Friday, July 20, 2007

ความเป็นมาของไอเดีย "ราชประชาสมาสัย"

(12 กุมภาพันธ์ 2550)



ถ้าจำไม่ผิด หลัง 17 พฤษภา ไม่นาน เกษียร เคยเขียนบทความใน ผู้จัดการ อธิบายแนวคิด "ราชประชาสมาสัย" บทความเกษียรน่าจะรวมอยู่ในหนังสือรวมบทความเล่มใดเล่มหนึ่งของเขา เข้าใจว่า เกษียรแปลคำว่า "ราชประชาสมาสัย" เป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย

ถ้าเข้าใจไม่ผิด คำว่า "ราชประชาสมาสัย" มาจาก ราช + ประชา + สม + อาสัย แปลว่า ราชากับประชาชนพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้นตำรับไอเดียนี้ในสมัยใหม่มาจากบทความชัยอนันต์ ที่ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ รายวัน 13 ธันวาคม 2516 ความจริง ชัยอนันต์เขียนเรื่องนี้ ไม่ใช่เพื่อสนับสนุน "สภาสนามม้า" ที่กำลังตั้ง (10 ธันวาคม 2516) โดยตรง แต่เขาเขียนในฐานะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งตั้งก่อน "สภาสนามม้า") ชัยอนันต์กล่าวถึง การที่ พระมหากษัตริย์กลายเป็นความหวังของประชาชนหลังจากการปกครองของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเป็นเวลานาน แล้วกล่าวว่า มีคนเสนอมาที่กรรมการ่างรัฐธรรมนูญว่า ให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พระมหากษัตริย์ในการเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก เพื่อเป็นการคานอำนาจของ ส.ส.ที่จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีคนค้านว่า ข้อเสนอดังกล่าว "อาจเป็นการนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมือง" แล้วชัยอนันต์ ก็เขียนตามทันที ในย่อหน้าสำคัญต่อไปนี้ (เน้นคำของผม)
ความคิดทั้งสองประการนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ซึ่งเป็นทางสายกลาง เราอาจเรียกวิธีการหรือระบบใหม่นี้ว่า ราชประชาสมาสัย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากนั้น ชัยอนันต์ได้เสนอวิธีการได้มาของวุฒิสมาชิก จากหลักการ "ราชประชาสมาสัย" ที่ว่านี้ในย่อหน้าถัดไป สรุปคือ ให้ องคมนตรี "ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย" เสนอรายชื่อ "บุคคลจากอาชีพต่างๆ ที่มีคุณธรรม ความสามารถ" โดยเสนอให้มากจำนวนกว่าจำนวนสมาชิกวุฒิสมาชิกจริง เช่น 3 เท่า (ตัวอย่าง ถ้าวุฒิสมาชิกมี 100 คน ให้เสนอ 300 รายชื่อ) แล้วให้ สภาผู้แทนราษฎร (ทีมาจากการเลือกตั้ง) เลือกให้เหลือจำนวนที่กำหนดไว้ (100 คนตามตัวอย่าง) แล้วประธานสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หลังจากนั้น ชัยอนันต์ ได้สรุป ข้อดีของข้อเสนของเขา (การได้มาของวุฒิสมาชิก) เป็น 4 ข้อ แล้วสรุป (ย่อหน้าสุดท้ายของบทความ) ว่า
ราชประชาสมาสัยเป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบการเมืองไทย ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการทางการเมืองและสังคมไทย
เนื่องจากบทความของชัยอนันต์ตีพิมพ์พอดีกับการตั้ง "สภาสนามม้า" ทำให้มีการนำคำนี้ไปใช้อธิบาย "สภาสนามม้า" ด้วย แต่ถ้าอ่าน text ของชัยอนันต์ดีๆ จะเห็นว่า ข้อเสนอของชัยอนันต์ ยังวางอยู่บนพื้นฐาน ที่ให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้เลือก วุฒิสมาชิก ที่ องคมนตรี เสนอรายชื่อมา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการมี ส.ส.แต่งตั้งทั้งหมดของ "สภาสนามม้า"

(รายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ จะอยู่ในบทความเรื่อง "สมัชชาแห่งชาติ 2516 หรือ วิธีทำรัฐประหารโดยไม่ให้คนรู้ตัว" ของผม ซึ่งยังไม่เสร็จเรียบร้อย

ส่วนคำว่า "เอนกนิกรสโมสรสมมุติ" แปลว่า บรรดาพลเมืองทั้งปวงมารวมกันแล้วตั้งกษัตริย์ ผู้เสนอเรื่องนี้ อ้างว่า กษัตริย์ของไทย เป็น เอนกนิกรฯ คือ พลเมืองพร้อมใจยอมรับให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจปกครองเหนือพลเมืองเอง (คือเป็น "ประชาธิปไตย" อย่างหนึ่ง)





ราชประชาสมาสัย
ชัยอนันต์ สมุทวณิช
(สยามรัฐ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๖ เน้นคำ ตัวหนาและตัวเอน ตามต้นฉบับ ผมแก้การพิมพ์ผิดบางแห่งให้)


การที่ระบบการเมืองไทยขาดรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมานานเป็นสาเหตุให้มีผู้พยายามเสนอวิธีการใหม่ๆหลายอย่างที่จะสร้างเสริมฐานะของรัฐบาล ให้รับผิดชอบต่อปวงชนโดยสมบูรณ์ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นต้น ความระส่ำระสายในวงการเมือง ความไม่มั่นคงของพรรคการเมือง ความไม่รับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การแผ่อำนาจเกินขอบเขตของผู้บริหารและระบบราชการ ล้วนแต่มีส่วนทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในการเมืองเป็นส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่า สถาบันทางการเมืองในปัจจุบันไม่อาจทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะเชื่อมโยงและสะท้อนถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้

การเมืองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนในชาติ แต่วงการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาได้ถูกจำกัดให้เป็นเวทีที่บุคคลและกลุ่มบุคคลเพียงจำนวนน้อยผลัดเปลี่ยนกันแย่งชิงอำนาจ และฉกผลประโยชน์ของประชาชนตลอดมา ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันให้อยู่นอกวงการเมือง ๔๐ กว่าปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งไม่กี่ครั้ง แต่ละครั้ง จบลงด้วยการยึดอำนาจของทหารตามอำเภอใจ ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนฝากชีวิตไว้ทำความผิดหวังให้ผู้เลือก พรรคการเมืองเป็นแต่เพียงการรวมกลุ่มกันตามแบบพิธีการของบุคคลผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน

ผลที่ตามมาจากสภาพการเหล่านี้ได้แก่ ความท้อแท้ สิ้นหวัง สิ้นศรัทธาในระบบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ประชาชนเริ่มถามตัวเองว่าเราได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้มีศักดิ์ มีสิทธิ์ และเสรีภาพโดยสมบูรณ์จริงหรือไม่ ในขณะที่สถาบันการเมืองแบบใหม่เสื่อมลงเป็นลำดับ สถาบันดั้งเดิมที่ถูกล้มล้างอำนาจอันเด็ดขาดไปได้พยายามปรับปรุงบทบาทให้เหมาะสมกับสภาพการที่เปลี่ยนไปทีละน้อยๆ ในขณะที่ศรัทธาของประชาชนในรัฐสภา พรรคการเมือง รัฐบาล และระบบราชการลดน้อยถอยลง พลังของประชาชน ความหวังใหม่ได้มุ่งไปสู่สถาบันเก่าแก่ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน

สถาบันกษัตริย์กลายเป็นทางเลือกของบุคคลจำนวนมาก ประชาชนทุกระดับเริ่มเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์มีบทบาททางการเมืองยิ่งขึ้น ในเวลาที่รัฐบาลห่างเหินประชาชน พระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นทุกขณะ แม้ว่าเสียงเรียกร้องจะมีมากมายที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นก็ตาม การเข้ารับเป็นฉนวนปกป้องราษฎรจากการขยายอำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาล ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นพลังการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างแท้จริง มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา

ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นจุดสุดยอดของการสั่งสมบารมีดังกล่าว และการเข้ารับภารกิจในการนำประเทศโดยตรง ด้วยการทรงเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก จึงเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนโดยทั่วไป

โดยเหตุที่ประชาชนขาดศรัทธาในสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ความหวังของประชาชนจึงมุ่งตรงมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงแห่งเดียว ด้วยความปรารถนาที่จะมอบพระราชอำนาจที่มีต่อระบบการเมืองมากขึ้น หลายคนมีความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะช่วยให้การเมืองไทยในอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่

ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญควรให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดตามพระราชอัธยาศัย เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพรรคการเมือง ถ้าจะให้สภาสูงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสภาแห่งเหตุผลและช่วยประคับประคองสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ควรให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกแห่งสภานั้น ในทำนองเดียวกัน ก็มีผู้แสดงความห่วงใยด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริงที่ว่าความคิดดังกล่าว หากนำมาปฏิบัติแล้วอาจเป็นการนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมือง

ความคิดทั้งสองประการนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ซึ่งเป็นทางสายกลาง เราอาจเรียกวิธีการหรือระบบใหม่นี้ว่า ราชประชาสมาสัย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร

ระบบใหม่นี้ใช้เฉพาะวุฒิสภา โดยคณะองคมนตรีซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย จะเป็นผู้เลือกสรรบุคคลจากอาชีพต่างๆ ที่มีคุณธรรม ความสามารถจำนวนหนึ่ง และเสนอรายชื่อบุคคลเหล่านี้ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกอีกชั้นหนึ่ง จำนวนบุคคลที่องคมนตรีเสนอไปนี้จะมีมากกว่าที่จะต้องได้รับเลือก อาจเป็น ๓ เท่า (วุฒิสภามีจำนวน ๑๐๐ คน คณะองคมนตรีจะเสนอชื่อไป ๓๐๐ ชื่อ) เมื่อสภาผู้แทนฯเลือกแล้ว ประธานสภาจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาต่อไป

วิธีการเช่นนี้มีผลดีหลายประการ และจะทำให้วุฒิสภามีคุณสมบัติตามที่ประชาชนต้องการ คือ

๑. วุฒิสภาจะประกอบด้วยบุคคลจากอาชีพต่างๆที่มีคุณธรรม ความสามารถ และไม่ฝักใฝ่กับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ

๒. เปิดโอกาสให้บุคคลจากกลุ่มอาชีพที่เสียเปรียบในสังคมแต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญ เช่น ชาวนา ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในรัฐสภา

๓. การที่คณะองคมนตรี เสนอรายชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก เท่ากับทำให้วุฒิสภาได้รับอาณัติจากปวงชนโดยทางอ้อม และก่อให้เกิดความชอบธรรมในการปฏิบัติงาน

๔. การที่คณะองคมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เลือกวุฒิสมาชิก จะทำให้ผู้ได้รับเลือกระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และมุ่งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ราชประชาสมาสัยเป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบการเมืองไทย ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการทางการเมืองและสังคมไทย