เกษียร ประเมินบทบาท นิธิ (และตัวเอง) ก่อนรัฐประหาร โดยเฉพาะในประเด็นสถาบันกษัตริย
(24 พฤศจิกายน 2549)ในการสัมมนาที่เชียงใหม่ในเดือนมิถุนายน ที่ ฟ้าเดียวกัน นำมาตีพิมพ์ในฉบับ "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" เกษียร ได้กล่าวประเมินถึงท่าทีทางการเมืองของตัวเขาเองและของนิธิในระยะเวลาที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวกับ สิ่งที่ McCargo เรียกว่า Network Monarchy ข้อสังเกตตอนนี้ของเกษียร เป็นข้อสังเกตที่ผมเห็นว่าแหลมคมยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
( note: ความจริง เกษียรเป็นคนที่ผมถือว่า สรุป-จับประเด็นทางการเมือง-ทฤษฎี ได้อย่างแหลมคมยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในไม่กี่คนของยุคนี้ (ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลังๆ ก่อน รปห. ผมจึงใช้ความพยายามที่จะตามอ่านบทความเกษียรในมติชนอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าบทความนิธิ ซึ่งผมรู้สึกมีแต่ plot เก่าๆ ผมอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนหลัง รปห.จึงกลับมาอ่านใหม่ เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเล่นๆ แม้แต่ในกรณีที่ออกจะส่วนตัว - ผมขอให้ดูคำนำในหนังสือประจักษ์, ข้อสังเกตในการวิจารณ์บทความสายชลปีกลาย เรื่องความแตกต่างระหว่างธงชัย, ผม กับเขาเอง, นิธิ และสายชล ก็แหลมคมอย่างยิ่ง) แต่ปัญหาของเกษียรในความเห็นของผม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง คือ เรื่องการเมือง คือ เมื่อจับประเด็นได้ หรือ ทั้งๆที่จับประเด็นได้ แต่มักจะเลือกการเมืองที่แย่ เรื่องนี้ ทำให้ผมมักจะคิด และเคยพูดในห้องเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์รัสเซียที่ผมสอนว่า เกษียร ทำให้ผมนึกถึง Bukharin มีลักษณะหลายอย่างมากที่เหมือนกัน โดยเฉพาะด้าน high intellect, bad politics ของทั้งคู่ (ไม่นับประเด็นอื่นๆ เช่น ลักษณะ loyalty ต่อบางคน ลักษณะ sensitive ต่อด้านที่เป็นเชิงอารมณ์แบบ human emotions) และที่เหมือน ฺBukharin คือ เกษียร มักใช้ความสามารถอย่างสูงของตัว ไปรับใช้ cause ที่แย่ หรือกระทั่งไปทำให้ cause ที่แย่ "ดูดี" ขึ้นกว่าที่ตัวมันเองเป็น (ผมเคยพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงหลายครั้งว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะเขียนบทความทำนอง "เกษียร กับ บูคาริน")... ตัวอย่างที่กำลังจะพูดถึงเป็นเรื่องหนึ่ง)
นี่คือคำพูดของเกษียร (เน้นคำของผม) :
ผมคิดว่าพันธมิตรระหว่างขบวนการประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ก่อตัวในช่วงสิบปีหลังพฤษภาฯ 2535 ...[ note นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านที่ค้านกับการที่ธงชัยพยายามเน้นย้อนหลังกลับไปที่ 14 ตุลา - สมศักดิ์] ....