Sunday, October 08, 2006

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหาร

(9 ตุลาคม 2549)



ในสมัยรัฐบาลทักษิณและนักการเมืองเลือกตั้ง การวิจารณ์ของนักวิชาการอย่างรุนแรงต่อคนเหล่านี้ ("ระบอบทักษิณ", "นักเลือกตั้ง" ฯลฯ) โดยไม่ยอมเอ่ยถึงกลุ่มอำนาจดำมืดอื่นๆ เป็นสิ่งที่ควรวิพากษ์ ยิ่งถ้าการวิจารณ์กลุ่มแรกอย่างรุนแรง ทำไปควบคู่กับการอ่อนข้อ หรือวาดภาพสวยงามให้กับกลุ่มหลัง ก็ยิ่งต้องประณามคัดค้าน

แต่ตราบเท่าที่ไม่ถึงขั้นสร้างภาพสวยงามให้กับกลุ่มอำนาจดำมืดอื่นๆ การวิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองเลือกตั้ง โดยไม่พูดถึงกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะสุดขั้ว ขาดสัดส่วนมุมมองที่ถูกต้อง อย่างไร ก็ยังอาจจะแก้ตัวได้ (และยังอาจจะพอ "เข้าใจได้") เพราะกลุ่มนักการเมืองคือผู้ครองอำนาจอยู่ จึงวิจารณ์แต่กลุ่มนี้ (ความจริง การครองอำนาจของนักการเมืองไม่ใช่การครองอำนาจทั้งหมด และไม่ใช่ส่วนที่สำคัญมากของอำนาจรัฐคือกำลังจัดตั้งติดอาวุธและบางส่วนอื่นอีก ดังเหตุการณ์รัฐประหารได้พิสูจน์ให้เห็น)

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร ใช้อาวุธและความรุนแรงเข้าข่มขืนการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลสมุนขึ้น การเขียนวิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองเลือกตั้งที่ล้มไปแล้ว โดยไม่ยอมวิจารณ์หรือแตะต้องพวกข่มขืนทางการเมืองด้วยเลย เป็นการแสดงความขี้ขลาดตาขาว ฉวยโอกาส ทางการเมือง สะท้อนความเป็นนักวิชาการประชาธิปไตยจอมปลอม

การวิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ในลักษณะที่เป็นข้อแก้ตัวให้กับการทำรัฐประหาร แบบที่เสน่ห์ หรือ ชัยวัฒน์ ทำ ("รัฐบาลทักษิณฉีกรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตยไปนานแล้ว การรัฐประหารจึงไม่อาจนับได้ว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตย") แม้จะตามด้วยคำพูดแบบอ่อยๆว่า "แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารนะ" เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจแบบข่มขืนการเมือง เป็นเรื่องที่ควรถูกประณาม

ใน มติชน วันนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความที่ในทางการเมือง แย่ยิ่งกว่าการกระท่าที่เพิ่งกล่าวไปนี้ (ของเสน่ห์และชัยวัฒน์) คือ ไมเพียงแต่ไม่มีคำประเภท "ผมไม่เห็นด้วย" "ผมขอประนามคัดค้าน" หรือ ไม่มีถ้อยคำเชิงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้นแม้แต่คำเดียว ต่อการรัฐประหาร เท่านั้น หากนิธิยังเขียนให้เกิดภาพลวงว่าคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุนที่ตั้งขึ้น มีความชอบธรรม ที่จะจัดการกับ "ปัญหา" (ความ "จอมปลอม") ของรัฐบาลทักษิณ

ในบทความนี้ นิธิได้ประณามทักษิณว่าเป็น "ประชานิยมจอมปลอม" ...

แต่ไหนล่ะคำวิจารณ์-ประณามประเภทเดียวกันนี้กับคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุน?

นอกเหนือจากความขี้ขลาด ไม่กล้าใช้คำหรือภาษาแบบเดียวกันนี้กับผู้ถือปืนข่มขืนทางการเมืองแล้ว นิธิกำลังมอมเมาคนอ่านให้คล้อยตามในด้านกลับว่า พวกหลังคือพวก "ตัวจริง"

แต่แท้จริงแล้ว พวกยึดอำนาจปัจจุบ้นนี้เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ "จอมปลอม" ("ปฏิรูป" จอมปลอม และอื่นๆแทบทุกเรื่อง จอมปลอม)?

นอกจากช่วยประณามรัฐบาลเลือกตั้ง แทนให้กับคณะรัฐประหาร เช่นนี้แล้ว นิธิยังได้แนะนำรัฐบาลสมุนคณะรัฐประหารว่า ควรทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการ "เปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบคุณทักษิณกลับเข้ามารวบอำนาจใหม่"

แต่ไหนล่ะข้อเสนอไม่ให้คนอย่างนักข่มขืนอำนาจรัฐด้วยอาวุธและรัฐบาลสมุน "กลับเข้ามารวบอำนาจใหม่"?

การเขียนเช่นนี้ เท่ากับว่า พวกคณะรัฐประหารที่ใช้อาวุธและความรุนแรงเข้ามา มีความชอบธรรมยิ่งเสียกว่ารัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามา ( คือเป็นพวกที่ควรจะมาจัดการกับความ "จอมปลอม" ของรัฐบาลเลือกตั้งได้ และการไม่มีข้อเสนอว่า ทำอย่างไรจึงจะ ไม่ให้พวกนี้เองกลับเข้ามาอีก แปลว่า อะไร? แปลว่า ถ้ามี "นักการเมืองอย่างทักษิณ" กลับมา พวกหลังนี้ ก็ชอบธรรมที่จะกลับมาได้อีก?)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เพิ่งเกิดการรัฐประหารไปไม่กี่วัน และคณะรัฐประหารพยายามสร้างความชอบธรรมหลอกลวงคนด้วยการตั้ง "รัฐบาลพลเรือน" "รัฐบาลชั่วคราว" ขึ้น บทความของนิธินี้ คือการรับใช้ทางการเมืองต่อคณะรัฐประหารและรัฐบาลสมุน


ผมขอเรียกร้องต่อ "ฟ้าเดียวกัน" ว่า หากยังยืนยันเป็นกลุ่มผู้ทำหนังสือที่รักประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักการ อย่างแท้จริงแล้ว ขอให้ทำหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงต่อบทความนี้ไปยังนิธิ และต่อนักวิชาการกลุ่ม ม.เที่ยงคืนคนอื่นๆที่ล้อมรอบและ identify ตัวเองกับนิธิ (อรรถจักร, สมชาย ฯลฯ) แบบเดียวกับที่เคยทำต่อ เสน่ห์ จามริก


(โปรดอ่านกระทู้ต่อเนื่องได้ ที่นี่ และ ที่นี่)