Saturday, December 30, 2006

เกษียรรู้ดีว่าที่ "แกนกลาง" ของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" คืออะไร....

(29 ธันวาคม 2549)



ความจริง ผมตั้งใจจะเขียนอะไรสักหน่อยเมื่อเกษียรเขียนบทความชุด ประชาธิปไตย 2 แนวทาง ของเขาจบ ผมเข้าใจว่าตอนที่ลงในมติชนวันนี้ น่าจะเป็นตอนจบ อย่างไรก็ตาม ที่จะเขียนต่อไปนี้ ไม่ใช่ comment ต่อบทความชุดนี้โดยรวมเสียทีเดียว ซึ่งผมยังไม่มีเวลาทำตอนนี้ แต่เนื่องจาก มีข้อความบางตอนของเฉพาะตอนที่ลงในมติชนวันนี้ ซึ่งเหมือนกับเป็น โจทก์ หรือ คำโต้แย้ง ต่อสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนไปเกี่ยวกับ "ทำไมทหารไทยจึงทำรัฐประหารได้?" โดยตรง นั่นคือ ส่วนทีว่าด้วย - ขออนุญาตใช้คำนี้เพราะสั้น แทนสิ่งที่เกษียรเขียนไว้หลายบรรทัด - "ความมือเปื้อนเลือดของรัฐบาลเลือกตั้ง" คือ ปัญหา "สิทธิมนุษยชน" - โปรดสังเกต นี่เป็นไอเดียฝรั่งมากกว่าไทย ดังนั้น การที่เกษียร ใช้ไอเดียนี้มาวิจารณ์ "ประชาธิปไตยแบบสากล" และ defend โดยนัย ต่อ "ประชาธิปไตยแบบไทย" จึงเป็น perfomative contradiction (คำของ Habermas) แต่จะขอข้ามเรื่องนี้ไป)

(ขอเชิงอรรถไว้ด้วยว่า กระทู้ "ทำไมทหารไทย" ของผม เขียนเสร็จหลายวัน ก่อนที่จะได้อ่านบทความเกษียรตอนวันนี แต่ระหว่างทีเขียน ผมนึกหลายครั้งที่จะ เขียนขึ้นหัวทำนองว่า "คำตอบต่อบทความของเกษียร..." หรือ เขียนอย่างที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้ คือ "เกษียร รู้ดีว่า หัวใจของการถกเถียงเรื่อง "ประชาธิปไตย 2 แนวทาง" แท้จริง อยู่ที่ไหน เขารู้ดีว่าที่ "แกนกลาง" ของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" คืออะไร....)

ประเด็นที่ผมต้องการจะพูด-โต้แย้ง นอกจากที่พูด-โต้แย้งไปในกระทู้ผมแล้ว (ดูโดยเฉพาะในย่อหน้าที่ 4 ของกระทู้ที่แล้ว) คือ

ถึงที่สุดแล้ว เกษียร รู้ดีว่า ที่ "แกนกลาง" ของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" คืออะไร?

ทีนี้เรามาดู "แกนกลาง" ที่ว่านี้ กับประเด็น "มือเปื้อนเลือด" และการ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

(ผมเห็นด้วยกับเกษียร ล้านเปอร์เซนต์ว่า เรื่องคอร์รัปชั่น จริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่างที่พวกกระฎุมพีลูกหลานเจ๊ก (เครือญาติผมกับเกษียรทั้งนั้นแหละ) โดยเฉพาะในกรุงเทพ "ดัดจริต" ทำให้เป็นกัน ประเด็น "สิทธิมนุษยชน" นี่แหละ คือเรื่องใหญ่ที่สุด)


"แกนกลาง" ของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่ว่านี้ ไม่ใช่ "มือเปื้อนเลือด" เหมือนกันหรอกหรือ?

สำหรับ "แกนกลาง" ที่ว่านี้ ไม่ใช่ว่า "ขอเพียงรักษาอำนาจ หรือความเป็น 'ศูนย์กลาง' ไว้เท่านั้น ความสยดสยองหฤโหด แค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่รับได้" หรอกหรือ?

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประเด็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชน"

รัฐที่อิงอยู่กับ "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "แกนกลาง" ของไอเดียนี้ มีลักษณะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทางโครงสร้าง
ความจริง คือ "แกนกลาง" ของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" คือ มโนทัศน์ที่ปฏิเสธ ความเป็นมนุษย์ และ สิทธิของมนุษย์
รัฐแบบนี้แหละที่ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" อยู่ทุกวินาที ไม่ใช่ด้วยการฆ่าคน (อย่างที่เกษียร ยกตัวอย่าง) แต่ด้วยการทำคนให้กลายเป็น ไม่ใช่คน อยู่ทุกวินาที

คนที่คิดว่า รัฐแบบนี้ "มือสะอาด" "benevolent" เพราะคิดแต่ในเรื่องรูปธรรม (ซึ่งส่วนใหญ่ชอบลืมๆกันไป)
ข้อเสนอของผมคือ ต่อให้ไม่มี "เรื่องรูปธรรม" อย่าง 17 กุมภา 2498 หรือ 6 ตุลา 2519 คือไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แบบมี "เลือด" มา "เปื้อน" ให้เห็น
รัฐแบบนี้ ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ดี ละเมิดอย่างรุนแรง ในทางโครงสร้างอยู่แล้ว
เพราะรัฐแบบนี้ถือ มนุษย์เป็นเพียง "ฝุ่นผง"
ความจริง ยิ่งกว่า "ฝุ่นผง" เสียอีก เป็น "ใต้ของฝุ่นผง" ทีอยู่ใต้ฝ่าเท้าของรัฐแบบนี้


ในความเห็นของผม ขอพูดแบบที่ฟังดูเหมือน callous ว่า
ปัญหา "รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน" รวมไปถึงเรื่อง "มือเปื้อนเลือด" เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (มีทุกรัฐ)
ปัญหาคือ จะอาศัยรัฐรูปแบบใด


รัฐเลือกตั้งนั้น แม้ในที่สุด จะหลีกเลี่ยง "มือเปื้อนเลือด" "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ไม่ได้ แต่ในทางโครงสร้าง ไม่ได้มีโครงสร้างที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเนื้อแท้ เหมือนรัฐแบบไทย (อย่างที่บอกตอนต้นว่า ความจริง ไอเดียเรื่อง ละเมิดสิทธิมนุษยชน นั้นเป็นส่วนหนึ่งของไอเดียเรื่องรัฐแบบใหม่ หรือ ประชาธิปไตยสากล เอง)

ดังนั้น การที่ "ประชาธิปไตย" ปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะเอียงไปทางข้าง "รัฐแบบสากล" ยังมีลักษณะ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" นั้น ทางออก ไม่ใช่ หันกลับไปหา "ประชาธิปไตยแบบไทย" แต่คือ ผลักดันให้ รัฐที่ดูเหมือนแบบสากลนี้ มีลักษณะเป็น "รัฐแบบสากล" มากยิ่งขึ้นอีก (จนถึงที่

ทำไมทหารไทยจึงทำรัฐประหารได้?

(29 ธันวาคม 2549)



ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ทหารทำรัฐประหารได้ ต้องมี "เงื่อนไขการเมือง" (political conditions of possibility of a military coup) เพราะรัฐประหารคือ "การเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง" (military coup is a continuation of politics by other means) การเมืองจะแปรไปเป็น (continuation) รัฐประหาร ได้หรือไม่ ต้องดูที่การเมืองนั้นเอง

คำว่า "การเมือง" ในทีนี้มีทั้งในระดับ "โครงสร้าง" คือรูปแบบของรัฐและอุดมการณ์ และในระดับ "สถานการณ์" (การเมืองในระดับแคบ)

การเมืองระดับหลังขอไม่พูด เพราะเห็นกันชัดเจนทั่วไป (สถานการณ์แอนตี้ทักษิณในระยะ 1 ปีเศษที่ผ่านมา) ขอพูดถึงประเด็น "การเมือง" ระดับ "โครงสร้าง" คือ ระดับ "รูปการ/ระบอบการปกครอง" และ "อุดมการณ์" ที่ใช้สร้างความชอบธรรมควบคู่กัน (form of government/state and its accompanying justificatory ideological component)

ในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ไม่ใช่ไม่มี "คอรัปชั่น" หรือเรื่องอื้อฉาว (scandals) ใหญ่ๆ ไม่ใช่ไม่มี "รัฐบาลเลือกตั้งมือเปื้อนเลือด" (แบบที่คนโจมตีทักษิณเรื่อง 2500 ศพ, ภาคใต้ - ลองนึกถึงอีรัก มีรัฐบาลเลือกตั้งกี่ประเทศเกี่ยวข้อง อเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, อิตาลี, เสปน (สมัยหนึ่ง), ญี่ปุ่น ฯลฯ) แต่ไม่มีใครคิดว่า ทหารจะทำรัฐประหารได้ หรือควรทำรัฐประหาร เพราะทุกคนยอมรับการเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินอำนาจรัฐสูงสุด แม้ว่าการตัดสินนั้น จะออกมาแย่อย่างไร (เลือกมาแล้ว รัฐนั้นกลับกลายเป็นคอรัปชั่น หรือ เลือกแพ้ ฝ่ายที่ชนะ คือฝ่ายที่ทำสงครามที่ทำให้คนตายนับไม่ถ้วน (ไอเดียเรื่อง "รัฐบาลมือเปื้อนเลือด") ทุกคนก็ยอมรับการเลือกตั้ง ในฐานะวิธีเดียวที่จะตัดสินใจว่ารัฐสูงสุดควรเป็นใครอย่างไร

ในประเทศไทย มีสถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจรัฐมหาศาล แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องขึ้นต่อกระบวนการเลือกตั้ง - เสนอนโยบาย, "หาเสียง", "วิจารณ์-เปิดโปง" ได้ ทั้งเรื่อง "สาธารณะ" และเรื่อง "ส่วนตัว" (ครอบครัว รายได้ การใช้จ่าย ฯลฯ)

ตราบเท่าที่มีโครงสร้างการเมืองเช่นนี้ ก็ไม่มีทางที่การเมืองในระดับโครงสร้าง-อุดมการณ์ซึ่งปิดทางรัฐประหารแบบของประเทศที่พูดถึงข้างต้น จะสามารถมีที่มั่นอย่างถาวรได้ เพราะใน "จิตใต้สำนึก" ของทุกคน รู้ดีว่า ส่วนที่สำคัญมาก - มากที่สุด - ของรัฐ ไม่ใช่อะไรที่ได้มาด้วยการเลือกตั้ง หรือกระบวนการเลือกตั้ง นี่เป็นความจริงที่ทุกคน "ยอมรับ" เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต*

[* ในปี 2538 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนบทความวิจารณ์พวกที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนอองซานซูยี ที่พรรคของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า แต่ถูกกองทัพพม่าปราบปรามอย่างนองเลือด (เหตุการณ์ 8/8/88) ตอนหนึ่งว่า "ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่าพ่อแม่ผมก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ผมรักเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข....ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีสถาบันและผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ให้ยอมรับนับถือกันเลยหรือ"]


นี่คือเงื่อนไข (ทางการเมือง) ที่แท้จริง ที่ทำให้ทหารสามารถทำรัฐประหารได้ (political conditions of possibility of military coup)


ในหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของ (ที่สำคัญที่สุด) นิธิและเกษียร ที่โจมตีการเลือกตั้ง จึงเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในทางประวัติศาสตร์

(นี่ไม่ใช่การ "แบล็กเมล์" ที่เกษียรพูดถึงไม่นานมานี้ แต่ผมหวังว่า สักวัน พวกเขาควรต้อง take responsibility ต่อความผิดพลาดสำคัญนี้)

การเลือกตั้งที่เป็นปัญหา ไม่ใช่แก้ด้วยการวิจารณ์โจมตีการเลือกตั้ง แต่ด้วยการ "ขยายการเลือกตั้ง" ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น และยืนยันว่า การเลือกตั้งควรต้องเป็นวิธีเดียวที่ใช้ตัดสินอำนาจรัฐ



ปล. ขอให้สังเกตว่า ในบรรดาแอ๊กติวิสต์ปัญญาชน ที่ชูคำขวัญ "ไม่เอานายกฯพระราชทาน ทักษิณต้องออกไป" (ที่ผมเรียกว่าพวก "2 ไม่เอา") นั้น แท้จริง ก็ไม่เคยยอมรับโครงสร้างการเมืองแบบเลือกตั้งอย่างแท้จริงเช่นกัน และนี่คือความผิดทางยุทธศาสตร์ที่น่าเศร้าของพวกเขา

