เหตุใด ชัยวัฒน์ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้าง “ข้อกังขาทางศีลธรรม”
(12 มกราคม 2550)ในบทความเรื่อง “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร 19 กันยา” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร ‘19 กันยา’ ” ใน รัฐประหาร 19 กันยา (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 152-185) ได้พยายามอีกครั้งที่จะอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงมีท่าทีแบบหน่อมแน้มกับรัฐประหารครั้งนี้นัก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ เขานำเสนอตัวเองว่าอยู่ในภาวะที่มี “ปมปริศนา” หรือ “ข้อกังขาทางศีลธรรม” นั่นคือ ด้านหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยกำลัง สร้างแบบอย่างให้สังคมยอมรับการใช้กำลัง blah blah blah (“เพราะผลที่เกิดขึ้นของวิธีการที่เลือกใช้ต่อสังคมไทยโดยรวม ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสนทนา พูดจา และใช้เหตุผลนั้นมีข้อจำกัด และที่สุดก็ต้องยอมรับการขู่ว่าจะใช้ หรือการใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหาของบ้านเมือง”) แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็ “เข้าใจ” เหตุผลของฝ่ายที่ทำรัฐประหารและคนที่สนับสนุน หรือถ้ายืมคำที่เขาใช้ในบทความก่อนหน้านี้ (2) คือ เขายอมรับว่ารัฐประหารนี้เป็นการกระทำ for a good cause (ทำเรื่องที่ดี)*
(* ผมขอหมายเหตุประเด็นหนึ่งแต่จะไม่อภิปรายต่อโดยละเอียดเพราะไม่จำเป็น คือ วิธีนำเสนอของชัยวัฒน์นี้ อันที่จริงเท่ากับว่าเขาเองยอมรับส่วนที่เป็นข้ออ้างของคณะรัฐประหารทั้งหมด หมายถึงเหตุผลที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงข้ออ้างอย่าง "ความแตกแยกในสังคมไทย" และ "การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ข้อกังขาของเขาไม่เกี่ยวกับข้ออ้างเหล่านี้ ซึ่งเขายอมรับ แต่เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ คือ ใช้กำลังรัฐประหาร)
เขานำเสนอตัวเองว่า ไม่เหมือนคนอีก 2 พวกที่ไม่มีข้อกังขาทางศีลธรรมแบบนี้ เพราะพวกแรก "ชัดเจนว่าตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเห็นว่าเหตุผลต่างๆ ที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาเป็นข้ออ้างล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น" กับอีกพวกหนึ่งที่ "ชัดเจนว่าตนเห็นด้วยกับการรัฐประหารและรับเหตุผลของฝ่ายก่อรัฐประหารได้อย่างไม่กังขา"
ผมเห็นว่า ถ้าเราถือว่าบทความนี้ของชัยวัฒน์เป็นความจริง คือเขามีท่าทีหน่อมแน้มเพราะ "ข้อกังขาทางศีลธรรม" ดังกล่าว ก็หมายความว่า ที่ผ่านมาในระยะไม่นานนี้เอง เขาได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) ครั้งใหญ่ และก่อนหน้านั้น ในชีวิตทางวิชาการของเขา เขาก็ได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) อย่างมโหฬารเช่นกัน (หรือมิเช่นนั้น เราก็ต้องถือว่า บทความนี้เป็นเพียงการพยายามแก้ตัวแบบห่วยๆ ให้กับความขาดความกล้าหาญในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือบอกว่าเชื่อในอดีต)
