Thursday, September 28, 2006

ท่าทีใหม่ของ ม.เที่ยงคืน (แต่งดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราว): พวกคุณกำลังหลอกใครเล่น?

(29 กันยายน 2549)



(โปรดอ่านประกอบ รายงานข่าวท่าทีใหม่ของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน จากประชาไท ที่นี่ หรือ ที่นี่ และดูตัวบทแถลงการณ์ที่นี่ )

ท่าทีใหม่สุดของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน เกิดขึ้น หลังจากท่าทีแรกสุดที่มีลักษณะชวนสมเพชอย่างยิ่ง (ดูความเห็นผมที่นี่) ท่าทีใหม่นี้ ดูเหมือนกับจะแสดงความ "กล้าหาญ" อย่างคาดไม่ถึง (แต่งชุดดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) แต่ในความเป็นจริง เมื่อมองเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงและบริบทต่างๆแล้ว ผมเห็นว่า ท่าทีใหม่อาจจะชวนสมเพชยิ่งกว่าด้วยซ้ำ


(1) ท่าทีใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจาก มีกลุ่มแอ๊กติวิสต์หลายกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็น "เด็ก" อ่อนอาวุโสกว่านักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และไม่มี protection ใดๆ หรือมีน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ออกมาแสดงความกล้าหาญ ไม่เพียงประณาม คัดค้าน ยังทำการ "ขัดขืน" คำสั่งคณะปฏิรูป ตลอด 10 วันที่ผ่านมา ในขณะที่บรรดานักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ซึ่งทำตัวเป็น "หัวหอก" ของการประท้วงคัดค้านในสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง กลับมีท่าทีอันชวนสมเพชดังกล่าว การออกมาแสดงท่าทีตอนนี้ ยิ่งในลักษณะของการใช้ stunt (ชุดดำ, ฉีกรัฐธรรมนูญ) จึงกลับชวนให้รู้สึกว่า นี่คือการ "ฉวยโอกาส" สร้างภาพชดเชย กับท่าทีกระมิดกระเมี้ยน (timidity) ก่อนหน้านี้ ทั้งยังเป็นการ "ฉวยโอกาส" เอาความดีจาก "เด็กๆ" ที่แสดงความกล้าหาญ เสี่ยงนำทางไปก่อน (ดูประเด็นต่อมาประกอบ)


(2) จากข้อ (1) (การ "มาช้า", ใช้ stunt) เมื่อมองเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่สำคัญยิ่งอีกข้อหนึ่ง ยิ่งชวนให้เห็นว่า นี่ไม่เพียงมีลักษณะของการ "ฉวยโอกาส" (ในความหมายที่เพิ่งพูด) เท่านั้น หากยังเรียกได้ว่า น่าสมเพช และน่าถูกวิพากษ์ประนามเสียเองด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงที่ว่าคือ

จนกระทั่งวินาทีนี้ ก็ยังไม่มีคำว่า (เราขอ) "ประนามคัดค้านการรัฐประหาร" จาก ม.เที่ยงคืน!!

ก่อนที่ใครจะหาว่าผม "ชอบจับผิด" หรือ "จุกจิก" ขอให้คิดดูให้ดีๆ เป็นความจริงว่าในแถลงการณ์นี้ มีการพูดว่ารัฐประหารครั้งนี้ "เป็นการทำลายหลักการสำคัญการปกครองและพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย" (น่าสังเกตว่าคนอย่างเสน่ห์ หรือ ชัยวัฒน์ ก็บอกว่ารัฐประหาร "ผิดรัฐธรรมนูญ" หรือ "ผิดศีลธรรม" โดยไม่ยอม "ประนามคัดค้าน" เช่นกัน)

การพูดเช่นนี้ แต่ไม่ยอมใช้คำว่า "ประนามคัดค้าน" สำคัญไหม? มีความแตกต่างอะไรไหม?

ผมเสนอว่า สำคัญ และ แตกต่างอย่างยิ่ง

ใครที่อ้างว่าไม่สำคัญ ไม่แตกต่างกัน ต้องถามกลับว่า ถ้าไม่แตกต่างกันจริงๆ ทำไมไม่ยอมใช้คำว่า "ประนามคัดค้าน"?

ความจริงคือ ถ้าสังเกตให้ดี ไม่หลงไขว้เขวไปกับ stunt ที่ใช้ จะเห็นว่า ท่าทีใหม่ของม.เที่ยงคืนครั้งนี้ แท้ที่จริง เพียงพุ่งเป้าที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารเท่านั้น

พวกเขากำลังบอกว่าอะไร?

