ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา
ตอนที่ 2: การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่
หมายเหตุ : ข้างล้างนี้เป็นส่วนหนึ่ง ("ตอนที่ 2") ของข้อเขียนเรื่อง "ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา" ที่ผมเคยเผยแพร่ทางเว็บครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2547 โปรดสังเกต ส่วนที่ทำตัวเน้นสีแดง
ตอนที่ 2: การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่
ปัญญาชน 14 ตุลา เริ่มก่อรูปในลักษณะที่มีความหลากหลายอย่างมากที่สุด ตั้งแต่เสรีนิยมเชียร์เจ้า (อย่าง ชัยอนันต์ สมุทวนิช) ไปถึง ซ้าย พคท. (เช่น รวี โดมพระจันทร์) แม้ว่าการต่อต้านรัฐบาลทหารและที่สำคัญคือการเติบโตของอิทธิพล พคท.ในกลางทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 จะทำให้เกิดเอกภาพขึ้นในขบวนการนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปัญญาชนรุ่นนี้ แต่เอกภาพนี้มีลักษณะของการกีดกัน (marginalize) กระแสความคิดอย่างอื่น (หรือลดทอนให้เป็นแนวร่วม) มากกว่าจะเป็นเอกภาพที่เกิดจากการผสมผสานของกระแสต่างๆในปัญญาชนรุ่นนี้ (คือเป็นชัยชนะของกระแสพคท.เหนือกระแสอื่นๆ)
ในทางตรงข้าม สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจมากที่สุดในระยะประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือความเป็นเอกภาพของปัญญาชนรุ่นนี้อย่างกว้างขวางที่สุด ถึงระดับที่คนสำคัญๆเกือบทุกคนในหมู่พวกเขาสามารถเข้าร่วมสนับสนุนการรณรงค์เคลื่อนไหวเป็นเสียงเดียวได้อย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านั้น (ที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" และรัฐธรรมนูญ 2540) เมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งในปัญญาชน 14 ตุลาคนสำคัญ (รังสรรค์ ธนะพรพันธ์) ได้ประดิษฐ์คำว่า "ฉันทามติกรุงเทพ" (Bangkok Consensus) ขึ้นเพื่อบรรยายภาวะการเห็นด้วยร่วมกันในหมู่ปัญญาชนไทยเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ (ภายใต้การนำของกษัตริย์) โดยไม่ตั้งใจ คำนี้ได้สะท้อนความจริงที่กว้างกว่าประเด็นเรื่องทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ครอบคลุมถึงบรรยากาศทางภูมิปัญญาโดยทั่วไปของไทยปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของปัญญาชน 14 ตุลา จนเราอาจจะเรียกได้ว่า ยุคสมัยปัจจุบัน คือ ยุคสมัยแห่งฉันทามติ (Age of Consensus) ในหมู่ปัญญาชนไทย (ครั้งสุดท้ายที่มีการถกเถียงทางแนวคิดอย่างจริงจังในหมู่ปัญญาชนชั้นนำของไทยคือเมื่อไร? มีใครนึกออกบ้าง?)
