Saturday, November 25, 2006

เกี่ยวกับการที่ "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับพิเศษ รัฐประหาร 19 กันยา ไม่มีบทความของผม

(23-24 พฤศจิกายน 2549)



สืบเนื่องจากกระทู้ที่ผมเขียนแลกเปลี่ยนกับ "บ.ก.ลายจุด" (23 พฤศจิกายน 2549) และได้พาดพิงถึงท่าทีของกลุ่มฟ้าเดียวกัน ซึ่งผมมองว่ามีลักษณะเดียวกัน ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา" พร้อมกันนั้น ผมได้เขียนไปว่า
ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก

คุณธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน ได้เขียนตอบ (23 พฤศจิกายน 2549) ดังนี้
เรียนอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมคิดว่าประเด็นที่อาจารย์ยกขึ้นมาคนที่อภิปรายเรื่องนี้ดีที่สุดคือ ตัวอาจารย์เอง ผมคิดว่าในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ หรือฉบับอื่นเรายังเปิดกว้างรับความเห็นอยู่ครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา(ไม่ว่าจะลงฟ้าเดียวกันหรือลงที่อื่นก็ตาม) เพราะจะได้เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นๆ ร่วมถกเถียงกับอาจารย์ด้วย ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เห็นความสำคัญของการโพสต์ในเว็บบอร์ดนะครับ

ธนาพล


ผมจึงได้โพสต์ข้อความต่อไปนี้ตอบ (24 พฤศจิกายน 2549) :

เกี่ยวกับ ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษ และ ผม

ความจริง เมื่อฟ้าเดียวกัน ริเริ่มจะทำ "ฉบับพิเศษ รปห. 19 กันยา" ได้ติดต่อขอบทความเก่าผมเรื่องหนึ่งเพื่อไปตีพิมพ์

ผมได้ตอบไปว่า บทความเรื่องนั้น ผมยังไม่ต้องการตีพิมพ์ซ้ำ เนื่องจาก อยากจะแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อนตีพิมพ์ใหม่ (ซึ่งยังไม่พร้อมจะทำขณะนี้)

ที่สำคัญผมได้แจ้งให้ทราบว่า
"หาก ฟ้าเดียวกัน จะทำฉบับเรื่อง รปห.19 กันยา ผมออกจะแปลกใจไม่น้อยที่พวกคุณขอบทความนี้ [คือบทความเก่านั้น] จากผม.....เพราะความจริง ในหลายวันที่ผ่านมา ผมได้เขียนและโพสต์เกี่ยวกับกรณีรปห.ครั้งนี้ไว้มากมาย ดังนั้น หากจะต้องการความเห็นผมที่เกี่ยวกับ 19 กันยา โดยตรง ผมก็ขอเสนอให้ตีพิมพ์ข้อความที่โพสต์เหล่านั้น"
ทาง ฟ้าเดียวกัน ได้ตอบกลับมาทำนองว่า ถ้าผมมีบทความอะไรอยากตีพิมพ์ในฉบับพิเศษ ก็ขอให้ส่งต้นฉบับภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้

ผมเองออกจะแปลกใจในคำตอบดังกล่าว เพราะได้บอกไปชัดเจนว่า มีที่อยากตีพิมพ์อยู่ คือข้อความที่โพสต์ๆเหล่านั้น ซึ่งหาก ฟ้าเดียวกัน ต้องการจะตีพิมพ์ ก็เพียงแต่นำต้นฉบับจากเว็บบอร์ด หรือจาก blog ของผม ไปตีพิมพ์ได้เลย

ผมจึงเขียนย้ำไปอีกว่า
"มีอยู่อย่างเดียวที่ผมอยากพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ตอนนี้ คือพวกที่โพสต์ไปนั่นแหละ หาก [ฟ้าเดียวกัน] ไม่ต้องการพิมพ์ ก็คงไม่มีอย่างอื่นอีก"
ซึ่งผมคิดว่า น่าจะชัดเจนว่า ผมมี "ต้นฉบับ" เสนอให้พิมพ์จริงๆ

แต่หลังจาก ผมตอบย้ำไปเช่นนั้น ก็ไม่ได้รับการติดต่อเรื่องฉบับพิเศษนั้นกลับมาอีก ผมจึงเข้าใจว่า ฟ้าเดียวกัน ไม่ต้องการจะพิมพ์ "ต้นฉบับ" ที่ผมเสนอไป ซึ่งย่อมเป็นสิทธิ และดุลยพินิจของ ฟ้าเดียวกัน

