Tuesday, October 10, 2006

ว่าด้วยกรณี นิธิ รับใช้ทางการเมืองต่อการรัฐประหาร อีกครั้ง

(10 ตุลาคม 2549)



(สืบเนื่องจาก กระทู้นี้ และ กระทู้นี้)


ความจริง ผมไม่รู้สึกว่าที่มีการเขียนแสดงความเห็นต่อกระทู้เรื่อง "นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหาร" ของผม ส่วนใหญ่ (ดูที่ประชาไท) มีอะไรที่ต้องตอบโต้อภิปราย แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดซ้ำๆ และอาจจะเป็นประโยชน์หากผมจะพูดอะไรสัก 2-3 คำในที่นี้ คือเรื่องที่กล่าวว่า บทความของผม "มีแต่ด่า ไม่มีประเด็น"

อันที่จริง คนที่เขียนเช่นนี้ถ้าไม่ใช่เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก ก็ต้องหัวทึบขนาดหนัก แต่เพื่อเป็นการทำทานให้โอกาสกับพวกเขาบ้าง ผมขออนุญาต repeat "ประเด็น" หรือการให้เหตุผล (arguments) ที่ผมเสนอในบทความนั้นสั้นๆ ง่ายๆ ดังนี้

1. ขณะที่ไม่ยอมประกาศ, เรียกร้อง หรือ เสนอ ให้ "สู้" กับการรัฐประหาร .....

นิธิกลับประกาศ, เรียกร้อง และเสนอ ให้ "สู้" กับสิ่งที่เขาเรียกว่า "ประชานิยมจอมปลอม" ของ รัฐบาลเลือกตั้ง

2. ขณะที่ไม่ยอมอภิปราย หรือเสนอว่า ควรทำอย่างไร จึงจะป้องกันไม่ให้ พวกรัฐประหาร (ไม่ใช่ทหารเท่านั้น แต่คนที่หนุนอยู่ด้วย) "กลับมารวบอำนาจ" ด้วยอาวุธได้อีกในอนาคต .....

นิธิกลับอภิปราย เสนอ (อันที่จริง คือ เสนอ-ชักชวนต่อคณะรัฐประหารเอง) ให้หาวิธีป้องกันไม่ให้ทักษิณ "กลับมารวบอำนาจ" อีกในอนาคต

ขอถามว่า การเขียนเช่นนี้ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นการรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหาร แล้วควรเรียกว่าอะไร?

ความงี่เง่า ไร้สติ ไม่รู้จักคิด หรือ?

(หรือจะให้เรียกทั้ง 2 อย่าง?)

Monday, October 09, 2006

นี่คือสิ่งที่นิธิบอกคนอ่านวันนี้ : "รัฐประหารเรื่องเล็ก เรามาด่านักการเมืองต่อกันเถอะ"

(9 ตุลาคม 2549)



(สืบเนื่องจาก กระทู้ก่อนหน้านี้)


ในทางการเมืองและทางปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่ นิธิ บอกคนอ่านมติชนวันนี้ :

"รัฐประหารเหรอ? เรื่องเล็ก เรามาด่านักการเมืองต่อกันเถอะ"

"เรามาช่วยกันคิดว่า ทำยังไงจะไม่ให้ไอ้พวกนักการเมืองพวกนั้นมันกลับมาใหม่"

"อ้อ! คณะรัฐประหาร กับ รัฐบาลที่คณะรัฐประหาร ตั้งขึ้น น่ะเหรอ?"

"ไม่เป็นไรๆ ก็มาช่วยกันคิดได้..."

"มาๆ มาช่วยกันคิดว่าจะทำยังไง ไม่ให้ไอ้พวกนักการเมืองจอมปลอม มันกลับมาอีก..."

"รัฐประหารเหรอ? ... เรื่องเล็กๆ (ยังไงก็เกิดไปแล้ว ผมบอกแต่แรกแล้วไม่ใช่เหรอ)...ไว้วันหลังค่อยคุยกัน.. เรื่องเล็กๆ..."

