Saturday, July 21, 2007

"อัปรีย์ไป จัญไรมา", ABx และ ฮิตเล่อร์ : วิวาทะกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์

(17-25 มีนาคม 2550)



หมายเหตุ : กลางเดือนมีนาคม 2550 กลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ได้ตีพิมพ์จดหมายข่าว ขัดขืน ฉบับที่ 2 (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนที่พวกเขาจัดขึ้น ไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อประท้วง เปรม ติณสูลานนท์ ผมได้แสดงความเห็นแย้งต่อบทนำของ ขัดขืน ฉบับดังกล่าว ที่มีชื่อว่า "อัปรีย์ไป จัญไรมา" หลังจากนั้น ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้เขียนแสดงความเห็นแย้ง และผมได้เขียนตอบกลับ อันนำไปสู่การ "วิวาทะ" ในปัญหาท่าทีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะทักษิณ) และกลุ่มอำนาจอื่นๆ มีผู้อื่นมาร่วมแสดงความเห็นสนับสนุนและโต้แย้งด้วยหลายคน ข้างล่างนี้ ผมนำมาโพสต์ใหม่เฉพาะส่วนที่ผมและภัควดีเขียน สนใจดูกระทู้และความเห็นโต้แย้งทั้งหมดได้ตามลำดับ ทีนี่, ที่นี่, ทีนี่, ที่นี่, ที่นี่ และ ที่นี่

..................................


ว่าด้วย คำขวัญ "อัปรีย์ไป จัญไรมา" ของ ขัดขืน ฉบับนี้
(17 มีนาคม 2550)

ผมขอเสนอสั้นๆว่า คำขวัญนี้ แม้จะฟังดู "มันส์ดี" แต่ในทางการเมือง ไมค่อยดีนัก
ผมไม่จำเป็นต้องกลับไปที่ประเด็นเรื่อง "2 ไม่เอา" อีก
เอาเฉพาะหน้า ผมไม่คิดว่า เป็นเรื่องดีที่จะให้ประชาชนรู้สึกว่า "การเมืองไม่ว่าพวกไหนๆก็มีแต่อัปรีย์จัญไรทั้งนั้น"
เพราะถ้างั้น จะเรียกร้องให้เข้าร่วมกันโค่นระบอบรัฐประหารทำไม?
เพราะเดี๋ยว (พูดแบบกลับกัน) พวก "จัญไร" นี้ออกไป ก็จะกลับไปสู่ พวก "อัปรีย์" อีก...
ในที่สุด ความรู้สึกแบบทีว่า ยังไงๆการเมือง ก็มีแต่เรื่องเลวๆ มีแต่เรื่อง "อัปรีย์จัญไร" ไม่ว่าพวกไหนๆ
ความรุ้สึกแบบนี เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่เล่นการเมือง แต่อ้างว่าไม่ได้กำลังเล่นการเมือง



ภัควดี
(18 มีนาคม 2550)

ความจริงภัคก็อยาก “ถกเถียง” เรื่องนี้กับ อ.สมศักดิ์มานาน แต่ก็พยายามหักห้ามใจตัวเองตลอด เพราะไม่แน่ใจว่าสามารถผูกมัดตัวเองที่จะถกเถียงกันได้นาน ๆ หรือไม่ หนนี้อดใจไม่ไหว ขอแสดงความคิดเห็นสักนิดหน่อยค่ะ นี่ก็เป็นความคิดเห็นของคนที่ไม่ใช่นักวิชาการนะคะ ขอพูดแบบคนบ้าน ๆ หรือลูกทุ่ง ๆ ก็แล้วกัน

ตรรกะของอาจารย์ที่ว่า ถ้าไม่สนับสนุนทักษิณ ก็เท่ากับสนับสนุนการรัฐประหารโดยปริยาย ถ้าบอกว่านักการเมืองเลวหมด ก็เท่ากับเข้าทางของคนที่เปลือกนอกบอกไม่เล่นการเมือง แต่จริง ๆ แล้วเล่น (ภัคอาจสรุปข้อถกเถียงของอาจารย์จนหยาบ ๆ ไปบ้าง)

ประการแรก ภัคคิดว่าตรรกะของอาจารย์นั้นใช้ได้ในโลกของความคิดเท่านั้น แต่ในโลกของความเป็นจริง ตัวแปรมันมีมากมาย และไม่มีทางไปจำกัดกะเกณฑ์ได้ว่า ทางเลือกในโลกมันมีอยู่แค่สองทางเท่านั้น มันก็เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย มันไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบเลือกตั้งเสียงข้างมากอย่างเดียว คนเรามีชีวิต มันก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน แสวงหาหนทางสายใหม่ตลอดเวลา กลุ่มคนที่เขาไม่เอาทักษิณและไม่เอารัฐประหาร มันก็เป็นเส้นทางอีกสายหนึ่ง ที่จะว่าไปแล้วก็เป็นเส้นทางของคนส่วนน้อยในสังคมไทย (อย่าว่าแต่ในกลุ่มนี้ก็ยังมีหลากหลายความคิด เช่นเดียวกับในกลุ่มใหญ่อื่น ๆ) อาจารย์จะไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มที่ 3, 4, 5, 6.... บ้างเลยหรือคะ ตรรกะในความคิดของอาจารย์เท่านั้นเองที่กำหนดว่า มันมีคนอยู่แค่สองกลุ่ม และถ้าโลกความเป็นจริงมันเป็นอย่างตรรกะในความคิดของอาจารย์ โลกมันคงไม่น่าอยู่มาก เพราะมันไม่เหลือพื้นที่ให้คนกลุ่มน้อยอยู่อีกเลย

ภัคว่าคนเรามีชีวิตอยู่ ก็อยู่ด้วยความหวัง ถึงจะรู้ว่ามันไม่มีทางเป็นจริงในชีวิตนี้ แต่ถ้าอยู่โดยไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ภัคก็ไม่รู้ว่าเราจะเป็นปัญญาชนหรือสนใจปัญหาสังคมไปทำไม ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใครจะรัฐประหาร ทักษิณจะเป็นนายกฯ หรือไม่เป็น ชินคอร์ปจะถูก สนง.ทรัพย์สินฮุบไปหรือไม่ FTA จะเซ็นหรือเปล่า ฯลฯ เราจะสนไปทำไม ก็ทำมาหากินไปวัน ๆ ไม่ดีกว่าหรือคะ ถ้าเราเชื่อว่านักการเมืองมันเลวหมด ระบอบเลือกตั้งนี้ใช้ไม่ได้ แต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวหนีเสือปะจระเข้ ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องหุบปากปล่อยให้เสือขบ เพียงเพื่อไม่ต้องวิ่งหนีไปโดนจระเข้ฟัด สุดท้ายมันก็ตายทั้งสองทาง ถ้าอย่างนั้นก็พูดอย่างสำนวนจีนว่า “มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า” วิธีคิดของอาจารย์มันเหมือนบอกว่า ถ้าเอ็งร้องแรกแหกกระเชอว่า เฮ้ย มาทางนี้เสือขบนะ มันจะทำให้คนอื่น ๆ วิ่งไปให้จระเข้ฟัด ซึ่งเท่ากับเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของคนที่ดันเจือกโวยวายขึ้นมา ทำไมไม่ปล่อยให้ทุกคนถูกเสือขบไปเนียน ๆ มันก็จริงครึ่งหนึ่งค่ะ ถ้าเราต้อนคนจากเสือไปให้จระเข้ฟัดโดยไม่บอก อย่างนี้ก็ถือว่าผิดครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราตะโกนไปด้วยล่ะว่า เฮ้ย ทางนี้เสือ ทางโน้นจระเข้ เราต้องถางป่าหาทางใหม่นะ อย่างนี้ถือว่าผิดจริยธรรมด้วยหรือ? อย่าว่าแต่คนที่ตะโกนแบบนี้มักเป็นคนกลุ่มน้อยที่ใคร ๆ เขาก็ไม่ฟังกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็หวังว่าจะมีคนฟังเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวว่า จะเตะหมูเข้าปากหมาไปตลอด เราก็ได้แต่ง้างเท้าไปตลอดชีวิต ไม่กล้าเขี่ยลูกเสียที แล้วเมื่อไรจะได้ดูบอลล่ะคะ

ประการที่สอง ภัครู้สึกว่า การคิดว่าไม่ควรพูดอย่างนี้ เพราะจะไปเข้าทางฝ่ายนั้น มันเป็นเรื่องของการเล่นการเมืองตามสถานการณ์ ถ้าเราต้องทำอย่างนี้ตลอดไป เราก็ไม่ต้องศึกษาความคิดของนักคิดคนไหนอีกแล้วในโลก นอกจากมาเคียเวลลีคนเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาชน ไม่ต้องมีนักวิชาการอีกแล้ว เราควรไปเล่นการเมืองให้หมดเลย ส่วนคนที่เล่นการเมืองไม่เป็น ก็ควรไปขายเต้าหู้ทอดหรือเป็นพนักงานธนาคารซะ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ก็จะคิดไปทำไม อุดมคติอะไรก็ไม่ต้องมี

ประการที่สาม ถ้าหากมีการให้ลงประชามติ แล้วเสียงส่วนใหญ่เขาเกิดเลือกให้มีมาตรา 7 ล่ะคะ อาจารย์จะยอมรับไหม ถ้าตามตรรกะของอาจารย์ มันก็เหมือนกรณีทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนตัวทักษิณเป็นมาตรา 7 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ เพราะเดี๋ยวจะเตะหมาไปเข้าปากหมูอีก สรุปว่าระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ที่อาจารย์ให้คุณค่าสูงสุด (ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนจะรวม อ.แพทริค โจรี เข้าไปด้วย) คือระบอบเผด็จการที่สุด เพราะเสียงส่วนน้อยห้ามพูดอะไรทั้งนั้น แล้วอย่างนี้มันต่างจาก lese majeste ตรงไหน?

ภัคคิดตรงข้ามกับอาจารย์คือ คำพูด “อัปรีย์ไป จัญไรมา” เป็นคำพูดที่ตรงจุดที่สุด ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหนที่สุดแล้วค่ะ (คำพูดนี้น่าจะพูดครั้งแรกที่สมัชชาคนจนและกลุ่มบ่อนอก-หินกรูดฯ)





ถ้า “2 ไม่เอา” แล้วมีทางเลือกที่ 3,4,5..หรือไม่ และปัญหา อัปรีย์จัญไร (ตอบคุณภัควดี และคนอื่นๆ)
(20-22 มีนาคม 2550)


(ตอนที่ 1)

ในฐานะผู้ชื่นชมงานของคุณภัควดีอย่างสูง ผมถือเป็นเกียรติที่คุณภัควดีได้เขียนมาแลกเปลี่ยนด้วย (ดูเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกัน กระทู้ที่ 3887 ความเห็นที่ 9)

อันที่จริง ผมตั้งใจจะเขียนตอบที่มีคนมาตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นในลักษณะคล้ายๆคุณภัควดีก่อนหน้านี้ เช่น ความเห็นที่ 2 ของกระทุ้เดียวกัน หรือในกระทู้ที่ 3847 ความเห็นของ freemind โดยเฉพาะความเห็นที่ 7 และกระทู้ 3827 ความเห็นที่ 4


เมื่อคุณภัควดีเขียนมาเช่นนี้ ผมจึงถือโอกาสตอบทั้งคุณภัควดีและคนอื่นๆไปพร้อมๆกัน โดยขอเอาที่คุณภัควดีเสนอมาเป็นหลัก แต่หวังว่าจะเป็นการครอบคลุมไปถึงคนอื่นๆด้วย

เพราะประเด็นของคุณภัควดีและคนอื่นเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน และเกี่ยวพันไปถึงเรื่องที่ผมได้อภิปรายไปแล้วหลายครั้งในระหว่างวิกฤตทักษิณมาจนถึงรัฐประหารและหลังจากนั้น นั่นคือปัญหาว่า ถ้าเราไม่เอาทั้งสองทาง คือทั้ง “ระบอบทักษิณ” และ ระบอบรัฐประหาร-นายกฯพระราชทาน (ต่อไปนี้ผมขอเรียกว่า รปห.นพท.) แล้วเรามีทางเลือกทางอื่นหรือไม่ ถ้าไม่ แปลว่าเราต้องเลือกที่ยอมสนับสนุนทักษิณ มิเช่นนั้น จะเท่ากับเปิดทางให้ รปห.นพท. เป็นใหญ่ หรือ? ปัญหานี้สามารถแตกแขนงออกไป เช่น เรื่อง การชูคำขวัญ “อัปรีย์ไป-จัญไรมา” ใน ขัดขืน ฉบับล่าสุด ว่า ถ้าเราด่าประนามนักการเมือง จะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือไม่? เชื่อมโยงไปถึง ประเด็นเรื่อง pragmatism ว่า ถ้าเรามีวิธีคิด โดยคำนึงถึง ผลทางการเมืองมากเกินไป เราจะเหลือ “หลักการ” อะไรอยู่ มิกลายเป็นพวก pragmatic ไปหรือ? ฯลฯ ฯลฯ

