Saturday, November 25, 2006

แลกเปลี่ยนกับ "บ.ก. ลายจุด" แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" และ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

(23-26 พฤศจิกายน 2549)



เว็บไซต์ของ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งรับผิดชอบโดย "บ.ก.ลายจุด" (คุณสมบัติ บุญงามอนงค์) แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" ได้ชูคำขวัญ "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"



คำวิจารณ์ของผม
(23 พฤศจิกายน 2549)


เรียนถาม "บ.ก.ลายจุด" แห่ง "มูลนิธิกระจกเงา" และ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร (และ ฟ้าเดียวกัน ฯลฯ) ด้วยความนับถือ: "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" แล้วจะเอาอะไร?


เรียน ถาม 3 ข้อ ที่ต่อเนื่องกัน

(1) "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง"
ดี แต่จะเอาอะไรครับ?

(2) ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ "เอาทักษิณ"
การ "ไม่เอาทักษิณ" นี่แปลว่าอะไร? ไม่ยอมรับการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่?
ถ้าเช่นนั้นจะต่างอะไรกับพวก "รถถัง"?

(3) จุดยืนนี้ มีส่วนในการปูทางทางความคิดให้กับการรัฐประหารอย่างไร? เคยคิดบ้างไหม?

สิ่งที่ผมมีปัญหากับ ธงชัย, ฟ้าเดียวกัน, เครือข่าย 19 กันยา และคนอื่นๆในแนวเดียวกัน ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารถถัง" หรือที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา") ก็คือประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ 3

ในความเป็นจริง ในเมื่อพวกคุณมีแต่ตะโกนคำขวัญประเภท "2 ไม่เอา" แต่ไม่เคยพูดว่า "ในเมื่อทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ ทักษิณมีสิทธิที่จะเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล" ที่สำคัญ ในการตัดสินใจสนับสนุนการเคลื่อนไหวแอนตี้ทักษิณ ตั้งแต่ในตอนต้น (ไอเดียเรื่องล่ารายชื่อที่ลานโพธิ์ ของ "กลุ่มนศ.รักประชาชน" ไอเดียเรื่อง "NO VOTE" ผมเห็นว่าในที่สุดแล้ว มาจากกระแสทางพวกคุณ หรือได้รับผลสะเทือนจากกระแสทางพวกคุณ เพราะตอนแรก พวกสนธิ มุ่งให้มีการรัฐประหาร และ "ชูธงเหลือง" การเคลื่อนไหว 2 อันที่ยกมานี้ ไม่ได้ทำไปภายใต้การ "ชูธงเหลือง") การรณรงค์ของพวกคุณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโค่น "ระบอบทักษิณ" ที่ปูทางให้กับการรัฐประหาร

ผมมีความรู้สึกว่า การทำราวกับว่า สิ่งที่ "ผ่านไปแล้ว" (3 ข้อข้างต้น) ไม่สำคัญอะไร ไม่ต้อง "วิจารณ์ตนเอง" หรือ defend ตนเอง เป็นลักษณะที่มีคนเรียกว่า pragmatism (สัมฤทธิผลนิยม) อย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากที่คนเรียกวิจารณ์คนอื่น (by the way ในบริบทของประวัติศาสตร์ปรัชญาฝรั่ง โดยเฉพาะปรัชญา analytic ร่วมสมัย คำนี้ pragmatism มีความหมายคนละอย่างกับที่กำลังใช้เรียกในกรณีไทยปัจจุบัน ในแง่นี้ ผมออกจะไม่เห็นด้วยกับการใช้คำนี้นัก pragmatism ของปรัชญา analytic ร่วมสมัย อย่าง Rorty, Davidson, Bernstein, Putnum มีหลายอย่างที่ผมเห็นว่าน่าชื่นชม)

ขอเสริมเรื่องการรณรงค์ NO VOTE ที่พวกคุณสนับสนุน (หรือเป็น "ต้นธารความคิด" ) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรณรงค์แอนตี้ทักษิณ เมื่อบวกกับการบอยคอตต์ไม่ลงเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ชาติไทย ฯลฯ