Sunday, December 24, 2006

การกลับมาของ "ศักดินา" ในฐานะจินตภาพการเมือง

(25 ธันวาคม 2549)



ผมจำได้ว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเคยโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด ม.เที่ยงคืนเก่า โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของคำว่า "ศักดินา" ซึ่งมีฐานะเป็น "จินตภาพแกนกลาง" (central organizing concept) ของ "การวิจารณ์ทางการเมือง" ของปัญญาชนปีกซ้ายของไทย เป็นเวลา 30 ปี (จากทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ2520) โดยผมเสนอว่า อาจจะระบุอย่างแม่นยำได้ว่า คำนี้ "หายไป" ในงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ปรากฏตัวตกผลึกในกลางทศวรรษ 2520 นั่นเอง กล่าวคือ นิธิเป็นนักคิด "ทวนกระแส" ระดับนำ คนแรกที่ไม่ใช้คำนี้ในฐานะ central organizing concept ในงานของตน ผมยังได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบชะตาชีวิตของงานของนิธิ กับของนักคิดร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ฉัตรทิตย์ นาถสุภา ซึ่งในงานยุคเดียวกับนิธิ ยังใช้คำนี้เป็นจินตภาพใจกลางอยู่ (ไอเดียเรื่อง "วิถีการผลิตเอเซีย" ที่ฉัตรทิตย์ชูขณะนั้น เป็นการแตกแขนงออกมาจากไอเดียเรื่อง "ศักดินานิยม") ขณะที่งานในยุคนั้นของนิธิยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมาโดยตลอดและมีฐานะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน งานของฉัตรทิตย์ของยุคนั้น ถ้าพูดในแง่คุณภาพแล้ว ไม่อาจกล่าวได้ว่าแตกต่างกัน แต่การที่งานฉัตรทิตย์ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลังยุคนั้น ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของจินตภาพ "ศักดินา" นี่เอง สุดท้าย ผมยังชี้ว่า เป็นเรื่อง irony ที่ ต่อมา ในงานของฉัตรทิพย์เอง จินตภาพนี้ ก็หมดบทบาทไปด้วย (ถูกแทนที่ด้วยจินตภาพเรื่อง "ชุมชนหมู่บ้าน" และ "วัฒนธรรมชุมชน" และ "ชาวบ้าน" ในที่สุด)

โดยที่ผมหรือใครไม่คาดคิด พร้อมกับการเกิดรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ อันที่จริง ตั้งแต่ช่วงวิกฤติทักษิณเมื่อต้นปีนี้ คำว่า "ศักดินา" ได้กลับมาปรากฏตัวในการอภิปรายทางการเมือง (political discourse) อย่างสำคัญอีกครั้ง ที่ irony อย่างมาก คือ การปรากฏตัวอย่างเด่นที่สุดของคำนี้ เกิดขึ้นจากพวกที่เป็นแกนนำในการแอนตี้ทักษิณเอง! นั่นคือ นักโฆษณาชวนเชื่อเครือนสพ.ผู้จัดการ ได้ยกคำขวัญที่พวกเขาอ้างว่า เป็นของผู้สนับสนุนทักษิณขึ้นมาโจมตี คือคำขวัญว่า "ทุนนิยมชั่วช้า ดีกว่าศักดินาล้าหลัง" เมื่อผมเห็นบทความโจมตีคำขวัญนี้ของผู้จัดการครั้งแรก ผมอดยิ้มคนเดียวไม่ได้จริงๆ เกือบจะหัวเราะด้วยซ้ำ ที่พวกนี้ ซึ่งทำการเชิดชูยกย่อง "ศักดินา" อย่างขนานใหญ่ กลับกลายเป็นพวกแรกที่รื้อฟื้นคำนี้เข้าสู่ political discourse เสียเอง! "ศักดินา" คำประนามกลุ่ม-สถาบันทางสังคมบางกลุ่มนี้ ซึ่งเกือบจะลืมกันไปหมดแล้วหลายปี กลับมาเป็นคำสำคัญที่ใช้กันอีกครั้ง หลังรัฐประหาร แม้แต่ในบทความที่ตีพิมพ์ในหน้าหน้าหนังสือพิมพ์ (ตามเว็บบอร์ดยิ่งไม่ต้องพูดถึง) มีหลายครั้งที่มีผู้ใช้คำว่า "ขุนนางศักดินา" และเมื่อวานนี้ ผมก็ต้องทั้งแปลกใจและดีใจ ที่หนังสือพิมพ์ใหญ่แห่งยุค มติชน ตีพิมพ์บทความ "วิเคราะห์" ในหน้า 3 โดยใช้คำนี้เป็นชื่อบทความ! (2549 การเมืองหักมุม โค่น"ทุนนิยม"-ฟื้นศักดินา ติดเบรก"ประเทศไทย") ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญและน่าสนใจมาก แม้ว่าคนเขียน (พี่เถียร?) จะใช้คำนี้อย่างจำกัด และไม่ตรงนัก ให้หมายถึง "ข้าราชการ" (?) เท่านั้น ("...ไปสู่ระบบศักดินาที่มีข้าราชการเป็นใหญ่") แต่การ "ขึ้น" คำนี้เป็นชื่อบทความ ผมเห็นว่าสำคัญกว่า

(สนใจ เชิญอ่านบท "วิเคราะห์" ของ มติชน ดังกล่าวได้ที่นี่)

อะไรต่อไป? สองแนวทางในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในขณะนี้ และข้อสังเกต-ข้อเสนอบางประการ

(18 ธันวาคม 2549)



ผมไปสังเกตการณ์การชุมนุมทั้งในวันที่ 10 และ 17 ธันวาคม ของ "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" และของอีก 2 กลุ่มที่มีการจัดพร้อมๆกัน ความจริง ตั้งใจว่าจะเล่าความรู้สึก (impression) ที่มีต่อการชุมนุมทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว แต่ขณะนี้ ผมคิดว่า มีประเด็นสำคัญกว่า ที่ชวนให้คิดโดยเร่งด่วน นั่นคือ อะไรต่อไป (what next?) จึงขอแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ก่อน


