลงร่วมกันที่จะ "ผูก" คำหรือ concepts ใด เข้ากับสิ่งใด โดยมีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามเวลา หรือในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะมีความแตกต่างภายในกลุ่มคนที่ต้องการ "ผูก" หรือเชื่อมโยงคำหรือ concepts ทีต่างกัน เข้ากับสิ่งเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำการ พูดคุยเจรจา ต่อรองตกลง ไปถึงรณรงค์ ต่อสู้ ฯลฯ ในหมู่ผู้คนในสังคม

นี่คือกระบวนการพยายามขยายคำนิยาม หรือ จำกัดการขยายคำนิยาม ดังกล่าวข้างต้น

ในกรณีคำหรือ concept เรื่องความรุนแรงนั้น นอกจากการต่อสู้ขัดแย้งเรื่องควรขยายความหมายของคำนี้ ให้ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ทางคำพูด, ทาง "โครงสร้าง" ฯลฯ มากน้อยแค่ไหนแล้ว กล่าวได้ว่า แทบไม่มีใครคิดจะย้อนรอย กลับไปจำกัดความหมายหรือนิยามเดิมที่มีอยู่ช้านานแล้ว ("ความรุนแรงคือการใช้กำลัง/อาวุธ") ให้ลดลง

จึงเป็นเรื่องยิ่งกว่า irony (ตลกร้าย) เสียอีกที่คนอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่สร้างชื่อเสียงตัวเองเป็น "นักสันติวิธี" และมีบทบาทในการโฆษณาขยายความหมายของคำหรือ concept เรื่อง "ความรุนแรง" ในลักษณะพยายามให้ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" กลับมาบอกใครต่อใครเสียเองว่า การรัฐประหารยึดอำนาจด้วยอาวุธครั้งนี้ ทำไปอย่างไม่รุนแรง (staged non-violently)

การที่จนวันนี้ยังไม่มีใครเลือดตกยางออก ยังไม่มีใครโดนยิงด้วยลูกกระสุนหรือฟาดด้วยพานท้ายปืนของทหารคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เหตุผลแม้แต่น้อยที่จะบอกว่า นี่เป็น "การยึดอำนาจที่ทำไปอย่างไม่รุนแรง"

การเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครันเข้ายึดที่ต่างๆในกรุงเทพ และบังคับให้สื่อมวลชนต้องออกกระจายเสียงตาม อันที่จริงคือ บังคับทำลายทุกๆอย่าง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง?

ชัยวัฒน์ คิดว่าที่พวกนี้ทำสำเร็จได้เพราะอะไร? ไม่ใช่เพราะความรุนแรงที่ใช้ไปแล้วเหล่านี้ และความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอีก ที่พวกเขาขู่ให้คนรู้ว่าพร้อมจะใช้หรอกหรือ?

มีใครที่ยังสติดี ที่กล้าพูดว่า ถ้าในวันที่ 19 หรือวันต่อๆมา หรือต่อๆไป หากมีประชาชนแสดงการต่อต้านขัดขืนการยึดอำนาจ (เดินขบวนไปปิดล้อม ขวางทางทหาร รถถัง ฯลฯ) ทหารเหล่านั้นจะไม่เหนี่ยวไก หรือฟาดประชาชนเหล่าน้นด้วยพานท้ายปืน?

อันที่จริง ผมสงสัยว่า ถ้านี่เป็นการกระทำที่ "ไม่รุนแรง" จริงๆ คนอย่างชัยวัฒน์ คงไม่พูดอะไรที่งี่เง่าออกมาอย่างนี้แน่

ใครๆก็รู้ว่า ที่บรรดานักวิชาการเปลี่ยนจากปากกล้าต่อนักการเมือง กลายเป็น อ่อนน้อมประนีประนอมกับกล่มอำนาจใหม่ ก็เพราะกลุ่มหลังนี้ได้ใช้วิธีการรุนแรงไปแล้ว และแสดงให้ทุกคนรู้ว่า พร้อมจะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก ถ้ามีคนไม่ยอมทำตามในระดับที่พวกเขาเห็นว่ารับไม่ได้




(ปล. โดยส่วนตัวผมไม่ใช่ผุ้ที่ฝรั่งเรียกกันว่า pacifist และไม่เคยเห็นว่าการโฆษณาเรื่อง "สันติวิธี" ของชัยวัฒน์ ในหลายปีที่ผ่าน และใครต่อใครออกมาแสดงความชื่นชมนักหนานั้น เป็นเรื่องดีอะไร เพราะการโฆษณานี้ มีลักษณะของการ "มอมเมา" หรือ "หลอกคน" อยู่ในตัว ในเชิง "ละเว้นไม่ยอมพูดบางเรื่องอย่างถึงราก" (radical exception) เพราะแท้จริงแล้วคุณไม่กล้าที่จะ "พูดสันติวิธี" กับบางพวกที่ใช้ความรุนแรงทีสำคัญจริงๆ ("คุณกล้าพูดอย่างเปิดเผยว่าใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรง 6 ตุลา?" หรือ "คุณกล้ารณรงค์โดยสนติวิธี ("อารยะขัดขืน") ให้ลงโทษ - แค่วิจารณ์ก็ได้ - คนบางคนจริงๆ?" เป็นต้น) แต่ผมก็นึกไม่ถึงว่า ชัยวัฒน์ จะไปไกล หรือ "ลงต่ำ" ได้ขนาดนี้)