Saturday, July 21, 2007

บันทึก "เปิดผนึก" ถึง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง : เมื่อไรจะหยุด "เกาะหางเสื้อคลุม" ของอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเกาะเสียทีครับ?

(24 กุมภาพันธ์ 2550)



เรียน อ.พิชญ์ ที่นับถือ


ผมยอมรับว่า รู้สึก annoyed ไม่น้อย ที่เห็นบทความล่าสุดของอาจารย์ ที่โพสต์ใน ประชาไท

ครั้งก่อน ที่ผมไม่ได้เถียงต่อเมื่ออาจารย์อภิปรายเรื่องทำไมจึงใช้ "พลังแผ่นดิน" ถึง 9 ครั้ง เพื่ออธิบาย Habermas นั้น บอกตรงๆว่า เพราะไม่อยากมีเรื่องต่อ แต่ผมยืนยัน และ ผมเชื่อว่าใครก็ตามถ้าไม่ใช่พวกโปรเจ้าสุดๆ ก็ย่อมเห็นว่า อาจารย์ทำพลาด ที่ใช้คำนั้นมาอธิบาย Habermas โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Habermas เลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากเป็นการไม่เคารพต่อตัว เจ้าของความคิด ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นการ "เกาะหางเสื้อคลุม" ของอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเกาะเลย ไม่สอดคล้องกันเลยกับปัญญาชนที่พยายาม (อ้างว่า) ทำเพื่อประชาชน และประชาธิปไตย

ในบทความล่าสุดนี้ อาจารย์ใช้วิธีทำนองเดียวกันอีก คราวนี้ อาจจะแย่กว่าคราวก่อนด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "พลังแผ่นดิน" แม้จะรู้ๆกันอยู่ว่าหมายถึงอะไร แต่ในบริบทของบทความ (อธิบายเรื่อง Habermas-deliberative democracy) แม้จะแย่พอแล้ว แต่ยังมีลักษณะ "ทฤษฎีนามธรรม" อยู่

แต่คราวนี้ อาจารย์เขียนเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง

อาจารย์เริ่มจากการยอมรับ (concede) ว่า การเสนอไอเดียเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องดี แต่วิธีการที่รณรงค์กันอยู่นั้นผิด

ผมเห็นว่า การเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือตัวอย่างของการใช้อำนาจรัฐบังคับทางอุดมการณ์

นี่คือการกดขี่ทางความคิดอย่างสุดๆ (นึกถึงติดคุก 15 ปี)

นี่ไม่ใช่ก่ารเสนอไอเดียวธรมดา (นาย ก นาย ข เสนอว่า ......) ซึ่งทุกคนสามารถพูดได้ว่า เป็นข้อเสนอทีน่าสนใจ เป็นข้อเสนอที่ดี ไปจนถึง เป็นข้อเสนอที่ silly ที่ idiotic ที่ ridiculous ได้ เรื่องนี้ ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรก็รู้เห็นกันอยู่ อาจารย์เขียนว่า
ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความพอดีและความพอเพียง อย่าว่าแต่ต่างชาติจะไม่เข้าใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่าอะไรเลยครับ ... ประชาชนในประเทศก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือความพอดีและความพอเพียงเช่นกัน

ถ้าประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคม หลักประกันความโปร่งใส และการคุ้มครองความปลอดภัย เราจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร?
จะเห็นว่า 2 ประโยคนี้ ใช้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นตัวตั้ง ราวกับว่า เป็นอะไรบางอย่างที่ดี ที่ควรยอมรับอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดเงื่อนไขที่ "ถูกต้อง" ที่จะทำให้แนวคิดนี้ปรากฏเป็นจริง ("ประชาธิปไตยคือหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง" คือ เรามามีประชาธิปไตยกันเถอะ จะได้มีเศรษฐกิจพอเพียง ("รัฐในแบบไหนที่จะ ทำให้สังคมสามารถไปสู่จุดหมายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ได้)

หรือ แม้แต่ประโยคแบบนี้ "หรือเอาเข้าจริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำกันอยู่นั้น เป็นเพียงกระบวนการประณามทุนนิยมและโลกาภิวัตน์แบบมือถือสากปากถือศีลไปเรื่อยๆ" ในบริบทของบทความ นี่เป็นเพียงการด่า รัฐบาล ไม่ใช่การวิพากษ์ การเสนอ เศรษฐกิจพอเพียง

ในบริบทของบทความ การที่อาจารย์เขียนว่า "ควร...สามารถตั้งคำถามและถกเถียงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้" จึงหมายถึงการตั้งคำถามกับการรณรงค์ของรัฐบาลและกับบรรดานายทุนทั้งหลาย ที่นำ "แนวพระราชดำริ" หรือ "ปรัชญา" (?) ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสนอ ไป "ผูดขาด"
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรถูกผูกขาดโดยรัฐราชการและทุนนิยมที่พยายามทั้งอ้างทั้งปั้นว่าความสำเร็จขององค์กรตัวเองจากอดีตมาสู่ปัจจุบันนั้นมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรเป็นของประชาชนที่มีเสรีภาพในการเลือกนำไปปฏิบัติ และประยุกติใช้ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปได้ในอนาคตมิใช่หรือ?
พูดแบบง่ายๆคือ ไอ้พวก รัฐบาลกับนายทุนนี่มันแย่ง "แนวพระราชดำริ" ไป พวกเราประชาชนต้องช่วยกันแย่งคืนมา เสียเอง (เพราะอะไร? อาจารย์ไม่ได้บอก ในบริบทสังคมไทย ก็คงต้องตอบว่า เพราะเป็นแนวคิดอันยอดเยี่ยม เป็นพระมหากรุณาธิคณ ที่ทรงห่วงใยราษฎร ฯลฯ ฯลฯ ใช่ไหมครับ?)

ไม่มีตรงไหนของบทความเลย ที่อาจารย์ชี้ให้เห็น ในสิ่งที่ควรจะชี้ให้เห็นว่า ก่อนอื่น (ดังกล่าวข้างต้น) การเสนอเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นการใช้อำนาจรัฐบังคับทางอุดมการณ์ (อาจารย์ควรทราบดีว่า ผมไม่ได้กำลังพูดถึงรัฐบาลอย่างที่อาจารย์พูด)

และ สอง (ซึ่งเป็นอีกด้านของเหรียญเดียวกันกับประโยคเมือ่ครู่) คือ เงื่อนไขพื้นฐานที่สุด ของสังคมสมัยใหม่ คือ การเสนอความเห็นอะไรต่อสาธารณะ จะต้องทำบนเงื่อนไขทีว่า ความเห็นนั้น เป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สามารถจะที่จะ "ติดป้าย" (characterization) อะไรก็ได้ ตั้งแต่ระดับ "ยอดเยี่ยม" "ลึกซึ้ง" "น่าชื่นชมยินดี" ไปจนถึง "งี่เง่า" "เฮงซวย" "ห่วยแตก" ได้

มิเช่นนั้น นั่นไม่ใช่การเสนอความเห็นทางสาธารณะ แต่เป็นการบังคับให้คนเชื่อ ด้วยการใช้อำนาจกดขี่เหี้ยมเกรียมของรัฐมาบังคับ

นั่นคือการ เอาปืนมาจ่อหัว แล้ว บังคับกรอกอะไรเข้าไปในปากให้กลืนเข้าไป

ถ้าอาจารย์บอกว่า ขืนเขียนอย่างที่ผมเพิ่งเสนอให้เขียนไปนี้ มีหวังไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์แน่ๆ

ก็อย่าเขียนสิครับ



ปล. ผมทราบดีว่า จารีตการเขียนแบบที่อาจารย์ทำ เป็นจารีตที่ ฝ่าย "ซ้าย" หรือ ฝ่าย "ก้าวหน้า" สมัยก่อนใช้กันอยู่บ้าง พูดอย่างตรงๆคือ การเขียนในทำนองว่า "รัฐบาล (และ / หรือ นายทุน) ไม่ได้ทำตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง, อย่างถูกต้อง เป็นเพียงการทำแบบหน้าไหว้หลังหลอก ฯลฯ ฯลฯ" แต่สิ่งที่เป็น premise ของการเขียนแบบนี้ คือ "แนวพระราชดำริ" คือ royal power และสภาพของ power นั้น

ขอให้ลองศึกษากรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่า "หมิ่น" ในปี 2499 ที่นี่

สิ่งที่อาจารย์หยุด เข้าใจดียิ่งคือ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ข้อวิจารณ์ของพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ทหารไม่ควรยุ่งการเมือง" เลย (ซึ่งคนที่มองตื้นๆ อย่างสมัยนี้ คงเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เหมือนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั่นแหละ) แต่อยู่ที่ การเสนอ นั่นต่างหาก)

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ใครก็ได้ ช่วยฝากไปบอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที ทีวันก่อน ออกมาประนาม FTA ว่าเป็นการ ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ ฯลฯ ..... (ดูที่นี่)

ช่วยบอกเขาทีครับว่า ตื่นออกมาจากกะลาเสียทีเถอะครับ เลิกโง่ได้แล้วครับ นี่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ครับ (หรืออยากให้เป็น?)



เพิ่มเติม
หลังจากผมโพสต์กระทู้นี้แล้ว พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ ได้เขียนแสดงความเห็นตอบ ดังนี้
เรียนอาจารย์สมศักดิ์ และบรรดาแฟนคลับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านงานของผมมาโดยตลอดนะครับ ผมคิดว่าคนที่ได้อ่านงานของผมหลังจากอ่านบทวิจารณ์ของอาจารย์คงจะได้รับอรรถรสในแบบที่อาจารย์ต้องการไม่มากก็น้อย (โดยเฉพาะลักษณะการวิจารณ์ที่ชัดเจนและจูงใจเช่นนี้)
ผมทำได้แค่เชิญชวนให้ท่านผู้อ่านอ่านงานของผมในมุมอื่นๆบ้าง และอ่านประโยคท้ายๆบทความที่นำไปสู่เชิงอรรถที่ 5 และ 6 สักหน่อยนะครับ
ท้ายที่สุดนี้ ผมว่าอาจารย์ควรจะเลิกเกาะหางเสื้อคลุมของผมแล้วเขียนออกมาเองบ้างก็จะดีครับ เพราะผมก็ทำได้เท่าที่ผมทำนั่นแหละครับ
สู้เขาครับอาจารย์สมศักดิ์ : )
ผมได้ตอบกลับว่า
เรียน อ.พิชญ์

เนื่องจาก ในโพสต์ของอาจารย์ไม่ได้มีตรงไหนที่โต้แย้งกับประเด็นทีผมเสนอ ผมจึงไม่ขอเพิ่มอะไร ยกเว้นส่วนที่ อ.เสนอมา เรื่องประโยคที่นำไปสู่ เชิงอรรถที่ 5 และ 6 ซึ่งผมอ่านอีกครั้ง ก็ยังมองไม่เห็นว่า จะเป็นเปลี่ยนทิศทางใหญ่ของบทความ ตามที่ผมเสนอได้อย่างไร ยิ่งเมือดูเปรียบเทียบกับประโยคอื่นๆที่ผมยกมา เช่น เรือง "รัฐในแบบไหน ที่จะ ทำให้สังคมสามารถไปสู่จุดหมายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" หรือ ตัวชื่อเรื่องเอง "ประชาธิปไตยคือหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งในบทความของอาจารย์มีอยู่จุดหนึ่ง (ตรงทีว่านำไปสู่เชิงอรรถที่ 6) ที่เขียนว่า "ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ค่อยมาว่ากันเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะดีกว่าครับ" ซึ่งผมเห็นว่า อันที่จริง นี่ไม่ใช่ตรงกับหัวข้อเรื่องที่อาจารย์จั่วไว้เอง เพราะถ้าบอกว่า "ให้เป็นประชาธิปไตยก่อน ค่อยมาว่ากันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง" จะเขียนว่า "ประชาธิปไตย คือหัวใจของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างไร? ห้วข้อ และ เนื่อหาส่วนใหญ่ที่สุด แปลได้อย่างที่ผมเขียนไปแล้วคือ "มาเป็นประชาธิปไตยกันเถอะ จะได้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง " (เพราะอย่างแรก "เป็นหัวใจของ" อย่างหลัง) ไม่ต้องพูดถึงประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งที่ผมวิจารณ์ว่า การเขีนยเช่นนี้ แม้ในประโยคของอาจารย์ที่เพิ่งยกมา ก็เป็นเพียงการวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่วิจารณ์อะไรที่ควรวิจารณ์ in the first place

By the way มี "ปรัชญา" ที่ไหนในโลกครับ ที่ is backed up by a 15-years jail sentence ?
"concession" เรื่อง "ชื่อเรียก" แค่นี้ ผมก็ว่า มากเกินไปแล้ว

ในส่วนประโยคเกี่ยวกับเรื่องผม "เกาะหางเสื้อคลุม" อาจารย์อะไรนั่น ผมไม่ amused แต่จะบอกอย่างจริงๆจังๆ สำหรับคนอื่น - เพราะผมว่า ระดับ อาจารย์ย่อมควรจะทราบดี - ว่า การเขียนโดยการวิจารณ์สิ่งที่ผู้อื่นเขียน เป็น mode ของการเขียนที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง และความจริง มีคนจำนวนมาก ที่ใช้ mode การเขียนนี้เป็นรูปแบบหลัก (ผมจำเป็นต้องอ้างตัวอย่างเร็วๆนี้ ที่รู้จักกันดีอย่าง Derrida ไหมว่า (ซึ่งเป็นประเด็นที่มีคนพูดกันเยอะคือ) งานของ Derrida นั้น consists entirely of reading of what other people write? คือเป็นงานที่ "อ่าน" งานของคนอื่นทั้งหมด ไม่ได้เริ่มงานเขียนเองเลย อันที่จริง ผมเองไม่ได้ใช้ mode นี้อย่างเดียวในการเขียนแต่อย่างใด)

สุดท้าย ที่อาจารย์ "ออกตัว" ว่า "ผมก็ทำได้ เท่าที่ผมทำนั่นแหละครับ" ผมจะถือแบบ face value ว่า นี่ไม่ใช่การประชดเสียดสี หรืออะไร และจะขอเสนอแบบตรงๆ เลยว่า ถ้า "ทำได้แค่นี้" จริง อย่าทำดีกว่า เรื่องนี้ ผมมีความเห็นมาโดยตลอดว่า เรื่องบางเรื่องนั้น ถ้าเขียนแบบวิพากษ์ ไม่ได้ ไม่เป็น ก็ อย่าเขียนดีกว่า เพราะถ้าเขียน เช่น ที่อาจารย์ (หรือตัวอย่างที่แย่กว่า คือกรณีชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในบทความเดือน พฤศจิกายน 2548) มีแต่ไปเสริมอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเสริม
(มีผู้อื่นมาเขียนวิจารณ์ผม และผมได้ตอบไปด้วย ดูได้ที่นี่)