สิ่งที่เรียกว่า monarchical network หรืออาจแปลเป็นไทยเพื่อความเข้าใจได้ว่า "เครือข่ายในหลวง" เครือข่ายนี้ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในช่วงสิบปีหลังพฤษภาฯ 2535 คือปรากฏปีกเสรีนิยมที่รวมตัวกันเข้มข้นขึ้นมา ถ้าพูดถังตัวบุคคลคือ คุณอานันท์ ปัญญารชุน หมอประเวศ วะสี พออ่านมาถึงตอนนี้ผมก็ฉุกคิดว่าอาจครอบคลุมถึง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าความรับรู้หรือเจตนาสำนึกทางอัตวิสัยจะเป็นเช่นใด ทว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ทางภววิสัยได้พ่วงพาเข้ามาอยู่ใน liberal monarchical network ด้วย.... ดังนั้น พันธมิตรดังกล่าวไม่ได้เพิ่งมาก่อตัวเมื่อจัดตั้ง 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ต้นปีนี้นะครับ หากมีการปูพื้นมานานกว่าที่จะเดินมาถึงจุดนี้ และเมื่อมาย้อนคิดดู พูดตรงๆ ถ้าสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่ไปร่วมกลุ่มนี้แล้ว จะให้ไปร่วมกลุ่มไหน?นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากในทัศนะของผม นิธิเอง หรือคนอื่นๆที่ชืนชมนิธิอีกมาก อาจจะไม่ยอมรับ หรือมองไม่เห็นประเด็นที่เกษียรเสนอ (ดูที่ผมทำตัวหนาครั้งแรกข้างต้น ["ทั้งนี้ไม่ว่า..."] ซึ่งผมเห็นว่าเป็นตัวอย่างของความแหลมคมของข้อเสนอนี้) แต่ผมเห็นว่า ถ้าจะสรุปให้แหลมคม และ disregard ประเด็นย่อยๆ หรือท่าทีเฉพาะบางครั้งบางเวลา งานเขียนของนิธิในช่วงก่อนรัฐประหาร มีลักษณะอย่างที่เกษียรสรุปนี้จริง คือ อยู่ในกลุ่มปัญญาชนที่แชร์ร่วมกับราชสำนัก ด้านที่แอนตี้นักการเมือง การเมืองแบบการเลือกตั้ง และด้านที่เน้นเชิง "คุณธรรม" "จริยธรรม" "ราษฎร" "ชาวบ้าน" แม้ว่า นิธิจะมีวิธีอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ละเอียดอ่อน และ sensitive ต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เหนือกว่าประเวศอย่างมหาศาล แต่โดยรวมแล้ว ด้านที่นิธิแชร์การเมืองกับประเวศ (และเกษียร) และราชสำนัก เป็นสิ่งที่เป็นจริงอย่างแน่นอน
เรื่องนี้ผมเห็นว่าสำคัญต่อการเข้าใจ และอธิบายท่าทีของนิธิต่อการรัฐประหาร และยังมีนัยยะสำคัญต่อความเข้าใจสิ่งที่เราอาจเรียกว่า "ภูมิหลังทางอุดมการและทางภูมิปัญญา" ของการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆก็เกิดขึ้นแบบลอยๆ หรือกระทั่งเป็นปัญหาในเชิงการ "ปรับตัว" แบบ pragmatic กับสิ่งที่เกิดขึ้น ในแง่นี้ การเรียกท่าทีทำนองนี้ว่า pragmatic จึงทำให้หลงทางได้ เพราะอันที่จริง ท่าทีทำนองนี้ "ผุด" (spring) จากรากฐานเชิงอุดมการ-ความคิด ที่มีลักษณะของ "หลักการ" มากกว่าเรื่องของการ "ปรับตัว" อย่างที่คำว่า pragmatic ชวนให้เข้าใจ ......
ข้อความของเกษียรที่ผมยกมา ยังยืนยันในประเด็นที่ผมพูดถึงเกษียรข้างต้นเรื่อง high intellect, bad politics เพราะในย่อหน้าเดียวนี้ ได้สะท้อนทั้งด้านความสามารถในการตั้งข้อสังเกต และสรุปรวบยอด กลั่นกรองเป็นประเด็นที่แหลมคมออกมา ขณะเดียวกัน ประโยคสุดท้าย ที่ว่า " พูดตรงๆ ถ้าสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่ไปร่วมกลุ่มนี้แล้ว จะให้ไปร่วมกลุ่มไหน? " ก็เป็นการสะท้อนสิ่งที่ผมเรียกว่า bad politics ข้างต้น ที่วา "เมื่อจับประเด็นได้ หรือ ทั้งๆที่จับประเด็นได้ แต่มักจะเลือกการเมืองที่แย่"
..............
(ยังมีต่อ ?)
<< Home