Saturday, July 21, 2007

"อัปรีย์ไป จัญไรมา", ABx และ ฮิตเล่อร์ : วิวาทะกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์

(17-25 มีนาคม 2550)



หมายเหตุ : กลางเดือนมีนาคม 2550 กลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ได้ตีพิมพ์จดหมายข่าว ขัดขืน ฉบับที่ 2 (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนที่พวกเขาจัดขึ้น ไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อประท้วง เปรม ติณสูลานนท์ ผมได้แสดงความเห็นแย้งต่อบทนำของ ขัดขืน ฉบับดังกล่าว ที่มีชื่อว่า "อัปรีย์ไป จัญไรมา" หลังจากนั้น ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้เขียนแสดงความเห็นแย้ง และผมได้เขียนตอบกลับ อันนำไปสู่การ "วิวาทะ" ในปัญหาท่าทีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะทักษิณ) และกลุ่มอำนาจอื่นๆ มีผู้อื่นมาร่วมแสดงความเห็นสนับสนุนและโต้แย้งด้วยหลายคน ข้างล่างนี้ ผมนำมาโพสต์ใหม่เฉพาะส่วนที่ผมและภัควดีเขียน สนใจดูกระทู้และความเห็นโต้แย้งทั้งหมดได้ตามลำดับ ทีนี่, ที่นี่, ทีนี่, ที่นี่, ที่นี่ และ ที่นี่

..................................


ว่าด้วย คำขวัญ "อัปรีย์ไป จัญไรมา" ของ ขัดขืน ฉบับนี้
(17 มีนาคม 2550)

ผมขอเสนอสั้นๆว่า คำขวัญนี้ แม้จะฟังดู "มันส์ดี" แต่ในทางการเมือง ไมค่อยดีนัก
ผมไม่จำเป็นต้องกลับไปที่ประเด็นเรื่อง "2 ไม่เอา" อีก
เอาเฉพาะหน้า ผมไม่คิดว่า เป็นเรื่องดีที่จะให้ประชาชนรู้สึกว่า "การเมืองไม่ว่าพวกไหนๆก็มีแต่อัปรีย์จัญไรทั้งนั้น"
เพราะถ้างั้น จะเรียกร้องให้เข้าร่วมกันโค่นระบอบรัฐประหารทำไม?
เพราะเดี๋ยว (พูดแบบกลับกัน) พวก "จัญไร" นี้ออกไป ก็จะกลับไปสู่ พวก "อัปรีย์" อีก...
ในที่สุด ความรู้สึกแบบทีว่า ยังไงๆการเมือง ก็มีแต่เรื่องเลวๆ มีแต่เรื่อง "อัปรีย์จัญไร" ไม่ว่าพวกไหนๆ
ความรุ้สึกแบบนี เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่เล่นการเมือง แต่อ้างว่าไม่ได้กำลังเล่นการเมือง



ภัควดี
(18 มีนาคม 2550)

ความจริงภัคก็อยาก “ถกเถียง” เรื่องนี้กับ อ.สมศักดิ์มานาน แต่ก็พยายามหักห้ามใจตัวเองตลอด เพราะไม่แน่ใจว่าสามารถผูกมัดตัวเองที่จะถกเถียงกันได้นาน ๆ หรือไม่ หนนี้อดใจไม่ไหว ขอแสดงความคิดเห็นสักนิดหน่อยค่ะ นี่ก็เป็นความคิดเห็นของคนที่ไม่ใช่นักวิชาการนะคะ ขอพูดแบบคนบ้าน ๆ หรือลูกทุ่ง ๆ ก็แล้วกัน

ตรรกะของอาจารย์ที่ว่า ถ้าไม่สนับสนุนทักษิณ ก็เท่ากับสนับสนุนการรัฐประหารโดยปริยาย ถ้าบอกว่านักการเมืองเลวหมด ก็เท่ากับเข้าทางของคนที่เปลือกนอกบอกไม่เล่นการเมือง แต่จริง ๆ แล้วเล่น (ภัคอาจสรุปข้อถกเถียงของอาจารย์จนหยาบ ๆ ไปบ้าง)

ประการแรก ภัคคิดว่าตรรกะของอาจารย์นั้นใช้ได้ในโลกของความคิดเท่านั้น แต่ในโลกของความเป็นจริง ตัวแปรมันมีมากมาย และไม่มีทางไปจำกัดกะเกณฑ์ได้ว่า ทางเลือกในโลกมันมีอยู่แค่สองทางเท่านั้น มันก็เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย มันไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบเลือกตั้งเสียงข้างมากอย่างเดียว คนเรามีชีวิต มันก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน แสวงหาหนทางสายใหม่ตลอดเวลา กลุ่มคนที่เขาไม่เอาทักษิณและไม่เอารัฐประหาร มันก็เป็นเส้นทางอีกสายหนึ่ง ที่จะว่าไปแล้วก็เป็นเส้นทางของคนส่วนน้อยในสังคมไทย (อย่าว่าแต่ในกลุ่มนี้ก็ยังมีหลากหลายความคิด เช่นเดียวกับในกลุ่มใหญ่อื่น ๆ) อาจารย์จะไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มที่ 3, 4, 5, 6.... บ้างเลยหรือคะ ตรรกะในความคิดของอาจารย์เท่านั้นเองที่กำหนดว่า มันมีคนอยู่แค่สองกลุ่ม และถ้าโลกความเป็นจริงมันเป็นอย่างตรรกะในความคิดของอาจารย์ โลกมันคงไม่น่าอยู่มาก เพราะมันไม่เหลือพื้นที่ให้คนกลุ่มน้อยอยู่อีกเลย

ภัคว่าคนเรามีชีวิตอยู่ ก็อยู่ด้วยความหวัง ถึงจะรู้ว่ามันไม่มีทางเป็นจริงในชีวิตนี้ แต่ถ้าอยู่โดยไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ภัคก็ไม่รู้ว่าเราจะเป็นปัญญาชนหรือสนใจปัญหาสังคมไปทำไม ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใครจะรัฐประหาร ทักษิณจะเป็นนายกฯ หรือไม่เป็น ชินคอร์ปจะถูก สนง.ทรัพย์สินฮุบไปหรือไม่ FTA จะเซ็นหรือเปล่า ฯลฯ เราจะสนไปทำไม ก็ทำมาหากินไปวัน ๆ ไม่ดีกว่าหรือคะ ถ้าเราเชื่อว่านักการเมืองมันเลวหมด ระบอบเลือกตั้งนี้ใช้ไม่ได้ แต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวหนีเสือปะจระเข้ ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องหุบปากปล่อยให้เสือขบ เพียงเพื่อไม่ต้องวิ่งหนีไปโดนจระเข้ฟัด สุดท้ายมันก็ตายทั้งสองทาง ถ้าอย่างนั้นก็พูดอย่างสำนวนจีนว่า “มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า” วิธีคิดของอาจารย์มันเหมือนบอกว่า ถ้าเอ็งร้องแรกแหกกระเชอว่า เฮ้ย มาทางนี้เสือขบนะ มันจะทำให้คนอื่น ๆ วิ่งไปให้จระเข้ฟัด ซึ่งเท่ากับเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของคนที่ดันเจือกโวยวายขึ้นมา ทำไมไม่ปล่อยให้ทุกคนถูกเสือขบไปเนียน ๆ มันก็จริงครึ่งหนึ่งค่ะ ถ้าเราต้อนคนจากเสือไปให้จระเข้ฟัดโดยไม่บอก อย่างนี้ก็ถือว่าผิดครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราตะโกนไปด้วยล่ะว่า เฮ้ย ทางนี้เสือ ทางโน้นจระเข้ เราต้องถางป่าหาทางใหม่นะ อย่างนี้ถือว่าผิดจริยธรรมด้วยหรือ? อย่าว่าแต่คนที่ตะโกนแบบนี้มักเป็นคนกลุ่มน้อยที่ใคร ๆ เขาก็ไม่ฟังกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็หวังว่าจะมีคนฟังเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวว่า จะเตะหมูเข้าปากหมาไปตลอด เราก็ได้แต่ง้างเท้าไปตลอดชีวิต ไม่กล้าเขี่ยลูกเสียที แล้วเมื่อไรจะได้ดูบอลล่ะคะ

ประการที่สอง ภัครู้สึกว่า การคิดว่าไม่ควรพูดอย่างนี้ เพราะจะไปเข้าทางฝ่ายนั้น มันเป็นเรื่องของการเล่นการเมืองตามสถานการณ์ ถ้าเราต้องทำอย่างนี้ตลอดไป เราก็ไม่ต้องศึกษาความคิดของนักคิดคนไหนอีกแล้วในโลก นอกจากมาเคียเวลลีคนเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาชน ไม่ต้องมีนักวิชาการอีกแล้ว เราควรไปเล่นการเมืองให้หมดเลย ส่วนคนที่เล่นการเมืองไม่เป็น ก็ควรไปขายเต้าหู้ทอดหรือเป็นพนักงานธนาคารซะ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ก็จะคิดไปทำไม อุดมคติอะไรก็ไม่ต้องมี

ประการที่สาม ถ้าหากมีการให้ลงประชามติ แล้วเสียงส่วนใหญ่เขาเกิดเลือกให้มีมาตรา 7 ล่ะคะ อาจารย์จะยอมรับไหม ถ้าตามตรรกะของอาจารย์ มันก็เหมือนกรณีทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนตัวทักษิณเป็นมาตรา 7 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ เพราะเดี๋ยวจะเตะหมาไปเข้าปากหมูอีก สรุปว่าระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ที่อาจารย์ให้คุณค่าสูงสุด (ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนจะรวม อ.แพทริค โจรี เข้าไปด้วย) คือระบอบเผด็จการที่สุด เพราะเสียงส่วนน้อยห้ามพูดอะไรทั้งนั้น แล้วอย่างนี้มันต่างจาก lese majeste ตรงไหน?

ภัคคิดตรงข้ามกับอาจารย์คือ คำพูด “อัปรีย์ไป จัญไรมา” เป็นคำพูดที่ตรงจุดที่สุด ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหนที่สุดแล้วค่ะ (คำพูดนี้น่าจะพูดครั้งแรกที่สมัชชาคนจนและกลุ่มบ่อนอก-หินกรูดฯ)





ถ้า “2 ไม่เอา” แล้วมีทางเลือกที่ 3,4,5..หรือไม่ และปัญหา อัปรีย์จัญไร (ตอบคุณภัควดี และคนอื่นๆ)
(20-22 มีนาคม 2550)


(ตอนที่ 1)

ในฐานะผู้ชื่นชมงานของคุณภัควดีอย่างสูง ผมถือเป็นเกียรติที่คุณภัควดีได้เขียนมาแลกเปลี่ยนด้วย (ดูเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกัน กระทู้ที่ 3887 ความเห็นที่ 9)

อันที่จริง ผมตั้งใจจะเขียนตอบที่มีคนมาตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นในลักษณะคล้ายๆคุณภัควดีก่อนหน้านี้ เช่น ความเห็นที่ 2 ของกระทุ้เดียวกัน หรือในกระทู้ที่ 3847 ความเห็นของ freemind โดยเฉพาะความเห็นที่ 7 และกระทู้ 3827 ความเห็นที่ 4


เมื่อคุณภัควดีเขียนมาเช่นนี้ ผมจึงถือโอกาสตอบทั้งคุณภัควดีและคนอื่นๆไปพร้อมๆกัน โดยขอเอาที่คุณภัควดีเสนอมาเป็นหลัก แต่หวังว่าจะเป็นการครอบคลุมไปถึงคนอื่นๆด้วย

เพราะประเด็นของคุณภัควดีและคนอื่นเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน และเกี่ยวพันไปถึงเรื่องที่ผมได้อภิปรายไปแล้วหลายครั้งในระหว่างวิกฤตทักษิณมาจนถึงรัฐประหารและหลังจากนั้น นั่นคือปัญหาว่า ถ้าเราไม่เอาทั้งสองทาง คือทั้ง “ระบอบทักษิณ” และ ระบอบรัฐประหาร-นายกฯพระราชทาน (ต่อไปนี้ผมขอเรียกว่า รปห.นพท.) แล้วเรามีทางเลือกทางอื่นหรือไม่ ถ้าไม่ แปลว่าเราต้องเลือกที่ยอมสนับสนุนทักษิณ มิเช่นนั้น จะเท่ากับเปิดทางให้ รปห.นพท. เป็นใหญ่ หรือ? ปัญหานี้สามารถแตกแขนงออกไป เช่น เรื่อง การชูคำขวัญ “อัปรีย์ไป-จัญไรมา” ใน ขัดขืน ฉบับล่าสุด ว่า ถ้าเราด่าประนามนักการเมือง จะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือไม่? เชื่อมโยงไปถึง ประเด็นเรื่อง pragmatism ว่า ถ้าเรามีวิธีคิด โดยคำนึงถึง ผลทางการเมืองมากเกินไป เราจะเหลือ “หลักการ” อะไรอยู่ มิกลายเป็นพวก pragmatic ไปหรือ? ฯลฯ ฯลฯ