รัฐประหาร โอเค รัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้นที่คัดค้าน?

เมื่อมองจากสถานภาพของบรรดานักวิชาการ ม.เที่ยงคืน และบทบาทสมัยรัฐบาลเลือกตั้งของพวกเขา ท่าทีไม่ยอมประนามคัดค้านรัฐประหารนี้ ชวนให้เหลือเชื่อยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ถ้าเปรียบเทียบกับแถลงการณ์ของ 4 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความกล้าหาญและมีเกียรติของนักวิชาการเป็นอย่างไร โปรดดูที่นี่) นี่คือแถลงการณ์ประเภทที่ นักวิชาการใหญ่ๆแห่งม.เที่ยงคืน ควรจะออกแต่แรก หรือถ้าไม่กล้าออกแต่แรก ก็ควรออกในขณะนี้ การไม่ยอมมีท่าทีเช่นนี้แม้ในขณะนี้ แต่กลับทำ stunt เรื่องแต่งดำ ฉีกรัฐธรรมนุญ เป็นเรื่องยากจะกลืนได้จริงๆ ในความเห็นของผม

(ดู "เหตุผล" หรือ "คำแก้ตัว" ที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งของการไม่ยอมประนามรัฐประหาร ในข้อต่อไป)


(3) ในการออกมาแสดงท่าทีใหม่ครั้งนี้ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ยังคงยืนยัน ย้ำสิ่งที่พวกเขาพูดไปก่อนหน้านี้คือรัฐประหารเป็นเรื่องที่ "ผ่านไปแล้ว", "ยังไงเราก็ย้อนกลับไม่ได้" (สมเกียรติ ตั้งนโม กล่าวในครั้งนี้ว่า "อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้" และดูบทความนิธิในมติชน "สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว" และแถลงการณ์ ม.เที่ยงคืนฉบับแรก "เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้แล้ว")

ผมต้องสารภาพว่า จนบัดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า การที่พวกเขาย้ำแล้วย้ำอีกประเด็นนี้เพื่ออะไร แปลว่า อะไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นสิ่งเหลือเชื่อที่นักวิชาการอันมีชื่อเสียงในแง่การคิดอัน "แหลมคม" ของ ม.เที่ยงคืน มาย้ำประเด็นที่โง่เขลาเช่นนี้

ถ้านี่เป็นการย้ำเพื่อจะแก้ตัวกับการไม่ยอมประนามการรัฐประหาร ประเภท "ไม่มีประโยชน์ที่จะประนามคัดค้าน รัฐประหาร เพราะผ่านไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว" ....

ถ้านี่คือสาเหตุ (ทั้งสำนึกหรือใต้สำนึก) ของการย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องนี้จริงๆ ก็ต้องบอกว่า การสร้างความชอบธรรมให้กับความขลาดกลัวของตัวเองของพวกคุณอยุ่ในระดับที่ต่ำกว่าความจำเป็นของการวิจารณ์ให้ได้ประโยชน์แล้ว

ถ้าไม่นับเรื่องนี้ (คือย้ำเพื่อแก้ตัวแทนการไม่ยอมประนาม) มีคำอธิบายที่เป็นไปได้อะไรอีก?

ก่อนอื่น พวกคุณคงไม่ได้หมายถึง การย้อนเวลาในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ (time travel ไปก่อนรัฐประหาร!) แน่ เพราะในแง่นี้ ไม่มีใครสติเสียพอที่จะเสนอ ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องมาพูดย้ำหลายครั้ง

หรือพวกคุณน่าจะหมายถึงการ "ย้อนกลับ" ในความหมาย ของ "สภาพทางการเมือง"?