พวกหลัง (ประชาธิปัตย์ ฯลฯ) ทำการบอยคอตต์ เพื่อปูทางให้กับการรัฐประหารโดยตรง (โดยกษัตริย ใต้ข้ออ้าง "มาตรา 7" หรือ กองทัพ)

แต่ในการรณรงค์ NO VOTE ของพวกคุณ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ move ปูทางรัฐประหารของพวกนี้สำเร็จ พวกคุณไม่เคย make clear ต่อมวลชนเลยว่า " เสียง NO VOTE ไม่ใช่การทำให้การเลือกตั้งนี้เป็น "โมฆะ" (ไม่ใช่ทำให้ "มั่ว") และ ถ้าเสียง NO VOTE แพ้ ทักษิณ มีสิทธิเป็นรัฐบาล"

ดังนั้น การรณรงค์ NO VOTE ของพวกคุณ จึงเป็นการรับใช้โดยตรงให้กับพวกปูทางรัฐประหาร

ผมได้แต่หวังว่า ใน ฟ้าเดียวกัน "ฉบับพิเศษ" รัฐประหาร จะได้อภิปรายปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง แต่เมื่อมองจากรายชื่อคนเขียนที่โฆษณาไว้แล้ว ดูเหมือนความหวังนี้ คงจะเป็นหมันเสียมากกว่า ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมาก




"บ.ก. ลายจุด" (คุณสมบัติ บุญงามอนงค์) แสดงความเห็นตอบ

(24 พฤศจิกายน 2549)


ผมขอแลกเปลี่ยนดังนี้

หนึ่ง....ไม่เอารถถัง
ตรงนี้ คงไม่ต้องอธิบายมาก ว่าเหตุใด ไม่เอารถถัง

สอง....ไม่เอาทักษิณ
ณ วินาทีนี้ ผมเห็นว่า คุณทักษิณไม่ควรกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีสิทธิกลับเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้ง และ แน่นอนว่า หากเขากลับมาและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เขาย่อมมีสิทธิทางการเมืองที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คุณทักษิณไม่ควรกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งด้วยเหตุผลดังนี้

- ผมเชื่อสนิทใจว่า ทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน
- ทักษิณแทรกแซงกลไกอิสระจริง
- ทักษิณ เป็นหนึ่งในปมความขัดแย้ง ที่หากนำขึ้นสนามอีกครั้ง ก็ต้องบอกว่า นักมวยคนนี้ช้ำ และง่ายต่อการนำพาความขัดแย้งนั้นกลับมาอีกคร้ง
- ผมเชื่อว่า ประเทศชาติต้องเดินหน้าได้ด้วยคนในชาติ ที่จะต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถในระดับไม่น้อยกว่าคุณทักษิณ และ ประชาชนควรได้มีโอกาสคัดเลือกบุคคลเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยไม่ควรยอมรับว่า หากขาดทักษิณแล้ว ประเทศไทยไปไม่ได้




ความเห็นแย้งของผม
(26 พฤศจิกายน 2549)



"แลกเปลี่ยน" กับ บ.ก.ลายจุด ว่าด้วย "2 ไม่เอา" อีกครั้ง


ขอบคุณ "บ.ก.ลายจุด" ที่กรุณามา "แลกเปลี่ยน" ประเด็น "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"

ผมมี rejoinder ดังนี้

อันที่จริง การที่ บ.ก.ลายจุด แลกเปลี่ยนกับผมด้วยการพยายามอธิบายว่า ทำไม "ไม่เอารถถัง" และ ทำไม "ไม่เอาทักษิณ" นั้น ไม่ตรงกับประเด็นที่ผม raise

เพราะผมไม่ได้ถามว่า ทำไม จึง "ไม่เอารถถัง ไม่เอาทักษิณ"