มีอะไรที่ "จอมปลอม" ยิ่งกว่านี้?


(โปรดอ่านกระทู้ต่อเนื่องได้ ที่นี่)

Sunday, October 08, 2006

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหาร

(9 ตุลาคม 2549)



ในสมัยรัฐบาลทักษิณและนักการเมืองเลือกตั้ง การวิจารณ์ของนักวิชาการอย่างรุนแรงต่อคนเหล่านี้ ("ระบอบทักษิณ", "นักเลือกตั้ง" ฯลฯ) โดยไม่ยอมเอ่ยถึงกลุ่มอำนาจดำมืดอื่นๆ เป็นสิ่งที่ควรวิพากษ์ ยิ่งถ้าการวิจารณ์กลุ่มแรกอย่างรุนแรง ทำไปควบคู่กับการอ่อนข้อ หรือวาดภาพสวยงามให้กับกลุ่มหลัง ก็ยิ่งต้องประณามคัดค้าน

แต่ตราบเท่าที่ไม่ถึงขั้นสร้างภาพสวยงามให้กับกลุ่มอำนาจดำมืดอื่นๆ การวิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองเลือกตั้ง โดยไม่พูดถึงกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะสุดขั้ว ขาดสัดส่วนมุมมองที่ถูกต้อง อย่างไร ก็ยังอาจจะแก้ตัวได้ (และยังอาจจะพอ "เข้าใจได้") เพราะกลุ่มนักการเมืองคือผู้ครองอำนาจอยู่ จึงวิจารณ์แต่กลุ่มนี้ (ความจริง การครองอำนาจของนักการเมืองไม่ใช่การครองอำนาจทั้งหมด และไม่ใช่ส่วนที่สำคัญมากของอำนาจรัฐคือกำลังจัดตั้งติดอาวุธและบางส่วนอื่นอีก ดังเหตุการณ์รัฐประหารได้พิสูจน์ให้เห็น)

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร ใช้อาวุธและความรุนแรงเข้าข่มขืนการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลสมุนขึ้น การเขียนวิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองเลือกตั้งที่ล้มไปแล้ว โดยไม่ยอมวิจารณ์หรือแตะต้องพวกข่มขืนทางการเมืองด้วยเลย เป็นการแสดงความขี้ขลาดตาขาว ฉวยโอกาส ทางการเมือง สะท้อนความเป็นนักวิชาการประชาธิปไตยจอมปลอม

การวิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ในลักษณะที่เป็นข้อแก้ตัวให้กับการทำรัฐประหาร แบบที่เสน่ห์ หรือ ชัยวัฒน์ ทำ ("รัฐบาลทักษิณฉีกรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตยไปนานแล้ว การรัฐประหารจึงไม่อาจนับได้ว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตย") แม้จะตามด้วยคำพูดแบบอ่อยๆว่า "แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารนะ" เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจแบบข่มขืนการเมือง เป็นเรื่องที่ควรถูกประณาม

ใน มติชน วันนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความที่ในทางการเมือง แย่ยิ่งกว่าการกระท่าที่เพิ่งกล่าวไปนี้ (ของเสน่ห์และชัยวัฒน์) คือ ไมเพียงแต่ไม่มีคำประเภท "ผมไม่เห็นด้วย" "ผมขอประนามคัดค้าน" หรือ ไม่มีถ้อยคำเชิงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้นแม้แต่คำเดียว ต่อการรัฐประหาร เท่านั้น หากนิธิยังเขียนให้เกิดภาพลวงว่าคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุนที่ตั้งขึ้น มีความชอบธรรม ที่จะจัดการกับ "ปัญหา" (ความ "จอมปลอม") ของรัฐบาลทักษิณ

ในบทความนี้ นิธิได้ประณามทักษิณว่าเป็น "ประชานิยมจอมปลอม" ...

แต่ไหนล่ะคำวิจารณ์-ประณามประเภทเดียวกันนี้กับคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุน?

นอกเหนือจากความขี้ขลาด ไม่กล้าใช้คำหรือภาษาแบบเดียวกันนี้กับผู้ถือปืนข่มขืนทางการเมืองแล้ว นิธิกำลังมอมเมาคนอ่านให้คล้อยตามในด้านกลับว่า พวกหลังคือพวก "ตัวจริง"

แต่แท้จริงแล้ว พวกยึดอำนาจปัจจุบ้นนี้เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ "จอมปลอม" ("ปฏิรูป" จอมปลอม และอื่นๆแทบทุกเรื่อง จอมปลอม)?

นอกจากช่วยประณามรัฐบาลเลือกตั้ง แทนให้กับคณะรัฐประหาร เช่นนี้แล้ว นิธิยังได้แนะนำรัฐบาลสมุนคณะรัฐประหารว่า ควรทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการ "เปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบคุณทักษิณกลับเข้ามารวบอำนาจใหม่"

แต่ไหนล่ะข้อเสนอไม่ให้คนอย่างนักข่มขืนอำนาจรัฐด้วยอาวุธและรัฐบาลสมุน "กลับเข้ามารวบอำนาจใหม่"?

การเขียนเช่นนี้ เท่ากับว่า พวกคณะรัฐประหารที่ใช้อาวุธและความรุนแรงเข้ามา มีความชอบธรรมยิ่งเสียกว่ารัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามา ( คือเป็นพวกที่ควรจะมาจัดการกับความ "จอมปลอม" ของรัฐบาลเลือกตั้งได้ และการไม่มีข้อเสนอว่า ทำอย่างไรจึงจะ ไม่ให้พวกนี้เองกลับเข้ามาอีก แปลว่า อะไร? แปลว่า ถ้ามี "นักการเมืองอย่างทักษิณ" กลับมา พวกหลังนี้ ก็ชอบธรรมที่จะกลับมาได้อีก?)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เพิ่งเกิดการรัฐประหารไปไม่กี่วัน และคณะรัฐประหารพยายามสร้างความชอบธรรมหลอกลวงคนด้วยการตั้ง "รัฐบาลพลเรือน" "รัฐบาลชั่วคราว" ขึ้น บทความของนิธินี้ คือการรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุน


ผมขอเรียกร้องต่อ "ฟ้าเดียวกัน" ว่า หากยังยืนยันเป็นกลุ่มผู้ทำหนังสือที่รักประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักการ อย่างแท้จริงแล้ว ขอให้ทำหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงต่อบทความนี้ไปยังนิธิ และต่อนักวิชาการกลุ่ม ม.เที่ยงคืนคนอื่นๆที่ล้อมรอบและ identify ตัวเองกับนิธิ (อรรถจักร, สมชาย ฯลฯ) แบบเดียวกับที่เคยทำต่อ เสน่ห์ จามริก


(โปรดอ่านกระทู้ต่อเนื่องได้ ที่นี่ และ ที่นี่)

สัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ที่ open online

(8 ตุลาคม 2549)



ผมอ่านสัมภาษณ์ เกษียร (พร้อม ชัยวัฒน์) ที่กำลังเผยแพร่อยู่ที่ open online ในขณะนี้

ผมมีปัญหากับ 2 ย่อหน้านี้อย่างรุนแรง
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: โดยหลักการ ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ป้องกันสถาบันกษัตริย์ไว้จากความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการจำกัดอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์แต่ดั้งเดิมของสถาบันลงไว้ภายใต้กฎหมาย ยึดถือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และการออกกฎหมายเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งอำนาจดังกล่าวนั้น สถาบันกษัตริย์ได้รับการยกย่องเทิดทูนและปกป้องคุ้มครองในฐานะประมุขรัฐ เปรียบประดุจเทพารักษ์ปกปักรักษาชาติบ้านเมือง