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ในขณะที่วิกฤตการประท้วงรัฐบาลกำลังตึงเครียดอย่างสูง และผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 มาเป็นข้ออ้าง ให้พระมหากษัตริย์ตั้งนายกฯ ใหม่ นั่นคือให้ทำรัฐประหารเงียบล้มรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการประสานเสียงจาก นสพ. สภาทนายความ นักวิชาการใหญ่ๆ จนกลายเป็นกระแสเสียงที่ดังสนั่นมากๆ ชัยวัฒน์กับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคน (เกษียร, รังสรรค์, สุวินัย เป็นต้น มีสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากเชียงใหม่ลงชื่อด้วย) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ขึ้นหัวว่า "ยืนหยัดสันติวิธีและประชาธิปไตยโดยประชาชน คัดค้านความรุนแรงและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ"
ในบรรยากาศที่นายกฯ พระราชทาน กำลังเป็น “น้ำเชี่ยวกราก” นับว่าเป็นการกระทำที่สำคัญไม่น้อย (แต่ดังที่ผมวิจารณ์ไปในตอนนั้นว่าความจริงเนื้อหาของแถลงการณ์ยังไม่เพียงพอ ควรระบุชัดเจนว่า คัดค้านนายกฯ พระราชทานหรือนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ เนื้อหาจริงๆ ของแถลงการณ์ เป็นการหนุนการเคลื่อนไหวโค่นทักษิณของ “พันธมิตร” ต่อไป (ทั้งๆ ที่ “พันธมิตร” ชูประเด็นนายกฯ พระราชทาน คือให้ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั่นเอง) มีเฉพาะหัวข้อของแถลงการณ์เท่านั้นที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นการคัดค้านนายกฯ พระราชทาน บางคนเช่นธงชัยวิจารณ์ผมกลับว่า ผมเรียกร้องมากไป ผมยืนกรานในขณะนั้น - และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้พิสูจน์ความถูกต้องของการยืนกรานนี้ - ว่า ในบริบทที่เป็นอยู่ การเขียนเช่นนั้นไม่เพียงพอ และผิดพลาดอย่างยิ่ง)
โปรดสังเกตว่า ไม่มีที่ใดในแถลงการณ์นี้เลย ที่ชัยวัฒน์จะกล่าวว่า "ข้าพเจ้าคัดค้านการใช้กำลัง และอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่หากการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อเรื่องที่ดี (for a good cause) ข้าพเจ้าก็จะขอมีข้อกังขา ขอถอนคำคัดค้านนี้" นั่นคือ ไม่มีตรงไหนเลยที่ชัยวัฒน์บอกว่า การคัดค้านการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนี้ เป็นไป อย่างมีเงื่อนไข ดังกล่าว
(ในแถลงการณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การยืนหยัดในวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธี แม้จะไม่นำมาซึ่งชัยชนะเฉพาะหน้านั้น ย่อมมีคุณค่าเหนือกว่าการบรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้า ซึ่งได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และนำไปสู่การสูญเสีย” ขอให้เปรียบเทียบกับน้ำเสียงของชัยวัฒน์ตอนนี้ ในแถลงการณ์มีน้ำเสียงของความ “กังขา” อยู่หรือ?)
ขอให้สังเกตด้วยว่า ข้ออ้างของพวกที่เสนอให้ใช้ “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” ในเดือนมีนาคม กับข้ออ้างของคณะรัฐประหาร 19 กันยาไม่ต่างกันเลย ("รัฐบาลทักษิณเลว ไม่มีทางอื่นที่จะเอาออกได้ ต้องขอให้กษัตริย์หรือทหารทำรัฐประหาร") ชัยวัฒน์ก็กล้าที่จะประกาศว่า "คัดค้าน" การเสนอเช่นนั้น ไม่ได้พูดเลยว่า "แต่ข้าพเจ้าเข้าใจ..." และไม่ได้ออกแถลงการณ์มาว่า "ข้าพเจ้ามีข้อกังขา ด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่สามารถเห็นด้วยได้กับการให้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกที่เรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี...."
(ผมขอหมายเหตุด้วยว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ ใช้วิจารณ์พวกที่ลงชื่อได้ทุกคน รังสรรค์ เกษียร สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่เมื่อหลังรัฐประหารต่างพากัน "หายหน้า" ไปหมด ไม่เคยมีแถลงการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ออกมาประณามคัดค้านการรัฐประหาร จากคนเหล่านี้เลย แม้แต่ฉบับเดียว)
กรณีชัยวัฒน์ ที่แย่กว่าคนอื่นๆ ที่ลงชื่อในแถลงการณ์นี้คือ ดังที่รู้กันทั่วประเทศไทย ตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการของเขา เขาเป็นผู้ที่ออกมาชู "สันติวิธี" คัดค้านการแก้ปัญหาด้วยกำลัง-ความรุนแรง
ถ้าบทความล่าสุดนี้เป็นความจริง คือเขาเกิด "ข้อกังขา" ขึ้นมาจากการรัฐประหารครั้งนี้ ก็แสดงว่าตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ชัยวัฒน์โกหก หรือหลอกชาวบ้านชาวเมือง (และ/หรือ ตัวเอง) อย่างมโหฬารมาโดยตลอด
เพราะตลอดกว่า 20 ปีนี้ ไม่มีเลยที่เขาจะพูดว่า การชู "สันติวิธี" ของเขา ทำไป "อย่างมีเงื่อนไข" ว่า ถ้ามีการกระทำใด (อย่างรัฐประหารครั้งนี้) ที่ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี ("กำจัดรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ฯลฯ) เขาก็จะขออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถชู "สันติวิธี" อย่างเข้มแข็งเหมือนที่เขาพูดๆ อยู่นั้นได้
ไม่มีเลยที่เขาบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า "สันติวิธี" และการไม่ใช้ความรุนแรงที่เขาชักชวนให้ใครต่อใครเห็นด้วยนั้น เมื่อถึงเวลาเกิดความรุนแรงจริงๆ ต้องขอดูข้ออ้างและเป้าหมายที่ใช้ความรุนแรงนั้นดูก่อนด้วย
ที่แย่กว่านั้น ก็ดังที่รู้กันด้วยว่า เขาไม่เพียงเสนอเรื่อง "สันติวิธี" ยังเสนอเรื่องการขัดขืนที่ไม่ใช้ความรุนแรงด้วย ("อารยะขัดขืน") เขาไม่เคยบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า ที่เสนอนี้มีเงื่อนไข ถ้าเกิดรัฐประหารแบบที่เกิด (“for a good cause”) เขาก็ขอเงียบเป็นเป่าสากเรื่องการขัดขืน และขอยืนอยู่ข้างๆ ทำตัวเป็นนักปรัชญาที่มี "ข้อกังขาทางศีลธรรม" แทน
“อริสโตเติล” กับ รัฐประหาร 19 กันยา?
ครึ่งหนึ่งของบทความของชัยวัฒน์ (จากหน้า 159 ถึงหน้า 167) แทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐประหาร 19 กันยา เป็นการอภิปรายการตีความความหมายของ politics ของอริสโตเติล โดยโวเกลิน กับ สเตราส์ (ส่วนใหญ่เป็นเพียงการสรุปความเห็นของ 2 คนหลังนี้ ไม่ใช่การอภิปรายงานของอริสโตเติลโดยตรงดังที่ชื่อบทความชวนให้คิดด้วยซ้ำ) การที่รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์หรือไม่ใช่ศาสตร์ หรือการมีภาวะลำบากเชิงศีลธรรมในค่ายกักกันนาซี ไม่สามารถใช้สนับสนุนจุดยืนของชัยวัฒน์ในกรณีรัฐประหาร 19 กันยาได้โดยตรง และชัยวัฒน์เองไม่ได้ให้คำอภิปรายที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้กับท่าทีของตนอย่างแท้จริง ประเด็นที่ถูกเรียกด้วยภาษาสวยๆ ขลังๆ อย่าง “การไม่ลงตัวทางศีลธรรม” หรือ “ราคาของการตัดสินใจทางการเมือง” ที่พูดถึงตอนท้ายของบทความ เหมือนกับการแสดงท่าทีต่อรัฐประหารของเขาอย่างไร? (หรือถ้าประเด็นนี้มีส่วนเกี่ยวข้องจริง จะอธิบายท่าทีอย่างแถลงการณ์ 23 มีนาคม หรือการชู “สันติวิธี-อารยะขัดขืน” ในอดีตของเขา ดังที่อภิปรายข้างต้นอย่างไร?) ส่วนนี้ทั้งหมด - คือส่วนใหญ่ของบทความ - ให้ความรู้สึกว่า นี่เป็นเหมือนเครื่องประดับราคาแพงๆ ที่บรรดาผู้ดีใช้ใส่อวดกันในงานเลี้ยงหรูๆ เท่านั้น (พูดภาษาชาวบ้านคือ “ดัดจริต”)