ปัญหาพวกนี้ อันที่จริง ถ้าจะพูดแบบกำปั้นทุบดิน ถึงที่สุด รวมศูนย์อยู่ที่การ “รับไม่ได้” กับที่ต้องถูกเรียกร้องให้ “ยอมรับ” คน(และ”ระบอบ”) อย่างทักษิณและบรรดานักการเมือง “อัปรีย์” ทั้งหลาย นั่นเอง

(ผมขอหมายเหตุประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ประเด็นหนึ่งไว้ แต่ไม่ขออภิปรายละเอียดในทีนี้ ว่า ความจริง ในทางประวัติศาสตร์ปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทย การรุ้สึก “รับไม่ได้” อย่างมากกับนักการเมืองนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ปัญญาชนฝ่ายซ้ายก่อนทศวรรษ 2520 ขึ้นไป ไม่มีปัญหากับการคิดในเชิงความจำเป็นที่ต้อง ยอมรับหรือ defend พวกที่ปัญญาชนปัจจุบันเห็นว่า “อัปรีย์” เหล่านี้)

ในขณะที่ ผมยอมรับด้านความยากลำบากของการที่จะชวนให้ยอมรับ ไม่ว่าจะชั่วคราวอย่างไร ต่อคนอย่างทักษิณหรือนักการเมือง แม้จะด้วยเหตุผล เพื่อป้องกัน “อีกฟากหนึ่ง” มาเป็นใหญ่ (อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้) แต่ในที่สุดแล้ว การไม่ยอมรับของคุณภัควดีและคนอื่นๆ อยู่ที่การไม่ยอมที่จะคิดให้ตลอด (think through) ถึงความคิดของตัวเอง นั่นคือ คิดหยุดอยู่เพียงแค่ว่า ขอให้เรามี “เสรีภาพ” ที่จะเลือกทางอื่นๆบ้าง การมา “จำกัด” ทางเลือกของเรานี้ เป็นเรื่องขัดกับอุดมคติ (การแสวงหา “ทางเลือก” ใหม่ ฯลฯ)

เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่คุณภัควดีและคนอื่นๆยืนยันนั้น ถ้าคิดให้ตลอด จะเห็นว่า เป็นการ “ไม่ซีเรียส” ต่อสิ่งที่ตัวเองตั้งเป็นเป้าหมายหรือความต้องการเอาไว้ตอนต้นนั่นเอง.... (ความจริง ผมอยากใช้คำว่า “ไม่ซื่อตรงต่อความคิดตัวเอง” แต่ก่อนที่จะอธิบายเนื้อหา คำนี้ ฟังดูแรง อาจจะทำให้โกรธผมเสียก่อน โดยไม่พิจารณาเนื้อหา)


ก่อนอื่น คุณภัควดีวิจารณ์ว่าข้อเสนอของผมอยู่ในโลกของตรรกะ ในโลกของความเป็นจริง ต้องเป็นแบบที่คุณภัคเสนอ (คือมีทางเลือกที่ 3,4,5....) ผมเห็นว่าการวิจารณ์เช่นนี้ออกจะแปลก เพราะความจริง ความคิด-ข้อเสนอของผม ถ้าจะวิจารณ์ น่าจะไปในทางว่า เป็นความคิด-ข้อเสนอที่มีลักษณะ Real Politik มากเกินไป (อันตรายอันนี้ผมรู้ตัวดี) และข้อเสนอของคุณภัคและคนอื่นๆทำนองว่า ทำไมจะมี 3, 4, 5 ไม่ได้? หรือทำไมจะด่าทั้ง 2 ฝ่ายแรงๆไม่ได้? นั้น แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องเชิงทฤษฎี เชิงอุดมคติ ที่เป็นไปได้ในโลกทางตรรกะ ในโลกทางความคิดเท่านั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ในโลกที่เป็นจริง

ผมขอยกตัวอย่างประเด็นค่อนข้างเล็ก (ประเด็นใหญ่จริงๆคือเรื่องที่กล่าวข้างต้น ทีจะพูดต่อไป) ที่คุณภัคยกขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าลักษณะการคิด-อภิปรายของคุณภัคมีลักาณะของการ “สมมุติ”, ของการคิดแบบ “ทฤษฎี” หรือ “ตรรกะ” ที่ไม่เกิดขึ้นในโลกจริงอย่างไร คุณภัคถามผมว่า
ถ้าหากมีการให้ลงประชามติ แล้วเสียงส่วนใหญ่เขาเกิดเลือกให้มีมาตรา 7 ล่ะคะ อาจารย์จะยอมรับไหม ถ้าตามตรรกะของอาจารย์ มันก็เหมือนกรณีทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนตัวทักษิณเป็นมาตรา 7 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ เพราะเดี๋ยวจะเตะหมาไปเข้าปากหมูอีก....
โดยปกติผมไม่คิดแบบสมมุติแบบนี้ เพราะความจริงคือ มีการ “ลงประชามติ” เรื่องมาตรา 7 ไปแล้ว คือในการเลือกตั้งเดือนเมษายน ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรณรงค์เรื่อง “นายกฯพระราชทาน” เสียงส่วนใหญ่ยังคงเลือกทักษิณเป็นนายกฯ (แม้จะแพ้ในภาคใต้) ผม “ยกประโยชน์ให้” ด้วยการนับเอาเสียง no vote หรือเสียงที่ไม่เอาทักษิณทั้งหมด เป็นพวกที่สนับสนุนด้านมาตรา 7 ความจริง ถ้าเอาเฉพาะพวกที่เอามาตรา 7 จริงๆ จะน้อยกว่านี้

แต่ให้เรา “สมมุติ” ก็ได้ว่า ยังไม่มีการลงคะแนนเรื่อง มาตรา 7 จริงๆ หรือถ้าพูดให้ชัดคือ ไม่มีการเลือกระหว่างทักษิณ(หรือนักการเมือง) กับ “นายกฯพระราชทาน” คุณภัคถามว่า ถ้าเกิดประชาชนเลือกฝ่ายหลังล่ะ? สำหรับผม ก่อนที่จะ “สมมุติ” แบบนี้ได้ว่า ประชาชนเลือกฝ่ายหลัง จะต้องมีการเลือกตั้ง ก่อน จริงไหมครับ? ถ้าเช่นนั้น ผมขอบอกว่า “เอาเลยครับ” (แม้ผมจะไม่คิดว่ามีทางเกิดขึ้นได้) ให้ คนอย่าง สุรยุทธ หรือ เปรม หรือใครที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ มาลงเลือกตั้งเลยครับ ให้พวกเขา subject ตัวเอง กับการเลือกตั้ง อย่างที่ทักษิณและนักการเมืองอื่นๆต้อง subject ตัวเองเลยครับ

ผมคิดว่า ถ้าสมมุติให้คนอย่างสุรยุทธ-เปรมลงเลือกตั้ง ผมก็ว่าแพ้ทักษิณอยู่ดี ผมคิดว่า ถ้าผู้คนรู้เรื่องเขายายเที่ยง กับทรัพย์สิน 100 ล้าน รวมทั้งเครื่องเพชร 20 ล้าน นี่ผมไม่คิดว่า จะมีใครเลือกเขาเป็นนายกฯ ถ้าให้เขาต้องมา debate policies ต่างๆก่อน ฯลฯ ด้วย “ความสามารถ” ของเขา จะมีใครเลือกเขาเป็นผู้นำหรือครับ? จนบัดนี้ ไม่มีใครทราบว่าเปรม มีทรัพย์สินเท่าไร ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆ ให้พวกเขาลงเลือกตั้งซิครับ แล้วให้คนที่สนับสนุนเขาทั้งหลาย ลงมาด้วย ให้ทีมเปรม-สรยุทธ-และไอ้โม่งทังหลายที่สนับสนุนพวกเขา ลงเลือกตั้ง เปิดเผยทรัพย์สินทังหมดที่เขามีอยู่ เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปถึงเรื่องขี้หมูขี้หมา ด่าพ่อล่อแม่ ลากลูกมาด่า (ระดับที่มีคนเอาครอบครัวทักษิณมาเล่นงาน แม้กรณี อ.สุลักษณ์ เอง ที่ด่าทักษิณไปถึงเรื่องในมุ้ง)

ถึงจุดนี้ ผมหวังว่า คุณภัคจะเห็นว่า วิธีคิด-สมมุติของคุณภัคเป็นเรื่องของโลกที่ไม่เป็นจริง เป็นไปไม่ได้เพียงใด แต่ข้ามการสมมุติกรณี “นายกฯมาตรา 7” ลงเลือกตั้งไปก็ได้

เอาแค่ “มาตรา 7-นายกฯพระราชทาน” ได้รับ “ประชามติรับรอง” อย่างที่คุณภัคสมมุติ (ความจริงปัจจุบันคือ มาตรา 7-นายกฯพระราชทาน เป็นใหญ่อยู่จริงๆ แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกหรือรับรองของประชาชน – อันนี้ มีเหตุผลอยู่ คือในโลกที่เป็นจริง ไม่ใช่โลกสมมุติ “มาตรา 7” ไม่สามารถเกิดได้จากการลงประชามติหรือเลือกตั้ง) ผมก็จะไม่เสนอเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” เลย สำหรับผม ถ้ามีสถานการณ์เช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาที่จะเกิดว่า “ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศลงประชามติยอมรับ พวกเราก็ห้ามวิจารณ์อีกใช่ไหมคะ” เพราะอะไร? เพราะการสมมุติของคุณภัค ไม่ตรงความจริงแต่ต้น โปรดคิดให้ตลอดครับ “นายกพระราชทาน” หรือ “มาตรา 7” นั้น หากมีการ “ลงประชามติ” รับรองจริง จะมาจาก preconditions อะไร? จากการที่มีสถาบันกษัตริย์อย่างที่มี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช่หรือไม่? มิเช่นนั้น ก็ไม่ต้องมีไอเดียเรื่อง “มาตรา 7” หรือ “นายกฯพระราชทาน” แล้ว ซึ่งถ้าเช่นนั้น “นายกพระราชทาน” หรือ “มาตรา 7” ที่สมมุติให้เกิดนี้ จะเท่ากับกรณีทักษิณหรือรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาได้อย่างไร?

เวลาผมเน้นเรื่อง การเลือกตั้ง นั้น ผมไม่เคยบอกว่า เป็นเรื่องการหย่อนบัตรเฉยๆ แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง คุณภัคและคนอื่นๆ ไม่ยอมคิดให้ตลอดเองถึงนัยยะของข้อเสนอที่ให้ “เลือกตั้งเป็นใหญ่” ของผม

“เลือกตั้งเป็นใหญ่” ของผม ต้อง applied all the way up ครับ และถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีปัญหาต้องถามว่า “นายกฯพระราชทานที่มาจากการเลือกตั้ง-ประชามติ” เลย หรือในทางกลับกัน สมมุติว่า “เลือกตั้งเป็นใหญ่” ได้รับการ applied all the way up จริงๆ เกิดสมมุติ (นี่เป็นการสมมติที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะขัดกับ preconditions ของการสมมุติเรื่องเลือกตั้ง all the way up เอง แต่เอาเถอะ ขอให้สมมุติก็ได้) ว่า หลังจากนั้น ยังมี “นายกฯมาตรา 7 โดยประชามติ” อีก ผมก็มองไม่เห็นว่า จะมีปัญหาเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือ “ห้ามวิจารณ์” ได้อย่างไร เพราะถึงตอนนั้น ทุกคนที่มีอำนาจจะต้องมาจากการเลือกตั้งหมด .. ไอเดียเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” มาจากสถานการณ์เฉพาะของรูปแบบรัฐไทยในปัจจุบัน... ( อันที่จริง แม้แต่ในปัจจุบัน ผมก็ไม่เคยบอกว่า “ ห้ามวิจารณ์ ทักษิณ เพราะเสียงส่วนใหญ่เลือก หรือ จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา” อย่างที่คุณภัคกล่าวแต่อย่างใด ประเด็นนี้ผมจะกลับมา )


ที่เพิ่งกล่าวมา ความจริงเป็นการ “ออกนอกประเด็น” (ใหญ่) ของเราเล็กน้อย แต่ผมยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นจากตัวอย่างเล็กๆนี้ว่า เวลาคุณภัคและคนอื่นวิจารณ์ผมนั้น ไม่ยอมคิดให้ตลอดเองครับ ถึงนัยยะต่างๆของข้อเสนอของผม และคิดว่าสามารถแสดงให้เห็นจุดอ่อนของข้อเสนอของผมด้วยการตั้งคำถามย้อนกลับ ซึ่งความจริง แล้ว ข้อเสนอของผม วางอยู่บนพื้นฐานบางอย่างที่ตั้งคำถามย้อนกลับเช่นนั้นไม่ได้ ....