ประเด็นที่ผมเขียนในกระทู้แลกเปลี่ยนกับ "บ.ก.ลายจุด" ความจริงก็เป็นประเด็นที่ขยายเพิ่มเติมจากกระทู้รัฐประหารที่ผมได้โพสต์ไปแล้ว และเสนอให้ตีพิมพ์เหล่านั้นนั่นเอง (คำถามของผมโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารก็ยังคงเดิมคือ ถ้าพวกคุณ "2 ไม่เอา" คือ "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" หรือที่ บ.ก.ลายจุด มาเขียนใหม่ว่า "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" พวกคุณจะเอาอะไร?)

ดังนั้น จึงออกจะแปลกใจอยู่ที่ คุณธนาพล แห่ง ฟ้าเดียวกัน เขียนว่า ผม "ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา" เพราะผมก็นึกว่า ได้เขียนไปไม่น้อยแล้ว และได้เสนอให้พิจารณาไปแล้ว


ครั้งนี้ คุณธนาพล ได้เขียนตอบ (24 พฤศจิกายน 2549) ว่า

เรียนอ.สมศักดิ์

ผมคิดว่าคงมีความเข้าใจที่ผิดพลาดบางประการในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องบทความ ของอาจารย์

ตอนที่อาจารย์เสนอว่าให้นำข้อความใน "เว็บบอร์ด" มาตีพิมพ์นั้นผมก็สนใจ แต่ผมเข้าใจว่าอาจารย์จะเอาไป "เรียบเรียง" มาให้เป็นบทความแต่ดูเหมือนอาจารย์จะยืนยันว่าให้เอา ที่เป็นกระทู้นั่นแหละมาตีพิมพ์ ผมจึงต้องปฏิเสธไป

เหตุผลก็คือ ในแง่ของการจัดพิมพ์หนังสือ ผมค่อนข้างจะลำบากใจพอสมควรที่จะเอา ข้อความที่โพสต์ในเว็บบอร์ดไปตีพิมพ์โดยตรง เนื่องจากธรรมชาติของการเขียนไม่เหมือนกัน
(แต่ไม่ได้บอกว่าการเขียนความเห็นโพสต์ในเว็บบอร์ดไม่สำคัญ หรือไม่มีประโยชน์)

ดังนั้นเมื่ออาจารย์บอกว่า
“ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก”
ผมจึงบอกไปว่า
”ประเด็นที่อาจารย์ยกขึ้นมาคนที่อภิปรายเรื่องนี้ดีที่สุดคือ ตัวอาจารย์เอง ผมคิดว่าในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ หรือฉบับอื่นเรายังเปิดกว้างรับความเห็นอยู่ครับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์ควรจะเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา(ไม่ว่าจะลงฟ้าเดียวกันหรือลงที่อื่นก็ตาม) เพราะจะได้เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นๆ ร่วมถกเถียงกับอาจารย์ด้วย”
แต่ถ้ามีอะไรทื่ทำให้เข้าใจผิด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ธนาพล

ผมจึงเขียนตอบกลับอีกครั้ง (24 พฤศจิกายน 2549) ดังนี้

เรียน คุณธนาพล และ ฟ้าเดียวกัน

ขอบคุณอย่างสูงที่กรุณาชี้แจงมา

อันที่จริง จากที่กล่าวมา แสดงว่า เราไม่ได้มีความเข้าใจผิดในการสื่อสารแต่อย่างใด กล่าวคือ ผมเสนอให้ตีพิมพ์กระทู้ต่างๆของผมที่โพสต์เกี่ยวกับรัฐประหาร ("มีอยู่อย่างเดียวที่ผมอยากพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ตอนนี้ คือพวกที่โพสต์ไปนั่นแหละ หาก [ฟ้าเดียวกัน] ไม่ต้องการพิมพ์ ก็คงไม่มีอย่างอื่นอีก") และทาง ฟ้าเดียวกัน ตัดสินใจว่า ไม่สามารถพิมพ์ได้ ("เหตุผลก็คือ ในแง่ของการจัดพิมพ์หนังสือ ผมค่อนข้างจะลำบากใจพอสมควรที่จะเอา ข้อความที่โพสต์ในเว็บบอร์ดไปตีพิมพ์โดยตรง...") ซึ่งดังที่ผมกล่าวแล้วข้างต้นว่า "ย่อมเป็นสิทธิ และดุลยพินิจของ ฟ้าเดียวกัน"