ปัญหาพวกนี้ อันที่จริง ถ้าจะพูดแบบกำปั้นทุบดิน ถึงที่สุด รวมศูนย์อยู่ที่การ “รับไม่ได้” กับที่ต้องถูกเรียกร้องให้ “ยอมรับ” คน(และ”ระบอบ”) อย่างทักษิณและบรรดานักการเมือง “อัปรีย์” ทั้งหลาย นั่นเอง

(ผมขอหมายเหตุประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ประเด็นหนึ่งไว้ แต่ไม่ขออภิปรายละเอียดในทีนี้ ว่า ความจริง ในทางประวัติศาสตร์ปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทย การรุ้สึก “รับไม่ได้” อย่างมากกับนักการเมืองนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ปัญญาชนฝ่ายซ้ายก่อนทศวรรษ 2520 ขึ้นไป ไม่มีปัญหากับการคิดในเชิงความจำเป็นที่ต้อง ยอมรับหรือ defend พวกที่ปัญญาชนปัจจุบันเห็นว่า “อัปรีย์” เหล่านี้)

ในขณะที่ ผมยอมรับด้านความยากลำบากของการที่จะชวนให้ยอมรับ ไม่ว่าจะชั่วคราวอย่างไร ต่อคนอย่างทักษิณหรือนักการเมือง แม้จะด้วยเหตุผล เพื่อป้องกัน “อีกฟากหนึ่ง” มาเป็นใหญ่ (อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้) แต่ในที่สุดแล้ว การไม่ยอมรับของคุณภัควดีและคนอื่นๆ อยู่ที่การไม่ยอมที่จะคิดให้ตลอด (think through) ถึงความคิดของตัวเอง นั่นคือ คิดหยุดอยู่เพียงแค่ว่า ขอให้เรามี “เสรีภาพ” ที่จะเลือกทางอื่นๆบ้าง การมา “จำกัด” ทางเลือกของเรานี้ เป็นเรื่องขัดกับอุดมคติ (การแสวงหา “ทางเลือก” ใหม่ ฯลฯ)

เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่คุณภัควดีและคนอื่นๆยืนยันนั้น ถ้าคิดให้ตลอด จะเห็นว่า เป็นการ “ไม่ซีเรียส” ต่อสิ่งที่ตัวเองตั้งเป็นเป้าหมายหรือความต้องการเอาไว้ตอนต้นนั่นเอง.... (ความจริง ผมอยากใช้คำว่า “ไม่ซื่อตรงต่อความคิดตัวเอง” แต่ก่อนที่จะอธิบายเนื้อหา คำนี้ ฟังดูแรง อาจจะทำให้โกรธผมเสียก่อน โดยไม่พิจารณาเนื้อหา)


ก่อนอื่น คุณภัควดีวิจารณ์ว่าข้อเสนอของผมอยู่ในโลกของตรรกะ ในโลกของความเป็นจริง ต้องเป็นแบบที่คุณภัคเสนอ (คือมีทางเลือกที่ 3,4,5....) ผมเห็นว่าการวิจารณ์เช่นนี้ออกจะแปลก เพราะความจริง ความคิด-ข้อเสนอของผม ถ้าจะวิจารณ์ น่าจะไปในทางว่า เป็นความคิด-ข้อเสนอที่มีลักษณะ Real Politik มากเกินไป (อันตรายอันนี้ผมรู้ตัวดี) และข้อเสนอของคุณภัคและคนอื่นๆทำนองว่า ทำไมจะมี 3, 4, 5 ไม่ได้? หรือทำไมจะด่าทั้ง 2 ฝ่ายแรงๆไม่ได้? นั้น แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องเชิงทฤษฎี เชิงอุดมคติ ที่เป็นไปได้ในโลกทางตรรกะ ในโลกทางความคิดเท่านั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ในโลกที่เป็นจริง

ผมขอยกตัวอย่างประเด็นค่อนข้างเล็ก (ประเด็นใหญ่จริงๆคือเรื่องที่กล่าวข้างต้น ทีจะพูดต่อไป) ที่คุณภัคยกขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าลักษณะการคิด-อภิปรายของคุณภัคมีลักาณะของการ “สมมุติ”, ของการคิดแบบ “ทฤษฎี” หรือ “ตรรกะ” ที่ไม่เกิดขึ้นในโลกจริงอย่างไร คุณภัคถามผมว่า
ถ้าหากมีการให้ลงประชามติ แล้วเสียงส่วนใหญ่เขาเกิดเลือกให้มีมาตรา 7 ล่ะคะ อาจารย์จะยอมรับไหม ถ้าตามตรรกะของอาจารย์ มันก็เหมือนกรณีทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนตัวทักษิณเป็นมาตรา 7 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ เพราะเดี๋ยวจะเตะหมาไปเข้าปากหมูอีก....
โดยปกติผมไม่คิดแบบสมมุติแบบนี้ เพราะความจริงคือ มีการ “ลงประชามติ” เรื่องมาตรา 7 ไปแล้ว คือในการเลือกตั้งเดือนเมษายน ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรณรงค์เรื่อง “นายกฯพระราชทาน” เสียงส่วนใหญ่ยังคงเลือกทักษิณเป็นนายกฯ (แม้จะแพ้ในภาคใต้) ผม “ยกประโยชน์ให้” ด้วยการนับเอาเสียง no vote หรือเสียงที่ไม่เอาทักษิณทั้งหมด เป็นพวกที่สนับสนุนด้านมาตรา 7 ความจริง ถ้าเอาเฉพาะพวกที่เอามาตรา 7 จริงๆ จะน้อยกว่านี้

แต่ให้เรา “สมมุติ” ก็ได้ว่า ยังไม่มีการลงคะแนนเรื่อง มาตรา 7 จริงๆ หรือถ้าพูดให้ชัดคือ ไม่มีการเลือกระหว่างทักษิณ(หรือนักการเมือง) กับ “นายกฯพระราชทาน” คุณภัคถามว่า ถ้าเกิดประชาชนเลือกฝ่ายหลังล่ะ? สำหรับผม ก่อนที่จะ “สมมุติ” แบบนี้ได้ว่า ประชาชนเลือกฝ่ายหลัง จะต้องมีการเลือกตั้ง ก่อน จริงไหมครับ? ถ้าเช่นนั้น ผมขอบอกว่า “เอาเลยครับ” (แม้ผมจะไม่คิดว่ามีทางเกิดขึ้นได้) ให้ คนอย่าง สุรยุทธ หรือ เปรม หรือใครที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ มาลงเลือกตั้งเลยครับ ให้พวกเขา subject ตัวเอง กับการเลือกตั้ง อย่างที่ทักษิณและนักการเมืองอื่นๆต้อง subject ตัวเองเลยครับ

ผมคิดว่า ถ้าสมมุติให้คนอย่างสุรยุทธ-เปรมลงเลือกตั้ง ผมก็ว่าแพ้ทักษิณอยู่ดี ผมคิดว่า ถ้าผู้คนรู้เรื่องเขายายเที่ยง กับทรัพย์สิน 100 ล้าน รวมทั้งเครื่องเพชร 20 ล้าน นี่ผมไม่คิดว่า จะมีใครเลือกเขาเป็นนายกฯ ถ้าให้เขาต้องมา debate policies ต่างๆก่อน ฯลฯ ด้วย “ความสามารถ” ของเขา จะมีใครเลือกเขาเป็นผู้นำหรือครับ? จนบัดนี้ ไม่มีใครทราบว่าเปรม มีทรัพย์สินเท่าไร ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆ ให้พวกเขาลงเลือกตั้งซิครับ แล้วให้คนที่สนับสนุนเขาทั้งหลาย ลงมาด้วย ให้ทีมเปรม-สรยุทธ-และไอ้โม่งทังหลายที่สนับสนุนพวกเขา ลงเลือกตั้ง เปิดเผยทรัพย์สินทังหมดที่เขามีอยู่ เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปถึงเรื่องขี้หมูขี้หมา ด่าพ่อล่อแม่ ลากลูกมาด่า (ระดับที่มีคนเอาครอบครัวทักษิณมาเล่นงาน แม้กรณี อ.สุลักษณ์ เอง ที่ด่าทักษิณไปถึงเรื่องในมุ้ง)

ถึงจุดนี้ ผมหวังว่า คุณภัคจะเห็นว่า วิธีคิด-สมมุติของคุณภัคเป็นเรื่องของโลกที่ไม่เป็นจริง เป็นไปไม่ได้เพียงใด แต่ข้ามการสมมุติกรณี “นายกฯมาตรา 7” ลงเลือกตั้งไปก็ได้

เอาแค่ “มาตรา 7-นายกฯพระราชทาน” ได้รับ “ประชามติรับรอง” อย่างที่คุณภัคสมมุติ (ความจริงปัจจุบันคือ มาตรา 7-นายกฯพระราชทาน เป็นใหญ่อยู่จริงๆ แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกหรือรับรองของประชาชน – อันนี้ มีเหตุผลอยู่ คือในโลกที่เป็นจริง ไม่ใช่โลกสมมุติ “มาตรา 7” ไม่สามารถเกิดได้จากการลงประชามติหรือเลือกตั้ง) ผมก็จะไม่เสนอเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” เลย สำหรับผม ถ้ามีสถานการณ์เช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาที่จะเกิดว่า “ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ” เพราะอะไร? เพราะการสมมุติของคุณภัค ไม่ตรงความจริงแต่ต้น โปรดคิดให้ตลอดครับ “นายกพระราชทาน” หรือ “มาตรา 7” นั้น หากมีการ “ลงประชามติ” รับรองจริง จะมาจาก preconditions อะไร? จากการที่มีสถาบันกษัตริย์อย่างที่มี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช่หรือไม่? มิเช่นนั้น ก็ไม่ต้องมีไอเดียเรื่อง “มาตรา 7” หรือ “นายกฯพระราชทาน” แล้ว ซึ่งถ้าเช่นนั้น “นายกพระราชทาน” หรือ “มาตรา 7” ที่สมมุติให้เกิดนี้ จะเท่ากับกรณีทักษิณหรือรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาได้อย่างไร?

เวลาผมเน้นเรื่อง การเลือกตั้ง นั้น ผมไม่เคยบอกว่า เป็นเรื่องการหย่อนบัตรเฉยๆ แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง คุณภัคและคนอื่นๆ ไม่ยอมคิดให้ตลอดเองถึงนัยยะของข้อเสนอที่ให้ “เลือกตั้งเป็นใหญ่” ของผม

“เลือกตั้งเป็นใหญ่” ของผม ต้อง applied all the way up ครับ และถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีปัญหาต้องถามว่า “นายกฯพระราชทานที่มาจากการเลือกตั้ง-ประชามติ” เลย หรือในทางกลับกัน สมมุติว่า “เลือกตั้งเป็นใหญ่” ได้รับการ applied all the way up จริงๆ เกิดสมมุติ (นี่เป็นการสมมติที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะขัดกับ preconditions ของการสมมุติเรื่องเลือกตั้ง all the way up เอง แต่เอาเถอะ ขอให้สมมุติก็ได้) ว่า หลังจากนั้น ยังมี “นายกฯมาตรา 7 โดยประชามติ” อีก ผมก็มองไม่เห็นว่า จะมีปัญหาเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือ “ห้ามวิจารณ์” ได้อย่างไร เพราะถึงตอนนั้น ทุกคนที่มีอำนาจจะต้องมาจากการเลือกตั้งหมด .. ไอเดียเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” มาจากสถานการณ์เฉพาะของรูปแบบรัฐไทยในปัจจุบัน... ( อันที่จริง แม้แต่ในปัจจุบัน ผมก็ไม่เคยบอกว่า “ ห้ามวิจารณ์ ทักษิณ เพราะเสียงส่วนใหญ่เลือก หรือ จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา” อย่างที่คุณภัคกล่าวแต่อย่างใด ประเด็นนี้ผมจะกลับมา )


ที่เพิ่งกล่าวมา ความจริงเป็นการ “ออกนอกประเด็น” (ใหญ่) ของเราเล็กน้อย แต่ผมยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นจากตัวอย่างเล็กๆนี้ว่า เวลาคุณภัคและคนอื่นวิจารณ์ผมนั้น ไม่ยอมคิดให้ตลอดเองครับ ถึงนัยยะต่างๆของข้อเสนอของผม และคิดว่าสามารถแสดงให้เห็นจุดอ่อนของข้อเสนอของผมด้วยการตั้งคำถามย้อนกลับ ซึ่งความจริง แล้ว ข้อเสนอของผม วางอยู่บนพื้นฐานบางอย่างที่ตั้งคำถามย้อนกลับเช่นนั้นไม่ได้ ....


เอาละ ทีนี้เรามาพูดกันในประเด็นที่ใหญ่จริงๆ คือ ปัญหาว่า ในช่วงที่ผ่านมา ถ้า “2 ไม่เอา” แล้ว มีทางเลือกที่ 3, ที่ 4 ที่ 5... อย่างที่คุณภัคเสนอหรือไม่ (ในการอภิปรายเปิดตัวหนังสือ ฟ้าเดียวกัน ฉบับรัฐประหาร ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ก็พูดคล้ายๆกับคุณภัค เขากล่าวอย่างโวหารว่า เขาไม่ใช่พวก “2 ไม่เอา” แต่เป็นพวก “3 ไม่เอา” คือไม่เอา “2 ไม่เอา” ด้วย คือเขาจะเอาทางอื่นๆ....)