เอาละ ทีนี้เรามาพูดกันในประเด็นที่ใหญ่จริงๆ คือ ปัญหาว่า ในช่วงที่ผ่านมา ถ้า “2 ไม่เอา” แล้ว มีทางเลือกที่ 3, ที่ 4 ที่ 5... อย่างที่คุณภัคเสนอหรือไม่ (ในการอภิปรายเปิดตัวหนังสือ ฟ้าเดียวกัน ฉบับรัฐประหาร ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ก็พูดคล้ายๆกับคุณภัค เขากล่าวอย่างโวหารว่า เขาไม่ใช่พวก “2 ไม่เอา” แต่เป็นพวก “3 ไม่เอา” คือไม่เอา “2 ไม่เอา” ด้วย คือเขาจะเอาทางอื่นๆ....)

(ยังมีต่อ)


ปล. บังเอิญมากๆว่าระหว่างที่ผมร่างๆกระทู้นี้อยู่ ก็มีการพูดพาดพิงถึงกรณีคล้ายๆกันนี้ ("อัปรีย์จัญไร") อดไม่ได้จริงๆ เอามาให้ดู จาก ประชาไท

มีการสัมมนาเรื่องจริยธรรมนักการเมือง โดยคุณจรัญ ภักดีธนากุล และ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ตามรายงานตอนหนึ่ง...
นอกจากนี้ มีการยกเหตุการณ์ในต่างประเทศว่าเขาเข้มงวดคนที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไปสืบประวัติถึงครอบครัวต้องดูว่าลูกไปข่มขืนลูกสาวใคร และ พ่อใช้อิทธิพลคุ้มครองลูกตัวเองอย่างนี้ก็เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ หรือกรณีที่นักการเมืองคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุกแต่รอลงอาญา ในที่สุดก็ต่อสู้จนได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

“เรื่องนี้มันผิดชัดๆ แต่เพราะมันหน้าด้าน วันนี้เรามีคนหน้าด้านอยู่เยอะ ทำให้รัฐธรรมนูญม.77 ปี 40 ที่กำหนดเรื่องจริยธรรมไม่มีน้ำยาเลย เราจึงต้องมีหมวดจริยธรรมกำกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เข้มงวดขึ้น” กมธ.รายหนึ่ง กล่าว
เมืองไทย กรณีที่ ลูกอาศัยอิทธิพลพ่อปกป้อง ทำความเลวสุดๆ แล้ว "หน้าด้าน" อยู่ทั้งพ่อทั้งลูก นี่คงมีเยอะกว่านี้นะครับ!




(ตอนที่ 2)

คุณภัควดีและคนอื่นยืนยันว่า

ไม่ต้องการ ทักษิณ/นักการเมืองเลือกตั้ง และ ไม่ต้องการ ระบอบ รปห.นพท.

คุณภัคและคนอื่นๆปฏิเสธว่ามีแต่ทางเลือก 2 ทางนี้เท่านั้น

คุณภัคและคนอื่นๆ ขอไม่เอาทั้ง 2 ทางนี้ แต่ขอเอาทางที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 หรือ 6 ... แทน

คืออะไรครับ? ทางที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 หรือ 6 ที่ว่า?

ความ irony ของข้อวิจารณ์ที่คุณภัคมีต่อผมว่า วิธีคิดของผมเป็นเรื่องของโลกทางตรรกะ ก็คือ แท้จริง แล้ว คุณภัคและคนอื่นๆที่พูดเรื่องทางที่ 3 ที่ 4 ที่ 5... ต่างหาก ที่กำลังพูดถึงเรื่องของ ตรรกะ ของทฤษฎี ของโลกสมมุติ ที่ไม่เป็นจริง ในโลกสมมุติเหล่านั้น ใครๆก็อยากและคงทำได้ที่จะบอกว่า มีทางที่ 3, 4, 5 ..

แต่คืออะไรครับ? ทางที่ 3, 4, 5 .... ที่ว่า?

ที่ผมยืนกรานมาตลอดตั้งแต่ช่วงวิกฤติก็คือเรื่องนี้แหละ ผมไม่เคยเห็นใครที่สามารถ come up with ข้อเสนอเรื่อง ทางที่ 3, 4, 5... ได้จริงๆสักคน แม้ทุกคนจะยืนกรานว่า ไม่เอา 2 ทางแรก

(ดังที่รู้กันว่า ช่วงหนึ่ง ธงชัยเคยเสนอเรื่อง สส.พรรคมหาชน เป็นนายกฯ ผมไม่คิดว่า จำเป็นทีจะต้องย้ำว่า ข้อเสนอนี้ประหลาดเพียงใด)

เสนอออกมาจริงๆสิครับ คืออะไร ผมจะยิ่งกว่ายินดีที่จะพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่มายืนกรานต่อผมเฉยๆว่า ชีวิตจริง (?) ต้องมีทางเลือกอื่นๆ......


เอาล่ะ ต่อให้ผมยอมรับว่า ในโลกจริงๆ มีทางเลือกที่ 3, 4, 5.. อยู่

(ขอให้ผมย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นวิธีคิดที่ปกติผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือการสมมุติอะไรที่บอกไม่ได้ว่าคืออะไร ยิ่งในกรณีวิกฤติที่ผ่านมา ซึงเกี่ยวพันถึงอนาคตของสังคมการเมืองอย่างลึกซึ้ง การพูดเพียงให้รู้สึกว่า “มีทางเลือกที่ 3, 4, 5...” แต่ไม่เคยบอกได้ว่า คืออะไร เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่า เสี่ยงต่อการอยู่ในข่ายของการคิดแบบไม่รับผิดชอบ แต่เพื่อประโยชน์การอภิปราย เอาละ สมมุติก็สมมุติ ว่ามีทางเลือกที่ 3, 4, 5 ... อยู่)

การบอกว่า "2 ไม่เอา" (หรือ ไม่เอาทั้ง 2 อย่างแรก) จะขอเอา 3, 4, 5... มีความหมายที่ตามมาอย่างไร?

ขอให้เริ่มแบบที่เรียกว่า best-case scenario (หรือมองอย่างดีที่สุด) ก็ได้

การเลือกเอาทางที่ 3, 4, 5... แทนที่จะจำกัดเพียงเลือก 1 หรือ 2 .. จะนำมาซึ่งอะไร?

คำตอบ (ในความเห็นของผม) คือ

อย่างดีที่สุด : nothing

ไม่มีอะไรเลย คือไม่ได้ทำให้เกิด “ผลเสีย” แก่ใคร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร

ทางที่ 1 หรือ 2 ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี

คือ either ทักษิณ/นักการเมืองเลือกตั้ง อยู่ต่อไป or รปห.นพท. ขึ้นมาแทนที่ – อย่างในขณะนี้

คุณภัคและคนอื่นๆ อาจจะบอกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร อาจจะบอกว่า อย่างน้อยเป็นการยืนยันความมีเสรีภาพทางจิตสำนึกของเรา ที่จะเลือกหรือแสวงหาทางออกอื่นๆ แม้ทางออกที่เราเลือกนั้นๆ (3 4 5...) จะไม่เป็นจริง

(ผม dismiss out of hand กรณีที่ 3, 4, 5 .. เป็นจริง/ได้รับชัยชนะ เข้าแทนที่ 1 หรือ 2 เพราะขนาดยกตัวอย่าง หรืออธิบายว่า 3, 4, 5 คืออะไร คุณภัคและคนอื่นๆ ยังทำไม่ได้ จึงออกจะเกินไปที่จะสมมุติว่า 3, 4, 5 จะเป็นจริง แทนที่ 1 หรือ 2)

ต้องถามกลับว่า ซีเรียส กับการไม่ต้องการให้มี 1 และ 2 จริงหรือ?

ยกเว้นคุณภัคและคนอื่นๆจะยืนกราานว่า ไม่แคร์ว่า ผลการเลือก 3, 4, 5 ของตัวเอง จะไม่ทำให้ 3, 4, 5 ไม่ได้เป็นจริง และ 1 หรือ 2 เป็นจริง นั่นคือ ไม่แคร์ว่า 1 หรือ 2 จะเกิดขึ้น หลังจากการเลือก 3, 4, 5

ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ต้องถามว่า ที่บอกว่า ไม่เอา 1 และ 2 นั้น ไม่เอาจริงๆหรือ?

ในทางเป็นจริง ดังที่ผมพูดมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติว่า การเคลื่อนไหวโดยชู “2 ไม่เอา” นั้น

มีผลอย่างเดียวคือ ทำให้เกิดการ 1 ไม่เอา (หรือไม่เอา 1) คือไม่เอาทักษิณ
แต่ “2” ที่จะมา (ตอนนี้มาแล้ว) ในที่สุด พวกที่เคลื่อนไหว “2 ไม่เอา” ก็ไม่เอาไม่ได้ (เหมือนทุกคนในสังคมขณะนี้)

สรุปคือ พวกที่บอกว่า ขอ "2 ไม่เอา" หรือ ขอ "ไม่เอาทั้ง 2 อย่าง" ขอเอา 3, 4, 5 สุดท้าย ก็ลงเอย ที่ต้องเอาอันใดอันหนึ่งใน 2 อันข้างต้นอยู่ดี คือต้องเอา 2 อยู่ดี

สำหรับผมเห็นว่า ในเมื่อมีทางเลือกที่เป็นไปได้ 2 ทางนี้ในโลกจริง ผมเลือกที่จะไม่เอา 2 และยินดีทีจะให้ 1 อยู่ต่อไป และผมยืนยันมาโดยตลอดว่า คนที่รักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทุกคน เพื่อเห็นแก่อนาคต จะต้องเลือกทางนี้ ไม่ว่าจะรู้สึกเป็นการ "จำใจเลือก" เพียงไร ( ความจริง ผมไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการ "จำใจ" มากนักก็ได้ด้วยซ้ำ ในเมื่อทางเลือกที่ 1 นั้น มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว )


การรณรงค์ no vote และ พันธมิตร : ตัวอย่างทางเลือกที่ 3, 4, 5 ....

ข้างต้นนั้น ผมพูดเหมือนกับว่า ทางเลือกที่ 3, 4, 5.. ถ้ามี ก็มีลักษณะแบบ private คือ เรา “เลือก” ของเราเงียบๆ ไม่มี “ผลเสีย” อะไร (ยกเว้น ความจริงเล็กๆทีว่า ในที่สุด 1 หรือ 2 – ในปัจจุบันคือ 2 – ที่เราบอกว่า “ไม่เอา” นั้น ในที่สุด ก็ต้องเอาอยู่ดี)

แต่ในทางเป็นจริง ที่ผ่านมา ปัญญาชนจำนวนมากได้กระโดดออกมารณรงค์ โดยอ้างว่า การคัดค้าน “1” ของพวกเขา ไม่ได้เป็นการทำเพื่อ “2” คือ พวกเขากำลังทำตามทางเลือกที่ 3, 4, 5 อยู่จริงๆ

ขอให้เรามาดู 2 กรณีตัวอย่างที่สำคัญ : การรณรงค์ no vote กับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การรณรงค์ no vote ซิ่งเริ่มต้นในหมู่นักศึกษาโดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ (ซึ่งดังที่ผมเคยพูดไป ได้รับอิทธิพลจากธงชัยไม่น้อย) ดูเหมือนจะเป็น perfect example ของการเลือก 3, 4, 5 เลยจริงไหม?

คือด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธทักษิณ และขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือน ไม่ได้เป็นการเชียร์ มาตรา 7

แต่โดยการรณรงค์ no vote พวกที่รณรงค์ ก็ช่วยในการทำลายสถานภาพและความเข้มแข็งทางการเมืองของทักษิณ และทำให้เกิดสถานการณ์ทางตัน ที่เป็นเงื่อนไขทางการเมืองให้แก่การรัฐประหาร

ในที่สุด no vote จึง achieve เฉพาะ “1 ไม่เอา” หรือ ไม่เอา 1 เท่าน้น ไม่ได้ achieve การไม่เอาทั้ง 2 อัน ไม่ได้ achieve การเอา 3, 4, 5 แต่อย่างใด

พวกที่บอกว่ารณรงค์ no vote เป็นการ “ไม่เอาทั้งทักษิณ และ ไม่เอา รปห.นพท.”
ในที่สุด ก็กลายเป็นพวกไม่ซีเรียส (หรือไม่ซื่อตรง) ต่อเป้าหมายของตัวเอง
มีสักกี่คน ที่ออกมารณรงค์ ไม่เอา รปห.นพท. หลังจาก 19 กันยา?
ในที่สุดแล้ว การรณรงค์ no vote ที่คนที่สนับสนุนจำนวนมาก อ้างในขณะนั้นว่า เป็นการรณรงค์แบบ “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” ก็เป็นเพียงการรณรงค์ “ไม่เอา 1” เท่านั้น
ดู แถลงการณ์ของกลุ่มเกษียร-ชัยวัฒน์-รังสรรค์-สมชาย ที่ว่ากันว่า เป็นแถลงการณ์ “คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” แต่เนื้อหาหลัก ยังคงเรียกร้องให้ไปลงคะแนน no vote …. ท่าทีคนเหล่านี้ ต่อ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” 19 กันยา เป็นอย่างไร ก็เห็นกันอยู่ อันที่จริง การ “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” ของคนเหล่านี้ – รวมทั้งกรณีอย่างนิธิ เป็นต้น – ไม่เคยเป็น “ไม่เอาทั้ง 2 ทาง” จริงๆ แต่ต่อให้เราไม่พูดถึง “ทัศนคติทางอัตวิสัย” การรณรงค์ของพวกเขา ความจริงเชิงภววิสัยของการรณรงค์ของพวกเขา ก็ยังคงมีผลเฉพาะการ “ไม่เอา 1” อยู่ดี

ตราบเท่าที่พวกที่บอกว่า เอา 3, 4, 5.. ไม่มีกำลังของตัวเองหรือทางออกที่เป็นทางเลือกแท้จริงของตัวเอง (ที่ผมใช้คำว่าไม่มี candidate) ตราบนั้น การรณรงค์ของพวกนี้ก็เป็นเพียงบรรลุผลของการ ไม่เอาอันใดอันหนึ่ง และเอาอีกอันหนึ่ง ใน 2 อันแรกเท่านั้น (เพราะ 3, 4, 5 ... ไม่มีฐานะที่จะมาแทนที่ทั้ง 1 หรือ 2 ได้)

มาดูกรณีที่ใหญ่กว่า no vote ขึ้นไปอีก คือ กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอง

ผมขอสมมุติว่า เราไม่มอง พันธมิตร เป็นกำลังของ รปห.นพท. แต่เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ไม่ได้อิงอยู่กับใคร ต้องการเพียงโค่นทักษิณ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ใครมาเป็นใหญ่แทนทักษิณ (นี่ไม่ใช่การสมมุติลอยๆ ธงชัยในระยะแรก (และอาจจะหลังจากนั้น) และนิธิ โดยตลอด มีท่าทีปฏิบัติต่อ พันธมิตร ในลักษณะเช่นนี้)

เอาละ ในที่นี้ผมก็จะสมมุติ มอง พันธมิตร ว่าเป็น “ภาคประชาชน” ที่ต้องการแอนตี้ทักษิณ เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยเอง ไม่ใช่เพื่อกลุ่มหรือกำลังอื่นใด

ถามว่า การเคลื่อนไหวที่ใหญ่โต มีพลังของ พันธมิตร ได้บรรลุ หรือ มีความสามารถที่จะบรรลุอะไร? ต่อให้เราสมมุติ ไม่สนใจเรื่องการเรียกร้อง รปห.นพท. ของพันธมิตร
แต่เนื่องจากพันธมิตร ไม่ใช่กลุ่มที่จะจัดตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลได้
ในที่สุด สิ่งที่พันธมิตร และผู้สนับสนุนพันธมิตรจะสามารถ achieve จริงๆ และได้ achieve จริงๆก็คือการ ไม่เอา 1 ทำลาย 1 ลงไปเท่านั้น
และเนื่องจาก ประเทศไม่มีรัฐบาลหรือไม่มีใครปกครองเลยไม่ได้ ในที่สุด ก็ต้องมีกลุ่มอื่นขึ้นมาแทน
ในเมื่อพันธมิตรขึ้นมาแทนไม่ได้ รปห.นพท. ก็ขึ้นมาแทนอยู่ดี

กรณีพันธมิตร เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริง คนที่อ้างว่าไม่ขอเอาทั้ง 1 และ 2 แต่ขอเอา 3, 4, 5 นั้น ในที่สุดแล้ว เป็นพวกที่ไม่ "ซื่อตรงต่อความคิดตัวเอง" เพราะโดยความเป็นจริง พวกเขาไม่แคร์ว่า “2” จะสามารถขึ้นมาได้ ที่พวกเขาประกาศว่า “ไม่เอา ทักษิณ และ ไม่เอารัฐประหาร” นั้น ในที่สุด ก็ไม่เอาเฉพาะอันแรก คำว่า “และ” ในคำขวัญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาแคร์จริงๆ (กรณีเกษียร-ชัยวัฒน์ ที่พูดก่อนถึงหน้านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน)

ผมจึงบอกแต่ไหนแต่ไรว่า ถ้าพวก “2 ไม่เอา” คือไม่เอาทั้ง 1 และ 2 จะเอา 3 หรือ 4 หรือ 5 จะชูว่าต้องการให้ พรรคประชาธิปัตย์ มาแทนเสียเลย ยังจะคงเส้นคงวา และ make sense กว่าเยอะ

แต่เท่าที่เห็น ก็ไม่เห็นมีใครชูประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นทางเลือกที่ 3, 4, 5 เหมือนกัน


“ห้ามวิจารณ์ เดี๋ยว เตะหมูเข้าปากหมา”
คุณภัค เช่นเดียวกับ นิธิ (ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับรัฐประหาร ) กล่าวหาว่า ผมห้ามการวิจารณ์พวกนักการเมืองที่มีอำนาจอยุ่ เพราะจะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” (นิธิ ใช้อุปลักษณ์ว่า เหมือนห้ามคนเดินออกจากบ้าน เดี๋ยวจะถูกโจรดักปล้นปากซอย บอกว่า การห้าม ทำให้เสียเสรีภาพตั้งแต่ทหารยังไม่มา)

ผมอดประหลาดใจ กึ่งขำไม่ได้ ที่ไหงนักคิดทั้งหลายมองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองเห็นนัยยะที่ผมวิจารณ์การวิจารณ์นักการเมืองที่ผ่านๆมาว่า ทำให้ได้ประโยชน์แก่อำนาจมืดบางอย่าง

ทำไมแทนที่จะกล่าวหาผมว่า เป็นการห้ามวิจารณ์นักการเมือง ทำไมไม่มองว่า นี่เป็นการเชิญชวน ท้าทายให้วิจารณ์อำนาจมืดบางอย่างนั้นด้วยต่างหากเล่า? เป็นการเรียกร้องให้กำจัดอำนาจมืดบางอย่างนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องการมีอะไรมาคอย “อ้าปากรับ” ผลงานการต่อสู้ของประชาชนกับนักการเมืองทั้งหลาย

ในความเป็นจริง บรรดาปัญญาชนทั้งหลายแทนที่จะมาโต้ผมกลับด้วยข้อหาเรื่อง “ห้ามวิจารณ์นักการเมือง” ทำไมไม่ลองอุทิศพลังงานและความสามารถไปวิจารณ์อำนาจอื่น หาทางกำจัดอำนาจอื่นบ้าง?

(เคยมีคนใช้วิธี “ย้อนกลับ” ผมในกรณีนี้เช่นกันว่า แล้วทำไมผมไม่วิจารณ์นักการเมืองบ้าง ทำไมเอาแต่ต่อว่าคนอื่นไม่วิจารณ์อำนาจอื่น? เช่นเดียวกับกรณีการ “ย้อนกลับ” ผมก่อนหน้านี้ การย้อนกลับเช่นนี้ไม่ work แต่อ่ยางใด ในสภานการณ์หลายปีที่ผ่านมา ที่ 99 เปอร์เซนต์ของนักวิชาการ เอาแต่วิจารณ์นักการเมือง ไม่ยอมแตะต้องอำนาจอื่น พอผมตั้งคำถามกับสถานการณ์เช่นนี้ การมาย้อนกลับผมแบบนี้ เป็นเรื่องน่าหัวร่ออย่างยิ่ง ลองช่วยไปทำให้ 99 เปอร์เซนต์เหล่านั้น เขาหันกลับลำก่อนไม่ดีหรือ ก่อนที่จะมาเรียกร้องผมให้หันกลับลำบ้าง? ยิ่งกว่านั้น ใครที่คิดว่า สามารถ “ตั้งคำถามย้อนกลับ” แบบนี้ได้ เท่ากับกำลังคิด บนพื้นฐานที่ว่า ทักษิณ/นักการเมือง กับ อำนาจมืด เป็นอะไรบางอย่างที่ เท่าๆกัน – สามารถแตะต้องได้ มีอำนาจในการครอบงำบังคับคนพอๆกัน – และดังนั้น จึงสามารถย้อนถามกลับได้ว่า ทำไมผมไม่วิจารณ์ทักษิณ/นักการเมืองบ้างเหมือนๆกับที่วิจารณ์อำนาจอื่นบ้าง .... ใครที่คิดบนสมมุติฐานนี้ คงไม่เคยอยู่หรือใช้ชีวิตในเมืองไทยแน่ หรือไม่ก็ใช้อย่างมืดบอดไปวันๆ)

ในความเป็นจริง ในหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการปัญญาชนสำคัญๆ ไม่เพียงแต่ ไม่ยอมวิจารณ์อำนาจอื่นเท่านั้น กลับเชียร์อย่างเปิดเผยและอย่างเป็นนัยอยู่ตลอดเวลา แม้แต่คนอย่างนิธิ หรือ เกษียร (ผมจึงเห็นว่า การยอมรับของเกษียร ในที่ประชุมที่เชียงใหม่เมื่อปีกลายทีว่า ทั้งเขาและนิธิจัดอยู่ในพวกที่ Macargo เรียกว่า “เครือข่าย” เป็นการยอมรับ – หรือการมองเห็นความจริง – ที่สำคัญมากๆ)

เรื่องนี้ นำเรากลับมาสู่ประเด็น “อัปรีย์-จัญไร” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระทู้ครั้งนี้ ...



ว่าด้วย “อัปรีย์-จัญไร” และ “ไม่เอาทักษิณ”
ภัคคิดตรงข้ามกับอาจารย์คือ คำพูด “อัปรีย์ไป จัญไรมา” เป็นคำพูดที่ตรงจุดที่สุด ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหนที่สุดแล้วค่ะ (คำพูดนี้น่าจะพูดครั้งแรกที่สมัชชาคนจนและกลุ่มบ่อนอก-หินกรูดฯ)
ดีครับ เรี่อง “ตรงจุด” ผมก็ชอบพูดอะไรที่ตรงจุด
ในเมื่อไอ้พวกที่เรากำลังด่า มันเลวๆสุดๆ ดังนั้น จึง “ตรงจุดที่สุด” ที่จะด่าว่า “อัปรีย์-จัญไร”
(โปรดสังเกตตัวอย่างที่ยกมาด้วยว่า คุณภัคยกกรณีที่เกี่ยวกับ นักการเมือง-รัฐบาลเลือกตั้ง คือ สมัชชาคนจน และ บ่อนอก-หินกรูด)

แต่เรื่อง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” นี่จริงๆหรือครับ?
ถ้านักคิดระดับคุณภัคสามารถพูดออกมาแบบนี้โดยไม่กะพริบตา ผมก็ไม่แปลกใจว่า ระดับคนทำงานล่างๆ แอ๊กติวิสต์ทั้งหลาย ทำไมจึงหลงงมงายมองไม่เห็นประเด็นที่ผมพยายามพูดอยู่หลายปีที่ผ่านมา

ให้ผมสมมุติเล่านิทานให้ฟังเล่นๆ
สมมุติเรื่องของ A, B
และ x
ในส่วนตัว ผมไม่รู้สึกว่า A, B หรือ x จะแตกต่างอะไรกันนัก
แต่เอาเถอะ คนจำนวนมากยังรู้สึกว่า A นี่ดี B นั้น แม้จะไม่ดีเท่า A แต่ก็ยังพอกล้ำกลืนได้
แต่ x นี่ แทบทุกคนเห็นตรงกันว่าเลวสุดๆ

ทำไมไม่ด่า x ว่า “อัปรีย์จัญไร” ล่ะครับ?
(ด่าในใจ ในห้องน้ำ บนโต๊ะอาหารบ้านตัวเอง ไม่นับนะครับ ที่เพิ่งด่านักการเมืองว่า “อัปรีย์จัญไร” ก็ไม่ได้ด่าในใจ ในห้องน้ำ ฯลฯ)

ทำไมคุณภัคหรือคนอื่นๆ ไม่ “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” แล้ว ด่า x ให้ฟังหน่อยล่ะครับ?
ไป “ไว้หน้า” x ทำไมไม่ทราบ?