สองแนวทางในหมู่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
ผมเข้าใจว่า ขณะนี้ มีท่าทีหรือแนวทาง 2 อย่างที่ต่างกันในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมขอเรียกแนวทางแรกว่า แนวทางบอยคอต และแนวทางที่สองว่า แนวทางผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าจะพูดให้มองเห็นได้ง่ายๆ แนวทางแรกคือแนวทางของกลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" ส่วนแนวทางที่สอง คือแนวทางของกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แน่นอนยังมีบุคคล และกลุ่มที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอีก (เช่นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540" เป็นต้น) แต่ในทีนี้ ผมยกเฉพาะ "เครือข่าย 19 กันยา" และ "ม.เที่ยงคืน" ในฐานะเป็น "แบบฉบับ" ของแนวทาง 2 อย่างในขณะนี้

แนวทางแรก ปฏิเสธการรัฐประหารและสิ่งที่ตามมาโดยสิ้นเชิง (รัฐบาล, สนช., คมช., สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่) คือไม่ยอมรับ และไม่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆในการผลักดันเสนอความเห็นต่อรัฐธรรมนูญใหม่ อาศัยการเคลื่อนไหวประนามต่อต้านคัดค้านจากภายนอก

แนวทางที่สอง นอกจากปฏิกิริยาที่ค่อนข้างคลุมเครือ ลังเล ต่อการรัฐประหารโดยเฉพาะในระยะแรกแล้ว แนวทางนี้เสนอให้พยายามวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็น เพื่อผลักดันส่งอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมทั้งเคลื่อนไหวในรูปแบบการร่าง "รัฐธรรมนูญทางเลือก", "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน")


ปัญหาเชิงเนื้อหาที่ควรถกเถียง
นอกจากปัญหาในเชิงท่าทีการเคลื่อนไหวดังกล่าวแล้ว ผมคิดว่า มีปัญหาเชิง "เนื้อหา" เกี่ยวกับการประเมินอนาคตของการรัฐประหารที่ควรอภิปรายควบคู่กันไปด้วย เพราะจะมีผลต่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนหรือกำหนดท่าทีของการเคลื่อนไหว นั่นคือปัญหาว่า เราคาดการณ์ว่ากลุ่มรัฐประหารต้องการอะไร โดยเฉพาะคือต้องการให้รัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมืองใหม่เป็นแบบใด?

โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างเชื่อว่า ขณะนี้ เราพอจะสรุปได้แล้วว่า คณะรัฐประหารชุดนี้คงพยายามผลักดันให้การเมืองมีลักษณะแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เหมือนสมัยเปรม (รัฐธรรมนุญ 2521) นั่นคือ การเมืองที่เปิดโอกาสให้ราชสำนักและกองทัพมีอิทธิพลและบทบาทในการกำหนดอย่างประจำ เครื่องมือสำคัญของการเมืองแบบนี้คือ นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาแต่งตั้ง (แต่ล่าสุด ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้เสนอให้มีองค์กรอย่าง คมช. และ สตช. ด้วย)

ในความเห็นผม การประเมินเช่นนี้ น่าจะมีผลต่อการทบทวนท่าทีต่อรัฐประหารข้างต้น กล่าวคือ ถ้าการประเมินเช่นนี้ถูกต้อง ความพยายามที่จะ "ส่งอิทธิพล" ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวทาง ม.เที่ยงคืน ก็เป็นความพยายามที่เกือบจะแน่นอนว่าจะล้มเหลว เพราะอย่างไรเสีย พวกรัฐประหาร - ถ้าการประเมินนี้ถูกต้อง - ก็จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" อยู่นั่นเอง มิเช่นนั้น การรัฐประหารจะกลายเป็นการสูญเปล่าสำหรับพวกเขา ดังนั้น ในความเห็นของผม แนวทางบอยคอตมีความสมเหตุสมผล และมีลักษณะเชิง "ปฏิบัติได้" (practical) มากกว่าด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่า ข้อเสนอ 5 ข้อว่ารัฐธรรมนูญใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไรของ ม.เที่ยงคืน ไม่มีประเด็นโครงสร้างการเมืองนี้เลย ปัญหาคือ ถ้า ม.เที่ยงคืน (หรือกลุ่มหรือบุคคลที่คิดแบบเดียวกัน) ยังคงยืนยันเฉพาะ 5 ข้อดังกล่าว และเห็นว่า โครงสร้างการเมือง "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ไม่ใช่ประเด็นสำคัญชี้ขาด ก็อาจจะยืนยันที่ยังคงรักษาท่าทีแบบเดิมไว้ก็ได้ ด้วยเหตุผลว่า แนวทาง "ส่งผลสะเทือนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ" ยังมีความหมายอยู่ ไม่ใช่ไม่มีความหมายอะไร (อย่างที่ถ้ามองประเด็นโครงสร้างการเมืองเป็นหลัก)



การประชุมขยายวงเพื่ออภิปรายปัญหา
ผมเสนอว่า กลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" หรือ กลุ่มแอ๊กติวิสต์อื่น (ฟ้าเดียวกัน สนนท. ฯลฯ) น่าจะลอง "เป็นเจ้าภาพ" เชิญปัญญาชนนักวิชาการและแอ๊กติวิสต์ เข้าร่วมการพูดคุยสัมมนาในลักษณะ "จับเข่าคุยกัน" คือ เป็นการหารือ ถกเถียงร่วมกันในประเด็นทั้งสองดังกล่าว (คือทั้งท่าทีเคลื่อนไหว และ การประเมินเชิงเนื้อหาอนาคตของการรัฐประหาร) และชักชวนให้กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงทางสังคมทั้งหลาย ให้มาเห็นด้วยกับท่าทีต่อการรัฐประหารแบบบอยคอต

เพราะปัญหาที่ผมเห็นขณะนี้ (ซึ่งกลุ่มเครือข่าย 19 กันยา เองคงเห็นด้วย) คือ การเคลื่อนไหวตามแนวทางบอยคอต ยังขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะจากผู้มี "เครดิตทางสังคม" (ปัญญาชนนักวิชาการ กลุ่มสังคมอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือยอมรับ) ทำให้ยังขาดพลังเท่าที่ควร (จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน การเคลื่อนไหวผ่าน "สื่อ" การทำ "พีอาร์" ต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก)

แน่นอน ในที่สุดแล้ว การตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหนในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหาร ย่อมเป็นสิทธิของบุคคลและกลุ่มต่างๆเอง แต่ควรจะชักชวนให้คนมากที่สุดเห็นว่า อนาคตในระยะยาวของประชาธิปไตยไทยขึ้นอยู่กับการหาทางยับยั้งทำลายแผนการเมืองของคณะรัฐประหารนี้ และแนวทางที่ถูกต้องได้ผลเป็นสิ่งที่ควรลงมือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้

(คำเตือนจากเพื่อนเก่า) ถึง "ตู่" และ "ใหญ่" : คิดดีแล้วหรือ?

(14 ธันวาคม 2549)



เมื่อสักครู่นี้ ระหว่างทางขับรถกลับบ้าน ผมแวะร้าน "สะดวกซื้อ" ที่ปั้มน้ำมันใกล้บ้านเพื่อซื้อของเล็กน้อย ผมไม่แวะแบบนี้ทุกวัน แต่ถ้าบังเอิญวันที่แวะตรงกับวันพฤหัส ทุกครั้งที่แวะ ผมจะ "แอบ" เปิดดู มติชน ฉบับวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์) ที่วางตลาดแล้ว หน้า 6 เพื่อดูว่า บทความเกษียรสัปดาห์นี้เขียนเรื่องอะไร... สัปดาห์นี้เกษียรเขียนเรื่องทีต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน (ผมจำชือเรื่องภาษาไทยไม่ได้ แต่ภาษาอังกฤษ คือ Democratic Universalizing Move)

แต่ที่สะดุดตาผม คือพาดหัวข่าวนำของฉบับวันพรุ่งนี้ (15 ธันวาคม 2549) ทำนองว่า "อจ.นิติ มธ. หนุน นายกฯคนนอก" (หรือ "นายกไม่ต้องเลือกตั้ง" อะไรทำนองนี้) และบรรทัดแรกๆของข่าว มีประโยคว่า "อจ. มธ. เล่นคำ 'นายกฯจากสภา'...."

ผมแปลกใจมากๆกับพาดหัวข่าว และประโยคนำข้างต้น จึงเปิดไปดูรายละเอียด แล้วยิ่งแปลกใจยิ่งขึ้นว่า "อจ.นิติ มธ." ผู้หนุน "นายกฯคนนอก" หรือ "นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง" ตามพาดหัวข่าวคือ สมคิด เลิศไพบูลย์ เพื่อนรุ่นน้องที่ผมรู้จักตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน (ปัจจุบันเขาเป็น "ศาสตราจารย์ ดร." และเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ) ส่วน "อจ.มธ." ที่ "เล่นคำ" ว่า "นายกฯจากสภา" (คือเพียงแต่ให้สภารับรอง ไม่จำเป็นต้องเป็น สส.ที่มาจากการเลือตั้งโดยตรง) ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นั่นเอง... (สมัยที่พวกเราทุกคนยังเป็น นศ.มธ.ด้วยกัน ผมรู้จักและเรียกเขาทั้งคู่ในนาม "ตู่" และ "ใหญ่")

ผมยังไม่มีเวลาเขียนอะไรมากกว่านี้ในขณะนี้ นอกจาก ฝาก "ถาม" ไปยัง นักวิชาการทั้งสองท่านว่า

"คิดดีแล้วหรือ?"

การเลือกผู้นำฝ่ายบริหารสูงสุด เป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (ความจริงคือในสังคมสมัยใหม่ทีดีทั้งมวล) เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีสิทธิจะเลือกใครเป็นผู้นำของเขาเองโดยตรง และผู้ที่จะเสนอตัวมาเป็นผู้นำของประเทศ-ประชาชน ย่อมต้องพร้อมที่จะนำเสนอตัวเองและนโยบายให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสิน ข้ออ้างเรื่อง "การเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์-ไม่พร้อม" นั้น แท้จริง เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ความจริงคือ คนที่เสนอเช่นนี้รู้สึกว่า การเลือกตั้ง "ยังไม่พร้อม หรือยังไม่ให้หลักประกัน ที่จะทำให้ได้นายกฯที่ตัวเองชอบ " มากกว่า คือกลัวว่า ประชาชน จะเลือกคนที่เขาไม่ชอบใจเป็นนายกฯ เขาต้องการวางตัวเป็นเทวดาที่รู้ดีกว่าประชาชนทั่วไปว่า ใครควรเป็นผู้นำของประชาชน โดยไม่ให้โอกาสประชาชนออกเสียง ตรวจสอบ แสดงความเห็น

(แน่นอน ผมไม่หวังนักว่า message นี้จะไปถึงท่านทั้งสองจริงๆ - แต่ถ้าถึงได้ก็ยิ่งดี - นี่เป็นการ "ส่งสัญญาณเตือนภัย" ให้สาธารณะผู้สนใจการเมืองทั้งหลาย และเป็นการ register การประท้วงเบื้องต้นของผมไว้)

เตือนความจำ: เปรียบเทียบท่าที "นับถอยหลัง 10 สัปดาห์ ไล่ทักษิณ" ของ ม.เที่ยงคืน กับบทความนิธิอันนี้ครับ

(8 ธันวาคม 2549)



นี่ครับ ขอให้เปรียบเทียบ ท่าทีของ ม.เที่ยงคืน ต่อทักษิณ (การขายหุ้นชิน) ที่ยกมาให้ดูในกระทู้ก่อนหน้านี้ของผม ("ตัวอย่าง: ถ้าเพียงแต่นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน มีท่าทีอย่างนี้ต่อคณะรัฐประหาร...")ที่ประกาศ "นับถอยหลัง 10 สัปดาห์ ไล่ทักษิณ" "ครบ 10 สัปดาห์แล้ว จะมีการนัดรวมตัวให้ประชาชนจากทุกภาคของประเทศ เดินทางเข้ามาพร้อมกันในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ"

กับบทความแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารของนิธิ "บทความที่ไม่มีชื่อ" โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน 25 กันยายน 2519 ดูตัวบทได้ที่นี่

ประโยคเริ่มต้นของนิธิในบทความนี้ ผมชอบมากๆครับ เป็น "ประโยคเกียรติยศแห่งปี" เลยทีเดียวครับ :

"จะผิดหรือจะถูก จำเป็นหรือไม่จำเป็น สมควรหรือไม่สมควรก็ตาม สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือสิ่งที่ทำไปแล้ว ปัญหาคือจะประคองสิ่งที่ทำไปแล้วให้ออกมาเป็นผลดีที่สุดได้อย่างไร"

(ถ้าสนใจ ดู comment ของผมต่อบทความนี้เมื่อปรากฏครั้งแรก ที่นี่)

ตัวอย่าง: ถ้าเพียงแต่นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน มีท่าทีแบบนี้ต่อคณะรัฐประหาร...