(ยังมีต่อ)


ปล. บังเอิญมากๆว่าระหว่างที่ผมร่างๆกระทู้นี้อยู่ ก็มีการพูดพาดพิงถึงกรณีคล้ายๆกันนี้ ("อัปรีย์จัญไร") อดไม่ได้จริงๆ เอามาให้ดู จาก ประชาไท

มีการสัมมนาเรื่องจริยธรรมนักการเมือง โดยคุณจรัญ ภักดีธนากุล และ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ตามรายงานตอนหนึ่ง...
นอกจากนี้ มีการยกเหตุการณ์ในต่างประเทศว่าเขาเข้มงวดคนที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไปสืบประวัติถึงครอบครัวต้องดูว่าลูกไปข่มขืนลูกสาวใคร และ พ่อใช้อิทธิพลคุ้มครองลูกตัวเองอย่างนี้ก็เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ หรือกรณีที่นักการเมืองคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุกแต่รอลงอาญา ในที่สุดก็ต่อสู้จนได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

“เรื่องนี้มันผิดชัดๆ แต่เพราะมันหน้าด้าน วันนี้เรามีคนหน้าด้านอยู่เยอะ ทำให้รัฐธรรมนูญม.77 ปี 40 ที่กำหนดเรื่องจริยธรรมไม่มีน้ำยาเลย เราจึงต้องมีหมวดจริยธรรมกำกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เข้มงวดขึ้น” กมธ.รายหนึ่ง กล่าว
เมืองไทย กรณีที่ ลูกอาศัยอิทธิพลพ่อปกป้อง ทำความเลวสุดๆ แล้ว "หน้าด้าน" อยู่ทั้งพ่อทั้งลูก นี่คงมีเยอะกว่านี้นะครับ!




(ตอนที่ 2)

คุณภัควดีและคนอื่นยืนยันว่า

ไม่ต้องการ ทักษิณ/นักการเมืองเลือกตั้ง และ ไม่ต้องการ ระบอบ รปห.นพท.

คุณภัคและคนอื่นๆปฏิเสธว่ามีแต่ทางเลือก 2 ทางนี้เท่านั้น

คุณภัคและคนอื่นๆ ขอไม่เอาทั้ง 2 ทางนี้ แต่ขอเอาทางที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 หรือ 6 ... แทน

คืออะไรครับ? ทางที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 หรือ 6 ที่ว่า?

ความ irony ของข้อวิจารณ์ที่คุณภัคมีต่อผมว่า วิธีคิดของผมเป็นเรื่องของโลกทางตรรกะ ก็คือ แท้จริง แล้ว คุณภัคและคนอื่นๆที่พูดเรื่องทางที่ 3 ที่ 4 ที่ 5... ต่างหาก ที่กำลังพูดถึงเรื่องของ ตรรกะ ของทฤษฎี ของโลกสมมุติ ที่ไม่เป็นจริง ในโลกสมมุติเหล่านั้น ใครๆก็อยากและคงทำได้ที่จะบอกว่า มีทางที่ 3, 4, 5 ..

แต่คืออะไรครับ? ทางที่ 3, 4, 5 .... ที่ว่า?

ที่ผมยืนกรานมาตลอดตั้งแต่ช่วงวิกฤติก็คือเรื่องนี้แหละ ผมไม่เคยเห็นใครที่สามารถ come up with ข้อเสนอเรื่อง ทางที่ 3, 4, 5... ได้จริงๆสักคน แม้ทุกคนจะยืนกรานว่า ไม่เอา 2 ทางแรก

(ดังที่รู้กันว่า ช่วงหนึ่ง ธงชัยเคยเสนอเรื่อง สส.พรรคมหาชน เป็นนายกฯ ผมไม่คิดว่า จำเป็นทีจะต้องย้ำว่า ข้อเสนอนี้ประหลาดเพียงใด)

เสนอออกมาจริงๆสิครับ คืออะไร ผมจะยิ่งกว่ายินดีที่จะพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่มายืนกรานต่อผมเฉยๆว่า ชีวิตจริง (?) ต้องมีทางเลือกอื่นๆ......


เอาล่ะ ต่อให้ผมยอมรับว่า ในโลกจริงๆ มีทางเลือกที่ 3, 4, 5.. อยู่

(ขอให้ผมย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นวิธีคิดที่ปกติผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือการสมมุติอะไรที่บอกไม่ได้ว่าคืออะไร ยิ่งในกรณีวิกฤติที่ผ่านมา ซึงเกี่ยวพันถึงอนาคตของสังคมการเมืองอย่างลึกซึ้ง การพูดเพียงให้รู้สึกว่า “มีทางเลือกที่ 3, 4, 5...” แต่ไม่เคยบอกได้ว่า คืออะไร เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่า เสี่ยงต่อการอยู่ในข่ายของการคิดแบบไม่รับผิดชอบ แต่เพื่อประโยชน์การอภิปราย เอาละ สมมุติก็สมมุติ ว่ามีทางเลือกที่ 3, 4, 5 ... อยู่)

การบอกว่า "2 ไม่เอา" (หรือ ไม่เอาทั้ง 2 อย่างแรก) จะขอเอา 3, 4, 5... มีความหมายที่ตามมาอย่างไร?

ขอให้เริ่มแบบที่เรียกว่า best-case scenario (หรือมองอย่างดีที่สุด) ก็ได้

การเลือกเอาทางที่ 3, 4, 5... แทนที่จะจำกัดเพียงเลือก 1 หรือ 2 .. จะนำมาซึ่งอะไร?

คำตอบ (ในความเห็นของผม) คือ

อย่างดีที่สุด : nothing

ไม่มีอะไรเลย คือไม่ได้ทำให้เกิด “ผลเสีย” แก่ใคร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร

ทางที่ 1 หรือ 2 ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี

คือ either ทักษิณ/นักการเมืองเลือกตั้ง อยู่ต่อไป or รปห.นพท. ขึ้นมาแทนที่ – อย่างในขณะนี้

คุณภัคและคนอื่นๆ อาจจะบอกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร อาจจะบอกว่า อย่างน้อยเป็นการยืนยันความมีเสรีภาพทางจิตสำนึกของเรา ที่จะเลือกหรือแสวงหาทางออกอื่นๆ แม้ทางออกที่เราเลือกนั้นๆ (3 4 5...) จะไม่เป็นจริง

(ผม dismiss out of hand กรณีที่ 3, 4, 5 .. เป็นจริง/ได้รับชัยชนะ เข้าแทนที่ 1 หรือ 2 เพราะขนาดยกตัวอย่าง หรืออธิบายว่า 3, 4, 5 คืออะไร คุณภัคและคนอื่นๆ ยังทำไม่ได้ จึงออกจะเกินไปที่จะสมมุติว่า 3, 4, 5 จะเป็นจริง แทนที่ 1 หรือ 2)

ต้องถามกลับว่า ซีเรียส กับการไม่ต้องการให้มี 1 และ 2 จริงหรือ?

ยกเว้นคุณภัคและคนอื่นๆจะยืนกราานว่า ไม่แคร์ว่า ผลการเลือก 3, 4, 5 ของตัวเอง จะไม่ทำให้ 3, 4, 5 ไม่ได้เป็นจริง และ 1 หรือ 2 เป็นจริง นั่นคือ ไม่แคร์ว่า 1 หรือ 2 จะเกิดขึ้น หลังจากการเลือก 3, 4, 5

ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ต้องถามว่า ที่บอกว่า ไม่เอา 1 และ 2 นั้น ไม่เอาจริงๆหรือ?

ในทางเป็นจริง ดังที่ผมพูดมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติว่า การเคลื่อนไหวโดยชู “2 ไม่เอา” นั้น

มีผลอย่างเดียวคือ ทำให้เกิดการ 1 ไม่เอา (หรือไม่เอา 1) คือไม่เอาทักษิณ
แต่ “2” ที่จะมา (ตอนนี้มาแล้ว) ในที่สุด พวกที่เคลื่อนไหว “2 ไม่เอา” ก็ไม่เอาไม่ได้ (เหมือนทุกคนในสังคมขณะนี้)

สรุปคือ พวกที่บอกว่า ขอ "2 ไม่เอา" หรือ ขอ "ไม่เอาทั้ง 2 อย่าง" ขอเอา 3, 4, 5 สุดท้าย ก็ลงเอย ที่ต้องเอาอันใดอันหนึ่งใน 2 อันข้างต้นอยู่ดี คือต้องเอา 2 อยู่ดี

สำหรับผมเห็นว่า ในเมื่อมีทางเลือกที่เป็นไปได้ 2 ทางนี้ในโลกจริง ผมเลือกที่จะไม่เอา 2 และยินดีทีจะให้ 1 อยู่ต่อไป และผมยืนยันมาโดยตลอดว่า คนที่รักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทุกคน เพื่อเห็นแก่อนาคต จะต้องเลือกทางนี้ ไม่ว่าจะรู้สึกเป็นการ "จำใจเลือก" เพียงไร ( ความจริง ผมไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการ "จำใจ" มากนักก็ได้ด้วยซ้ำ ในเมื่อทางเลือกที่ 1 นั้น มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว )


การรณรงค์ no vote และ พันธมิตร : ตัวอย่างทางเลือกที่ 3, 4, 5 ....

ข้างต้นนั้น ผมพูดเหมือนกับว่า ทางเลือกที่ 3, 4, 5.. ถ้ามี ก็มีลักษณะแบบ private คือ เรา “เลือก” ของเราเงียบๆ ไม่มี “ผลเสีย” อะไร (ยกเว้น ความจริงเล็กๆทีว่า ในที่สุด 1 หรือ 2 – ในปัจจุบันคือ 2 – ที่เราบอกว่า “ไม่เอา” นั้น ในที่สุด ก็ต้องเอาอยู่ดี)

แต่ในทางเป็นจริง ที่ผ่านมา ปัญญาชนจำนวนมากได้กระโดดออกมารณรงค์ โดยอ้างว่า การคัดค้าน “1” ของพวกเขา ไม่ได้เป็นการทำเพื่อ “2” คือ พวกเขากำลังทำตามทางเลือกที่ 3, 4, 5 อยู่จริงๆ

ขอให้เรามาดู 2 กรณีตัวอย่างที่สำคัญ : การรณรงค์ no vote กับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การรณรงค์ no vote ซิ่งเริ่มต้นในหมู่นักศึกษาโดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ (ซึ่งดังที่ผมเคยพูดไป ได้รับอิทธิพลจากธงชัยไม่น้อย) ดูเหมือนจะเป็น perfect example ของการเลือก 3, 4, 5 เลยจริงไหม?

คือด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธทักษิณ และขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือน ไม่ได้เป็นการเชียร์ มาตรา 7

แต่โดยการรณรงค์ no vote พวกที่รณรงค์ ก็ช่วยในการทำลายสถานภาพและความเข้มแข็งทางการเมืองของทักษิณ และทำให้เกิดสถานการณ์ทางตัน ที่เป็นเงื่อนไขทางการเมืองให้แก่การรัฐประหาร

ในที่สุด no vote จึง achieve เฉพาะ “1 ไม่เอา” หรือ ไม่เอา 1 เท่าน้น ไม่ได้ achieve การไม่เอาทั้ง 2 อัน ไม่ได้ achieve การเอา 3, 4, 5 แต่อย่างใด

พวกที่บอกว่ารณรงค์ no vote เป็นการ “ไม่เอาทั้งทักษิณ และ ไม่เอา รปห.นพท.”
ในที่สุด ก็กลายเป็นพวกไม่ซีเรียส (หรือไม่ซื่อตรง) ต่อเป้าหมายของตัวเอง
มีสักกี่คน ที่ออกมารณรงค์ ไม่เอา รปห.นพท. หลังจาก 19 กันยา?
ในที่สุดแล้ว การรณรงค์ no vote ที่คนที่สนับสนุนจำนวนมาก อ้างในขณะนั้นว่า เป็นการรณรงค์แบบ “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” ก็เป็นเพียงการรณรงค์ “ไม่เอา 1” เท่านั้น
ดู แถลงการณ์ของกลุ่มเกษียร-ชัยวัฒน์-รังสรรค์-สมชาย ที่ว่ากันว่า เป็นแถลงการณ์ “คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” แต่เนื้อหาหลัก ยังคงเรียกร้องให้ไปลงคะแนน no vote …. ท่าทีคนเหล่านี้ ต่อ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” 19 กันยา เป็นอย่างไร ก็เห็นกันอยู่ อันที่จริง การ “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” ของคนเหล่านี้ – รวมทั้งกรณีอย่างนิธิ เป็นต้น – ไม่เคยเป็น “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” จริงๆ แต่ต่อให้เราไม่พูดถึง “ทัศนคติทางอัตวิสัย” การรณรงค์ของพวกเขา ความจริงเชิงภววิสัยของการรณรงค์ของพวกเขา ก็ยังคงมีผลเฉพาะการ “ไม่เอา 1” อยู่ดี

