Friday, February 02, 2007

สืบเนื่องจากฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร : ธงชัย กับ "2 ไม่เอา" และการคิดเชิงยุทธวิธี

(21 มกราคม 2550)



ในหน้า 36 เชิงอรรถที่ 3 ธงชัย เขียนว่า (การเน้นคำของผม):
ในทุกระบอบประชาธิปไตย การเรียกร้องให้ผู้นำลาออกเป็นสิ่งทำได้เป็นปรกติ ตราบเท่าที่ใช้วิธีการตามระบบและกฎหมายโดยไม่มีการใช้อำนาจเถื่อนนอกระบบ ในระหว่างนั้นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งย่อมมีความชอบธรรมตามกฎหมาย นี่คือความหมายของการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ในทัศนะของผู้เขียน มิได้หมายถึงไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ความเห็นที่ว่าการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ เป็นการเมืองไร้เดียงสา หรือเป็น ‘รอยัลลิสต์ง แบบ ‘ฉวยโอกาส’ เพราะเป็นการช่วยพวกรอยัลลิสต์ทางอ้อมและปูทางแก่การรัฐประหารนั้น (ดูข้อถกเถียงเรื่องใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปัญญาชน 14 ตุลา พันธมิตร และแอ๊กติวิสต์ ‘2 ไม่เอา’,” หน้า 382-430) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการใช้ตรรกะและทัศนะตีขลุมแบบเดียวกันกับพวกที่เห็นว่าคนที่ต่อต้านพันธมิตรฯ และต่อต้านรัฐประหารในเวลาต่อมาเป็นพวกทักษิณและฉวยโอกาสเพราะเป็นการหนุนทักษิณทางอ้อมและปูทางแก่การกลับมาของทักษิณ การ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ไม่ใช่เป็นการไร้เดียงสาหรือฉวยโอกาสเลย แต่ เพราะปฏิเสธที่จะเล่นการเมืองเป็นแค่เกมแบบนั้นไม่ว่าในแง่หลักคิดหรือ timing ในช่วงวิกฤตการณ์ น่าคิดด้วยว่าทั้งสองฟากต่างหากที่เป็นการเมืองแบบ ‘ฉวยโอกาส’ ตัวจริง
เมื่อผมอ่านข้อความนี้ครั้งแรก ปฏิกิริยาผมคือ

"อ้าว! นึกว่างานธงชัยที่เขียนอยู่นี่ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองประเทศไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสียอีก แล้วไหงดันมาอ้างว่า ในระบอบประชาธิปไตย การเสนอให้ผู้นำออกจากตำแหน่ง “เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปรกติ”?

โอเค ยังงั้นก็ได้ ทำไมธงชัยไม่ทำอย่างปรกติในระบอบประชาธิปไตย บอกหน่อยว่า ใครบ้างที่เขาอยาก "ไม่เอา"?

ระบุชื่อออกมาให้หมดเลยนะตอนนี้

ทำไม่ได้ใช่ไหมล่ะ?

ไม่ว่าธงชัยหรือผมหรือใครก็ไม่กล้า (หรือไม่บ้า) พอจะระบุชื่อ "ไม่เอา" คนที่เราอยากจะ "ไม่เอา" แบบเดียวกับที่ระบุชื่อทักษิณหรอก

(footnote: อันนี้ น่าสังเกตว่า แม้แต่คำขวัญ "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" นี่ก็มีส่วนของการ "ซ่อนเร้น" บางอย่างเหมือนกัน ใช่ คนจำนวนหนึ่ง "ไม่เอานายกฯพระราชทาน" เท่านั้น แต่คนอีกไม่น้อย - ธงชัยหรือผมเองเป็นต้น - ถ้าทำได้ คงระบุชื่อคนอื่นลงไปด้วยแล้ว)

การไม่ยอมระบุออกมาตรงๆตอนนี้ว่า ใครบ้างที่คุณอยากจะ "ไม่เอา" นี่ไม่ใช่การคิดในเชิง "timing" หรือในเชิงยุทธวิธีของธงชัยหรือ? อย่ามาทำเป็นดัดจริตว่าตัวเองคิดกว้างและยาวกว่าคนอื่น คนอื่นคิดเพียงแค่สั้นๆหรือตื้นๆหน่อยเลยครับ ไม่มีใคร โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย ที่ไม่ใช่ประเทศเสรีประชาธิปไตย เวลาผลิต political discourse จะสามารถยืนยันเรื่องสิทธิ “ปรกติ” ตาม "หลักการ" ระบอบประชาธิปไตยได้จริงๆหรอก เราต้องคิดในเชิงเวลาโอกาส และยุทธวิธีทั้งนั้นแหละ (และนีคือประเด็นทั้งหมดของการต่อสู้ในหลายสิบปีนี้แหละ คือทำให้ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตยจริงๆ ที่ทุกคนสามารถคิดและพูด-เขียนสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้จริงๆอย่างเสรี - ไอเดียเรื่อง freedom of thought and conscience, freedom of expression)

ประโยคตอนท้ายที่กล่าวหาว่าผมคิดสั้นๆแบบเชิงยุทธวิธี (“เล่นการเมืองเป็นแค่เกม”) นั้น แท้ที่จริง จึงเป็นการปกปิดหรือปฏิเสธความจริง ของความผิดพลาดของการคิดเชิงยุทธวิธีของธงชัยเอง

ปีที่แล้ว สนธิ ลิ้มทองกุลฉวยโอกาสความไม่พอใจกระทันหันของประชาชนเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษีของทักษิณ ปลุกการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อโค่นทักษิณที่ตัวเขามี agenda ของตัวเองมานานแล้ว ภายใต้การ "ชุธงเหลือง" อย่างขนาดใหญ่ ธงชัยคัดค้านการชูธงเหลือง คัดค้าน discourse เรื่อง "ขายชาติ" (ให้สิงคโปร์) ของสนธิ-พันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการเน้นเรื่องเงินเรื่องคอร์รัปชั่น .. แต่กระนั้น ธงชัยกลับสนับสนุนให้ถือโอกาสที่สนธิปลุกมวลชนขึ้นมาได้นั้น ร่วมการโค่นทักษิณด้วย แม้จะเสนอให้รณรงค์คนละอย่าง เช่น ล่ารายชื่อ ฟ้องศาล และ NO VOTE (การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ของนักศึกษาเป็นผลสะเทือนมาจากข้อเสนอนี้ไม่น้อย) นี่ไม่ใช่การคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing หรือ? นี่แหละคือประเด็นข้อวิจารณ์ของผมเรื่องการ "ฉวยโอากส" แหละ (ถ้าพูดตามภาษาวัยรุ่นที่ชอบใช้กันคือ "โหนกระแส") ผมวิจารณ์ตั้งแต่ตอนนั้นว่า การตัดสินใจ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" เช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด ธงชัยและหลายคนก็ยังยืนกรานว่า จะต้องเข้าร่วม โดยชูคำขวัญประเภท "2 ไม่เอา" ดังที่รู้กัน ในความเห็นของผม นี่เป็นความ arrogance หรือหลงตัวเองอย่างหนักของคนเหล่านี้ คือทั้งๆที่ตัวเองไม่มี candidate ของตัวเอง ในที่สุดก็เพียงแต่เป็นการไปช่วยหนุนกระแสโค่นทักษิณ ปูทางให้กับการรัฐประหารเท่านั้น

นี่เป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีที่ร้ายแรงทางประวัติศาสตร์

ถึงตอนนี้ ฟ้าเดียวกัน หรือธงชัย หรือคนอื่นๆ พากันมาโจมตีวิพากษ์พันธมิตร แต่ขณะที่มีโอกาส จะหยุดยั้งพวกนี้ กลับไม่พยายามทำ กลับอาศัยกระแสที่พวกนี้ก่อขึ้น "โหน" การแอนตี้ทักษิณตามไปด้วย นิธิเอง อย่างที่รู้กันดีแล้ว ถึงขนาดจงใจไม่พูดอะไรที่จะทำให้พันธมิตรอ่อนกำลัง ต่างจากนิธิ ธงชัยยังวิจารณ์พันธมิตรตั้งแต่ระยะแรกในระดับ private แต่ตอนแรกการวิจารณ์นี้แม้ใน private ก็อยู่ในระดับน้อยมาก (ต้องให้ผมพูดอีกครั้งหรือว่า ตอนที่ผมเสนอว่า สนนท.ควรถอนตัวออกมา ธงชัยกลับเสนอว่า ผม going too far? - ว่าแต่ว่า นี่ไม่ใช่การคิดเชิง timing ของธงชัยเองหรือ?) เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการบอยคอตของฝ่ายค้าน ที่หนุนโดยการรณรงค์ NO VOTE ของนศ.ที่ธงชัยสนับสนุน ประสบความสำเร็จในการสร้าง "ทางตัน" ทางการเมือง กระทั่งเริ่มมีการ "แทรกแซงจากเบื้องบน" มากขึ้นๆ ธงชัยมีท่าที critical ต่อพันธมิตรโดยเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการสนับสนุนเรื่อง ม.7 และ "ตุลาการภิวัฒน์" (แต่ต้องให้ผมย้ำหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ ธงชัยยืนยันว่า มีวิธีอื่นเอาทักษิณออก และเจาะจงยกเรื่องฟ้องศาลขึ้นมาเสนอ ราวกับว่าศาลเป็นอะไรที่ "พึ่งได้" หรือ "เป็นกลาง" ยังงั้นแหละ พอศาลถูก "คนอื่น" ใช้เป็นเครื่องมือจริงๆ ธงชัยกลับออกมาเขียนวิจารณ์ โดยไม่ยอมถามตัวเองว่า แล้วข้อเสนอทีตัวเองให้ใช้การฟ้องศาลเล่นงานทักษิณก่อนหน้านั้นมันเข้าท่าหรือ) ถึงกระนั้น ท่าทีของเขาต่อกระแสที่สนธิ-พันธมิตรก่อขึ้นก็ยังคงเป็นการ "โหน" ตามไปด้วยโดยพื้นฐาน เพราะเขายังยืนกรานในคำขวัญ "2 ไม่เอา" ดังกล่าว (ไม่ต้องนับเรื่องที่ว่า ถึงตอนนั้น หลายอยางสายเกินไปแล้ว เช่น เรื่อง รณรงค์ NO VOTE) คือ ยืนยันว่าจะต้องเอาทักษิณออกให้ได้ในขณะนั้น โดยไม่เคยบอกได้เลยว่า ถ้าเอาทักษิณออก แต่ไม่เอา "นายกฯพระราชทาน" แล้วจะเอาใคร ถึงขั้นที่จุดหนึ่ง เขาเสนอข้อเสนอที่ ridiculous มากๆว่า ให้ สส.คนเดียวของ พรรคมหาชน เป็นนายกฯ

ผมยังยืนยันว่า นี่เป็นความผิดพลาด เป็นการ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" ที่ไม่ควรจะ "โหน" ไปด้วย

อันที่จริง ถ้าทุกคนพร้อมใจกัน บอกมวลชนตั้งแต่แรกๆว่า กระแสแอนตี้ทักษิณที่นำโดยสนธิ-พันธมิตรเวลานั้น เป็นกระแสที่ผิด เป็นการนำไปสู่การยึดอำนาจของ "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เพราะรัฐบาลขณะนั้น ยังได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีแต่อาศัย "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น ที่จะเอาออกได้ (Thaksin's infamous 'whisper') ถ้าทำเช่นนี้ จะสลายกำลังของพันธมิตรฯได้หรือไม่? และหยุดยั้งสถานการณ์ได้หรือไม่? ไม่มีใครบอกได้ แต่การไม่ทำ มาจากความคิดเรื่องอื่น มาจากความหลงตัวเองว่า ในขณะนั้น นอกจาก 2 ทางนี้ ยังมีทางอื่น ทั้งๆที่พวกตัวเองก็บอกไม่ได้คือทางอะไร ไม่ต้องพูดถึงการละเมิด "หลักการ" ของตัวเองที่ว่า "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" เพราะพวกคุณย่อมรู้ดีว่า เลือกตั้งต้องได้ใครเป็นนายกฯ คุณก็ยังยืนกรานว่า "ไม่เอา" คือ ปากก็พูดว่า เคารพประชาชน (ไม่เหมือนสนธิ-พันธมิตร) แต่เวลารณรงค์จริงๆ ก็ไม่แสดงความเคารพต่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย


สรุปแล้ว ธงชัยคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing อยู่ตลอดเวลาเหมือนกับทุกๆคนนั่นแหละ แต่ชอบปฏิเสธ และนำเสนอว่าตัวเองคิด "ลึก" และ "ยาว" กว่า (อันที่จริง ถ้าคิดได้ "ลึก" จริงๆ ควรจะบอกได้แต่แรกว่า ถ้า "2 ไม่เอา" แล้วจะเอาอะไร? แต่นี่คิดสั้นๆเพียงแค่เสนอ "ไม่เอา" ไว้ก่อน โดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา) การคิดแบบยุทธวฺธี แต่นำเสนอ่ว่าไม่ใช่คิดแบบยุทธวิธีนี้ก็เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ เขาวิจารณ์ผมที่ออกมาด่าใครต่อใครที่เขาชื่นชม โดยเขากล่าวว่า ชีวิตมีมากกว่าเรื่องการเมือง (ดูตัวอย่างกรณีที่เขาออกมา defend จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น) ทั้งๆที่ โดยตัวข้อเสนอแบบนี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง คือการบอกว่า "มีมากกว่าเรื่องการเมือง" ในบริบทนั้น เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง (เขากำลัง defend จอน ทางการเมือง)

แหม พูดเรื่องนี้แล้วไม่อยากแซวเลยว่า ชวนให้รู้สึกความ irony ของหน้าปกฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหารที่เขียนว่า 2006 the year in denial .. this is not a coup

อ่านธงชัยแล้วอยากเพิ่มเข้าไปว่า this is not a tactical thinking