ผมขอเสนอว่า การมีเอกภาพทางความคิดอย่างกว้างขวางในหมู่ปัญญาชนไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการที่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่ (thematic shift) ในหมู่พวกเขา กล่าวคือ ปัญญาชน 14 ตุลาได้หันเหหรือละทิ้งจากแนวคิดที่เคยยึดถืออยู่ในระยะก่อตัวของพวกเขาเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน หันมาเห็นด้วยร่วมกันในประเด็นหลักสำคัญๆ 2-3 ประเด็น การเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนประเด็นนี้ เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ใช่เพียงชั่วข้ามคืน และไม่ได้ผ่านการถกเถียง
ผมขอเสนอว่า ในปัจจุบัน มีประเด็นหลักอยู่ 3 ประเด็น ที่ปัญญาชน 14 ตุลา เห็นด้วยร่วมกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีใครเรียบเรียง (articulate) ประเด็นเหล่านี้ออกมา เป็นงานที่ได้รับการยอมรับทั่วไป และไม่ได้หมายความว่า เราจะพบประเด็นเหล่านี้ พร้อมๆกันทั้ง 3 ประเด็นในความคิดหรืองานของคนเดียวเสมอไป แต่โดยทั่วไป ผมคิดว่าไม่ผิดพลาดที่จะกล่าวว่า 3 ประเด็นนี้ประกอบกันขึ้นเป็น ขอบเขตของความคิด (limits of thought) เป็น "สามัญสำนึก" (common sense) หรือ "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย" (Zeitgeist) ของปัญญาชนปัจจุบัน ประเด็นเหล่านี้คือ
หนึ่ง reconciliation with the monarchy (ผมพยายามหาคำในภาษาไทยที่ฟังเข้าท่าสำหรับประเด็นนี้อยู่นาน ยังหาไม่ได้ ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษไปพลางๆก่อน ใครจะแปลว่า "คืนดีกับสถาบัน" ก็ได้) ในบรรดา 3 ประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึง ประเด็นแรกสุดนี้ ต้องถือว่าสำคัญที่สุด เพราะก่อนอื่นที่สุด เป็นประเด็นเดียวใน 3 ประเด็นที่กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จริงๆ ขณะที่อีก 2 ประเด็นสามารถกล่าวได้ว่า มีส่วนเป็นมรดกตกทอดมาจากกระแสความคิดแบบพคท.ที่ปัญญาชน 14 ตุลาจำนวนมากเคยอยู่ใต้อิทธิพลในสมัยก่อน และที่สำคัญ ผมขอเสนอว่า ประเด็นนี้เป็นตัวกำหนด (determinant) ประเด็นอื่นๆ ส่งผลสะเทือนชักนำประเด็นอื่นๆด้วย เหมือนกับเป็น "แกน" ของ "ฉันทามติ" หรือจิตวิญญาณร่วมสมัยที่เรากำลังกล่าวถึง
ผมกล่าวว่า ใน 3 ประเด็น นี่เป็น "สิ่งใหม่" จริงๆในหมู่ปัญญาชน 14 ตุลา ในความเป็นจริง นี่เป็นสิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์ปัญญาชนไทยโดยรวมด้วย กล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกนับแต่สมัย เทียนวรรณ เมื่อกว่า 100 ปีก่อน ที่ไม่มีกระแสสำคัญที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันในหมู่ชนชั้นปัญญาชน (the intelligentsia) สยาม/ไทยอยู่เลย
กล่าวสำหรับปัญญาชน 14 ตุลาในปัจจุบัน รูปแบบหลักของการแสดงออกของประเด็นนี้ ยังไม่ใช่ในลักษณะ อาเศียรพาทสดุดี แม้จะมีการแสดงออกประเภทนี้ให้เห็นบางชิ้นที่สำคัญมากๆ (ตั้งแต่ประเภทชัดเจนเต็มที่อย่าง บทความ "ฉันทามติกรุงเทพ" ของรังสรรค์ ที่กล่าวถึงข้างต้น, บทความ "ศึกษาพระราชดำรัสเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" ของธีรยุทธ บุญมี, ไปจนถึง แบบกระจัดกระจายในงานของนิธิ หรือประโยคประเภทในบทความของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล "ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีสถาบันและผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ให้ยอมรับนับถือกันเลยหรือ" หรือการเชียร์หนังสือ "บ้านพ่อ" ของแอ๊ด คาราบาว การถูก "ขอ" ให้เขียนการ์ตูนของชัย ราชวัตร การ "อิง" ในระหว่างรณรงค์ค้านการย้ายธรรมศาสตร์ ไปจนถึงการอ้างอิงเชิงสดุดีในหมู่เอ็นจีโอ ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้ แม้จะมีความสำคัญ และไม่เคยปรากฏมาก่อน (ซึ่งลำพังตัวอย่างเหล่านี้ก็เพียงพอให้ต้องขบคิด วิเคราะห์) แต่ก็ยังไม่ใช่รูปแบบการแสดงออกที่เป็นหลักของประเด็นนี้ แต่รูปแบบหลักคือ การถือว่าประเด็นเรื่องสถาบัน ไม่ใช่ประเด็น อีกต่อไป (no longer an issue) (ซึ่งก็ยังเห็นได้ถึงความแตกต่างเป็น "ระดับ" คือ ตั้งแต่ "ไม่ใช่ประเด็นเลย" ไปจนถึง "ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพูดตอนนี้" หรือ "ควรหลีกเลี่ยงประเด็นนี้เพื่อให้พูดประเด็นอื่นๆได้" หรือ "ไม่ใช่ประเด็นสำคัญพอที่จะเป็นอุปสรรคให้ร่วมมือกันไม่ได้")
(ผมขอเสนอด้วยว่า สิ่งที่เหมือนเป็น "ผลพลอยได้" ที่ตามมาอย่างหนึ่งของการ reconciliation with the monarchy คือการ reconciliation with the military กรณีที่เด่นชัดที่สุดคืองานของ สุรชาติ บำรุงสุข แต่มีให้เห็นได้ทั่วไปในหมู่ปัญญาชนคนอื่นด้วย ขอให้สังเกตปฏิกิริยา - คือ การไม่มีปฏิกิริยา - เมื่อมีการขอซื้อ-ขยายกำลังอาวุธต่างๆของกองทัพ)
สอง การปฏิเสธการเลือกตั้งในฐานะองค์ประกอบหลักสำคัญของประชาธิปไตย ในแง่หนึ่ง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยที่ปัญญาชน 14 ตุลา อยู่ภายใต้อิทธิพล พคท. มีการวิพากษ์ "ประชาธิปไตยรัฐสภา" วิพากษ์นักการเมือง พรรคการเมือง และด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกจากสมัยนั้น แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง "ใหม่" ของประเด็นนี้ในปัจจุบัน คือการวิพากษ์นั้น ได้ขยายขอบเขตเป็นการปฏิเสธ หรือสร้างอคติให้ต่อการเมืองแบบเลือกตั้ง per se
ในจารีตปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทย แม้จะมีการวิพากษ์การเลือกตั้ง หรือระบอบรัฐสภา ลักษณะการวิพากษ์เป็นไปในลักษณะที่ว่า การเลือกตั้งและระบอบรัฐสภาที่เป็นอยู่ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง (ประชาชนไม่มีสิทธิเต็มที่ในการสมัครเลือกตั้ง หรือรณรงค์ ตามความเชื่อทางการเมืองของตนอย่างแท้จริง) แต่การวิพากษ์ในปัจจุบัน เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ไปถึงขั้นสร้างความรู้สึก "แย่" ต่อการเมืองแบบการเลือกตั้งเอง ถึงขั้นที่ว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน สามารถจำกัดสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดได้ โดยได้รับการยกย่องว่าเป็น "รัฐธรรมนูญประชาชน" จากบรรดาปัญญาชน 14 ตุลา!