ตราบเท่าที่พวกที่บอกว่า เอา 3, 4, 5.. ไม่มีกำลังของตัวเองหรือทางออกที่เป็นทางเลือกแท้จริงของตัวเอง (ที่ผมใช้คำว่าไม่มี candidate) ตราบนั้น การรณรงค์ของพวกนี้ก็เป็นเพียงบรรลุผลของการ ไม่เอาอันใดอันหนึ่ง และเอาอีกอันหนึ่ง ใน 2 อันแรกเท่านั้น (เพราะ 3, 4, 5 ... ไม่มีฐานะที่จะมาแทนที่ทั้ง 1 หรือ 2 ได้)

มาดูกรณีที่ใหญ่กว่า no vote ขึ้นไปอีก คือ กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอง

ผมขอสมมุติว่า เราไม่มอง พันธมิตร เป็นกำลังของ รปห.นพท. แต่เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ไม่ได้อิงอยู่กับใคร ต้องการเพียงโค่นทักษิณ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ใครมาเป็นใหญ่แทนทักษิณ (นี่ไม่ใช่การสมมุติลอยๆ ธงชัยในระยะแรก (และอาจจะหลังจากนั้น) และนิธิ โดยตลอด มีท่าทีปฏิบัติต่อ พันธมิตร ในลักษณะเช่นนี้)

เอาละ ในที่นี้ผมก็จะสมมุติ มอง พันธมิตร ว่าเป็น “ภาคประชาชน” ที่ต้องการแอนตี้ทักษิณ เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยเอง ไม่ใช่เพื่อกลุ่มหรือกำลังอื่นใด

ถามว่า การเคลื่อนไหวที่ใหญ่โต มีพลังของ พันธมิตร ได้บรรลุ หรือ มีความสามารถที่จะบรรลุอะไร? ต่อให้เราสมมุติ ไม่สนใจเรื่องการเรียกร้อง รปห.นพท. ของพันธมิตร
แต่เนื่องจากพันธมิตร ไม่ใช่กลุ่มที่จะจัดตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลได้
ในที่สุด สิ่งที่พันธมิตร และผู้สนับสนุนพันธมิตรจะสามารถ achieve จริงๆ และได้ achieve จริงๆก็คือการ ไม่เอา 1 ทำลาย 1 ลงไปเท่านั้น
และเนื่องจาก ประเทศไม่มีรัฐบาลหรือไม่มีใครปกครองเลยไม่ได้ ในที่สุด ก็ต้องมีกลุ่มอื่นขึ้นมาแทน
ในเมื่อพันธมิตรขึ้นมาแทนไม่ได้ รปห.นพท. ก็ขึ้นมาแทนอยู่ดี

กรณีพันธมิตร เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริง คนที่อ้างว่าไม่ขอเอาทั้ง 1 และ 2 แต่ขอเอา 3, 4, 5 นั้น ในที่สุดแล้ว เป็นพวกที่ไม่ "ซื่อตรงต่อความคิดตัวเอง" เพราะโดยความเป็นจริง พวกเขาไม่แคร์ว่า “2” จะสามารถขึ้นมาได้ ที่พวกเขาประกาศว่า “ไม่เอา ทักษิณ และ ไม่เอารัฐประหาร” นั้น ในที่สุด ก็ไม่เอาเฉพาะอันแรก คำว่า “และ” ในคำขวัญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาแคร์จริงๆ (กรณีเกษียร-ชัยวัฒน์ ที่พูดก่อนถึงหน้านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน)

ผมจึงบอกแต่ไหนแต่ไรว่า ถ้าพวก “2 ไม่เอา” คือไม่เอาทั้ง 1 และ 2 จะเอา 3 หรือ 4 หรือ 5 จะชูว่าต้องการให้ พรรคประชาธิปัตย์ มาแทนเสียเลย ยังจะคงเส้นคงวา และ make sense กว่าเยอะ

แต่เท่าที่เห็น ก็ไม่เห็นมีใครชูประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นทางเลือกที่ 3, 4, 5 เหมือนกัน


“ห้ามวิจารณ์ เดี๋ยว เตะหมูเข้าปากหมา”
คุณภัค เช่นเดียวกับ นิธิ (ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับรัฐประหาร ) กล่าวหาว่า ผมห้ามการวิจารณ์พวกนักการเมืองที่มีอำนาจอยุ่ เพราะจะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” (นิธิ ใช้อุปลักษณ์ว่า เหมือนห้ามคนเดินออกจากบ้าน เดี๋ยวจะถูกโจรดักปล้นปากซอย บอกว่า การห้าม ทำให้เสียเสรีภาพตั้งแต่ทหารยังไม่มา)

ผมอดประหลาดใจ กึ่งขำไม่ได้ ที่ไหงนักคิดทั้งหลายมองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองเห็นนัยยะที่ผมวิจารณ์การวิจารณ์นักการเมืองที่ผ่านๆมาว่า ทำให้ได้ประโยชน์แก่อำนาจมืดบางอย่าง

ทำไมแทนที่จะกล่าวหาผมว่า เป็นการห้ามวิจารณ์นักการเมือง ทำไมไม่มองว่า นี่เป็นการเชิญชวน ท้าทายให้วิจารณ์อำนาจมืดบางอย่างนั้นด้วยต่างหากเล่า? เป็นการเรียกร้องให้กำจัดอำนาจมืดบางอย่างนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องการมีอะไรมาคอย “อ้าปากรับ” ผลงานการต่อสู้ของประชาชนกับนักการเมืองทั้งหลาย

ในความเป็นจริง บรรดาปัญญาชนทั้งหลายแทนที่จะมาโต้ผมกลับด้วยข้อหาเรื่อง “ห้ามวิจารณ์นักการเมือง” ทำไมไม่ลองอุทิศพลังงานและความสามารถไปวิจารณ์อำนาจอื่น หาทางกำจัดอำนาจอื่นบ้าง?

(เคยมีคนใช้วิธี “ย้อนกลับ” ผมในกรณีนี้เช่นกันว่า แล้วทำไมผมไม่วิจารณ์นักการเมืองบ้าง ทำไมเอาแต่ต่อว่าคนอื่นไม่วิจารณ์อำนาจอื่น? เช่นเดียวกับกรณีการ “ย้อนกลับ” ผมก่อนหน้านี้ การย้อนกลับเช่นนี้ไม่ work แต่อ่ยางใด ในสภานการณ์หลายปีที่ผ่านมา ที่ 99 เปอร์เซนต์ของนักวิชาการ เอาแต่วิจารณ์นักการเมือง ไม่ยอมแตะต้องอำนาจอื่น พอผมตั้งคำถามกับสถานการณ์เช่นนี้ การมาย้อนกลับผมแบบนี้ เป็นเรื่องน่าหัวร่ออย่างยิ่ง ลองช่วยไปทำให้ 99 เปอร์เซนต์เหล่านั้น เขาหันกลับลำก่อนไม่ดีหรือ ก่อนที่จะมาเรียกร้องผมให้หันกลับลำบ้าง? ยิ่งกว่านั้น ใครที่คิดว่า สามารถ “ตั้งคำถามย้อนกลับ” แบบนี้ได้ เท่ากับกำลังคิด บนพื้นฐานที่ว่า ทักษิณ/นักการเมือง กับ อำนาจมืด เป็นอะไรบางอย่างที่ เท่าๆกัน – สามารถแตะต้องได้ มีอำนาจในการครอบงำบังคับคนพอๆกัน – และดังนั้น จึงสามารถย้อนถามกลับได้ว่า ทำไมผมไม่วิจารณ์ทักษิณ/นักการเมืองบ้างเหมือนๆกับที่วิจารณ์อำนาจอื่นบ้าง .... ใครที่คิดบนสมมุติฐานนี้ คงไม่เคยอยู่หรือใช้ชีวิตในเมืองไทยแน่ หรือไม่ก็ใช้อย่างมืดบอดไปวันๆ)

ในความเป็นจริง ในหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการปัญญาชนสำคัญๆ ไม่เพียงแต่ ไม่ยอมวิจารณ์อำนาจอื่นเท่านั้น กลับเชียร์อย่างเปิดเผยและอย่างเป็นนัยอยู่ตลอดเวลา แม้แต่คนอย่างนิธิ หรือ เกษียร (ผมจึงเห็นว่า การยอมรับของเกษียร ในที่ประชุมที่เชียงใหม่เมื่อปีกลายทีว่า ทั้งเขาและนิธิจัดอยู่ในพวกที่ Macargo เรียกว่า “เครือข่าย” เป็นการยอมรับ – หรือการมองเห็นความจริง – ที่สำคัญมากๆ)

เรื่องนี้ นำเรากลับมาสู่ประเด็น “อัปรีย์-จัญไร” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระทู้ครั้งนี้ ...



ว่าด้วย “อัปรีย์-จัญไร” และ “ไม่เอาทักษิณ”
ภัคคิดตรงข้ามกับอาจารย์คือ คำพูด “อัปรีย์ไป จัญไรมา” เป็นคำพูดที่ตรงจุดที่สุด ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหนที่สุดแล้วค่ะ (คำพูดนี้น่าจะพูดครั้งแรกที่สมัชชาคนจนและกลุ่มบ่อนอก-หินกรูดฯ)
ดีครับ เรี่อง “ตรงจุด” ผมก็ชอบพูดอะไรที่ตรงจุด
ในเมื่อไอ้พวกที่เรากำลังด่า มันเลวๆสุดๆ ดังนั้น จึง “ตรงจุดที่สุด” ที่จะด่าว่า “อัปรีย์-จัญไร”
(โปรดสังเกตตัวอย่างที่ยกมาด้วยว่า คุณภัคยกกรณีที่เกี่ยวกับ นักการเมือง-รัฐบาลเลือกตั้ง คือ สมัชชาคนจน และ บ่อนอก-หินกรูด)

แต่เรื่อง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” นี่จริงๆหรือครับ?
ถ้านักคิดระดับคุณภัคสามารถพูดออกมาแบบนี้โดยไม่กะพริบตา ผมก็ไม่แปลกใจว่า ระดับคนทำงานล่างๆ แอ๊กติวิสต์ทั้งหลาย ทำไมจึงหลงงมงายมองไม่เห็นประเด็นที่ผมพยายามพูดอยู่หลายปีที่ผ่านมา

ให้ผมสมมุติเล่านิทานให้ฟังเล่นๆ
สมมุติเรื่องของ A, B
และ x
ในส่วนตัว ผมไม่รู้สึกว่า A, B หรือ x จะแตกต่างอะไรกันนัก
แต่เอาเถอะ คนจำนวนมากยังรู้สึกว่า A นี่ดี B นั้น แม้จะไม่ดีเท่า A แต่ก็ยังพอกล้ำกลืนได้
แต่ x นี่ แทบทุกคนเห็นตรงกันว่าเลวสุดๆ

ทำไมไม่ด่า x ว่า “อัปรีย์จัญไร” ล่ะครับ?
(ด่าในใจ ในห้องน้ำ บนโต๊ะอาหารบ้านตัวเอง ไม่นับนะครับ ที่เพิ่งด่านักการเมืองว่า “อัปรีย์จัญไร” ก็ไม่ได้ด่าในใจ ในห้องน้ำ ฯลฯ)

ทำไมคุณภัคหรือคนอื่นๆ ไม่ “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” แล้ว ด่า x ให้ฟังหน่อยล่ะครับ?
ไป “ไว้หน้า” x ทำไมไม่ทราบ?

(แน่นอน จริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่อง “ไว้หน้า”)

ดังนั้น ที่วา “อัปรีย์จัญไร” เป้นการด่าอย่าง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” ก็ไม่เป็นความจริง
การคิดเช่นนี้เป็นการหลอกตัวเอง

ปัญหาของการด่า “อัปรีย์จัญไร” ก็คืออย่างนี้แหละ
คือ ก่อนอื่น ทำให้คนด่า มี illusion ว่า กำลัง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน”
แล้วเลยพลอยทำให้ชาวบ้าน มี illusion แบบนี้ด้วย
ทำให้รู้สึกว่า ไม่มีคนอื่นอีกแล้วที่ถูกไว้หน้า ใครที่สมควรถูกด่าว่า ก็ล้วนถูกเราด่า “อย่างไม่ไว้หน้า” ไปแล้ว

แล้วมันจริงหรือครับ? (โปรดกลับไปอ่านเรื่อง A, B และ x ให้ดีๆ)


แม้แต่เรื่อง “ไม่เอาทักษิณ” ก็เหมือนกัน
ดูๆไปก็เป็นเรื่องธรรมดามากเลย เราไม่ชอบทักษิณ เราไม่ต้องการทักษิณ เราก็ชูคำขวัญ “ไม่เอาทักษิณ” (หรือนักการเมืองอื่นๆ)

คงจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยกกรณีธงชัย ที่อ้างว่าการ “ไม่เอาทักษิณ” เป็นเพียงการแสดงออกตามหลักการประชาธิปไตย ที่เรามีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ปกครองที่เราเห็นว่าไม่ดี “ออกไป” ได้

ผมขอท้าธงชัย หรือใครก็ได้ อีกครั้ง ให้ออกมาตะโกนคำขวัญแบบเดียวกันนี้ กับ ผู้ปกครองทุกคนที่คุณเห็นว่าไม่ดี แบบที่ตะโกนกับทักษิณหน่อยสิครับ


ทั้งการด่า “อัปรีย์จัญไร” และ การตะโกน “ไม่เอาทักษิณ” ไม่ใช่การแสดงออกอย่าง “ไม่ไว้หน้าไหน” ไม่ใช่การแสดงออกซึ่งสิทธิตามหลักการประชาธิปไตยเลยครับ

แต่เป็นการแสดงออกภายใต้กรอบเหล็กของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่างหาก


เหตุผลที่พวกคุณรู้สึก “ทนได้” กับการไม่ได้ด่า x ว่า อัปรีย์จัญไร
แต่ทนไม่ได้ที่ผมทักหรือแย้งการด่า อัปรีย์จัญไร นักการเมือง
ก็เพราะลึกๆ คุณรุ้ว่า นักการเมืองด่าได้ ด่าพ่อล่อแม่ หยาบคายอย่างไรก็ได้
พอมาห้ามด่า ก็เลย “หงุดหงิด”

ไม่คิดหรือว่า นี่แหละสะท้อนความ เคยชิน ของการถูกขังอยู่ใน “กรอบเหล็ก” ที่ว่า จน ไม่รู้ตัว ว่าถูกขัง



ที่เพิ่งกล่าวมา ทั้งเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” และ กรณีรูปธรรม “อัปรีย์-จัญไร” เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอะไร?