(7 ธันวาคม 2549)



ผมกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนเปรียบเทียบให้เห็นท่าทีของนักวิชาการปัญญาชนไทย ต่อรัฐประหารครั้งนี้ และต่อรัฐบาลทักษิณ ก่อนหน้านั้น ... อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ข้อมูลหลายอย่างเมื่อกลับมาอ่านใหม่ นับว่า เหลือเชื่อ เปิดหูเปิดตาจริงๆ ... ระหว่างที่ผมยังไม่มีเวลาจะเขียนบทความออกมาได้ ผมอดไม่ได้ทีจะเชิญชวนให้ท่านทั้งหลาย ลองอ่านรายงานข่าวนี้ เกี่ยวกับท่าทีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต่อทักษิณ จาก ประชาไท

ระหว่างที่อ่าน ก็ขอให้ จินตนาการ ในใจว่า ถ้าเพียงแต่นักวิชาการกลุ่มนี้ ใช้ท่าทีทำนองเดียวกัน กับคณะรัฐประหาร ("นับถอยหลัง 10 สัปดาห์ ไล่คณะรัฐประหาร...") ....

ยิ่งเวลาผ่านไป ผมยิ่งรู้สึกลึกขึ้นเรื่อยๆว่า นักวิชาการปัญญาชนของเรา โดยเฉพาะบรรดาพวก elite ที่ "ดังๆ" ทั้งหลาย ช่างเป็นผู้ที่ "มีเกียรติ" อย่างยิ่ง จริงๆ

ต่อไปนี้คือ รายงานข่าวที่ว่า เชิญอ่าน พร้อมใช้จินตาการได้เลยครับ:
ม.เที่ยงคืน นับถอยหลัง 10 สัปดาห์ไล่ ทักษิณ

ประชาไท – 9 ก.พ. 49 นายสมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการ และบรรณาธิการเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เปิดพื้นที่รับข้อมูลจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชนเกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ภายใต้แบรนเนอร์ ‘ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป’ (http://www.midnightuniv.org) เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ในการจัดอภิปราย ‘10 คำถาม 5 คำตอบ ถึงทักษิณ’ ซึ่งจะจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในช่วง 10 สัปดาห์ต่อจากนี้ (ครั้งแรกวันที่13 ก.พ.49)โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาชน ร่วมดำเนินการ ในนาม ‘ศูนย์บริการข้อมูลวิชาการเพื่อประชาชน’

โดยในระหว่างที่มีการให้ข้อมูลกับประชาชน จะทำการรวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหลังจากอภิปรายครบ 10 สัปดาห์แล้ว จะมีการนัดรวมตัวให้ประชาชนจากทุกภาคของประเทศ เดินทางเข้ามาพร้อมกันในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดย : ประชาไท
วันที่ : 10/2/2549

ความรับผิดชอบต่อการรัฐประหาร

(7 ธันวาคม 2549)



ผมสารภาพว่า จนบัดนี้ ผ่านไป 3 เดือน ผมยังไม่สามารถ "ทำใจ" (get over-move on) กับการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ได้ วันดีคืนดี ก็จะอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมาอย่างแรง และด้วยความที่เป็นคน "หมกมุ่นกับอดีต" (ผมมักจะงงๆที่ใครชอบคิดว่า นี่เป็นเรื่องวิจารณ์ทางการเมืองได้? ปัญหาของวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่ใช่คือการไม่ยอมคิดเรื่องอดีตเลย หรอกหรือ จึงทำให้คุณสามารถยกย่องบูชาใครก็ได้ ที่เมื่อวานนี้ หรือไม่กี่ปีนี้ ทำอะไรที่ไม่มีความน่ายกย่องบูชาเลย) ผมจึงใช้เวลาที่หงุดหงิด ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนรัฐประหาร เว็บไซต์ประชาไท ช่วยผมได้มาก ผมกลับไปดูข่าวเก่าๆตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่กระแสแอนตี้ทักษิณขึ้นสูงอย่างกระทันหัน หลังการขายหุ้นชิน และพบอะไรที่น่าสนใจหลายอย่างมาก (เช่น ท่าทีของกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต่อทักษิณ ที่เปรียบเทียบกับท่าทีต่อรัฐประหารแล้ว ต้องนับว่าเหลือเชื่อ) หนึ่งในข่าวที่ผมเจอ คือ จดหมายเปิดผนึกของผมเอง ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ที่เสนอให้ สนนท.ถอนตัวจาก "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ขออนุญาต นำข้อความมาเสนออีกครั้ง ดังนี้ (ดูที่ ประชาไท ความจริง จดหมายนี้ เริ่มเผยแพร่ทางอีเมล์ และโพสต์ที่บอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ปิดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549)

ถึง สนนท. : ถอนตัวออกจาก "พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย"
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมขอให้ใครที่สามารถทำได้ กรุณาหาทางถ่ายทอดข้อความต่อไปนี้ ผ่านไปยัง สนนท.

ถึง สนนท.

ผมขอเสนอให้ สนนท. ถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" ทันที ไม่ว่า จังหวะก้าวต่อไปของ "พันธมิตร" จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าการชุมนุมวันที่ 26 จะยังคง "เดินหน้าต่อไป" หรือ ยกเลิก หรือ ชุมนุมเพียงคืนเดียว ฯลฯ เพราะสิ่งที่ "พันธมิตร" ได้กำหนดไป ตั้งแต่ก่อนการประกาศยุบสภา (แสดงออกใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2") เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก การประกาศความคิดชี้นำว่า "ไม่ชนะ ไม่เลิก" เป็นความคิดที่อันตรายและเขลาอย่างยิ่ง การต่อสู้ทางการเมืองไม่เกมส์ที่ "ผู้ชนะ" ได้ถ้วย หรือเงินไป การรณรงค์ที่ไม่สำเร็จในแง่ข้อเสนอ จึงสามารถถือได้ว่า เป็นการรณรงค์ที่มีคุณค่าได้ ("ชนะ" ในความหมายอีกแบบหนึ่ง)