แน่นอน อันนี้ก็ย่อมเป็นสิทธิของ บ.ก.ลายจุด หรือของใคร ที่จะ "ตอบ" หรือ "แลกเปลี่ยน" ในแง่มุมที่ผมไม่ได้ raise ปัญหาคือ ประเด็นที่ผม raise ซึ่งผมยืนยันว่า เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับ บ.ก.ลายจุด และคนอื่นๆที่ "ชูคำขวัญ" ลักษณะเดียวกัน (ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 2 ไม่เอา" ยังคงอยู่

ผมยังเห็นว่า เป็นประเด็น หรือข้อวิจารณ์ที่ บรรดาคนที่ชูคำขวัญอย่างนี้ ไม่เคยตอบได้ และตอบไม่ได้ ซึ่งที่สำคัญ มีผลต่อการเคลื่อนไหวทีผ่านมา หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อีกครั้ง: ประเด็นของผมคือ ถ้า "2 ไม่เอา" แล้วเอาอะไร?


ไม่เคยมีใครในหมู่พวกคุณที่พยายามตอบคำถามอย่างนี้อย่างจริงจัง ซึ่งผมเห็นว่า ในฐานะคนที่ออกาเคลื่อนไหวสาธารณะในเรื่องสำคัญเช่นนี้ ออกจะเป็นการไม่รับผิดชอบทางการเมืองนัก

ที่สำคัญ ในการ raise ประเด็นนี้ ผมมีนัยยะเชิงวิจารณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า

ในเมื่อ พวกคุณชูประเด็น "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" การที่พวกคุณยืนกราน "ไม่เอาทักษิณ" (ไม่ใช่เฉพาะตอนนี้ แต่ท่สำคัญตลอดปีที่ผ่านมา) ไม่เป็นการ "กลืนน้ำลายตัวเอง" หรอกหรือ?

ลักษณะนี้ ไม่เป็นการสะท้อนวิธีคิดแบบพวกศักดินา ที่ไม่แคร์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เขาจะเลือกใคร แต่ทำตัวเป็นเทวดา อยากไล่ใครออก (ด้วยปืนรถถังและ "บารมี") ก็ทำตามใจชอบ หรอกหรือ?


ตลอดปีที่ผ่านมา การที่พวกคุณ "เอาด้วย" กับกระแสแอนตี้ทักษิณของพวกรถถังและพวกศักดินา ก็เพราะ ในที่สุดแล้ว พวกคุณแชร์กับพวกรถถัง-ศักดินา ด้านที่ไม่แคร์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เขาอยากให้ใครเป็นนายกฯในขณะนั้น

ผมพูดตั้งแต่ต้นของการรณรงค์ ที่พวกคุณ "เอาด้วย" กับพวกเขาว่า สิ่งที่น่าละอาย น่าขยะแขยง สะอิดสะเอียน (distastful) ที่สุด ก็คือประเด็นที่ว่า บรรดาปัญญาชนทั้งหลาย รู้ดีว่า ถ้าให้ตัดสินด้วยการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้ทักษิณเป็นนายกฯ แต่ก็ยืนกราน ทำราวกับว่า เรื่องนี้ ไม่สำคัญอะไร ("กูจะขอไล่ของกูออกให้ได้")

นี่คือการทำตัวเป็นเทวดา ว่ารู้ดีกว่าคนกว่าสิบล้าน เหมือนพวกรถถัง-ศักดินา

(ผมเคยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่กระแส "เอาด้วยกับเจ้า" สูง ในหมู่ปัญญาชน ในหลายปีที่ผ่านมา (ไม่ใช่เฉพาะปีที่ผ่าน) ต้องมี "รากฐาน" บางอย่าง ที่ลึกซึ้ง ร่วมกัน ระหว่างปัญญาชนกับพวกศักดินา และประเด็นนี้แหละ คือประเด็นสำคัญอันหนึ่ง คือด้านที่ไม่แคร์ต่อกระบวนการเลือกตั้ง ด้านที่ถือว่า ความเป็นอภิสิทธชนของตัวเอง ทำให้ตัวเองกลายเป็นเหมือน "เทวดา" ที่รู้ดี ตัดสินใจแทนคนอื่นๆได้หมด)