ก่อนอื่น ดังที่กลาวข้างต้นว่า เพื่อให้หันมาด่า พวกอื่นบ้าง หาทางกำจัดอำนาจอื่นที่คอยรับประโยชน์จากการต่อสู้ของประชาชน จะได้ไม่ต้องมีปัญหา “เตะหมูเข้าปากหมา” อีกต่อไป

แต่ที่สำคัญคือ ต้องการให้รู้ตัวเสียทีว่า การด่า “อัปรีย์-จัญไร” หรือ “ไม่เอาทักษิณ/นักการเมือง” ที่แม้แต่คุณภัคหรือธงชัย ก็นึกว่า เป็นการแสดงออกตามธรรมดา แบบไม่ไว้หน้าใคร แบบสิทธิประชาธิปไตย

แท้จริง เป็นเพียงการแสดงออกภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดอย่างยิ่ง

ดังนั้น อย่าทำราวกับว่า เป็นการยืนยันหลักการสูงส่งอะไรเลยครับ

พวกคุณล้วนพูดในเชิง “สัมฤทธิผลนิยม” ในเชิง “ยุทธวิธี” ทั้งนั้น

ถ้าคุณยอมอดกลั้นที่จะไม่ด่า x ว่าอัปรีย์จัญไร ไม่ตะโกนคำขวัญ ไม่เอา x (หรือ A หรือ B) ได้

ทำไม เพื่อเหตุผลในเชิงยุทธวิธี จะไม่ด่าทักษิณหรือนักการเมืองบ้างไม่ได้?
ทำไม ต้องรู้สึกเดือดร้อนอึดอัดเหลือเกินที่ผมแย้งเวลาคุณใช้คำนี้กับนักการเมืองกับทักษิณ?

อันที่จริง ผมไม่เคยบอกว่า ด่านักการเมืองไม่ได้เลย หรือ ไม่ควรด่าเลย
ไม่เคยบอกว่าต้องเชียร์ด้วยซ้ำ

แต่ผมยืนยันว่า พวกคุณควรเลิกหลอกตัวเองว่า กำลังด่าใครอย่างไม่ไว้หน้า กำลังแสดงความพร้อมจะเลือกทางเลือกอื่นนอกกรอบที่ถูกกำหนด พร้อมจะยืนยันสิทธิตามหลักการประชาธิปไตย ฯลฯ ฯลฯ พร้อมจะทำอะไรตามความหวัง ความใฝ่ฝัน เพราะมิเช่นนั้น (ตามสำนวนคุณภัควดี) “มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า” ได้แล้ว
(ประหลาดไหม ที่คุณภัคหรือใครต่อใคร ไม่เห็นบ่นเรื่อง “มีชีวิตไม่สู้ตาย” ทั้งๆที่อยู่ภายใต้ “กรอบเหล็ก” ทีว่าอยู่ทุกวินาที?)

แทนที่จะมาหาว่าผมสั่งให้พวกคุณ “ต้องหุบปากปล่อยให้เสือขบ เพียงเพื่อไม่ต้องวิ่งหนีไปโดนจระเข้ฟัด สุดท้ายมันก็ตายทั้งสองทาง...

ควรตื่นขึ้นจากการหลอกตัวเอง แล้วมองเห็นว่า พวกคุณล้วนแต่กำลัง “หุบปาก” ใน เรื่องบางเรื่องที่ใหญ่มากๆ อยู่ทั้งนั้น
(ประหลาดไหม ที่คุณภัคหรือใครต่อใคร ช่างทนไม่ได้เหลือเกินกับการที่ผมบอกให้ “หุบปาก” เรื่องนักการเมือง แต่ที่ถูกทำให้ “หุบปาก” อยู่ตลอดเวลาเรื่อง x นี่ไม่ยักกะรู้สึกตัวอะไร?)

ถ้าคุณคิดว่า เป็นเรื่อง "ธรรมดา" มากๆ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะไม่ “พลั้งปาก” ไปด่า x ด้วยคำทำนองเดียวกับที่ด่านักการเมือง
ทำไมจึงรู้สึก "ทนไม่ได้" ถ้า ภายใต้สถานการณ์ที่แน่นอนบางสถานการณ์ จะห้ามไม่ให้ด่า/ไล่ ทักษิณ ด้วยคำทำนองนี้บ้าง?



ว่าด้วย “ความหวัง/ความใฝ่ฝัน” และ imagination

คุณภัควดีกล่าวหาว่า ผมคิดเพียงตามสถานการณ์การเมือง ปิดกั้นการคิดเชิงอุดมคติ เชิงความหวัง/ความใฝ่ฝันถึงอนาคต ฯลฯ

บอกตรงๆ ไม่ได้ประชดว่า ผมเศร้าไม่น้อย ที่นักคิดอย่างคุณภัคเอง ไม่ยอมคิดให้ลึกและรอบคอบพอในเรื่องนี้

งาน หรือ discourse ของผมทั้งหมดนี่วางอยู่บนอะไรครับ ถ้าไม่ใช่ความเชื่อ/ความหวังที่ว่า ระบอบรัฐ แบบอื่น เป็นไปได้?

ในทางกลับกัน งานและวิธีคิดของนักวิชาการส่วนใหญ่ขณะนี้ รวมทั้งคุณภัคเอง เป็นอย่างไร...
ลองกลับไปเรื่อง “อัปรีย์-จัญไร”
เหตุที่คุณภัคและคนอื่นๆไม่ยอมแตะต้อง A,B,x นี่เพราะอะไร?
การไม่ยอมแตะต้องนี้ กระทั่งฝังเข้าไปเป็นวิธีคิดแบบ “สามัญสำนึก” แบบความเคยชินที่วา คำอย่าง “อัปรีย์จัญไร” เป็นคำที่ “ไม่ไว้หน้าใครๆทั้งสิ้น” แล้ว

วิธีคิดเช่นนี้มาจากอะไรครับ? ถ้าไม่ใช่ เพราะความเชื่อความรู้สึกที่ว่า อำนาจบางอย่าง สถาบันบางอย่าง ระบอบรัฐบางอย่าง เป็นสิ่งที่ยังไงก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไปยุ่ง ก็ “เปลืองตัว” เปล่าๆ ไปแตะ ก็ “เดือดร้อน” เปล่าๆ มองไม่เห็นหนทางที่จะยุ่ง จะแตะ ขนาดที่กลายเป็นการ มองไม่เห็น ไปเลย (อัปรีย์จัญไร = “ไม่ไว้หน้าใครๆ” แล้ว !)

ใครกันแน่ครับ ที่ไม่รู้จัก “ความหวัง/ความใฝ่ฝัน”?
ใครกันแน่ครับ ที่ไม่มี imagination ?





ภัควดี
(23 มีนาคม 2550)

เรื่องหนึ่งที่ต้องขอบอกไว้แต่ต้นก็คือ ภัคมาคุยกับอาจารย์ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนใครหรือฝ่ายไหน หมายถึงภัคไม่สามารถพูดแทนใครได้ นอกจากพูดแทนตัวเอง

อาจารย์บอกว่ามันมีประเด็นใหญ่ประเด็นย่อยหลายอย่าง แต่ภัคว่ามันก็เชื่อมโยงกันหมดแหละค่ะ เพราะฉะนั้่น จับลงไปเรื่องหนึ่งก็ต่อไปเรื่องอื่น ๆ ได้

เรื่องแรกที่ต้องพูดคือเรื่อง "อัปรีัย์-จัญไร" ดิฉันไม่ทราบว่าเข้าใจอะไรผิดกันบ้างหรือเปล่า แต่ดิฉันเข้าใจแบบคุณไวอากร้าข้างบน คือบริบทที่คำ ๆ นี้มีการพูดกันขึ้นมาี้ ถ้าจำไม่ผิดคือที่สมัชชาคนจน ตอนนั้นพันธมิตรฯ เขาขอรัฐบาลพระราชทานและยกเรื่องมาตรา 7 ที่สมัชชาคนจนมีการคุยกันว่าจะเข้าร่วมกับพันธมิตรหรือไม่ ข้อสรุปคือไม่ แล้วเขาก็พูดคำนี้แหละว่า เดี๋ยวอัปรีย์ไป จัญไรมา ความหมายของเขาก็ชัดเจนนะคะ กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากนักการเมือง หรือรัฐบาลพระราชทาน โอกาสที่มันจะเลวระยำมีเท่า ๆ กัน

ส่วนตอนบ่อนอก-หินกรูดนั้น พอรัฐประหารแล้ว มีการตั้งปิยสวัสดิ์ขึ้นมาเป็น รมต.พลังงาน ชาวบ้านที่นั่นก็พูดคำนี้ออกมาตรง ๆ ทั้ง ๆ ที่ปิยสวัสดิ์เป็นคนในรัฐบาลของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่า ปิยสวัสดิ์เป็นหนึ่งใน "เครือข่าย" ที่แม็คคาร์โกพูดถึง แล้วอย่างนี้อาจารย์จะบอกว่า เขาพูดไม่ตรงจุดอีกหรือคะ หรืออาจารย์หมายความว่า ด่าจัญไรนี่น้อยไป ต้องด่าให้หนักกว่านี้ ต้องหาคำให้หนักว่า อัปรีย์? มันคงไม่ใช่เรื่องของการหาศัพทานุกรมของคำด่ากระมัง ภัคยอมรับว่าอ่านแล้วค่อนข้างงงกับที่อาจารย์ยก เอ ๆ บี ๆ เอ็กซ์ ๆ มา คือเขาก็ด่าทั้งอำนาจสว่างอำนาจมืดแล้ว แต่เหมือนว่าอาจารย์บอกว่ายังด่าไม่เจ็บพอ ต้องด่าให้แสบกว่านี้?

555 ภัคล้อเล่นค่ะ อาจารย์คงไม่ได้หมายความอย่างนั้นหรอก ภัคเข้าใจเอา่เองจากการอ่านโดยรวม (ถ้าผิดก็บอกได้ค่ะ้ แต่นิสัยภัคเป็นคนไม่ชอบ quote คำพูด แต่ชอบเข้าใจเอาแบบระหว่างบรรทัดหรือสรุปรวมๆ มากกว่า) อาจารย์คงหมายความว่า แค่ด่ายังไม่พอ ถ้าจะให้พอ ต้องออกมาสนับสนุนทักษิณและไทยรักไทยด้วย ต้องตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรฯ เราต้องเตะหมาให้เข้าปากหมูเสียก่อน จนกว่าจะเหลือหมูตัวเดียว แล้วเราค่อยจัดการหมูตัวนั้นทีหลัง (ภัคใช้คำอุปมานี้อย่างจงใจ)

เดาว่าฉากที่อาจารย์อยากเห็นก็คือ อาจารย์คงอยากเห็นสมัชชาคนจน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ ออกมาประกาศแถลงการณ์ว่า ในนามของระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แม้ว่าพวกเราจะไม่ค่อยชอบขี้หน้าทักษิณนัก แต่เพื่อกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารและมีการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เราจะปกป้องทักษิณและนักการเมืองทั้งหลายสุดชีวิต จนเมื่อเหลือแต่อำนาจสว่างเหล่านี้แล้่ว เราจะย้อนมาเช็คบิลพวกนี้ทีหลัง

มันคงเป็นฉากที่ดูไม่จืดมากเลยค่ะ สนุกกว่าซอดองโยอีก ในกรณีที่มีการทำอย่างนี้่จริง (ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้) หมายความว่าเราต้องเล่นเกมตามฝ่ายไทยรักไทย ยอมให้เขาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้สำเร็จเสียก่อน