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ผมไม่ค่อยแน่ใจ หรือสามาถเห็นด้วยได้นัก กับการมองว่า บทความ กับ กระทู้มี "ธรรมชาติของการเขียนไม่เหมือนกัน" โดยเฉพาะ สำหรับผม ในกรณีเรื่องรัฐประหารนี้ กระทู้หลายกระทู้ที่ผมเขียนไป ผมรู้สึกชอบมากกว่าบทความหลายบทความที่เคยเขียน และในการประเมินของผมเอง ในแง่เนื้อหา ประเด็น และคุณภาพ ก็อยู่ในระดับที่ไม่น้อย หรือมากกว่า บทความทั้งทีตัวเองเขียนในเรื่องอื่นๆ และ "บทความ" ที่คนอื่นเขียน ในกรณีรัฐประหาร

ด้วยความนับถือ
สมศักดิ์


ผมขออนุญาต ยกตัวอย่าง เพื่อความ "บันเทิง" (และ สาระ) ตัวอย่างหนึ่ง

ที่ว่าเพื่อความ "บันเทิง" ก็เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีใครก็ไม่ทราบ ไป nominate คำพูดจากกระทู้หนึ่งของผมที่ว่า "ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย 'มึง' ควรละอายใจตัวเอง" ว่าเป็น "คำพูดแห่งปี"

ความจริง ผมไม่สนใจในแง่ "คำพูดแห่งปี" อะไรนั่น แต่อดรู้สึกชอบใจไม่ได้ เพราะผมเองชอบกระทู้นั้นจริงๆ แน่นอน ในแง่หนึ่ง กระทู้ดังกล่าว อาจจะดูไม่เป็น "บทความ" อย่างที่บางคนเขียนๆกัน

แต่ประเด็นที่กระทู้นั้น "ฟันธง" ให้เห็นว่า นักวิชาการชั้นนำของเรา ในระหว่างรัฐบาลเลือกตั้ง-นักการเมือง อยู่ในอำนาจ ใช้ถ้อยคำประเภท "กู" "มึง" "อัปรีย์" กับคนเหล่านั้น แต่พอคณะรัฐประหารขึ้นมา กลับมีทีท่า "หน่อมแน้ม" (timid) อย่างที่เห็นอยู่ เป็นอะไรที่สมควรละอายใจอย่างยิ่ง นี่เป็นประเด็นที่สำคัญหรือไม่ (และมีนัยยะให้ตั้งคำถามกับบทบาททั้งหลายของปัญญาชนในระยะที่ผ่านมา) ผมเห็นว่าเป็น

ส่วนการนำเสนอในลักษณะที่ผมทำในกระทู้ดังกล่าว ถ้า "ทำให้เป็นบทความ" จะต่างกัน?

อาจจะ

แต่ทำไมต้องทำให้ต่างกัน? ทำไมการนำเสนอในลักษณะนั้นทำไม่ได้? เมื่อคำนึงถึงลักษณะน่าละอายอย่างยิ่งนั้น

นอกจากประเด็นที่เพิ่งยกมานี้แล้ว "มีประเด็น" อะไรอีก? นี่คือ "ตัวอย่าง" ของประเด็นที่ผมเสนอ/วิพากษ์ในกระทู้เหล่านั้น

"วาทกรรมแอนตี้เลือกตั้ง", "เลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้", "ว่าด้วยคำว่า ระบอบทักษิณ", "2 ไม่เอา", "อาณาจักรแห่งความกลัว", "อารยะขัดขืน", "ความรับผิดชอบของปัญญาชนต่อการรัฐประหาร", "รัฐประหารเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว" ฯลฯ ฯลฯ

ผม "คลับคล้ายคลับคลา" อยู่ว่า หลังจากผมเขียนประเด็นเหล่านี้ไปแล้วหลายวัน (สัปดาห์-เดือน) มีคนมาเขียน "บทความ" ตีพิมพ์หรือโพสต์ในที่ต่างๆ (และในฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ?) พูดถึงประเด็นเหล่านี้เหมือนกัน