"ไม่เลิก จนกว่าจะชนะ" ? "ไม่เลิก" แม้แต่ว่า หากเกิดสถานการณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาชนวงกว้าง และต่อประชาธิปไตย? "ไม่เลิก" แม้ว่า จะนำไปสู่สถานการณ์ให้กลุ่มอำนาจอื่นฉวยโอกาสเอาประโยชน์? คนที่ประกาศเช่นนี้แต่ต้น และยึดถือความคิดนี้เป็นตัวชี้นำ นอกจากอันตราย ขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นการแสดงความเขลาในแง่นักยุทธวิธีทางการเมืองด้วย

คำขวัญนี้ โดยเฉพาะในการตีความของกลุ่มสนธิ-จำลอง เป็นการคิดที่อันตราย ที่นำไปสู่ความคิด "ชัยชนะไม่ว่าด้วยราคาอะไร" (victory at any price) ผมเชื่อว่า คนเหล่านี้ พร้อมจะทำสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาธิปไตย เพียงเพื่อให้ข้อเรียกร้องของตนเป็นจริง (เหตุผลประการที่สอง ที่กำลังจะกล่าวถึงข้างล่าง ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในการชุมนุมวันที่ 4 ที่สนธิเรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการกับทักษิณ ก็เช่นกัน คือ ขอให้ "ชนะ" วิธีการอย่างไรก็ได้ ไม่เช่นนั้น "ไม่เลิก")

(หลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 เมื่อมีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มจำลองที่นำขบวนเคลื่อนออกไปจากสนามหลวงในคืนวันที่ 16 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากนักศึกษาปัญญาชนที่ร่วมนำขบวนขณะนั้น หลังเหตุการณ์ได้มีผู้จัดสัมนาวงเล็กๆครั้งหนึ่ง (ปาจารยสาร เป็นเจ้าภาพ) โดยมี ชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม เข้าร่วมด้วย ทั้ง 2 คนนี้ เป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนขบวนของจำลองอย่างเต็มที่ เมื่อถูกตั้งคำถามเชิงวิจารณ์มากๆ ครูประทีปได้ พูดประโยคหนึ่ง ซึ่งผมยังจำได้ดี ทำนองนี้ "ดิฉันเป็นคนเกิดในสลัม โตในสลัม ประสบการณ์ชีวิตของดิฉัน ทำให้ดิฉันเป็นคนที่ ถ้าไม่สำเร็จแล้วไม่ทำ ถ้าทำต้องทำให้สำเร็จให้ได้" แม้จะเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่น่านับถือในแง่การดำเนินชีวิต แต่ในแง่การเมือง ผมเห็นว่า เป็นวิธีคิดที่น่ากลัว)

ประการที่สอง ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" กลุ่ม "พันธมิตร" ได้เรียกร้องให้มีการตั้งนายกฯพระราชทานอย่างเปิดเผย (แม้จะยังไม่กล้าใช้คำนี้ตรงๆ) นี่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก มากพอจะให้ถอนตัวออกมา

ก่อนการเข้าร่วมกับกลุ่มสนธิ ตัวแทน สนนท. และ ครป. จะได้ประกาศว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ "คืนพระราชอำนาจ" แต่ข้อเสนอที่ให้ตั้งนายกฯพระราชทานนี้ ในทางเป็นจริง ก็คือการ "คืนพระราชอำนาจ" นั่นเอง คำว่า "นิติประเพณี" ที่ใช้ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" นั้น เป็น "คำแฝง" ที่กลุ่มสนธิ ใช้มานาน หมายถึง "พระราชอำนาจ" นั่นเอง (ดูหนังสือของประมวล รุจนเสรี) นี่เป็นข้อเรียกร้องที่ผิด และยังเป็นการ “ผิดคำพูด” ที่ สนนท. เคยประกาศไว้เองด้วย

มายาเรื่อง "นายกฯพระราชทาน"
ผมไม่มีเวลา และคงไม่ใช่โอกาส ที่จะอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้อย่างละเอียด แต่อยากจะยืนยันว่า การตั้ง "นายกฯพระราชทาน" โดยหวังว่า จะให้เป็นผู้ "ปราศจากการครอบงำ แทรกแซง จากอิทธิพลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" ฯลฯ เป็นมายา (illusion) ผมเพียงขอพูดอย่างสั้นๆในที่นี้ว่า "นายกฯพระราชทาน" ในประวัติศาสตร์หาได้เป็นอย่างที่ภาพมายาวาดไว้แต่อย่างใด เช่น สัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย และช่วยเหลือประชาชน (ตัวอย่างเดียว : ขบวนการชาวนาสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยการตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศ ก็เก็ดขึ้นเพราะความผิดหวัง ในนโยบายของ "นายกฯพระราชทาน" คนนี้เอง) และ ผมคงไม่จำเป็นต้องเตือนว่า "นายกฯพระราชทาน" อย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แสดง "ความสามารถ" ในการบริหารงานอย่างไร? หรือ มีนโยบายอย่างไรต่อประชาธิปไตย (การจับเหวี่ยงแหผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ภัยสังคม" ทั่วประเทศ ไม่ต้องพูดถึงมาตรการเผด็จอำนาจแบบสุดขั้วอื่นๆ) หรือแม้แต่กรณีเปรม หรือกรณีอานันท์ ปัญญารยชุนเอง เมื่อเป็นนายกฯ ที่ปัจจุบันมีการพยายามจะโฆษณาให้เชื่อว่า เป็นตัวอย่างของนายกฯพระราชทานที่ดี ซึ่งล้วนเป็นการสร้าง มายา ทั้งสิ้น

ที่สำคัญ ความคิดนี้ ขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง ต่อประชาธิปไตย ต่อเจนารมณ์ 2475, 14 ตุลา 6 ตุลา ซึ่งขบวนการนักศึกษาเป็นผู้รับมรดกสืบทอด