(แน่นอน จริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่อง “ไว้หน้า”)

ดังนั้น ที่วา “อัปรีย์จัญไร” เป้นการด่าอย่าง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน” ก็ไม่เป็นความจริง
การคิดเช่นนี้เป็นการหลอกตัวเอง

ปัญหาของการด่า “อัปรีย์จัญไร” ก็คืออย่างนี้แหละ
คือ ก่อนอื่น ทำให้คนด่า มี illusion ว่า กำลัง “ไม่ไว้หน้าใครฝ่ายไหน”
แล้วเลยพลอยทำให้ชาวบ้าน มี illusion แบบนี้ด้วย
ทำให้รู้สึกว่า ไม่มีคนอื่นอีกแล้วที่ถูกไว้หน้า ใครที่สมควรถูกด่าว่า ก็ล้วนถูกเราด่า “อย่างไม่ไว้หน้า” ไปแล้ว

แล้วมันจริงหรือครับ? (โปรดกลับไปอ่านเรื่อง A, B และ x ให้ดีๆ)


แม้แต่เรื่อง “ไม่เอาทักษิณ” ก็เหมือนกัน
ดูๆไปก็เป็นเรื่องธรรมดามากเลย เราไม่ชอบทักษิณ เราไม่ต้องการทักษิณ เราก็ชูคำขวัญ “ไม่เอาทักษิณ” (หรือนักการเมืองอื่นๆ)

คงจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยกกรณีธงชัย ที่อ้างว่าการ “ไม่เอาทักษิณ” เป็นเพียงการแสดงออกตามหลักการประชาธิปไตย ที่เรามีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ปกครองที่เราเห็นว่าไม่ดี “ออกไป” ได้

ผมขอท้าธงชัย หรือใครก็ได้ อีกครั้ง ให้ออกมาตะโกนคำขวัญแบบเดียวกันนี้ กับ ผู้ปกครองทุกคนที่คุณเห็นว่าไม่ดี แบบที่ตะโกนกับทักษิณหน่อยสิครับ


ทั้งการด่า “อัปรีย์จัญไร” และ การตะโกน “ไม่เอาทักษิณ” ไม่ใช่การแสดงออกอย่าง “ไม่ไว้หน้าไหน” ไม่ใช่การแสดงออกซึ่งสิทธิตามหลักการประชาธิปไตยเลยครับ

แต่เป็นการแสดงออกภายใต้กรอบเหล็กของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่างหาก


เหตุผลที่พวกคุณรู้สึก “ทนได้” กับการไม่ได้ด่า x ว่า อัปรีย์จัญไร
แต่ทนไม่ได้ที่ผมทักหรือแย้งการด่า อัปรีย์จัญไร นักการเมือง
ก็เพราะลึกๆ คุณรุ้ว่า นักการเมืองด่าได้ ด่าพ่อล่อแม่ หยาบคายอย่างไรก็ได้
พอมาห้ามด่า ก็เลย “หงุดหงิด”

ไม่คิดหรือว่า นี่แหละสะท้อนความ เคยชิน ของการถูกขังอยู่ใน “กรอบเหล็ก” ที่ว่า จน ไม่รู้ตัว ว่าถูกขัง



ที่เพิ่งกล่าวมา ทั้งเรื่อง “เตะหมูเข้าปากหมา” และ กรณีรูปธรรม “อัปรีย์-จัญไร” เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอะไร?

ก่อนอื่น ดังที่กลาวข้างต้นว่า เพื่อให้หันมาด่า พวกอื่นบ้าง หาทางกำจัดอำนาจอื่นที่คอยรับประโยชน์จากการต่อสู้ของประชาชน จะได้ไม่ต้องมีปัญหา “เตะหมูเข้าปากหมา” อีกต่อไป

แต่ที่สำคัญคือ ต้องการให้รู้ตัวเสียทีว่า การด่า “อัปรีย์-จัญไร” หรือ “ไม่เอาทักษิณ/นักการเมือง” ที่แม้แต่คุณภัคหรือธงชัย ก็นึกว่า เป็นการแสดงออกตามธรรมดา แบบไม่ไว้หน้าใคร แบบสิทธิประชาธิปไตย

แท้จริง เป็นเพียงการแสดงออกภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดอย่างยิ่ง

ดังนั้น อย่าทำราวกับว่า เป็นการยืนยันหลักการสูงส่งอะไรเลยครับ

พวกคุณล้วนพูดในเชิง “สัมฤทธิผลนิยม” ในเชิง “ยุทธวิธี” ทั้งนั้น

ถ้าคุณยอมอดกลั้นที่จะไม่ด่า x ว่าอัปรีย์จัญไร ไม่ตะโกนคำขวัญ ไม่เอา x (หรือ A หรือ B) ได้

ทำไม เพื่อเหตุผลในเชิงยุทธวิธี จะไม่ด่าทักษิณหรือนักการเมืองบ้างไม่ได้?
ทำไม ต้องรู้สึกเดือดร้อนอึดอัดเหลือเกินที่ผมแย้งเวลาคุณใช้คำนี้กับนักการเมืองกับทักษิณ?

อันที่จริง ผมไม่เคยบอกว่า ด่านักการเมืองไม่ได้เลย หรือ ไม่ควรด่าเลย
ไม่เคยบอกว่าต้องเชียร์ด้วยซ้ำ

แต่ผมยืนยันว่า พวกคุณควรเลิกหลอกตัวเองว่า กำลังด่าใครอย่างไม่ไว้หน้า กำลังแสดงความพร้อมจะเลือกทางเลือกอื่นนอกกรอบที่ถูกกำหนด พร้อมจะยืนยันสิทธิตามหลักการประชาธิปไตย ฯลฯ ฯลฯ พร้อมจะทำอะไรตามความหวัง ความใฝ่ฝัน เพราะมิเช่นนั้น (ตามสำนวนคุณภัควดี) “มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า” ได้แล้ว
(ประหลาดไหม ที่คุณภัคหรือใครต่อใคร ไม่เห็นบ่นเรื่อง “มีชีวิตไม่สู้ตาย” ทั้งๆที่อยู่ภายใต้ “กรอบเหล็ก” ทีว่าอยู่ทุกวินาที?)

แทนที่จะมาหาว่าผมสั่งให้พวกคุณ “ต้องหุบปากปล่อยให้เสือขบ เพียงเพื่อไม่ต้องวิ่งหนีไปโดนจระเข้ฟัด สุดท้ายมันก็ตายทั้งสองทาง...

ควรตื่นขึ้นจากการหลอกตัวเอง แล้วมองเห็นว่า พวกคุณล้วนแต่กำลัง “หุบปาก” ใน เรื่องบางเรื่องที่ใหญ่มากๆ อยู่ทั้งนั้น
(ประหลาดไหม ที่คุณภัคหรือใครต่อใคร ช่างทนไม่ได้เหลือเกินกับการที่ผมบอกให้ “หุบปาก” เรื่องนักการเมือง แต่ที่ถูกทำให้ “หุบปาก” อยู่ตลอดเวลาเรื่อง x นี่ไม่ยักกะรู้สึกตัวอะไร?)

ถ้าคุณคิดว่า เป็นเรื่อง "ธรรมดา" มากๆ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะไม่ “พลั้งปาก” ไปด่า x ด้วยคำทำนองเดียวกับที่ด่านักการเมือง
ทำไมจึงรู้สึก "ทนไม่ได้" ถ้า ภายใต้สถานการณ์ที่แน่นอนบางสถานการณ์ จะห้ามไม่ให้ด่า/ไล่ ทักษิณ ด้วยคำทำนองนี้บ้าง?



ว่าด้วย “ความหวัง/ความใฝ่ฝัน” และ imagination

คุณภัควดีกล่าวหาว่า ผมคิดเพียงตามสถานการณ์การเมือง ปิดกั้นการคิดเชิงอุดมคติ เชิงความหวัง/ความใฝ่ฝันถึงอนาคต ฯลฯ

บอกตรงๆ ไม่ได้ประชดว่า ผมเศร้าไม่น้อย ที่นักคิดอย่างคุณภัคเอง ไม่ยอมคิดให้ลึกและรอบคอบพอในเรื่องนี้

งาน หรือ discourse ของผมทั้งหมดนี่วางอยู่บนอะไรครับ ถ้าไม่ใช่ความเชื่อ/ความหวังที่ว่า ระบอบรัฐ แบบอื่น เป็นไปได้?

ในทางกลับกัน งานและวิธีคิดของนักวิชาการส่วนใหญ่ขณะนี้ รวมทั้งคุณภัคเอง เป็นอย่างไร...
ลองกลับไปเรื่อง “อัปรีย์-จัญไร”
เหตุที่คุณภัคและคนอื่นๆไม่ยอมแตะต้อง A,B,x นี่เพราะอะไร?
การไม่ยอมแตะต้องนี้ กระทั่งฝังเข้าไปเป็นวิธีคิดแบบ “สามัญสำนึก” แบบความเคยชินที่วา คำอย่าง “อัปรีย์จัญไร” เป็นคำที่ “ไม่ไว้หน้าใครๆทั้งสิ้น” แล้ว

วิธีคิดเช่นนี้มาจากอะไรครับ? ถ้าไม่ใช่ เพราะความเชื่อความรู้สึกที่ว่า อำนาจบางอย่าง สถาบันบางอย่าง ระบอบรัฐบางอย่าง เป็นสิ่งที่ยังไงก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไปยุ่ง ก็ “เปลืองตัว” เปล่าๆ ไปแตะ ก็ “เดือดร้อน” เปล่าๆ มองไม่เห็นหนทางที่จะยุ่ง จะแตะ ขนาดที่กลายเป็นการ มองไม่เห็น ไปเลย (อัปรีย์จัญไร = “ไม่ไว้หน้าใครๆ” แล้ว !)

ใครกันแน่ครับ ที่ไม่รู้จัก “ความหวัง/ความใฝ่ฝัน”?
ใครกันแน่ครับ ที่ไม่มี imagination ?