ทว่าลักษณะพิเศษของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันคือทรงไว้ซึ่งพระบารมีที่เพียรบำเพ็ญสั่งสมจากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา ศาสนา วัฒนธรรม ความมั่นคงและอื่น ๆ มาตลอด 60 ปี ทำให้สังคมไทยเชื่อถือศรัทธาพระองค์มากไปกว่าเทพารักษ์ คือทั้งยึดมั่นและคาดหวังพระราชอำนาจนำ (royal hegemony) ของพระองค์ในกิจการด้านต่าง ๆ ของบ้านเมือง บ่อยครั้งเมื่อสังคมไทยเจอโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก ก็รู้สึกว่าต้องกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์มาทรงแก้ พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ขอพระราชทานพระราชอำนาจนำในลักษณะสัมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ (ad hoc absolutism) มาเคลียร์ปัญหาให้ลุล่วงเรียบร้อย ทุกวันนี้ก็ยังคาดหวังจะให้พระองค์มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ตลอด เพราะเชื่อมั่นศรัทธาในความเป็นธรรมราชาของพระองค์อย่างชนิดที่ไม่เชื่อในผู้นำอื่นใด
ย่อหน้าที่ 1 บรรทัดแรกๆ พอจะยอมรับกันได้ว่า บรรยาย "หลักการ" ของ constitutional monarchy อย่างที่ปฏิบัติกันในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ได้ใกล้เคียง แต่ประโยคสุดท้าย "สถาบันกษัตริย์ได้รับการยกย่องเทิดทูนและปกป้องคุ้มครองในฐานะประมุขรัฐ เปรียบประดุจเทพารักษ์ปกปักรักษาชาติบ้านเมือง" เกษียรต้องรู้ว่า ไม่เป็นความจริง สำหรับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่มีกษัตริย์เป็นประมุข (แค่นึกถึงกษัตริย์อังกฤษก็พอ) การใช้อุปลักษณ์เรื่อง "เทพารักษ์" (ศาลพระภูมิ?) ก็ไม่เหมาะสม ไม่เป็นความจริง ที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ และหลักการ contitutional monarchy อย่างที่เข้าใจในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่

ย่อหน้าที่ 2 ถ้าพูดโดยชาวบ้านที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอะไร ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าพูดโดยคนระดับเกษียร ต้องบอกว่า นี่เป็นการพูดแบบดูถูกภูมิปัญญาคนอ่าน เป็นการพูดแบบหลอกเด็ก เมื่อมาพิจารณาว่า การสัมภาษณ์นี้ เกิดขึ้นหลังรัฐประหารไม่กี่วัน ต้องบอกว่า เป็นการพูดที่ขาดความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และแสดงลักษณะขลาดกลัวอย่างสุดๆ การที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น เกษียร ร่วมลงชื่อ "คัดค้าน ม.7" เป็นเพียงการหลอกคนเล่นๆเท่านั้น

ทีน่าผิดหวังมากอีกประการหนึ่งคือทีมผู้สัมภาษณ์ ผมไม่ทราบว่า "ทีมวิจัยการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง" ของ open online คืออะไร แต่ดูรายชื่อผู้ทำการสัมภาษณ์บางคนแล้ว บอกตรงๆว่า ผิดหวัง ที่ปล่อยให้การสัมภาษณ์ที่น่าจะสำคัญ ในบริบทของเหตุการณ์ที่สำคัญ ออกมาในลักษณะเช่นนี้ การสัมภาษณ์ที่มีความหมายอะไรจริงๆ ผู้สัมภาษณ์ต้องกล้าที่จะท้าทายผู้ให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่นั่งฟังเหมือนฟังพระเทศน์
....บ่อยครั้งเมื่อสังคมไทยเจอโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก ก็รู้สึกว่าต้องกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์มาทรงแก้....
ไม่ทราบว่าประโยคเช่นนี้ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง?