อันนี้พูดตามสำนวนจีนก็คือ ยอมกล้ำกลืนความอัปยศ มุดลอดหว่างขาของศัตรู เพื่อกลับมาล้างแค้นในวันหลัง มันมาจากนิทานอุทาหรณ์ที่ว่า แม่ทัพคนหนึ่งยอมคลานลอดหว่างขาศัตรูเพื่อรักษาชีวิตไว้ แล้วมาเอาชัยได้ในภายหลัง แต่นั่นเป็นสายตาของประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้วและมองย้อนกลับไป ถ้าเกิดแม่ทัพคนนั้นดันมาเอาชัยไม่ได้ทีหลัง เขาก็คงไม่ได้เป็นวีรบุรุษหรอก

ประเด็นที่ภัคจะพูดก็คือ อาจารย์เอาอะไรเป็นหลักประกันว่า ถ้าทุกคนทำตามที่อาจารย์บอกแล้ว ยอมกล้ำกลืนความอัปยศแล้ว ยังไม่รวมอะไรต่ออะไรที่จะตามมา มันจะเป็นอย่างที่อาจารย์บอกแน่ ๆ ว่าจะเหลือหมูตัวเดียว หมูจะไม่กลายเป็นเสือ (เช่น กรณีของฮิตเลอร์ที่มาจากการเลือกตั้ง) หมูจะไม่สร้างอำนาจมืดอย่างอื่นขึ้นมาแทนอำนาจมืดเก่า หรือพอหมาเห็นทุกคนเข้าข้างหมู หมาเลยกลับลำไปจับมือกับหมูแทนก่อน เดี๋ยวได้จังหวะค่อยงับหมูวันหลังก็ได้ ฯลฯ (ภัคว่าอันหลังนี้มีโอกาสออกมากที่สุด)

ถ้าความเป็นจริงในโลก = ความเป็นไปได้ ความเป็นไปได้ก็มีหลายทางมากเลยนะคะอาจารย์ มันไม่ได้มีอยู่แค่สองทางเลือกอย่างที่อาจารย์บอก

แต่ถ้าเราทำตามที่อาจารย์บอก ที่แน่ ๆ คือเราเสียตัวตนและความเชื่อของเราไปแล้ว เพื่อแลกกับความน่าจะเป็นที่อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ได้ รวมทั้งผลของมันก็อา่จเละเทะยิ่งไปกว่าเดิม เกิดหมูกลับไปคืนดีกับหมาต่อ ทิ้งพวกเราให้จมขี้หมูขี้หมา รวมทั้งถูกด่าว่าเป็นพวกฉวยโอกาส อยากเป็นใหญ่ เลียอำนาจ (แม้ว่ามันจะสว่างก็ตาม) แตกคอกันเอง (แหงล่ะ มันก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วย) ไม่มีจุดยืน ใช้เป้าหมายตัดสินวิธีการ ฯลฯ คือภัคว่าลองนึกภาพดูเอาเองก็แล้วกันนะคะ

ในทางกลับกัน ถ้าภัคจะเรียกร้องอาจารย์บ้างล่ะคะว่า เพื่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อาจารย์ควรยอมเสียสละและออกมาสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้! เพราะทุกคนก็ทราบดีว่า การรัฐประหาร 19 กันยา เป็นจุดเสื่อมของสถาบันครั้งใหญ่ที่สุด ถ้าใครคิดเรื่องนี้ไม่ออก ก็เหมือนอยู่เมืองไทยอย่างมืดบอดเช่นกันค่ะ มีครั้งไหนบ้างที่มีการวิจารณ์และไปยืนด่าหน้าบ้านองคมนตรี มีครั้งไหนบ้างที่มีการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนต้องสั่งปิดเว็บบอร์ดหลาย ๆ ที่ แม้แต่ตอนนี้ก็ลองเข้าไปดูตามพันทิปกันสิคะ แล้วถ้ารัฐบาลนี้บริหารงานล้มเหลว (ซึ่งตั้งแต่ตอนตั้งนายกฯ กับ รมต. ทุกคนก็น่าจะดูออกว่าเหลวแน่) ถ้าเกิดการรัฐประหารซ้อน ถ้ามีการนองเลือดอีก ในใจทุกคนคงไม่กล่าวโทษแค่ผู้สนองพระบรมราชโองการแน่

ดังนั้น การออกมาสนับสนุนการรัฐประหารไปเลย ก็เหมือนยุทธวิธีตามสำนวนจีนว่า "จะจับแต่แสร้งปล่อย" (แหะ แหะ ช่วงนี้อ่านกำลังภายในอยู่ค่ะ) เพื่ออุดมการณ์ของอาจารย์ อาจารย์ก็ต้องทนยอมกล้ำกลืนบ้างนะคะ อาจารย์ควรสนับสนุนมาตรา 7 และุพระราชอำนาจให้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับคราวนี้อำนาจมืดจะออกมาสว่างแล้ว ถึงจะแค่สว่างรำไรก็เถอะ จริงอยู่ ความเป็นไปได้ที่ภัคเสนอนี้ ก็อาจมีตัวแปรอย่างอื่นเข้ามาแทรกที่ทำให้มันไม่เป็นไปตามที่เราคิด แต่ภัคว่าข้อเสนอของภัคก็ยังดูมีความเป็นไปได้มากกว่าของอาจารย์นะคะ

แต่มันก็คงสุดที่จะกล้ำกลืนได้สำหรับอาจารย์ ภัคก็เห็นด้วยค่ะ เพราะถ้าต้องทำแบบนั้น "มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า" ต่อให้ภัคมีหลักประกันแน่นอนว่า วิธีการของภัคสำเร็จแน่ ภัคก็จะไม่แนะนำให้ใครต้องกล้ำกลืนอะไรเืพื่ออะไรสักอย่างที่ไม่รู้ว่าได้มาแล้วดีจริงหรือเปล่า

แต่ประเด็นที่แท้จริงของอาจารย์คงไม่ได้อยู่ที่ทักษิณหรือไม่ทักษิณ มันน่าจะอยู่ตรงที่อาจารย์ต้องการให้ทุกคนมายืนอยู่ตรงระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง "อย่างเคร่งครัด" ซึ่งอาจารย์คิดว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่อุดมคติ/ความใฝ่ฝัน แต่ปัญหาคือ ภัคไม่ได้มองว่านั่นเป็นบันไดขั้นแรก และแม้ว่าภัคพูดแทนคนอื่น ๆ ไม่ได้ แต่ภัคคิดว่าการที่หลาย ๆ คนไม่ยอมไปยืนตรงบันไดขั้นนั้น แต่พยายามไปสร้างบัีนไดใหม่ ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)

ตรงนี้ที่อาจารย์รับไม่ได้ เพราะบอกว่าเราไม่มีบันไดอื่นมาเป็นแคนดิเดตกับบันไดที่มีอยู่แล้ว คือข้อเสนอของเรานำไปสู่ "ความว่างเปล่า" โอเคค่ะ เดี๋ยวขอทิ้งไว้แค่นี้ก่อน แล้วภัคจะต่อพรุ่งนี้นะคะ

(ความจริงวันนี้ตั้งใจจะเขียนตอนเช้าก่อนทำอย่างอื่น ที่บ้านก็ดันไฟดับ กะจะเขียนช่วงเย็น ไฟก็ดับอีก! เราช่างมีชีวิตอยู่ในโลกที่กลายเป็นกับดักเสียจริง!)






สมศักดิ์
(23 มีนาคม 2550)

ผมจะหาเวลาตอบยาวกว่านี้ภายหลัง
แต่เอาประเด็นเดียว ที่ผมแปลกใจที่คุณภัค หรือคนอื่นๆ ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมเข้าใจ
เขาก็ด่าทั้งอำนาจสว่างอำนาจมืดแล้ว แต่เหมือนว่าอาจารย์บอกว่ายังด่าไม่เจ็บพอ ต้องด่าให้แสบกว่านี้?
ผมไม่ได้พูดตรงไหนเรื่อง ด่าแรงพอหรือแรงไม่พอ (ยิ่งไม่ได้พูดในแง่ฉากที่คุณภัคเขียนขึ้นมาต่อจากนั้น เรื่อง ทรท. หรืออะไร

พูดแบบตรงๆเลยนะครับ

เอากันตรงนี้เลย ถ้าคุณภัคหรือใครก็ตามยืนยันว่า มีการด่ากันทั้งอำนาจมืดสว่างอยู่แล้ว จริง

เอาตรงนี้เลยครับ เขียนออกมา (ด่าออกมา) ว่า

".... อัปรีย์"
เหมือนกับที่สามารถเขียนหรือพูดว่า "นัการเมือง ก ข ค อัปรีย์" น่ะครับ

ประเด็น ไม่ใช่อยู่ที่ ด่า "แรง" หรือ "ไม่แรง"
ระบุมาเลยสิครับ ว่าด่าใคร แบบที่ระบุออกมาเวลาด่านักการเมือง

แน่นอน ไม่ว่าคุณภัค หรือใครก็เขียนเติม ... ไม่ได้ (ผมเชื่อว่า ทุกคนรู้ว่าผมหมายถึงใครหรืออะไร)

จากประเด็นที่ว่าไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ประเด็นทั้งหมดที่พูดมาก่อนหน้านี้ เรื่อง การใช้คำนี้เป็นการใช้แบบไม่ไว้หน้าใคร

หรือการรณรงค์เรื่องทักษิณ หรือนักการเมือง เป็นการรณรงค์ตามประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ฯลฯ

จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เป็นเพียงการณรงค์ การโกรธ การด่า แบบ "เลือกสรร" ทั้งนั้นแหละครับ
เราต้องเล่นเกมตามฝ่ายไทยรักไทย ยอมให้เขาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้สำเร็จเสียก่อน
ที่คุณภัค ไม่กล้า ด่า .. (ระบุชือ แบบที่ระบุ ชื่อ ไทยรักไทย ข้างต้น เป็นต้น) นี่แสดงว่าคุณภัค "กลังเล่นเกมตาม..." ?

ถ้าคุณภัค "เล่นเกม" ตาม ... ด้วยการไม่กล้าด่า... ตรงๆ ไม่กล้า ระบุ ... ตรงๆ แบบที่พูดถึง ไทยรักไทย

ทำไม จึงมาประชด หรือเสียดสีผมเรือ่ง เล่นเกมตาม ไทยรักไทย?

"เล่นเกมตาม"ง.. แบบ ไม่รู้ตัว แบบคุณภัค และคนอื่นๆ เป็นเรื่อง โอเค? แต่พอผมเสนอว่า ต้องคิดในเชิงยุทธิวธีว่า เมื่อใดควรให้ใครอยู่มากกว่า กลับเป็นเรื่องเหมือนกับเสียดสีได้? ("ดูไม่จีด")

ไม่รู้สึกประหลาดมากๆหรือครับ?


ให้ผมยกประเด็น "รูปธรรม" มากๆ อีกประเด็นหนึ่ง

แม้แต่คำว่า "ระอบบทักษิณ" (ชื่อทักษิณ ชื่อครับ..ชื่อ)

คุณภัค หรือใคร กล้าเรียก ชื่อ.. ว่า "ระบอบ....." ไหม?

อันนี้เป็ฯการ "เล่นตามเกม" ..... (ชื่อ) ใช่ไหม?

สิ่งที่น่าเศร้ามากๆ เวลาอ่านอย่างคุณภัค หรือ ธงชัย หรือคนอื่นๆ ที่ highly intelligent แต่กลับมองไม่ออกว่า ทุกวินาที ตัวเองกำลัง "เล่นตามเกม...." อยู่ทังนั้น แต่พอผมทักเรื่อง นักการเมือง หน่อย ก็อึดอัด ก็โวยวายขึ้นมาทักนที

ขออภัยจริงๆครับ ผมไม่อยากใช้คำนี้ กับคุณภัค ในฐานะที่นับถือในงานจริงๆ

แต่ผมพูดมาตลอดว่า ปฏิกิริยา แบบนี้ เป็นปฏิกิริยา แบบ "ดัดจริต"

คือ ทุกวินาที ทนได้ กับการ "เล่นตามเกม..." (ชื่อ) แต่พอทักเรื่อง นักการเมือง .. กลับทนไม่ได้ รู้สึกเป้นเรื่องน่าละอาย น่าเสียดสีทันที

นักคิด ต้องไม่มองแต่ สิ่งที่เป็น "สามัญสำนึก" ต้องตั้งคำถามตลอดเวลา

ทำไม จึงโอเค ที่ ไม่กล้าเอ่ยชื่อ ... ในทางไม่ดีเลย

แต่พอทักเรื่องว่า คุณด่า นักการเมือง ฯลฯ ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องอึดอัด ฯลฯ



ต่อไปนี้ เป็นคำท้า แบบ ซีเรียส มากๆ (ไม่ใช่โวหาร)

คุณภัค (หรือคุณ freemind) หรือใครก็ได้

แน่จริง พูดเชิง negative แบบที่พูดถึง ทักษิณ ไทยรักไทย ... อย่าลืมนี่เป็นชื่อเฉพาะทั้งนั้น ไม่ใช่ชื่อนามธรรม

พูดให้ผมเห็นตรงนี้แหละครับ แบบเดียวกับที่พูดถึงไทยรักไทย หรือทักษิณ หรือใครๆข้างต้นน่ะ

ถ้าทำไม่ได้ จะอธิบายว่า ทำไมจึงทำไม่ได้

และถ้าเช่นนั้น ทำไม จึงมีปัญหานัก กับการทักเรื่องทักษิณ หรือไทยรักไทย

ชื่อครับ

เอ่ยชื่อ มาสิครับ แบบที่เอ่ยชื่อ ทักษิณ ไทยรักไทย ฯลฯ น่ะ

เอ่ยแบบเสียดสี แบบด่า แบบประชด แบบ negative น่ะ

ทำไม่ได้ เพราะอะไร?