ภัควดี
(23 มีนาคม 2550)

เรื่องหนึ่งที่ต้องขอบอกไว้แต่ต้นก็คือ ภัคมาคุยกับอาจารย์ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนใครหรือฝ่ายไหน หมายถึงภัคไม่สามารถพูดแทนใครได้ นอกจากพูดแทนตัวเอง

อาจารย์บอกว่ามันมีประเด็นใหญ่ประเด็นย่อยหลายอย่าง แต่ภัคว่ามันก็เชื่อมโยงกันหมดแหละค่ะ เพราะฉะนั้่น จับลงไปเรื่องหนึ่งก็ต่อไปเรื่องอื่น ๆ ได้

เรื่องแรกที่ต้องพูดคือเรื่อง "อัปรีัย์-จัญไร" ดิฉันไม่ทราบว่าเข้าใจอะไรผิดกันบ้างหรือเปล่า แต่ดิฉันเข้าใจแบบคุณไวอากร้าข้างบน คือบริบทที่คำ ๆ นี้มีการพูดกันขึ้นมาี้ ถ้าจำไม่ผิดคือที่สมัชชาคนจน ตอนนั้นพันธมิตรฯ เขาขอรัฐบาลพระราชทานและยกเรื่องมาตรา 7 ที่สมัชชาคนจนมีการคุยกันว่าจะเข้าร่วมกับพันธมิตรหรือไม่ ข้อสรุปคือไม่ แล้วเขาก็พูดคำนี้แหละว่า เดี๋ยวอัปรีย์ไป จัญไรมา ความหมายของเขาก็ชัดเจนนะคะ กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากนักการเมือง หรือรัฐบาลพระราชทาน โอกาสที่มันจะเลวระยำมีเท่า ๆ กัน

ส่วนตอนบ่อนอก-หินกรูดนั้น พอรัฐประหารแล้ว มีการตั้งปิยสวัสดิ์ขึ้นมาเป็น รมต.พลังงาน ชาวบ้านที่นั่นก็พูดคำนี้ออกมาตรง ๆ ทั้ง ๆ ที่ปิยสวัสดิ์เป็นคนในรัฐบาลของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่า ปิยสวัสดิ์เป็นหนึ่งใน "เครือข่าย" ที่แม็คคาร์โกพูดถึง แล้วอย่างนี้อาจารย์จะบอกว่า เขาพูดไม่ตรงจุดอีกหรือคะ หรืออาจารย์หมายความว่า ด่าจัญไรนี่น้อยไป ต้องด่าให้หนักกว่านี้ ต้องหาคำให้หนักว่า อัปรีย์? มันคงไม่ใช่เรื่องของการหาศัพทานุกรมของคำด่ากระมัง ภัคยอมรับว่าอ่านแล้วค่อนข้างงงกับที่อาจารย์ยก เอ ๆ บี ๆ เอ็กซ์ ๆ มา คือเขาก็ด่าทั้งอำนาจสว่างอำนาจมืดแล้ว แต่เหมือนว่าอาจารย์บอกว่ายังด่าไม่เจ็บพอ ต้องด่าให้แสบกว่านี้?

555 ภัคล้อเล่นค่ะ อาจารย์คงไม่ได้หมายความอย่างนั้นหรอก ภัคเข้าใจเอา่เองจากการอ่านโดยรวม (ถ้าผิดก็บอกได้ค่ะ้ แต่นิสัยภัคเป็นคนไม่ชอบ quote คำพูด แต่ชอบเข้าใจเอาแบบระหว่างบรรทัดหรือสรุปรวมๆ มากกว่า) อาจารย์คงหมายความว่า แค่ด่ายังไม่พอ ถ้าจะให้พอ ต้องออกมาสนับสนุนทักษิณและไทยรักไทยด้วย ต้องตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรฯ เราต้องเตะหมาให้เข้าปากหมูเสียก่อน จนกว่าจะเหลือหมูตัวเดียว แล้วเราค่อยจัดการหมูตัวนั้นทีหลัง (ภัคใช้คำอุปมานี้อย่างจงใจ)

เดาว่าฉากที่อาจารย์อยากเห็นก็คือ อาจารย์คงอยากเห็นสมัชชาคนจน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ ออกมาประกาศแถลงการณ์ว่า ในนามของระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แม้ว่าพวกเราจะไม่ค่อยชอบขี้หน้าทักษิณนัก แต่เพื่อกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารและมีการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เราจะปกป้องทักษิณและนักการเมืองทั้งหลายสุดชีวิต จนเมื่อเหลือแต่อำนาจสว่างเหล่านี้แล้่ว เราจะย้อนมาเช็คบิลพวกนี้ทีหลัง

มันคงเป็นฉากที่ดูไม่จืดมากเลยค่ะ สนุกกว่าซอดองโยอีก ในกรณีที่มีการทำอย่างนี้่จริง (ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้) หมายความว่าเราต้องเล่นเกมตามฝ่ายไทยรักไทย ยอมให้เขาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้สำเร็จเสียก่อน

อันนี้พูดตามสำนวนจีนก็คือ ยอมกล้ำกลืนความอัปยศ มุดลอดหว่างขาของศัตรู เพื่อกลับมาล้างแค้นในวันหลัง มันมาจากนิทานอุทาหรณ์ที่ว่า แม่ทัพคนหนึ่งยอมคลานลอดหว่างขาศัตรูเพื่อรักษาชีวิตไว้ แล้วมาเอาชัยได้ในภายหลัง แต่นั่นเป็นสายตาของประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้วและมองย้อนกลับไป ถ้าเกิดแม่ทัพคนนั้นดันมาเอาชัยไม่ได้ทีหลัง เขาก็คงไม่ได้เป็นวีรบุรุษหรอก

ประเด็นที่ภัคจะพูดก็คือ อาจารย์เอาอะไรเป็นหลักประกันว่า ถ้าทุกคนทำตามที่อาจารย์บอกแล้ว ยอมกล้ำกลืนความอัปยศแล้ว ยังไม่รวมอะไรต่ออะไรที่จะตามมา มันจะเป็นอย่างที่อาจารย์บอกแน่ ๆ ว่าจะเหลือหมูตัวเดียว หมูจะไม่กลายเป็นเสือ (เช่น กรณีของฮิตเลอร์ที่มาจากการเลือกตั้ง) หมูจะไม่สร้างอำนาจมืดอย่างอื่นขึ้นมาแทนอำนาจมืดเก่า หรือพอหมาเห็นทุกคนเข้าข้างหมู หมาเลยกลับลำไปจับมือกับหมูแทนก่อน เดี๋ยวได้จังหวะค่อยงับหมูวันหลังก็ได้ ฯลฯ (ภัคว่าอันหลังนี้มีโอกาสออกมากที่สุด)

ถ้าความเป็นจริงในโลก = ความเป็นไปได้ ความเป็นไปได้ก็มีหลายทางมากเลยนะคะอาจารย์ มันไม่ได้มีอยู่แค่สองทางเลือกอย่างที่อาจารย์บอก

แต่ถ้าเราทำตามที่อาจารย์บอก ที่แน่ ๆ คือเราเสียตัวตนและความเชื่อของเราไปแล้ว เพื่อแลกกับความน่าจะเป็นที่อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ได้ รวมทั้งผลของมันก็อา่จเละเทะยิ่งไปกว่าเดิม เกิดหมูกลับไปคืนดีกับหมาต่อ ทิ้งพวกเราให้จมขี้หมูขี้หมา รวมทั้งถูกด่าว่าเป็นพวกฉวยโอกาส อยากเป็นใหญ่ เลียอำนาจ (แม้ว่ามันจะสว่างก็ตาม) แตกคอกันเอง (แหงล่ะ มันก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วย) ไม่มีจุดยืน ใช้เป้าหมายตัดสินวิธีการ ฯลฯ คือภัคว่าลองนึกภาพดูเอาเองก็แล้วกันนะคะ

ในทางกลับกัน ถ้าภัคจะเรียกร้องอาจารย์บ้างล่ะคะว่า เพื่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อาจารย์ควรยอมเสียสละและออกมาสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้! เพราะทุกคนก็ทราบดีว่า การรัฐประหาร 19 กันยา เป็นจุดเสื่อมของสถาบันครั้งใหญ่ที่สุด ถ้าใครคิดเรื่องนี้ไม่ออก ก็เหมือนอยู่เมืองไทยอย่างมืดบอดเช่นกันค่ะ มีครั้งไหนบ้างที่มีการวิจารณ์และไปยืนด่าหน้าบ้านองคมนตรี มีครั้งไหนบ้างที่มีการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนต้องสั่งปิดเว็บบอร์ดหลาย ๆ ที่ แม้แต่ตอนนี้ก็ลองเข้าไปดูตามพันทิปกันสิคะ แล้วถ้ารัฐบาลนี้บริหารงานล้มเหลว (ซึ่งตั้งแต่ตอนตั้งนายกฯ กับ รมต. ทุกคนก็น่าจะดูออกว่าเหลวแน่) ถ้าเกิดการรัฐประหารซ้อน ถ้ามีการนองเลือดอีก ในใจทุกคนคงไม่กล่าวโทษแค่ผู้สนองพระบรมราชโองการแน่

ดังนั้น การออกมาสนับสนุนการรัฐประหารไปเลย ก็เหมือนยุทธวิธีตามสำนวนจีนว่า "จะจับแต่แสร้งปล่อย" (แหะ แหะ ช่วงนี้อ่านกำลังภายในอยู่ค่ะ) เพื่ออุดมการณ์ของอาจารย์ อาจารย์ก็ต้องทนยอมกล้ำกลืนบ้างนะคะ อาจารย์ควรสนับสนุนมาตรา 7 และุพระราชอำนาจให้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับคราวนี้อำนาจมืดจะออกมาสว่างแล้ว ถึงจะแค่สว่างรำไรก็เถอะ จริงอยู่ ความเป็นไปได้ที่ภัคเสนอนี้ ก็อาจมีตัวแปรอย่างอื่นเข้ามาแทรกที่ทำให้มันไม่เป็นไปตามที่เราคิด แต่ภัคว่าข้อเสนอของภัคก็ยังดูมีความเป็นไปได้มากกว่าของอาจารย์นะคะ

แต่มันก็คงสุดที่จะกล้ำกลืนได้สำหรับอาจารย์ ภัคก็เห็นด้วยค่ะ เพราะถ้าต้องทำแบบนั้น "มีชีวิตอยู่มิสู้ตายเสียดีกว่า" ต่อให้ภัคมีหลักประกันแน่นอนว่า วิธีการของภัคสำเร็จแน่ ภัคก็จะไม่แนะนำให้ใครต้องกล้ำกลืนอะไรเืพื่ออะไรสักอย่างที่ไม่รู้ว่าได้มาแล้วดีจริงหรือเปล่า

แต่ประเด็นที่แท้จริงของอาจารย์คงไม่ได้อยู่ที่ทักษิณหรือไม่ทักษิณ มันน่าจะอยู่ตรงที่อาจารย์ต้องการให้ทุกคนมายืนอยู่ตรงระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง "อย่างเคร่งครัด" ซึ่งอาจารย์คิดว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่อุดมคติ/ความใฝ่ฝัน แต่ปัญหาคือ ภัคไม่ได้มองว่านั่นเป็นบันไดขั้นแรก และแม้ว่าภัคพูดแทนคนอื่น ๆ ไม่ได้ แต่ภัคคิดว่าการที่หลาย ๆ คนไม่ยอมไปยืนตรงบันไดขั้นนั้น แต่พยายามไปสร้างบัีนไดใหม่ ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)

ตรงนี้ที่อาจารย์รับไม่ได้ เพราะบอกว่าเราไม่มีบันไดอื่นมาเป็นแคนดิเดตกับบันไดที่มีอยู่แล้ว คือข้อเสนอของเรานำไปสู่ "ความว่างเปล่า" โอเคค่ะ เดี๋ยวขอทิ้งไว้แค่นี้ก่อน แล้วภัคจะต่อพรุ่งนี้นะคะ

(ความจริงวันนี้ตั้งใจจะเขียนตอนเช้าก่อนทำอย่างอื่น ที่บ้านก็ดันไฟดับ กะจะเขียนช่วงเย็น ไฟก็ดับอีก! เราช่างมีชีวิตอยู่ในโลกที่กลายเป็นกับดักเสียจริง!)






สมศักดิ์
(23 มีนาคม 2550)

ผมจะหาเวลาตอบยาวกว่านี้ภายหลัง
แต่เอาประเด็นเดียว ที่ผมแปลกใจที่คุณภัค หรือคนอื่นๆ ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมเข้าใจ
เขาก็ด่าทั้งอำนาจสว่างอำนาจมืดแล้ว แต่เหมือนว่าอาจารย์บอกว่ายังด่าไม่เจ็บพอ ต้องด่าให้แสบกว่านี้?
ผมไม่ได้พูดตรงไหนเรื่อง ด่าแรงพอหรือแรงไม่พอ (ยิ่งไม่ได้พูดในแง่ฉากที่คุณภัคเขียนขึ้นมาต่อจากนั้น เรื่อง ทรท. หรืออะไร

พูดแบบตรงๆเลยนะครับ

เอากันตรงนี้เลย ถ้าคุณภัคหรือใครก็ตามยืนยันว่า มีการด่ากันทั้งอำนาจมืดสว่างอยู่แล้ว จริง

เอาตรงนี้เลยครับ เขียนออกมา (ด่าออกมา) ว่า

".... อัปรีย์"
เหมือนกับที่สามารถเขียนหรือพูดว่า "นัการเมือง ก ข ค อัปรีย์" น่ะครับ

ประเด็น ไม่ใช่อยู่ที่ ด่า "แรง" หรือ "ไม่แรง"
ระบุมาเลยสิครับ ว่าด่าใคร แบบที่ระบุออกมาเวลาด่านักการเมือง

แน่นอน ไม่ว่าคุณภัค หรือใครก็เขียนเติม ... ไม่ได้ (ผมเชื่อว่า ทุกคนรู้ว่าผมหมายถึงใครหรืออะไร)

จากประเด็นที่ว่าไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ประเด็นทั้งหมดที่พูดมาก่อนหน้านี้ เรื่อง การใช้คำนี้เป็นการใช้แบบไม่ไว้หน้าใคร

หรือการรณรงค์เรื่องทักษิณ หรือนักการเมือง เป็นการรณรงค์ตามประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ฯลฯ

จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เป็นเพียงการณรงค์ การโกรธ การด่า แบบ "เลือกสรร" ทั้งนั้นแหละครับ
เราต้องเล่นเกมตามฝ่ายไทยรักไทย ยอมให้เขาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้สำเร็จเสียก่อน
ที่คุณภัค ไม่กล้า ด่า .. (ระบุชือ แบบที่ระบุ ชื่อ ไทยรักไทย ข้างต้น เป็นต้น) นี่แสดงว่าคุณภัค "กลังเล่นเกมตาม..." ?

ถ้าคุณภัค "เล่นเกม" ตาม ... ด้วยการไม่กล้าด่า... ตรงๆ ไม่กล้า ระบุ ... ตรงๆ แบบที่พูดถึง ไทยรักไทย

ทำไม จึงมาประชด หรือเสียดสีผมเรือ่ง เล่นเกมตาม ไทยรักไทย?

"เล่นเกมตาม"ง.. แบบ ไม่รู้ตัว แบบคุณภัค และคนอื่นๆ เป็นเรื่อง โอเค? แต่พอผมเสนอว่า ต้องคิดในเชิงยุทธิวธีว่า เมื่อใดควรให้ใครอยู่มากกว่า กลับเป็นเรื่องเหมือนกับเสียดสีได้? ("ดูไม่จีด")

ไม่รู้สึกประหลาดมากๆหรือครับ?


ให้ผมยกประเด็น "รูปธรรม" มากๆ อีกประเด็นหนึ่ง

แม้แต่คำว่า "ระอบบทักษิณ" (ชื่อทักษิณ ชื่อครับ..ชื่อ)

คุณภัค หรือใคร กล้าเรียก ชื่อ.. ว่า "ระบอบ....." ไหม?

อันนี้เป็ฯการ "เล่นตามเกม" ..... (ชื่อ) ใช่ไหม?

สิ่งที่น่าเศร้ามากๆ เวลาอ่านอย่างคุณภัค หรือ ธงชัย หรือคนอื่นๆ ที่ highly intelligent แต่กลับมองไม่ออกว่า ทุกวินาที ตัวเองกำลัง "เล่นตามเกม...." อยู่ทังนั้น แต่พอผมทักเรื่อง นักการเมือง หน่อย ก็อึดอัด ก็โวยวายขึ้นมาทักนที

ขออภัยจริงๆครับ ผมไม่อยากใช้คำนี้ กับคุณภัค ในฐานะที่นับถือในงานจริงๆ

แต่ผมพูดมาตลอดว่า ปฏิกิริยา แบบนี้ เป็นปฏิกิริยา แบบ "ดัดจริต"

คือ ทุกวินาที ทนได้ กับการ "เล่นตามเกม..." (ชื่อ) แต่พอทักเรื่อง นักการเมือง .. กลับทนไม่ได้ รู้สึกเป้นเรื่องน่าละอาย น่าเสียดสีทันที

นักคิด ต้องไม่มองแต่ สิ่งที่เป็น "สามัญสำนึก" ต้องตั้งคำถามตลอดเวลา

ทำไม จึงโอเค ที่ ไม่กล้าเอ่ยชื่อ ... ในทางไม่ดีเลย

แต่พอทักเรื่องว่า คุณด่า นักการเมือง ฯลฯ ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องอึดอัด ฯลฯ



ต่อไปนี้ เป็นคำท้า แบบ ซีเรียส มากๆ (ไม่ใช่โวหาร)

คุณภัค (หรือคุณ freemind) หรือใครก็ได้

แน่จริง พูดเชิง negative แบบที่พูดถึง ทักษิณ ไทยรักไทย ... อย่าลืมนี่เป็นชื่อเฉพาะทั้งนั้น ไม่ใช่ชื่อนามธรรม

พูดให้ผมเห็นตรงนี้แหละครับ แบบเดียวกับที่พูดถึงไทยรักไทย หรือทักษิณ หรือใครๆข้างต้นน่ะ

ถ้าทำไม่ได้ จะอธิบายว่า ทำไมจึงทำไม่ได้

และถ้าเช่นนั้น ทำไม จึงมีปัญหานัก กับการทักเรื่องทักษิณ หรือไทยรักไทย

ชื่อครับ

เอ่ยชื่อ มาสิครับ แบบที่เอ่ยชื่อ ทักษิณ ไทยรักไทย ฯลฯ น่ะ

เอ่ยแบบเสียดสี แบบด่า แบบประชด แบบ negative น่ะ

ทำไม่ได้ เพราะอะไร?

กำลัง "เล่นตามเกม" ..... (ชื่อ) อยู่?
ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)
พูดด้วยประโยคแบบนี้ ด้วยภาษาแบบนี้ กับ ... ให้ดูหน่อยสิครับ

หรือว่า มีความสามารถ เฉพาะวิจารณ์นักการเมือง "ไม่เป็นตัวแทน" เรา แล้ว.... ที่ อ้างยิ่งกว่าความเป็นตัวแทนเรา คุณภัค เคยเขียนวิพากษ์ การอ้างนั้นไว้ที่นไหนบ้าง?

ถ้าไม่เคย เขียนตรงนี้ แบบที่เขียนประโยคข้างต้นให้ดูหน่อยสิครับ



อย่างที่เขียนไปในตัวกระทู้แล้ว

ใครๆก็เห็นว่า (นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น) x น่ะ เลวสุดๆ

แต่มีใครกล้าพูดออกมาไหม? (นอกจากในที่รโหฐาน)

แต่พอทักเรื่องทักษิณ หรือนักการเมืองหน่อย กลายเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เรื่องการทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายการใฝ่ฝัน ความหวัง ฯลฯ ทันที

ที่ ยอม "หุบปาก" ไม่แตะต้อง x (และอื่นๆ) ทุกวินาที นี่ ไม่เห็นมีใครบ่นอะไร

ที่ยอม "เดินตามเกม" ยอม "ค้อมหัว" literally and figuratively อยู่ ทุกวินาที ไม่เห็นแสดงอาการ อะไรกัน





ภัควดี
(24 มีนาคม 2550)

ประเด็นเล็ก ๆ ที่ต้องพูดก่อนอื่นก็คือ ที่เข้ามาคุย ไม่ใช่เพราะทนไม่ได้ที่อาจารย์บอกว่าอย่าวิจารณ์นักการเมือง (หรือที่ตอนหลังบอกว่าให้ยั้งการวิจารณ์ไว้ก่อน) ทั้งนี้เพราะดิฉันเป็นคนที่ด่านักการเมืองน้อยมาก จะว่าไปแล้ว ดิฉันไม่ค่อยสนใจนักการเมืองและการเลือกตั้ง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษิณมากกว่านักการเมืองคนอื่น อย่างที่อาจารย์ก็คงทราบดีคือ สิ่งที่ดิฉันปฏิเสธมาแต่ไหนแต่ไรไม่ใช่ทักษิณหรือระบอบทักษิณ แต่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนอย่างที่เป็นอยู่

ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ภัคเพียงแค่เคยให้สัมภาษณ์ที่ประชาไทตอนที่เขาถามเรื่องมาตรา 7 ว่า รับไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์มี สนง.ทรัพย์สิน ที่ถือเป็นกลุ่มทุนหนึ่ง ซึ่งย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ต่างจากทักษิณ นอกนั้นภัคก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าเคยพูดอะไรในที่สาธารณะ เพราะดังที่อาจารย์ทราบ ภัคสนใจเรื่องเอฟทีเอ, ดับเบิลยูทีโอ ฯลฯ มากกว่า

ความจริงการต้องมานั่งบอกใครว่าตัวเองทำหรือไม่ทำอะไร เป็นเรื่องไร้สาระมากในความคิดของภัค แต่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการชี้สองประเด็นคือ

1. ภัคไม่เห็นด้วยกับการเหมารวมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเป็นพวกเหมือนกันหมดเพียงเพื่อให้วิจารณ์ง่าย พวกสองไม่เอาหรือไม่เอาทั้งสองก็มีหลากหลายทางความคิด ฉันใดฉันนั้น กลุ่มที่เอาทักษิณ ภัคก็ไม่เหมารวมเด็ดขาด เช่น ภัคย่อมไม่เหมารวมเพื่อนข้างบ้านที่เป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน (ซึ่งพูดตอนทักษิณเรืองอำนาจว่า "คนจนจะหมดไป เหลือแต่ยาจก" แต่ยังไง ๆ เขาก็เลือกทักษิณ) อีหลุกขลุกขลุ่ยรวมกับคนที่เชียร์ทักษิณเพราะมีผลประโยชน์อย่างอื่นที่นอกเหนือจากนโยบายประชานิยม

ภัคคิดว่าการตระหนักถึงความหลากหลายแตกต่างในกลุ่มใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง น่าจะมีประโยชน์มากขึ้นในการวิเคราะห์ หรือถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่นะคะ แต่อย่างน้อยก็ประหยัดเวลาที่อาจารย์มานั่งเขียนว่า ภัคทนไม่ได้ที่ห้ามวิจารณ์นักการเมือง ฯลฯ เพราะความจริงคือภัคไม่ค่อยสนใจนักการเมืองและการเล่นการเมืองของไทยมานมนานแล้ว

เรื่องที่จุดประกายให้เข้ามาคุยหรือเกิดความ "ทนไม่ได้" เป็นเรื่อง "อัปรีย์-จัญไร" อะไรนั่นต่างหาก (คือสงสัยว่าก็เขาด่าตรงจุดแล้ว ทำไมอาจารย์ยังไม่พอใจ ฯลฯ) รวมกับอีกประเด็นหนึ่งที่จะพูดทีหลัง

2. ถ้าพูดถึงอำนาจมืด ในเมืองไทยมันมีอำนาจมืดอยู่อีกมาก อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่า ในสื่อมวลชนกระแสหลักของเมืองไทยนั้น ข้อห้ามการเขียนบทความที่พาดพิงถึงผลเสียของผงชูรสก็ค่อนข้างเข้มงวดพอ ๆ กับการห้ามเขียนบทความหมิ่้นฯ แล้วยังอำนาจขององค์กรเหนือชาติ ซึ่งมันก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาเหมือนกัน

อาจารย์อาจจะบอกว่า เรื่องพวกนั้นไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ยังพูดได้บ้าง ต้องพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ก่อนถึงจะแก้ปัญหาทั้งหมดในเมืองไทยได้ ภัคก็ไม่รู้ว่าการลดทอนปัญหาทั้งหมดเหลือแค่การพูดถึงสิ่งที่พูดไม่ได้ มันแก้ปัญหาได้จริง ๆ หรือเปล่า อาจารย์อาจจะบอกว่า ก็อยู่กับสิ่งที่พูดไม่ได้จนชิน แต่ภัคว่าข้อเสนอของอาจารย์ที่บอกใ้ห้พูดเรื่องที่พูดไม่ได้ ก็เพิ่งมาเกิดหรือเรียกร้องอย่างเข้มข้นในบริบทที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองระยะหลังนี้เองเหมือนกัน (รวมทั้งขาเชียร์ทั้งหลายด้วย ขอใช้สิทธิ์พาดพิง)

เอาเถอะ ยังไงมนุษย์ก็ต้องถูกแรงกระแทกจากประวัติศาสตร์เป็นธรรมดา แต่อย่างที่คุณข้างบนคนหนึ่งบอกว่า ลำดับความสำคัญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจารย์หมายความจะให้พวกบ่อนอก-หินกรูดเขามานั่งพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ก่อนเรื่องปากท้องของเขาหรือคะ

