"เรื่องเก่า" : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กับ "พลังแผ่นดิน"
(13 มกราคม 2550)ผมมี "เรื่องเก่า" ที่อยากพูดถึงสั้นๆเรื่องหนึ่ง เนื่องจาก วันก่อนผม search เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ "พลังแผ่นดิน" แล้วไป "สะดุด" พบบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมตกใจ เสียใจ และผิดหวังมาก ผมยกเรื่องนี้มาพูด นอกจากความน่าสนใจเกี่ยวกับบทความดังกล่าวเองแล้ว ยังเพราะว่าเจ้าของบทความนี้ เป็นหนึ่งในผู้เขียนของ ฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร 19 กันยา ที่กำลังจะเปิดตัวในวันศุกร์นี้ด้วย
บทความที่ว่าคือ "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ : บททดลองเสนอ" ของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน คม ชัด ลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และ โอเพ่นออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่อีกทางเว็บไซต์ไม่กี่วันต่อมา (ดูที่นี่ หรือฉบับ printer friendly ที่นี่)
ความจริง ผมแปลกใจไม่น้อยที่ตัวเองตกหล่นไม่เห็นบทความนี้เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก แต่ที่ผมตกใจและเสียใจอย่างยิ่งคือ ในบทความนี้ พิชญ์ได้เสนอความคิดของ Habermas เกี่ยวกับ deliberative democracy ซึ่งเขาแปลว่า "ประชาธิปไตยแบบ" ผมไม่มีปัญหาในนำเสนอเรื่องนี้ แต่ที่ชวนให้ตกใจ คือ ในการนำเสนอความคิดเรื่องนี้ จู่ๆ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พิชญ์ เลือกที่จะ "แทรก" คำๆหนึ่งเข้ามาด้วย คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" นี่คือประโยคสำคัญที่ พิชญ์ "แทรก" คำนี้เข้ามาในการนำเสนอ Habermas
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ “พลเมือง” ซึ่งได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะมารวมกันปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” (หมายถึง ความเห็นของพลเมือง และเจตนารมณ์ของพลเมือง = will) ทั้งนี้การปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” นี้มิได้วางอยู่บนเรื่องการ “แข่งขัน” ทางการเมือง หรือการ “เชื่อฟัง” เสียงส่วนใหญ่ และรัฐ เพียงเท่านั้นก่อนอื่น นี่ไม่ใช่คำที่ Habermas ใช้อย่างแน่นอน การที่พิชญ์ จงใจใช้คำนี้ในบริบทของการแนะนำความคิดของ Habermas เรื่อง deliberative democracy โดยเฉพาะในย่อหน้าที่เพิ่งยกมานี้ เป็นการใช้แบบ "มั่วเข้ามา" (arbitrary) ให้ความรู้สึกเกือบจะเป็นการ "ไม่ให้ความเคารพ" ต่อผู้เขียนเดิมคือ Habermas อย่างยิ่ง (โดยไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของ Habermas ในขบวนการภูมิปัญญาร่วมสมัย) เป็นการใช้ที่กล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นฐานหรือความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะใช้ ไม่มีคำอธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเลยว่าทำไมต้องใช้คำนี้ (พิชญ์ใช้คำนี้ในบทความถึง 9 ครั้ง)
ขอให้สังเกตด้วยว่า "นิยาม" ของคำนี้ของพิชญ์ในวงเล็บในย่อหน้าข้างต้น เรื่อง "เจนารมณ์ของพลเมือง" หรือ will ก็ไม่ใกล้เคียงเลยกับการที่จะแปลว่า "พลังแผ่นดิน"
มองได้อย่างเดียวว่านี่เป็นการใช้ทางการเมือง เป็นการ associate คำนี้ เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย
นี่เป็น BAD JUDGEMENT อย่างยิ่ง
คำนี้ ในประเทศไทย มีความหมายที่แน่นอน ที่ทุกคนรู้ดี
การที่พิชญ์ assciate คำนี้เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย เป็นการ "อ่อนข้อ" ให้กับกระแสสังคม หรือ "จิตสำนึกร่วมสมัย" ที่ปัญญาชนนักวิชาการปัจจุบัน (ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 14 ตุลา") ช่วยกันสร้างขึ้น ซึ่งเพิกเฉยละเลยต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์
มิหนำซ้ำ ในบทความ พิชญ์ยังได้นำเสนอเรื่องนี้ คือไม่เพียงแต่ไอเดียเรื่อง deliberative democracy แต่คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" ในลักษณะวิพากษ์การเลือกตั้งด้วย ("...'พลังแผ่นดิน' จากการปรึกษาหารือจึงไม่ใช่ 'ฉันทามติ' ที่รัฐบาลนำไปใช้ 'อ้างได้ตลอดเวลา' ว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเรียบร้อยแล้ว ด้วย 'จำนวน' อาทิ 19 ล้านเสียง...")
ผมจะไม่พูดซ้ำโดยละเอียดอีก แต่ขอยืนยันอย่างสั้นๆว่า การวิจารณ์การเลือกตั้ง (และนักการเมืองที่อ้างการเลือกตั้ง) ในบริบทสังคมไทยซึ่งรัฐส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ที่อยู่บนพื้นฐานกดขี่บังคับ มอบเมา เหยียบย่ำมนุษย์) มีอำนาจอย่างมหาศาล โดยที่คนวิจารณ์เองไม่เคยมีท่าทีคัดค้านอย่างจริงจัง พูดง่ายๆคือ แสดงความพร้อมที่จะ "ทนอย่างหน้าชื่น" (ถ้าไม่เชียร์เลยด้วยซ้ำ) นั้น เป็นอะไรบางอย่างที่ วิปริต (perverse) อย่างยิ่ง
สำหรับผม การนำเสนอคำว่า "พลังแผ่นดิน" ของพิชญ์ในบทความนี้ (ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องการเมือง) เป็นเรื่องน่าตกใจและเสียใจ เพราะผมคิดไม่ถึงว่าคนที่ highly intelligent อย่างพิชญ์ จะเขียนเช่นนี้ได้ แต่นี่ก็สะท้อนให้เห็น (ในทัศนะของผม) ถึงขอบเขตอันกว้างขวางของการ "อ่อนข้อ" เช่นนี้ในหมู่ปัญญาชนปัจจุบัน
(หมายเหตุ: ดูปฏิกิริยาของ พิชญ์ ต่อกระทู้นี้ได้ที่นี่)
<< Home