อาจจะกล่าวว่า ถ้าจะดู "ชัยชนะ" หรือ "ความสำเร็จ" ของ ปัญญาชน 14 ตุลา อย่างเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน คือ การที่พวกเขาสามารถทำให้ 2 คำ (หรือสิ่งที่เชื่อมโยงกับ 2 คำนี้) กลายเป็น "คำสกปรก" (dirty words) ใน "วาทกรรมทางการเมือง" ร่วมสมัยได้ คือ คำว่า "การเลือกตั้ง" และ "การพัฒนา"(cf. เกษียร กรณี "นักเลือกตั้ง" และ "เลือกตั้งธิปไตย" และ รังสรรค์ กรณี "อัปรีย์ชน")
ความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นนี้กับประเด็นแรก เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด (cf. ประโยคของเสกสรรค์ข้างต้น) นับเป็น irony อย่างใหญ่หลวง (นอกจากตัวอย่างที่ว่า รัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิพื้นฐานทางการเมืองของประชาชน ได้รับการยกย่องว่า รัฐธรรมนุญประชาชน) ที่ปัญญาชน 14 ตุลา ปัจจุบัน สามารถยอมรับ อำนาจกดหัวบังคับ ที่ไม่ได้แม้แต่จะมาจากการรณรงค์อย่างเปิดเผย ให้ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่กลับปฏิเสธ หรือ ทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ อำนาจที่อย่างน้อย ยังต้องผ่านกระบวนการชักชวน เรียกร้อง เปิดเผย ให้วิพากษ์วิจารณ์ (ที่เป็นการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะจำกัดอย่างไร)
สาม ลักษณะ populism คำนี้ ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทย น่าจะเป็น "ชาวบ้านนิยม" (นี่เป็นคนละความหมายกับ "ประชานิยม" populism ที่วงการหนังสือพิมพ์ไทยใช้ตามวงการ นสพ.ฝรั่ง ซึ่งมีความหมายถึงนโยบายที่ "เอาใจคนลงคะแนนเสียง") คำนี้ผมใช้สำหรับเป็นคำรวมถึงประเด็นย่อยที่ต่อเกี่ยวข้องกัน 2-3 ประเด็น คือ การให้ความสำคัญกับ "ชาวนา" หรือ "ชาวบ้าน" กับ "ชนบท", การต่อต้าน "การพัฒนา", สนับสนุน "เศรษฐกิจแบบพอเพียง", การยกย่อง "ท้องถิ่น" และ "ชุมชน" ซึ่งขยายไปถึงลักษณะเชิง "ชาตินิยม" เรื่อง ความเป็นไทย, "แบบไทยๆ" (ซึ่งเป็นคนละแบบกับแบบไทยของรัฐบาล แต่ก็เป็นแบบไทย)
การยอมรับ 3 ประเด็นนี้ประสานกัน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ปัญญาชนไทย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นำไปสู่การรณรงค์ร่วมกันครั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะคือสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิรูปการเมือง" และ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนำไปสู่ระบอบการเมืองปัจจุบัน ที่เป็น irony อย่างมากคือ ในปัจจุบัน หากดูปรากฏการณ์ภายนอก อาจจะรู้สึกว่า ปัญญาชน 14 ตุลา เอาแต่ "ค้านรัฐบาล" (ในรูปแบบต่างๆ จาก บทความนิธิ ถึงการรณรงค์ของ เอ็นจีโอ) ในความเป็นจริง รัฐบาลปัจจุบัน (ซึ่งองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และระบอบรัฐปัจจุบัน ("องค์กรอิสระ" ต่างๆ เป็นต้น ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน) ล้วนเป็นผลผลิตของกระแสความคิดที่ปัญญาชน 14 ตุลา เป็นกำลังสำคัญในการสร้างขึ้น และยกเว้นแต่เราจะหลงอยู่เพียงระดับของ โวหาร (rhetoric) การ "วิพากษ์" ของ "ปัญญาชน 14 ตุลา" ในรูปต่างๆดังกล่าว แท้จริง เป็นการ "วิพากษ์" ในระดับผิว ที่คลุมอยู่ด้วยคำที่น่ากลัวอย่าง "โครงสร้าง" "ระบบ" "ความเป็นอิสระจากรัฐและทุน" ฯลฯ เท่านั้น ไม่นับโวหารเหล่านี้ ในความเป็นจริงคือ ปัญญาชน 14 ตุลา ให้การสนับสนุน ระบอบรัฐปัจจุบัน ("โครงสร้าง") ที่ในการแสดงออกประจำวันพวกเขามีท่าที "วิพากษ์" อย่าง "ถึงราก" หรืออย่าง "เชิงโครงสร้าง"
ขอให้เรามาพิจารณาบางประเด็นข้างต้น ให้ละเอียดยิ่งขึ้น
(จบตอน ข้อเขียนนี้มีทั้งหมด 3 ตอน ฉบับเต็มยังไม่ได้เผยแพร่)
<< Home