Sunday, December 24, 2006

อะไรต่อไป? สองแนวทางในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในขณะนี้ และข้อสังเกต-ข้อเสนอบางประการ

(18 ธันวาคม 2549)



ผมไปสังเกตการณ์การชุมนุมทั้งในวันที่ 10 และ 17 ธันวาคม ของ "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" และของอีก 2 กลุ่มที่มีการจัดพร้อมๆกัน ความจริง ตั้งใจว่าจะเล่าความรู้สึก (impression) ที่มีต่อการชุมนุมทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว แต่ขณะนี้ ผมคิดว่า มีประเด็นสำคัญกว่า ที่ชวนให้คิดโดยเร่งด่วน นั่นคือ อะไรต่อไป (what next?) จึงขอแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ก่อน


สองแนวทางในหมู่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
ผมเข้าใจว่า ขณะนี้ มีท่าทีหรือแนวทาง 2 อย่างที่ต่างกันในหมู่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมขอเรียกแนวทางแรกว่า แนวทางบอยคอต และแนวทางที่สองว่า แนวทางผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าจะพูดให้มองเห็นได้ง่ายๆ แนวทางแรกคือแนวทางของกลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" ส่วนแนวทางที่สอง คือแนวทางของกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แน่นอนยังมีบุคคล และกลุ่มที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอีก (เช่นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540" เป็นต้น) แต่ในทีนี้ ผมยกเฉพาะ "เครือข่าย 19 กันยา" และ "ม.เที่ยงคืน" ในฐานะเป็น "แบบฉบับ" ของแนวทาง 2 อย่างในขณะนี้

แนวทางแรก ปฏิเสธการรัฐประหารและสิ่งที่ตามมาโดยสิ้นเชิง (รัฐบาล, สนช., คมช., สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่) คือไม่ยอมรับ และไม่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆในการผลักดันเสนอความเห็นต่อรัฐธรรมนูญใหม่ อาศัยการเคลื่อนไหวประนามต่อต้านคัดค้านจากภายนอก

แนวทางที่สอง นอกจากปฏิกิริยาที่ค่อนข้างคลุมเครือ ลังเล ต่อการรัฐประหารโดยเฉพาะในระยะแรกแล้ว แนวทางนี้เสนอให้พยายามวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็น เพื่อผลักดันส่งอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมทั้งเคลื่อนไหวในรูปแบบการร่าง "รัฐธรรมนูญทางเลือก", "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน")


ปัญหาเชิงเนื้อหาที่ควรถกเถียง
นอกจากปัญหาในเชิงท่าทีการเคลื่อนไหวดังกล่าวแล้ว ผมคิดว่า มีปัญหาเชิง "เนื้อหา" เกี่ยวกับการประเมินอนาคตของการรัฐประหารที่ควรอภิปรายควบคู่กันไปด้วย เพราะจะมีผลต่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนหรือกำหนดท่าทีของการเคลื่อนไหว นั่นคือปัญหาว่า เราคาดการณ์ว่ากลุ่มรัฐประหารต้องการอะไร โดยเฉพาะคือต้องการให้รัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมืองใหม่เป็นแบบใด?

โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างเชื่อว่า ขณะนี้ เราพอจะสรุปได้แล้วว่า คณะรัฐประหารชุดนี้คงพยายามผลักดันให้การเมืองมีลักษณะแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เหมือนสมัยเปรม (รัฐธรรมนุญ 2521) นั่นคือ การเมืองที่เปิดโอกาสให้ราชสำนักและกองทัพมีอิทธิพลและบทบาทในการกำหนดอย่างประจำ เครื่องมือสำคัญของการเมืองแบบนี้คือ นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาแต่งตั้ง (แต่ล่าสุด ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้เสนอให้มีองค์กรอย่าง คมช. และ สตช. ด้วย)

ในความเห็นผม การประเมินเช่นนี้ น่าจะมีผลต่อการทบทวนท่าทีต่อรัฐประหารข้างต้น กล่าวคือ ถ้าการประเมินเช่นนี้ถูกต้อง ความพยายามที่จะ "ส่งอิทธิพล" ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวทาง ม.เที่ยงคืน ก็เป็นความพยายามที่เกือบจะแน่นอนว่าจะล้มเหลว เพราะอย่างไรเสีย พวกรัฐประหาร - ถ้าการประเมินนี้ถูกต้อง - ก็จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" อยู่นั่นเอง มิเช่นนั้น การรัฐประหารจะกลายเป็นการสูญเปล่าสำหรับพวกเขา ดังนั้น ในความเห็นของผม แนวทางบอยคอตมีความสมเหตุสมผล และมีลักษณะเชิง "ปฏิบัติได้" (practical) มากกว่าด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่า ข้อเสนอ 5 ข้อว่ารัฐธรรมนูญใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไรของ ม.เที่ยงคืน ไม่มีประเด็นโครงสร้างการเมืองนี้เลย ปัญหาคือ ถ้า ม.เที่ยงคืน (หรือกลุ่มหรือบุคคลที่คิดแบบเดียวกัน) ยังคงยืนยันเฉพาะ 5 ข้อดังกล่าว และเห็นว่า โครงสร้างการเมือง "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ไม่ใช่ประเด็นสำคัญชี้ขาด ก็อาจจะยืนยันที่ยังคงรักษาท่าทีแบบเดิมไว้ก็ได้ ด้วยเหตุผลว่า แนวทาง "ส่งผลสะเทือนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ" ยังมีความหมายอยู่ ไม่ใช่ไม่มีความหมายอะไร (อย่างที่ถ้ามองประเด็นโครงสร้างการเมืองเป็นหลัก)



การประชุมขยายวงเพื่ออภิปรายปัญหา
ผมเสนอว่า กลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" หรือ กลุ่มแอ๊กติวิสต์อื่น (ฟ้าเดียวกัน สนนท. ฯลฯ) น่าจะลอง "เป็นเจ้าภาพ" เชิญปัญญาชนนักวิชาการและแอ๊กติวิสต์ เข้าร่วมการพูดคุยสัมมนาในลักษณะ "จับเข่าคุยกัน" คือ เป็นการหารือ ถกเถียงร่วมกันในประเด็นทั้งสองดังกล่าว (คือทั้งท่าทีเคลื่อนไหว และ การประเมินเชิงเนื้อหาอนาคตของการรัฐประหาร) และชักชวนให้กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงทางสังคมทั้งหลาย ให้มาเห็นด้วยกับท่าทีต่อการรัฐประหารแบบบอยคอต

เพราะปัญหาที่ผมเห็นขณะนี้ (ซึ่งกลุ่มเครือข่าย 19 กันยา เองคงเห็นด้วย) คือ การเคลื่อนไหวตามแนวทางบอยคอต ยังขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะจากผู้มี "เครดิตทางสังคม" (ปัญญาชนนักวิชาการ กลุ่มสังคมอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือยอมรับ) ทำให้ยังขาดพลังเท่าที่ควร (จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน การเคลื่อนไหวผ่าน "สื่อ" การทำ "พีอาร์" ต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก)

แน่นอน ในที่สุดแล้ว การตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหนในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหาร ย่อมเป็นสิทธิของบุคคลและกลุ่มต่างๆเอง แต่ควรจะชักชวนให้คนมากที่สุดเห็นว่า อนาคตในระยะยาวของประชาธิปไตยไทยขึ้นอยู่กับการหาทางยับยั้งทำลายแผนการเมืองของคณะรัฐประหารนี้ และแนวทางที่ถูกต้องได้ผลเป็นสิ่งที่ควรลงมือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้