6 ตุลา ?

คำสัมภาษณ์นี้ทำขึ้นในวันที่ 28 กันยา คือราว 1 สัปดาห์ ก่อน 30 ปี 6 ตุลา และเผยแพร่ในช่วง 30 ปี 6 ตุลา พอดี

speaking of 'bad timing' or, rather, BAD TASTE

(หรือจะให้ยกกรณีอื่น? how about "ระบอบสฤษดิ์"?)

Monday, October 02, 2006

ท่าทีล่าสุดของ ใจ อึ๊งภากรณ์ และ ม.เที่ยงคืน

(2 ตุลาคม 2549)



ประชาไท รายงานข่าว ท่าทีล่าสุดของ ใจ อึ๊งภากรณ์ (อ่านที่นี่ และอ่านแถลงการณ์ในนาม "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" ที่นี่)

ใจ เรียกร้องว่า "เราต้องการรัฐธรรมนูญปี ๔๐ กลับมาทันที" อันนี้ก็เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ที่ผมว่าน่าสนใจ (และน่าตลกในแง่หนึ่ง) คือ ถ้าเอา รธน.40 "กลับมาทันที" ก็หมายความ ต้องยอมรับให้เอาทักษิณกลับมาเป็นนายกฯทันทีเช่นกัน แต่ แม้กระทั่งในการชุมนุมที่สยามพารากอน เมื่อสัปดาห์ก่อน กลุ่มของใจ ก็ยังชูป้ายว่า "ทักษิณออกไป" (Thaksin Get Out!)

ดังที่ผมเคยเขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้, ท่าทีของใจ และ นักวิชการ-แอ๊กติวิสต์ "2 ไม่เอา" (ไม่เอานายกฯแต่งตั้งพระราชทาน, ไม่เอาทักษิณ) เป็นท่าทีที่ขัดแย้งกันเอง (ยืนยันว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พอทักษิณ ได้รับการเลือกตั้ง ทันที ก็ชูป้าย "ทักษิณออกไป")

ปัญหาของปัญญาชน นักวิชาการ แอ๊กติวิสต์ เหล่านี้ คืออย่างนี้แหละ ที่ทำให้จะไปสู้อะไรกับเขาก็ลำบาก และตกเป็น "พันธมิตร" กับพวกที่ตัวเองคัดค้านโดยไม่ตั้งใจ


ส่วน ม.เที่ยงคืน มีท่าทีล่าสุด คำสัมภาษณ์เกี่ยวกับการปิดเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน ของ สมเกียรติ ตั้งนโม (อ่านที่นี่) และการอภิปรายที่ธรรมศาสตร์เรื่อง "นิติรัฐกับการรัฐประหาร" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล (ดูรายงานข่าวที่นี่)ผมอ่านแล้ว อดรู้สึกเศร้าใจไม่ได้

ความจริงอันสำคัญมากที่ 2 นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมพูด คือ แท้ที่จริง แล้ว ม.เที่ยงคืน ไม่ได้ "ประนามคัดค้าน" การรัฐประหาร (เพราะถือว่า "เป็นอะไรบางอย่างที่ผ่านไปแล้ว ย้อนคืนไม่ได้") ที่พวกเขาคัดค้านจริงๆ คือ "วิธีการปฏิรูป - ร่าง รธน." ของ คปค. (อ่านความเห็นของผมในเรื่องนี้ก่อนหน้านี้ที่นี่) แต่ถ้ารใครอ่านเฉพาะสัมภาษณ์ของสมเกียรติ หรือรายงานข่าวการอภิปรายของสมชาย อาจจะคิดว่า พวกเขากำลัง "ประนามต่อต้าน" การรัฐประหารอยู่จริงๆ

ผมว่าน่าเศร้า ที่นักวิชการ ไม่มีความกล้าหาญจะพูดท่าทีของตนตรงๆ และจงใจทำให้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขว