สัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ที่ open online
(8 ตุลาคม 2549)ผมอ่านสัมภาษณ์ เกษียร (พร้อม ชัยวัฒน์) ที่กำลังเผยแพร่อยู่ที่ open online ในขณะนี้
ผมมีปัญหากับ 2 ย่อหน้านี้อย่างรุนแรง
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: โดยหลักการ ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ป้องกันสถาบันกษัตริย์ไว้จากความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการจำกัดอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์แต่ดั้งเดิมของสถาบันลงไว้ภายใต้กฎหมาย ยึดถือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และการออกกฎหมายเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งอำนาจดังกล่าวนั้น สถาบันกษัตริย์ได้รับการยกย่องเทิดทูนและปกป้องคุ้มครองในฐานะประมุขรัฐ เปรียบประดุจเทพารักษ์ปกปักรักษาชาติบ้านเมืองย่อหน้าที่ 1 บรรทัดแรกๆ พอจะยอมรับกันได้ว่า บรรยาย "หลักการ" ของ constitutional monarchy อย่างที่ปฏิบัติกันในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ได้ใกล้เคียง แต่ประโยคสุดท้าย "สถาบันกษัตริย์ได้รับการยกย่องเทิดทูนและปกป้องคุ้มครองในฐานะประมุขรัฐ เปรียบประดุจเทพารักษ์ปกปักรักษาชาติบ้านเมือง" เกษียรต้องรู้ว่า ไม่เป็นความจริง สำหรับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่มีกษัตริย์เป็นประมุข (แค่นึกถึงกษัตริย์อังกฤษก็พอ) การใช้อุปลักษณ์เรื่อง "เทพารักษ์" (ศาลพระภูมิ?) ก็ไม่เหมาะสม ไม่เป็นความจริง ที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ และหลักการ contitutional monarchy อย่างที่เข้าใจในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่
ทว่าลักษณะพิเศษของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันคือทรงไว้ซึ่งพระบารมีที่เพียรบำเพ็ญสั่งสมจากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา ศาสนา วัฒนธรรม ความมั่นคงและอื่น ๆ มาตลอด 60 ปี ทำให้สังคมไทยเชื่อถือศรัทธาพระองค์มากไปกว่าเทพารักษ์ คือทั้งยึดมั่นและคาดหวังพระราชอำนาจนำ (royal hegemony) ของพระองค์ในกิจการด้านต่าง ๆ ของบ้านเมือง บ่อยครั้งเมื่อสังคมไทยเจอโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก ก็รู้สึกว่าต้องกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์มาทรงแก้ พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ขอพระราชทานพระราชอำนาจนำในลักษณะสัมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ (ad hoc absolutism) มาเคลียร์ปัญหาให้ลุล่วงเรียบร้อย ทุกวันนี้ก็ยังคาดหวังจะให้พระองค์มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ตลอด เพราะเชื่อมั่นศรัทธาในความเป็นธรรมราชาของพระองค์อย่างชนิดที่ไม่เชื่อในผู้นำอื่นใด
ย่อหน้าที่ 2 ถ้าพูดโดยชาวบ้านที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอะไร ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าพูดโดยคนระดับเกษียร ต้องบอกว่า นี่เป็นการพูดแบบดูถูกภูมิปัญญาคนอ่าน เป็นการพูดแบบหลอกเด็ก เมื่อมาพิจารณาว่า การสัมภาษณ์นี้ เกิดขึ้นหลังรัฐประหารไม่กี่วัน ต้องบอกว่า เป็นการพูดที่ขาดความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และแสดงลักษณะขลาดกลัวอย่างสุดๆ การที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น เกษียร ร่วมลงชื่อ "คัดค้าน ม.7" เป็นเพียงการหลอกคนเล่นๆเท่านั้น
ทีน่าผิดหวังมากอีกประการหนึ่งคือทีมผู้สัมภาษณ์ ผมไม่ทราบว่า "ทีมวิจัยการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง" ของ open online คืออะไร แต่ดูรายชื่อผู้ทำการสัมภาษณ์บางคนแล้ว บอกตรงๆว่า ผิดหวัง ที่ปล่อยให้การสัมภาษณ์ที่น่าจะสำคัญ ในบริบทของเหตุการณ์ที่สำคัญ ออกมาในลักษณะเช่นนี้ การสัมภาษณ์ที่มีความหมายอะไรจริงๆ ผู้สัมภาษณ์ต้องกล้าที่จะท้าทายผู้ให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่นั่งฟังเหมือนฟังพระเทศน์
....บ่อยครั้งเมื่อสังคมไทยเจอโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก ก็รู้สึกว่าต้องกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์มาทรงแก้....ไม่ทราบว่าประโยคเช่นนี้ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง?
6 ตุลา ?
คำสัมภาษณ์นี้ทำขึ้นในวันที่ 28 กันยา คือราว 1 สัปดาห์ ก่อน 30 ปี 6 ตุลา และเผยแพร่ในช่วง 30 ปี 6 ตุลา พอดี
speaking of 'bad timing' or, rather, BAD TASTE
(หรือจะให้ยกกรณีอื่น? how about "ระบอบสฤษดิ์"?)
<< Home