แต่ในความหมายนี้ ยิ่งแย่กับพวกคุณเข้าไปใหญ่ เพราะสะท้อนให้เห็นลักษณะความจำสั้น และการขาดจิตใจที่วิเคราะห์วิจารณ์และมีจินตนาการ (analytical, critical and imaginative mind) ของพวกคุณเอง ไม่สมกับชื่อเสียงเลย

ถ้าการย้ำเรื่องนี้ เพื่อจะบอกว่า เราต้องมีลักษณะแบบที่ฝรั่งเรียกว่า realism ("มองโลกอย่างเป็นจริง") คือเราไม่สามารถรื้อฟื้นสภาพการเมืองก่อนรัฐประหารขึ้นมาได้อีก ทำนอง "ทำอะไรไม่ได้แล้ว ยังไงทหารก็ไม่ยอมลง ไม่ยอมเลิก" - ถ้านี่เป็นสิ่งที่ realistic คือจะเกิดขึ้นจริงๆ คือยังไงทหารก็ไม่ยอมลง ไม่ยอมเลิก หรือยังไงก็ "เอาพวกนี้ลงไม่ได้" จริง ก็ไม่เห็นมีประโยชน์ที่ต้องมาบอกซ้ำๆตอนนี้

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ใครบอกพวกคุณว่า "สภาพการเมือง" เป็นเหมือนก้อนอะไรก้อนเดียว ถ้า "ย้อนกลับคืน" ต้องหมายถึง การ "ย้อน" ทีเดียว "ทั้งก้อน"?

กรณี 17 พฤษภา คืออะไร ถ้าไม่ใช่การ "ย้อนเวลากลับไปก่อน รสช."?

อันที่จริง 17 พฤษภา ไม่เพียง "ย้อนกลับไปก่อน รสช." คือ ย้อนเวลากลับไปประมาณปีครึ่งเท่านั้น แต่เป็นการ "ย้อนเวลา" กลับไปไกลกว่าก่อน รสช. เกือบ 20 ปี คือกลับไปประมาณปี 2516-2517 หลัง 14 ตุลา เมื่ออำนาจทางการเมืองของทหารถูกบั่นทอนลงไปอย่างรุนแรง!

นี่ไม่ใช่การ "ย้อน" สภาพการเมือง ("เวลา") บางด้านที่สำคัญหรือ?

ผมจึงกล่าวว่า ใครบอกพวกคุณว่า "เวลา" หรือ "สภาพการเมือง" ถ้าจะย้อน ต้องย้อน ทั้งก้อน?

การย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องนี้ของพวกคุณ นอกจากสะท้อนให้เห็นความขาดกลัวอย่างลึกๆแล้ว ยังสะท้อนการขี้ลืม ความจำสั้น ขาดการวิเคราะห์วิจารณ์และจินตนาการอย่างมากด้วย

(ผมพูดตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมสนับสนุนให้เกิด 17 พฤษภา ความไม่เห็นด้วยต่อลักษณะบางอย่างของ 17 พฤษภาของผม คงเป็นที่รู้กันดี แต่ใครบอกว่า ขบวนการแบบ 17 พฤษภา จะต้องลงเอยด้วยการนองเลือดเสมอไปเท่านั้น?)


(4) ผมจะเก็บประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ไว้พูดถึงในโอกาสหน้า เพราะเรื่องนี้ มีหลายกลุ่มที่พูดถึงพร้อมกัน ผมอยากพูดสั้นๆในทีนี้ว่า ข้อเสนอของ ม.เที่ยงคืน หรือของกลุ่มอื่นๆในหลายวันมานี้ สะท้อนการ ไม่รู้จักเรียนรู้และคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่กี่ปีนี้ ที่สำคัญคือยังคงหลอกตัวเองเรื่องไอเดีย "ปฏิรูปการเมือง" เรื่อง "รัฐธรรมนูญ 40" เป็น "ประชาธิปไตยที่สุด" "ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด" (ด้านที่รัฐธรรมนุญนี้ให้อำนาจแบบสมบุรณาญาสิทธบางอย่างแก่กษัตริย์ และริดรอนสิทธิพื้นฐานที่สุดในการเลือกตั้งของประชาชนกลับกลายเป็นเรื่องถูกมองข้ามง่ายๆ) ฯลฯ

(รวมทั้งคิดว่า คงไม่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นลักษณะ กระมิดกระเมี้ยน ของข้อเสนอบางข้อที่อยู่ภายใต้ "ฉากหน้า" stunt ที่ "กล้าหาญ" เช่น เรื่องที่ ม.เที่ยงคืน เสนอให้ คปค. "สลายตัวไปหลังเลือกตั้ง" ทำไมช่าง "กล้า" เช่นนี้? ทำไมไม่เสนอให้ "สลายตัวทันที" (มีหลายกลุ่มเสนอแล้ว) หรืออย่างน้อย "หลังจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว (ก่อนเลือกตั้ง)"?)

สรุปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่า นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน กำลังหลอกใครเล่น? ตัวเอง หรือ ประชาชน หรือ ทั้งคู่?