กำลัง "เล่นตามเกม" ..... (ชื่อ) อยู่?
ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)
พูดด้วยประโยคแบบนี้ ด้วยภาษาแบบนี้ กับ ... ให้ดูหน่อยสิครับ

หรือว่า มีความสามารถ เฉพาะวิจารณ์นักการเมือง "ไม่เป็นตัวแทน" เรา แล้ว.... ที่ อ้างยิ่งกว่าความเป็นตัวแทนเรา คุณภัค เคยเขียนวิพากษ์ การอ้างนั้นไว้ที่นไหนบ้าง?

ถ้าไม่เคย เขียนตรงนี้ แบบที่เขียนประโยคข้างต้นให้ดูหน่อยสิครับ



อย่างที่เขียนไปในตัวกระทู้แล้ว

ใครๆก็เห็นว่า (นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น) x น่ะ เลวสุดๆ

แต่มีใครกล้าพูดออกมาไหม? (นอกจากในที่รโหฐาน)

แต่พอทักเรื่องทักษิณ หรือนักการเมืองหน่อย กลายเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เรื่องการทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายการใฝ่ฝัน ความหวัง ฯลฯ ทันที

ที่ ยอม "หุบปาก" ไม่แตะต้อง x (และอื่นๆ) ทุกวินาที นี่ ไม่เห็นมีใครบ่นอะไร

ที่ยอม "เดินตามเกม" ยอม "ค้อมหัว" literally and figuratively อยู่ ทุกวินาที ไม่เห็นแสดงอาการ อะไรกัน





ภัควดี
(24 มีนาคม 2550)

ประเด็นเล็ก ๆ ที่ต้องพูดก่อนอื่นก็คือ ที่เข้ามาคุย ไม่ใช่เพราะทนไม่ได้ที่อาจารย์บอกว่าอย่าวิจารณ์นักการเมือง (หรือที่ตอนหลังบอกว่าให้ยั้งการวิจารณ์ไว้ก่อน) ทั้งนี้เพราะดิฉันเป็นคนที่ด่านักการเมืองน้อยมาก จะว่าไปแล้ว ดิฉันไม่ค่อยสนใจนักการเมืองและการเลือกตั้ง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษิณมากกว่านักการเมืองคนอื่น อย่างที่อาจารย์ก็คงทราบดีคือ สิ่งที่ดิฉันปฏิเสธมาแต่ไหนแต่ไรไม่ใช่ทักษิณหรือระบอบทักษิณ แต่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนอย่างที่เป็นอยู่

ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ภัคเพียงแค่เคยให้สัมภาษณ์ที่ประชาไทตอนที่เขาถามเรื่องมาตรา 7 ว่า รับไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์มี สนง.ทรัพย์สิน ที่ถือเป็นกลุ่มทุนหนึ่ง ซึ่งย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ต่างจากทักษิณ นอกนั้นภัคก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าเคยพูดอะไรในที่สาธารณะ เพราะดังที่อาจารย์ทราบ ภัคสนใจเรื่องเอฟทีเอ, ดับเบิลยูทีโอ ฯลฯ มากกว่า

ความจริงการต้องมานั่งบอกใครว่าตัวเองทำหรือไม่ทำอะไร เป็นเรื่องไร้สาระมากในความคิดของภัค แต่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการชี้สองประเด็นคือ

1. ภัคไม่เห็นด้วยกับการเหมารวมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเป็นพวกเหมือนกันหมดเพียงเพื่อให้วิจารณ์ง่าย พวกสองไม่เอาหรือไม่เอาทั้งสองก็มีหลากหลายทางความคิด ฉันใดฉันนั้น กลุ่มที่เอาทักษิณ ภัคก็ไม่เหมารวมเด็ดขาด เช่น ภัคย่อมไม่เหมารวมเพื่อนข้างบ้านที่เป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน (ซึ่งพูดตอนทักษิณเรืองอำนาจว่า "คนจนจะหมดไป เหลือแต่ยาจก" แต่ยังไง ๆ เขาก็เลือกทักษิณ) อีหลุกขลุกขลุ่ยรวมกับคนที่เชียร์ทักษิณเพราะมีผลประโยชน์อย่างอื่นที่นอกเหนือจากนโยบายประชานิยม

ภัคคิดว่าการตระหนักถึงความหลากหลายแตกต่างในกลุ่มใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง น่าจะมีประโยชน์มากขึ้นในการวิเคราะห์ หรือถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่นะคะ แต่อย่างน้อยก็ประหยัดเวลาที่อาจารย์มานั่งเขียนว่า ภัคทนไม่ได้ที่ห้ามวิจารณ์นักการเมือง ฯลฯ เพราะความจริงคือภัคไม่ค่อยสนใจนักการเมืองและการเล่นการเมืองของไทยมานมนานแล้ว

เรื่องที่จุดประกายให้เข้ามาคุยหรือเกิดความ "ทนไม่ได้" เป็นเรื่อง "อัปรีย์-จัญไร" อะไรนั่นต่างหาก (คือสงสัยว่าก็เขาด่าตรงจุดแล้ว ทำไมอาจารย์ยังไม่พอใจ ฯลฯ) รวมกับอีกประเด็นหนึ่งที่จะพูดทีหลัง

2. ถ้าพูดถึงอำนาจมืด ในเมืองไทยมันมีอำนาจมืดอยู่อีกมาก อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่า ในสื่อมวลชนกระแสหลักของเมืองไทยนั้น ข้อห้ามการเขียนบทความที่พาดพิงถึงผลเสียของผงชูรสก็ค่อนข้างเข้มงวดพอ ๆ กับการห้ามเขียนบทความหมิ่้นฯ แล้วยังอำนาจขององค์กรเหนือชาติ ซึ่งมันก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาเหมือนกัน

อาจารย์อาจจะบอกว่า เรื่องพวกนั้นไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ยังพูดได้บ้าง ต้องพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ก่อนถึงจะแก้ปัญหาทั้งหมดในเมืองไทยได้ ภัคก็ไม่รู้ว่าการลดทอนปัญหาทั้งหมดเหลือแค่การพูดถึงสิ่งที่พูดไม่ได้ มันแก้ปัญหาได้จริง ๆ หรือเปล่า อาจารย์อาจจะบอกว่า ก็อยู่กับสิ่งที่พูดไม่ได้จนชิน แต่ภัคว่าข้อเสนอของอาจารย์ที่บอกใ้ห้พูดเรื่องที่พูดไม่ได้ ก็เพิ่งมาเกิดหรือเรียกร้องอย่างเข้มข้นในบริบทที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองระยะหลังนี้เองเหมือนกัน (รวมทั้งขาเชียร์ทั้งหลายด้วย ขอใช้สิทธิ์พาดพิง)

เอาเถอะ ยังไงมนุษย์ก็ต้องถูกแรงกระแทกจากประวัติศาสตร์เป็นธรรมดา แต่อย่างที่คุณข้างบนคนหนึ่งบอกว่า ลำดับความสำคัญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจารย์หมายความจะให้พวกบ่อนอก-หินกรูดเขามานั่งพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ก่อนเรื่องปากท้องของเขาหรือคะ

ส่วนบทสัมภาษณ์ที่ภัคอ้างถึงตอนต้น อาจารย์ก็คงบอกอีกว่าไม่ได้ จะไปบอกว่า สนง. ฯ เป็นแค่กลุ่มทุนหนึ่งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเท่ากับกลุ่มทุนทั่วไปไม่ได้ มันต้องแย่กว่านั้น เพราะมันวิจารณ์ไม่ได้ แค่เหมารวมว่าเป็นชนชั้นสูงที่สมประโยชน์กันบ้าง ขัดผลประโยชน์กันบ้าง มันไม่พอ ต้อง single out ออกมาด่าอันเดียว ปัญหาทุกอย่างในเมืองไทยนี่มันลดทอนกันขนาดนั้นเลยหรือคะ

ทีนี้กลับมาต่อที่ภัคค้างไว้ ที่อาจารย์บอกว่า อย่างมากที่สุด ข้อเสนอแบบของภัคมันคือ "ความว่างเปล่า" อันนี้เป็นข้อวิจารณ์ที่รับได้ แต่ภัคมีข้อสังเกต 2 ประการคือ

1. ข้อเสนอของภัคมันไม่เกิดผลอะไรก็จริง แต่ข้อเสนอของอาจารย์ก็ดีกว่าของภัคนิดเดียว อย่างที่เขียนไปแล้วว่า อาจารย์ก็ไม่มีหลักประกันว่า ทุกอย่างมันจะออกหวยมาเป็นอย่างที่อาจารย์บอก กับอีกอย่างหนึ่งคือ ต่อให้ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ ทั่วเมืองไทยตอนนี้ ทิ้งประเด็นอื่นหมด มาพูดเรื่องที่อาจารย์อยากให้พูด ให้ทุกคนท่องคำพูดของอาจารย์เหมือนกันหมดเลยก็ได้เอ้า จะได้ไม่ต้องมีแตกแยกเฉไฉ เข้าแถวจัดระเบียบให้เหมือนกันหมดเลย อาจารย์คิดจริง ๆ หรือคะว่า ปวงชนชาวไทยส่วนใหญ่น่ะเขาจะสลัดเสื้อเหลืองมายืนเคียงข้างอาจารย์ ถ้าข้อเสนอของภัคไม่อยู่ในโลกความเป็นจริงที่เป็นไปได้ ข้อเสนอของอาจารย์ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าภัคนิดเดียว และความเป็นไปได้่นั้นอาจเกิดจากการที่มาพูดเอาตอนที่มันใกล้จะพังพอดี

2. เรื่องที่อาจารย์บอกว่าบันไดของเราไม่มีพิมพ์เขียวนั้น ก็ที่ผ่านมาที่มีพิมพ์เขียวกันมาตลอดเนี่ย มันมีอะไรดีขึ้นหรือทำออกมาแล้วเหมือนที่โฆษณากันไว้หรือเปล่าล่ะคะ มันอยู่ในข้อเสนอของภัคอยู่แล้วว่า พิมพ์เขียวน่ะต้องมาช่วยกันเขียน ไม่ใช่ให้ใครมาเขียนสำเร็จรูปให้ จริงอยู่ การช่วยกันเขียนนั้นไม่มีหลักประกันว่าจะออกมายังไง มันอาจจะออกมาแบบที่ตัวผู้เสนอเอง (เช่น ภัค) ไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำ แต่ที่รับรองได้คือจะไม่มีค่าย gulag ทางความคิดแน่นอน

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงคือเรื่องการเลือก ภัคขอพูดสั้น ๆ อย่างนี้คือ ภัคไม่ได้บอกว่าที่ขอมีทางเลือกนั้น หมายถึงการมีเจตจำนงเสรี ในทัศนะของภัคนั้น เราเกิดมาในโลกที่กลายเป็นกับดัก พูดได้ว่าเป็นโลกแบบ Kafkaesque เราเกิดมาในโลกที่กลายเป็นสังคมซับซ้อนซึ่งมีทางเลือกจริง ๆ ไม่มากนัก เพียงแต่ภัคบอกว่า เราน่าจะมีความหวังว่ายังมีทางเลือกที่ 4,5,6 บ้าง ไม่ใช่ลดทอนสังคมที่ซับซ้อนจนเหลือทางเลือกแค่ 2 ทางที่ไม่อยากได้ แล้วถ้ามันมีแค่ 2 ทางอย่างที่อาจารย์บอกจริง นั่นไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็นกับดัก ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงต้องรับผิดชอบทางจริยธรรมในสิ่งที่เราเลือกไม่ได้จริง ๆ ? หรือถามอีกอย่างหนึ่งคือ ทำไมเราต้องชอบนิยาย existentialist ที่อาจารย์เขียนให้เราเป็นตัวละคร ในเมื่อเรารู้สึกว่าฉากหลังในละครมันกลายเป็น Kafkaesque ไปตั้งนานแล้ว

แล้วมันก็มาถึงประเด็นที่ทำให้ภัค "ทนไม่ได้" กับสิ่งที่อาจารย์เขียนหลาย ๆ ครั้ง คือภัคมองไม่เห็นว่า เวลาที่อาจารย์วิจารณ์คนอื่นในแง่ความคิดในเชิงตรรกะ ทำไมทุกครั้งมันจะต้องกระโดดไปเป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและทุกครั้งเป็นคำคลุมเครือมาก ๆ เช่น ซื่้อสัตย์ต่อตัวเอง, กล้าหาญ ฯลฯ ภัคไม่เข้าใจว่า ทำไมอาจารย์จึงสร้างสมการ "ไร้ตรรกะ/เหตุผล = เลว" ขึ้นมาได้

