Wednesday, November 01, 2006

ว่าด้วยกรณีจดหมายเปิดผนึกให้สุรพลเลือกระหว่าง สส. หรือ อธิการบดี มธ.

(1 พฤศจิกายน 2549)



วันหนึ่ง ในช่วงที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้ใช้ ม.7 ซึ่งสุรพล เป็นคนสำคัญคนหนึ่ง (อย่าลืมว่า การเรียกร้องนี้คืออะไร? คือการให้ยกเลิกส่วนสำคัญๆที่สุดของรัฐธรรมนุญที่ใช้อยู่ คือยกเลิกรัฐบาล และรัฐสภาทีมาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ เรียกร้องให้รัฐประหารนั่นเอง เพียงแต่เป็นรัฐประหารที่ให้พระมหากษัตริย์ทำโดยตรง แต่เป็นรัฐประหารแน่นอน) .. ผมไปที่ท่าพระจันทร์ และเดินสวนกับ อ. "..." ผมก็ทักทายกับเขา และพูดคุยเรื่องสถานการณ์ โดยเฉพาะบทความที่เขาเขียน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างสำคัญบางประเด็น .. ก่อนจะแยกทางกัน ผมพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงกับเขา ถึงเรื่องที่ตัวเองกำลังคิดๆอยู่ว่า "เฮ้ย ผมว่า ถ้าว่างๆ เสร็จเรื่องนี้เมื่อไร จะรณรงค์เอาสุรพลออกจากอธิการ คุณว่าดีไหม? มีอย่างที่ไหน อธิการบดี มธ.เรียกร้อง ม.7" เขาก็หัวเราะ และพูดว่า "เออ คุณเอาสิ ผมจะลงชื่อด้วย"... น่าเสียดายที่ผมเป็นคนขี้เกียจเกินไปจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการบริหารงาน ตำแหน่ง ฯลฯ สุดท้าย ก็เลยไม่ได้ทำอะไร .. ยิ่งกว่านั้น พอเกิดรัฐประหาร เรื่องเรียกร้อง ม.7 ตอนนั้นก็ไม่ใช่ priority ในการคิดไป...

เมื่อหลายวันก่อน เมื่อคุณอุเชนทร์ กับเพื่อน ริเริ่มทำจดหมายเปิดผนึก ล่าลายเซ็นเรียกร้องให้สุรพล เลือกเอาระหว่างตำแหน่ง สส. กับอธิการบดี มธ. ด้านหนึ่ง ผมก็ "ดีใจ" เล็กน้อย .. (ในแง่ที่คิดแบบขำๆถึงไอเดียคล้ายๆกันของตัวเอง ที่เล่าข้างต้น) แต่ขณะเดียวกัน ผมออกจะรู้สึก "ชอบกลๆ" ไม่ได้ ว่า ทำไมข้อเรียกร้องช่าง "หน่อมแน้ม" เหลือเกิน

จริงอยู่ จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องว่า ถ้าสุรพลจะยังเป็น สส. ก็ให้ลาออกจากอธิการ

แต่ในทางกลับกัน ตามข้อเรียกร้องเช่นนี้ หมายความว่า ถ้าสุรพลลาออกจาก สส. ก็เป็นอธิการบดีต่อไปได้

ยิ่งกว่านั้น เมื่อผมได้อ่านเหตุผลที่บางคนให้ในการลงชื่อสนับสนุน โดยเฉพาะเหตุผลของ จอน อึ๊งภากรณ์ (ลงชื่อลำดับที่ 19) ที่ว่า "ผมเคารพในเหตุผลของอาจารย์และคนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยทุกๆคนที่ตัดสินใจรับเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในครั้งนี้ แต่ผมเห็นว่าไม่ควรนำสถาบันที่ตนเป็นผู้บริหารสูงสุดเข้าไปด้วย..." (โดยมี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ลงชื่อลำดับที่ 78 เขียนสนับสนุนว่า "I agree with Jon Ungpakorn.")

ผมรู้สึกว่า การ "หน่อมแน้ม" นี้ชักจะไปกันใหญ่

คำว่า "เคารพ" (respect คำยอดฮิตของบางคน) ที่จอนและชาญวิทย์ใช้ในที่นี้ แปลว่าอะไร?

respect การที่ ศาตราจารย์ ผู้ใหญ่ทางกฎหมาย endorse (รับรอง) การยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการไปเป็น สส.ให้แล้ว?


และลองสมมุตินะ สมมุติว่าสุรพลเกิดลาออกจาก สส. จริงๆ โดยอาจจะให้เหตุผลทำนองว่า "งานยุ่ง รับภาระ สส. ไม่ได้" หรือกระทั่งว่า "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" (อย่าลืมว่า สุริยใส, เสน่ห์, ชัยวัฒน์ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" ทั้งนั้น) ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แปลว่า สุรพลควรยังเป็นอธิการบดีต่อไปได้?

คนที่เรียกร้องให้ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจ ม.7 คือ ให้พระมหากษัตริย์ทำรัฐประหาร คนที่รับเป็น สส.ให้คณะข่มขืนทางการเมืองไปแล้ว คนอย่างนี้ ยังควรเป็นอธิการบดี มธ.?

ต่อให้ไม่นับเรื่อง ม.7 ข้อเสนอแบบนี้ ราวกับว่า การที่ สุรพล ตัดสินใจรับเป็น สส.ไปแล้ว เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ต้องใช้วิจารณญาณตัดสินอะไรมาก ถ้าลาออกเสียตอนนี้ ก็โอเค เป็นอธิการต่อไปได้ ราวกับว่า เป็นเรื่องของเด็กๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ขอแต่ให้ "สำนึกได้" ก็แล้วกันไป เป็นอธิการบดีต่อไปได้

คนระดับศาตราจารย์ทางกฎหมายผู้ใหญ่ ระดับอธิการบดี ไปรับเป็น สส.ให้คณะรัฐประหาร นี่เป็นเรื่องไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหมือนเด็กๆ?

ตอนที่มีการรณรงค์คัดค้าน "ย้ายธรรมศาสตร์" (ชาญวิทย์, จอน, และอีกหลายคนที่ลงชื่อตอนนี้) เรียกร้องให้ ผู้บริหาร มธ. ลาออก เพราะ(กล่าวหาว่า) เป็นผู้ "ตัดสินใจ" ย้าย มธ. (ความจริง ผู้มีส่วนในการ "ตัดสินใจ" มีอีกหลายคน รวมทั้งพวกที่รณรงค์เอง)

แต่ตอนนี้ สุรพล ไป รับรองรัฐประหาร (มิหนำซ้ำ เพิ่งมีประวัติของการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทำรัฐประหาร) กลับเรียกร้องแค่ว่า ให้เลือกตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งเดียวก็พอ?

อย่างที่ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า แปลกมากๆที่ เมื่อเกิดเรื่องรัฐประหารคราวนี้ บรรดาปัญญาชน นักวิชาการ ช่างกลายเป็นคน "สุภาพ" มี "respect" มี "มารยาททางสังคม" เหลือเกิน.. เปรียบเทียบกับท่าทีที่ใช้กับนักการเมือง หรือผู้ที่ (ถูกหาว่า) ทำงานให้นักการเมืองในอดีตใกล้ๆ ...