ประการสุดท้าย ในกลุ่มผู้ตัดสินใจสูงสุดของการชุมนุมวันที่ 26 (และหลังจากนั้น?) ทำไมไม่มีตัวแทน สนนท.เลย? มองในแง่การมี "ฐานที่แท้จริง" (เป็นตัวแทนของคนอื่นมากกว่าตัวเอง) แม้จะรู้กันว่า สนนท.จะไม่ใช่องค์กรมวลชนจริงๆ แต่อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอย่าง สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ หรือสมศักดิ์ โกศัยสุข หรือ พิภพ ธงไชย ไม่สามารถพูดได้หรือว่า สนนท. ยังมี "ฐาน" ที่เป็นจริง หรือ "ความชอบธรรมในฐานะการเป็นตัวแทน" มากกว่าคนเหล่านั้น? (ไม่น้อยกว่าแน่นอน) เหตุที่ไม่มี ตัวแทน สนนท. เพราะอะไร? ระบบอาวุโส? ในความเป็นจริง "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" ได้แสดงให้เห็นว่า "พันธมิตรประชาธิปไตย" ได้เป็นเพียง "ฉากบังหน้า" ให้กับกลุ่มสนธิ-จำลอง เท่านั้น การเข้าร่วมของ สนนท. เพียงแต่ "สร้างภาพ" ให้กับการเคลื่อนไหวของ สนธิ-จำลอง ซึ่งมีวาระ, เนื้อหา, และจุดมุ่งหมาย ที่แอนตี้ประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งเท่านั้น


ได้โปรดถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" แต่บัดนี้

หากต้องการเคลื่อนไหวคัดค้านทักษิณ สร้างขบวนการของตัวเอง หรือหากจะร่วมมือ ก็ร่วมมือกับผู้อื่นที่มีความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ที่มีความห่วงใยและ เคารพต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ไอเดียผมในตอนนั้น คือ ทำอย่างไรที่จะ "หยุด" กระแสแอนตี้ทักษิณของกลุ่ม "พันธมิตร" ที่กำลังเริ่มขึ้นสูง ความหวังของผมคือ ถ้า สนนท. ซึ่งการเข้าไปร่วมกัน "พันธมิตร" มีลักษณะ "high profile" ไม่น้อย (ขอให้นึกถึงกระแส "ชู" เลขาหญิง สนนท. ในตอนนั้น) ประกาศถอนตัวออกมา ก็มีโอากาสที่จะทำให้สาธารณะมองเห็นด้านที่มีลักษณะปฏิกิริยาของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสนธิ-จำลอง (ซึ่งขณะนั้นเรียกร้องการรัฐประหารจริงๆ - คำพูดของคนอย่างสุริยใส ในระยะหลังๆที่ว่าตัวเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เป็นการโกหกแบบโง่ๆ)

ตอนนั้น มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เขียนถึงผมว่า ข้อเสนอนี้มัน "ไปไกลเกินไป" (going too far) ขณะที่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากอีกคนหนึ่ง ก็มาเปิดเผยหลังช่วงนั้นไม่นานว่า เขาตั้งเป็นปณิธานในใจว่า จะไม่ทำอะไรที่ทำให้ "พันธมิตร" อ่อนกำลังลง (แม้จะ "ไม่เห็นด้วยหลายอย่าง")

ความจริง หลังจดหมายนี้แล้ว ผมยังได้ยืนยันในข้อเขียนอื่นว่า ถ้าคุณผลักการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆโดยไม่มีทางเลือกให้โดยแท้จริง ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" จะเอาใคร? "พวกคุณไม่มี candidate ของตัวเอง") คุณก็มีแต่ซ้ำรอยสมัย 2500 ที่เปิดทางให้ "กลุ่มที่สาม" เข้าครองอำนาจแทนเท่านั้น (ดูตัวอย่างกระทู้ "ถึงผู้ที่กล่าวว่า ต่อต้านทักษิณ และ ต่อต้านนายกฯพระราชทาน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, เว็บไซต์ประชาไท, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย - สนนท. ฯลฯ)" โพสต์เมื่อ 9 มีนาคม 2549 และกระทู้ "deja vu ทักษิณ v นายกพระราชทาน, พิบูล-เผ่า v สฤษดิ์" โพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549

แต่ตอนนั้น ทุกคนอยู่ในภาวะที่ "เลือดเข้าตา" อยากเอาทักษิณออกทั้งนั้น ทั้งๆที่ไม่มีข้อเสนอหรือทางออกอื่น (นอกจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ) (ขอให้ลองอ่านความเห็นของคุณชูวัส บ.ก.ประชาไท ในกระทู้หลังด้วย น่าสนใจอย่างมากเมื่ออ่านย้อนหลัง ตอนนั้น ชูวัสถึงกับต้องมาขอให้ใครๆอ่านกระทู้ผมอย่าง "ลองเปิดใจและพิจารณาข้อเขียนของ อ.สมศักดิ์ อย่างปราศจากอคติดูบ้าง ลองดูเถอะครับ" และยังต้องออกตัวว่า "อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ" ในความเห็นของผม นี่เป็นการสะท้อนด้านกลับว่า บรรยากาศในหมู่ผู้อ่าน (หรือคนทำ?) ประชาไท เองมีลักษณะ "เลือดเข้าตา" เพียงใด ถึงกับต้องมาขอร้องกันแบบนี้!)

จนบัดนี้ ผมยังเชื่อว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภา คือก่อนรัฐประหารถึง 7 เดือน มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดสถานการณ์ที่ภายหลังเปิดทางให้รัฐประหารได้ (แน่นอน ผมใช้คำว่า "มีความเป็นไปได้" เท่านั้น ไม่มีใครประกันได้แท้จริง นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติ) ปัญหาคือ บรรดานักวิชาการปัญญาชนสำคัญๆของเรา แม้แต่คนที่ตอนนี้ออกมาคัดค้านรัฐประหารอย่างแข็งขัน ไม่มีใครเลยที่คิดจะ "ยอม" หยุดกระแส "แอนตี้ทักษิณ" ในตอนนั้น.....

ในความเห็นของผม ขณะที่ตอนนี้ควรต้องตั้งคำถามกับบรรดาผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งแบบตรงๆและแบบแอบๆอายๆต่อการรัฐประหารหลังเกิดรัฐประหารแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากเช่นกันก็คือ ตั้งคำถามกับคนที่ขณะนี้กำลังออกมาวิจารณ์รัฐประหารเองด้วยว่า ก่อนรัฐประหารนั้น ท่าทีทางการเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร มีส่วนผิดพลาด ที่ทำให้ง่ายต่อการสร้างสถานการณ์สำหรับการรัฐประหารอย่างไร