นั่นประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือ ภัคข้องใจว่า การเรียกร้องเรื่องจริยธรรมแบบนี้ มันเป็นวาทกรรมเดียวกับ "ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมจะีดีเอง" หรือ "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง" หรือวาทะอะไรสักอย่างที่มีคนยกมากระทู้ที่แล้ว แต่เรื่องนี้ยังคิดไม่ละเอียดค่ะ

ภัครีบเขียนมากให้จบวันนี้ คงมีหลายอย่างที่ไม่พึงเขียนหรือเขียนไม่ชัดแจ้ง แต่พรุ่งนี้จะมีเพื่อนมาและจะยุ่งไปอีกหลายวัน พอว่างแล้วจะกลับมาอ่านต่อ ขอให้อาจารย์และทุกคน (คุณฟรีไมนด์ ฯลฯ) วิจารณ์กันเต็มที่ค่ะ ถ้ามีอะไรแล้วค่อยคุยกันต่อ

ปล. ที่ภัคพูดว่า "มีชีวิตอยู่มิสู้่ตาย" มันแค่ตีสำนวนเล่นอย่างนั้นเอง อาจารย์อย่าถือจริงจัง ภัคขี้ขลาดจะตายไป แล้วก็ไม่เห็นพระเอกกำลังภายในส่วนใหญ่ตายจริง ๆ อย่างที่พูดด้วย





สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)
ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)
ในสังคมที่ อำนาจล้นฟ้าบางอย่าง

อย่าว่าแต่ทุก 4 ปี เลย...
ทุก 10 ปี หรือ 50 ปี หรือ.... ปี
อย่าว่าแต่ ไม่มีสิทธิ์จะหย่อนบัตรเลือกตั้งเลย...
แม้แต่พูดถึงแบบปกติที่คนเราพูดถึงเรื่องสาธารณะทั่วๆไป คือ ชอบ-ไม่ชอบ ก็ทำไม่ได้

อย่าว่าแต่อ้างความเป็น "ผู้แทน" แต่ "ไม่ได้เป็นตัวแทนจริงๆของเรา" เลย
กระทั่งอ้างความเป็นบุพการีของเรา....

ในสังคมเช่นนี้
การที่ปัญญาชน ชอบเขียนวิจารณ์ ชอบเขียนแสดงความดูเบาต่อการเลือกตั้ง...
แต่ไม่ยอมพูดถึงอำนาจเช่นนั้นเลย

ถ้าไม่ใช่เรียกว่า pretentious อย่างน้อยๆ ก็ต้องเรียกว่า pervert แน่ๆ

..............................


ข้อความข้างต้น เขียนก่อนที่จะอ่าน Comment ล่าสุด ของคุณภัควดีข้างต้น

แต่จะเห็นว่า ข้อความใหม่ที่ว่า "แต่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนอย่างที่เป็นอยู่" เข้ากับที่เขียนข้างบนพอดี



สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)
เวลาที่อาจารย์วิจารณ์คนอื่นในแง่ความคิดในเชิงตรรกะ ทำไมทุกครั้งมันจะต้องกระโดดไปเป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและทุกครั้งเป็นคำคลุมเครือมาก ๆ เช่น ซื่้อสัตย์ต่อตัวเอง, กล้าหาญ ฯลฯ ภัคไม่เข้าใจว่า ทำไมอาจารย์จึงสร้างสมการ "ไร้ตรรกะ/เหตุผล = เลว"
ก่อนอื่น ผมไม่เคยใช้ (เท่าที่ผมจำได้) คำว่า "เลว" (เช่นเดียวกับคำว่า "คนดี" เพราะไอเดียเรื่อง "คนดี-คนเลว" โดยเฉพาะในแบบพุทธที่มีบางคนชอบอ้าง ไม่อยู่ในสารบบวิธีคิดของผม) เรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้ากล่าวหาผมในเรื่อง "ประเมินคุณค่าทางจริยธรรม" ควรกล่าวหาให้ถูกต้องว่าผมพูดอะไร

แต่ที่คุณภัควดีกล่าวหาว่าผม "กระโดด" ไปเรื่องคุณค่าทางจริยธรรม ถ้าหมายถึง การพูดที่ผมวิจารณ์ว่า "ไร้ตรรกะ" "ไร้เหตุผล" หรือ "ดัดจริต" นั้น

ผมไม่เห็นว่า ทำไมจะทำไม่ได้ (อันที่จริง คำพวกนี้ ในศัพท์ของผม ก็ไม่ใช่คำวิจารณ์เชิงจริยธรรม "ตรรกะ" "ไม่มีเหตุผล" กระทั่ง "ดัดจริต" คำหลังนี้ หมายถึงการ "แกล้งทำเป็นมีหลักการสูงส่ง แต่แท้จริงแล้ว "เลือกสรร" การใช้ "หลักการ" นั้นอย่างยิ่ง ในแง่นี้ มาจากการไม่คงเส้นคงวาทางตรรกะ ทาง argument ก่อนอื่นใด)


และเมื่อเปรียบเทียบกับที่คุณภัครู้สึกว่า คำด่านักการเมืองประเภท "อัปรีย์จัญไร" เป็นคำด่าที่ "ถูกจุด" ที่สุด
ไม่รู้สึกว่าเป็นการ "ประเมินทางจริยธรรม" ที่แย่กว่าหรือ?
หรือว่า เวลาด่านักการเมือง "อัปรีย์จัญไร" (ซี่งผมไม่ใช้กับปัญญาชนด้วยกันแน่ๆ) เป็นเรื่อง โอเค
แต่ถูกวิจารณ์ว่า "ไม่มีเหตุผล" "ดัดจริต" เป็นเรื่องไม่โอเค...
(ไม่อยากใช้คำว่า "ดัดจริต" ซ้ำ แต่หลายปีที่ผ่านมา ท่าทีแบบนี้ของปัญญาชน - ไม่ใช่เฉพาะคุณภัค - ผมว่า มันออกจะ "ดัดจริต" จริงๆ ดังที่ผมเคยวิพากษ์ธงชัยที่ออกมาปกป้องนักวิชาการต่างๆในลักษณะทำนองนี้มาก่อน ..... เวลานักวิชาการ - เช่นรังสรรค์ หรือ คุณภัค ในทีนี้ - ด่านักการเมือง "อัปรีย์" ไม่เห็นปัญญาชนอันสูงส่งที่ทนไม่ได้เรื่อง "การตัดสินคุณค่าทางจริยธรรม" ออกมาแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจอะไร)


ปล. พูดตรงๆนะครับ คุณภัคไม่เคยตอบประเด็นที่ผม raise จริงๆ แต่อ่ยางใด ไม่ว่ากรณีทางเลือกอื่น ว่าคืออะไร มีจริงหรือไม่

ประเด็นที่อ้างว่าการด่า "อัปรีย์จัญไร" เป็นการด่าอย่างไม่ไว้หน้าใครๆแล้ว ทั้งๆที่ไม่จริงเลยแม้แต่น้อย

ลักษณะที่ว่า ยอมทนได้กับการ "เล่นตามเกม" อำนาจบางอย่าง แต่พอทักเรื่องนักการเมือง ก็กลับทนไม่ได้ กลับหาว่าเป็นการ "เล่นตามเกม"
ฯลฯ ฯลฯ




สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)

ประเด็น

(1) ที่กล่าวว่า ควรปฏิเสธทั้งทางเลือกที่ 1 และ 2 และปฏิเสธว่า มีทางเลือกเพียง 2 ทาง ควรมีทางเลือกที่ 3, 4, 5

อะไรคือ คือทางเลือกที่ 3, 4, 5 ที่ว่า?
ในโลกที่เป็นจริง ที่ผ่านมา

การที่ไม่เคยชี้ออกมาได้ว่า 3, 4, 5 คืออะไร ได้แต่ยืนกรานว่า "มี" หรือ "ควรมี"
(แต่กล่าวหาว่าข้อเสนอผมเป็น "กับดัก") ไม่รู้สึกว่าเป็นการ "หลอกตัวเอง" (delusion) หรือ หลอกผู้อื่น หรือ?


(2) ที่สนับสนุนว่า การด่า "อัปรีย์จัญไร" เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะตรงจุด และไม่ไว้หน้าใครแล้ว

จะอธิบายการที่ไม่สามารถใช้คำนี้กับ A,B,x อย่างไร?
(และถ้าเช่นนั้น การใช้คำนี้ อย่าง "เลือกสรร" อย่างยิ่ง เช่นนี้จะมีความหมายอะไร?)

จะอธิบายการที่กล่าวหาว่า การ defend ทักษิณ ฯลฯ เป็น "เล่นตามเกม"
ขณะที่ยอม "เดินตามเกม" บางอย่างอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกัน (เมื่อพูดถึงกรณีนักการเมือง) ได้อย่างไร?

(ประเด็นเชื่อมโยง จะ justify การดูเบาเรื่องเลือกตั้ง แต่เงียบเฉยต่อการได้มาซึ่งอำนาจแบบอื่นได้อย่างไร? ไหนการวิพากษ์เชิงหลักการ เรื่อง representation ต่ออำนาจอื่น?)




สมศักดิ์
(25 มีนาคม 2550)

ผมยอมรับว่า ในการวิวาทะกับคุณภัควดีในช่วง 2 วันทีผ่านมา ผมโกรธ และเขียนด้วยถ้อยคำรุนแรง
แต่นี่ไม่ใช apology เป็นแต่เพียง explanation และ justification
กล่าวคือ


เมื่อปัญญาชนระดับคุณภัควดี ทำในสิ่งต่อไปนี้

(1) endorse การประนาม "อัปรีย์จัญไร" โดยการสนับสนุนว่า เป็นคำประนามที่ตรงจุด และ ไม่ไว้หน้าใคร

ทั้งๆที่ความจริง คำประนามนี้ ในสังคมไทย สามารถและถูก applied กับนักการเมืองเป็นหลักเท่านั้น
ที่สำคัญ ไม่มีทางถูกใช้กับ A,B,x ได้เลย

การ endorse ในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการหลอกตัวเอง ("ตรงจุด", "ไม่ไว้หน้าใคร") และหลอกคนอื่นด้วย

(2) ดูเบา-วิจารณ์ การเลือกตั้ง และไอเดียเรื่องการเลือกผู้แทน
โดยที่ไม่ยอมแตะต้อง อำนาจมืด อื่น ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ที่อ้างยิ่งกว่าความเป็นตัวแทน (ความจริงคืออ้างความเป็นบุพการี)

(3) วิจารณ์ว่า การสนับสนุนนักการเมืองแม้เพียงเล็กน้อย เป็นการ "เล่นตามเกม" ของนักการเมือง เป็นการ "หุบปาก" ต่อนักการเมือง ราวกับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่น่ารังเกียจ
แต่ขณะเดียวกัน ไม่ยอมเอ่ยถึง การต้องยอมทน "เล่นตามเกม" ของบางกลุ่มบางคนอยู่ทุกวินาที การยอมทน "หุบปาก" ต่ออำนาจมืดเหล่านั้นอยุ่ทุกวินาที ราวกับว่า การ "เล่นตามเกม", การ "หุบปาก" นั้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่พออะไรที่จะให้ประโยชน์นักการเมืองหน่อย เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

ซึ่งเป็นการมองที่หลอกตัวเอง เช่นเดียวกับ (1)

สิ่งเหล่านี้ contribute - อันที่จริง คือเป็นส่วนหนึ่งของ - ภูมิปัญญา/วัฒนธรรมการเมืองร่วมสมัย ที่ครอบงำสังคมไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแบ็กกราวน์ให้กับการฟื้นอำนาจครั้งใหญ่ของอำนาจมืดในขณะนี้

การพูดในลักษณะ (1)-(3) เป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านแบบไม่เกรงใจคือ พูดพล่อยๆ


ในหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย พูด "พล่อย" แบบนี้ จนกลายเป็นความเคยชิน โดยไม่ได้รับการท้าทายกันเอง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อวัฒนธรรมทางการเมือง

เวลาคุณพูดคำด่า (ที่เป็นได้แต่คำด่านักการเมือง) ทำนอง "อัปรีย์จัญไร" แล้วไม่รู้สึกอะไร
แต่พอถูกผมวิจารณ์กลับแบบแรงๆ กลับแสดงความไม่พอใจ


ไม่ทราบเคยคิดอย่างซีเรียส ถึงผลกระทบของการพูด (1)-(3) ตั้งแต่ต้นหรือไม่?
ไม่ทราบเคยคิดถึง "ความรับผิดชอบ" ในฐานะปัญญาชนสาธารณะต่อกระแส....ทุกวันนี้หรือไม่?



เวลาคุณ endorse คำอย่าง "อัปรีย์จัญไร" (เหมือนที่คนอย่างธีรยุทธ พูดถึง "อัครมหายำประเทศ" หรือ ประเวศ หรือ นิธิ "กู..มึง...")

แต่กลับ "หุบปาก" (คำของคุณเอง) อย่างสนิท ต่อ อำนาจมืดบางอย่าง

คุณเคยคิดถึง ความรับผิดชอบ ของคุณต่อกระแส.... ทุกวันนี้หรือไม่?