(strategy ของชัยวัฒน์ในบทความนี้คือ ใช้สมบัติซึ่งท่าทีต่อการรัฐประหารยิ่งแย่กว่าเขาเสียอีก [ดูข้างล่าง] เป็นคู่สนทนา เพื่อเน้นด้านที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการรัฐประหารของเขาเอง [สมบัติตั้งคำถามการแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับรัฐประหารของชัยวัฒน์] เขาไม่กล้าที่จะถกเถียงกับคำวิจารณ์ด้านที่เขาแสดงท่าทีอ่อนข้อให้กับการรัฐประหารในประเด็นเรื่องความรุนแรง [“รัฐประหารที่ทำไปอย่างไม่รุนแรง”] และการสนับสนุน [“เข้าใจ”] ข้ออ้างรัฐประหารของเขา)
ปัจฉิมลิขิต
ในบทความของชัยวัฒน์ ได้อ้างบทความของสมบัติ จันทรวงศ์ หลายตอน ในต้นฉบับบทความของชัยวัฒน์ที่ผมอ่าน ไม่มีบทความฉบับเต็มของสมบัติอยู่ด้วย (4) แต่เท่าที่อ่านจากการสรุปอย่างกว้างขวางของชัยวัฒน์ บอกได้เพียงว่า ถ้อยคำบางตอนที่สมบัติใช้ในการแก้ต่างให้กับรัฐประหารตามที่ชัยวัฒน์ยกมา (ถ้อยคำแบบนิยายน้ำเน่า melodramatic ประเภท “กองทหารซึ่งใช้ในวันที่ 19 กันยา เป็นปฏิกิริยาของสังคมประชาธิปไตยต่อรัฐบาลซึ่งมีปัญหา” หรือ “democratic means has nothing to do when a democratic society is fighting for its survival - ไม่มีที่ทางสำหรับวิธีการประชาธิปไตยในเวลาที่สังคมประชาธิปไตยต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด” กระทั่งดูเหมือนจะเปรียบเทียบสถานการณ์ทักษิณ กับความยากลำบากของยิวในค่ายกักกันนาซี) เกือบจะทำให้ผมอาเจียนออกมาจริงๆ ผมสงสัยอย่างเศร้าใจมากๆ ว่า ทำไมนะคณะรัฐศาสตร์ ทั้งที่นี่และจุฬาฯ (กรณีไชยันต์ ไชยพร ก่อนหน้านี้) จึงมีหลายนักวิชาการที่เก่งแต่นำเสนอตัวเองว่าเป็น "นักปรัชญาการเมือง" พูดอ้างกรีกให้ฟังดูขลังๆ เพียงเพื่ออำพรางด้านที่ขี้ขลาดตาขาว ไม่มีหลักการของตัวเองอย่างสุดๆ (คือทำตัวเป็นแบบโสกราตีสจริงๆ ไม่ได้ ก็ขอพูดเรื่องโสกราตีสแบบคล่องปาก เพื่อให้คนอื่นและตัวเองหลงเชื่อว่าตัวเองเป็นเหมือนโสกราตีสก็ยังดี) ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่น่าสะอิดสะเอียน เหมือนกับเวลาฟังใครบางคนทำตัวเป็น "แบบอย่างทางจริยธรรม" นั่นแหละ (ในงานของ “นักปรัชญาการเมือง” อย่างสมบัติ ไม่เคยแตะต้องพูดถึง “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” เลย แม้แต่นิดเดียวอย่างจงใจ แต่กลับแสดงท่าทีสูงส่งทางจริยธรรมเมื่อพูดถึงนักการเมือง)
แล้วผมก็อดคิดต่อไม่ได้ว่า ยิ่งกว่านักวิชาการของคณะใดๆ ทั้งหมด นักวิชาการจำนวนมากของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ (ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย) ซึ่งอาศัยเครดิตของความเป็นผู้ที่ชาวบ้านหลงเชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านการเมืองและกฎหมาย ช่างทำตัวเป็นแบบอย่างของ “ข้าแผ่นดินผู้จงรักภักดี” เสียนี่กระไร อะไรที่เป็นไป “เพื่อในหลวง” (รัฐประหารครั้งนี้คืออะไรถ้าไม่ใช่การการกำจัด “รัฐบาลที่มีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ไปในทางหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”?) ก็พร้อมจะออกมาให้การสนับสนุน นำเสนอให้ดูดีไปได้หมด (หรือไม่ดูแย่จนเกินไป) ไม่ว่าในแง่การเมืองหรือกฎหมาย หรือมองอีกอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่อย่างประชดแบบเมื่อครู่) ก็ต้องบอกว่า นักวิชาการไทยที่ควรจะเป็น “เสาหลักทางภูมิปัญญา” ให้กับสังคมและประชาธิปไตยไทยมากที่สุด เพราะควรจะรู้เรื่องหลักการ-ความถูกผิดทางการเมืองและกฎหมายดีที่สุด กลับทำตัวได้แย่ที่สุด กว่านักวิชาการสาขาอื่นๆ
<< Home