ส่วนบทสัมภาษณ์ที่ภัคอ้างถึงตอนต้น อาจารย์ก็คงบอกอีกว่าไม่ได้ จะไปบอกว่า สนง. ฯ เป็นแค่กลุ่มทุนหนึ่งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเท่ากับกลุ่มทุนทั่วไปไม่ได้ มันต้องแย่กว่านั้น เพราะมันวิจารณ์ไม่ได้ แค่เหมารวมว่าเป็นชนชั้นสูงที่สมประโยชน์กันบ้าง ขัดผลประโยชน์กันบ้าง มันไม่พอ ต้อง single out ออกมาด่าอันเดียว ปัญหาทุกอย่างในเมืองไทยนี่มันลดทอนกันขนาดนั้นเลยหรือคะ

ทีนี้กลับมาต่อที่ภัคค้างไว้ ที่อาจารย์บอกว่า อย่างมากที่สุด ข้อเสนอแบบของภัคมันคือ "ความว่างเปล่า" อันนี้เป็นข้อวิจารณ์ที่รับได้ แต่ภัคมีข้อสังเกต 2 ประการคือ

1. ข้อเสนอของภัคมันไม่เกิดผลอะไรก็จริง แต่ข้อเสนอของอาจารย์ก็ดีกว่าของภัคนิดเดียว อย่างที่เขียนไปแล้วว่า อาจารย์ก็ไม่มีหลักประกันว่า ทุกอย่างมันจะออกหวยมาเป็นอย่างที่อาจารย์บอก กับอีกอย่างหนึ่งคือ ต่อให้ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ ทั่วเมืองไทยตอนนี้ ทิ้งประเด็นอื่นหมด มาพูดเรื่องที่อาจารย์อยากให้พูด ให้ทุกคนท่องคำพูดของอาจารย์เหมือนกันหมดเลยก็ได้เอ้า จะได้ไม่ต้องมีแตกแยกเฉไฉ เข้าแถวจัดระเบียบให้เหมือนกันหมดเลย อาจารย์คิดจริง ๆ หรือคะว่า ปวงชนชาวไทยส่วนใหญ่น่ะเขาจะสลัดเสื้อเหลืองมายืนเคียงข้างอาจารย์ ถ้าข้อเสนอของภัคไม่อยู่ในโลกความเป็นจริงที่เป็นไปได้ ข้อเสนอของอาจารย์ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าภัคนิดเดียว และความเป็นไปได้่นั้นอาจเกิดจากการที่มาพูดเอาตอนที่มันใกล้จะพังพอดี

2. เรื่องที่อาจารย์บอกว่าบันไดของเราไม่มีพิมพ์เขียวนั้น ก็ที่ผ่านมาที่มีพิมพ์เขียวกันมาตลอดเนี่ย มันมีอะไรดีขึ้นหรือทำออกมาแล้วเหมือนที่โฆษณากันไว้หรือเปล่าล่ะคะ มันอยู่ในข้อเสนอของภัคอยู่แล้วว่า พิมพ์เขียวน่ะต้องมาช่วยกันเขียน ไม่ใช่ให้ใครมาเขียนสำเร็จรูปให้ จริงอยู่ การช่วยกันเขียนนั้นไม่มีหลักประกันว่าจะออกมายังไง มันอาจจะออกมาแบบที่ตัวผู้เสนอเอง (เช่น ภัค) ไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำ แต่ที่รับรองได้คือจะไม่มีค่าย gulag ทางความคิดแน่นอน

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงคือเรื่องการเลือก ภัคขอพูดสั้น ๆ อย่างนี้คือ ภัคไม่ได้บอกว่าที่ขอมีทางเลือกนั้น หมายถึงการมีเจตจำนงเสรี ในทัศนะของภัคนั้น เราเกิดมาในโลกที่กลายเป็นกับดัก พูดได้ว่าเป็นโลกแบบ Kafkaesque เราเกิดมาในโลกที่กลายเป็นสังคมซับซ้อนซึ่งมีทางเลือกจริง ๆ ไม่มากนัก เพียงแต่ภัคบอกว่า เราน่าจะมีความหวังว่ายังมีทางเลือกที่ 4,5,6 บ้าง ไม่ใช่ลดทอนสังคมที่ซับซ้อนจนเหลือทางเลือกแค่ 2 ทางที่ไม่อยากได้ แล้วถ้ามันมีแค่ 2 ทางอย่างที่อาจารย์บอกจริง นั่นไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็นกับดัก ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงต้องรับผิดชอบทางจริยธรรมในสิ่งที่เราเลือกไม่ได้จริง ๆ ? หรือถามอีกอย่างหนึ่งคือ ทำไมเราต้องชอบนิยาย existentialist ที่อาจารย์เขียนให้เราเป็นตัวละคร ในเมื่อเรารู้สึกว่าฉากหลังในละครมันกลายเป็น Kafkaesque ไปตั้งนานแล้ว

แล้วมันก็มาถึงประเด็นที่ทำให้ภัค "ทนไม่ได้" กับสิ่งที่อาจารย์เขียนหลาย ๆ ครั้ง คือภัคมองไม่เห็นว่า เวลาที่อาจารย์วิจารณ์คนอื่นในแง่ความคิดในเชิงตรรกะ ทำไมทุกครั้งมันจะต้องกระโดดไปเป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและทุกครั้งเป็นคำคลุมเครือมาก ๆ เช่น ซื่้อสัตย์ต่อตัวเอง, กล้าหาญ ฯลฯ ภัคไม่เข้าใจว่า ทำไมอาจารย์จึงสร้างสมการ "ไร้ตรรกะ/เหตุผล = เลว" ขึ้นมาได้

นั่นประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือ ภัคข้องใจว่า การเรียกร้องเรื่องจริยธรรมแบบนี้ มันเป็นวาทกรรมเดียวกับ "ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมจะีดีเอง" หรือ "ให้คนดีปกครองบ้านเมือง" หรือวาทะอะไรสักอย่างที่มีคนยกมากระทู้ที่แล้ว แต่เรื่องนี้ยังคิดไม่ละเอียดค่ะ

ภัครีบเขียนมากให้จบวันนี้ คงมีหลายอย่างที่ไม่พึงเขียนหรือเขียนไม่ชัดแจ้ง แต่พรุ่งนี้จะมีเพื่อนมาและจะยุ่งไปอีกหลายวัน พอว่างแล้วจะกลับมาอ่านต่อ ขอให้อาจารย์และทุกคน (คุณฟรีไมนด์ ฯลฯ) วิจารณ์กันเต็มที่ค่ะ ถ้ามีอะไรแล้วค่อยคุยกันต่อ

ปล. ที่ภัคพูดว่า "มีชีวิตอยู่มิสู้่ตาย" มันแค่ตีสำนวนเล่นอย่างนั้นเอง อาจารย์อย่าถือจริงจัง ภัคขี้ขลาดจะตายไป แล้วก็ไม่เห็นพระเอกกำลังภายในส่วนใหญ่ตายจริง ๆ อย่างที่พูดด้วย





สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)
ก็เพราะเราไม่เชื่อว่ามันมีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปีเพื่อเลือกสมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นผู้แทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจริง ๆ ของเรา (misrepresent)
ในสังคมที่ อำนาจล้นฟ้าบางอย่าง

อย่าว่าแต่ทุก 4 ปี เลย...
ทุก 10 ปี หรือ 50 ปี หรือ.... ปี
อย่าว่าแต่ ไม่มีสิทธิ์จะหย่อนบัตรเลือกตั้งเลย...
แม้แต่พูดถึงแบบปกติที่คนเราพูดถึงเรื่องสาธารณะทั่วๆไป คือ ชอบ-ไม่ชอบ ก็ทำไม่ได้

อย่าว่าแต่อ้างความเป็น "ผู้แทน" แต่ "ไม่ได้เป็นตัวแทนจริงๆของเรา" เลย
กระทั่งอ้างความเป็นบุพการีของเรา....

ในสังคมเช่นนี้
การที่ปัญญาชน ชอบเขียนวิจารณ์ ชอบเขียนแสดงความดูเบาต่อการเลือกตั้ง...
แต่ไม่ยอมพูดถึงอำนาจเช่นนั้นเลย

ถ้าไม่ใช่เรียกว่า pretentious อย่างน้อยๆ ก็ต้องเรียกว่า pervert แน่ๆ

..............................


ข้อความข้างต้น เขียนก่อนที่จะอ่าน Comment ล่าสุด ของคุณภัควดีข้างต้น

แต่จะเห็นว่า ข้อความใหม่ที่ว่า "แต่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนอย่างที่เป็นอยู่" เข้ากับที่เขียนข้างบนพอดี



สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)
เวลาที่อาจารย์วิจารณ์คนอื่นในแง่ความคิดในเชิงตรรกะ ทำไมทุกครั้งมันจะต้องกระโดดไปเป็นการประเมินคุณค่าทางจริยธรรมและทุกครั้งเป็นคำคลุมเครือมาก ๆ เช่น ซื่้อสัตย์ต่อตัวเอง, กล้าหาญ ฯลฯ ภัคไม่เข้าใจว่า ทำไมอาจารย์จึงสร้างสมการ "ไร้ตรรกะ/เหตุผล = เลว"
ก่อนอื่น ผมไม่เคยใช้ (เท่าที่ผมจำได้) คำว่า "เลว" (เช่นเดียวกับคำว่า "คนดี" เพราะไอเดียเรื่อง "คนดี-คนเลว" โดยเฉพาะในแบบพุทธที่มีบางคนชอบอ้าง ไม่อยู่ในสารบบวิธีคิดของผม) เรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้ากล่าวหาผมในเรื่อง "ประเมินคุณค่าทางจริยธรรม" ควรกล่าวหาให้ถูกต้องว่าผมพูดอะไร

แต่ที่คุณภัควดีกล่าวหาว่าผม "กระโดด" ไปเรื่องคุณค่าทางจริยธรรม ถ้าหมายถึง การพูดที่ผมวิจารณ์ว่า "ไร้ตรรกะ" "ไร้เหตุผล" หรือ "ดัดจริต" นั้น

ผมไม่เห็นว่า ทำไมจะทำไม่ได้ (อันที่จริง คำพวกนี้ ในศัพท์ของผม ก็ไม่ใช่คำวิจารณ์เชิงจริยธรรม "ตรรกะ" "ไม่มีเหตุผล" กระทั่ง "ดัดจริต" คำหลังนี้ หมายถึงการ "แกล้งทำเป็นมีหลักการสูงส่ง แต่แท้จริงแล้ว "เลือกสรร" การใช้ "หลักการ" นั้นอย่างยิ่ง ในแง่นี้ มาจากการไม่คงเส้นคงวาทางตรรกะ ทาง argument ก่อนอื่นใด)


และเมื่อเปรียบเทียบกับที่คุณภัครู้สึกว่า คำด่านักการเมืองประเภท "อัปรีย์จัญไร" เป็นคำด่าที่ "ถูกจุด" ที่สุด
ไม่รู้สึกว่าเป็นการ "ประเมินทางจริยธรรม" ที่แย่กว่าหรือ?
หรือว่า เวลาด่านักการเมือง "อัปรีย์จัญไร" (ซี่งผมไม่ใช้กับปัญญาชนด้วยกันแน่ๆ) เป็นเรื่อง โอเค
แต่ถูกวิจารณ์ว่า "ไม่มีเหตุผล" "ดัดจริต" เป็นเรื่องไม่โอเค...
(ไม่อยากใช้คำว่า "ดัดจริต" ซ้ำ แต่หลายปีที่ผ่านมา ท่าทีแบบนี้ของปัญญาชน - ไม่ใช่เฉพาะคุณภัค - ผมว่า มันออกจะ "ดัดจริต" จริงๆ ดังที่ผมเคยวิพากษ์ธงชัยที่ออกมาปกป้องนักวิชาการต่างๆในลักษณะทำนองนี้มาก่อน ..... เวลานักวิชาการ - เช่นรังสรรค์ หรือ คุณภัค ในทีนี้ - ด่านักการเมือง "อัปรีย์" ไม่เห็นปัญญาชนอันสูงส่งที่ทนไม่ได้เรื่อง "การตัดสินคุณค่าทางจริยธรรม" ออกมาแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจอะไร)


ปล. พูดตรงๆนะครับ คุณภัคไม่เคยตอบประเด็นที่ผม raise จริงๆ แต่อ่ยางใด ไม่ว่ากรณีทางเลือกอื่น ว่าคืออะไร มีจริงหรือไม่

ประเด็นที่อ้างว่าการด่า "อัปรีย์จัญไร" เป็นการด่าอย่างไม่ไว้หน้าใครๆแล้ว ทั้งๆที่ไม่จริงเลยแม้แต่น้อย

ลักษณะที่ว่า ยอมทนได้กับการ "เล่นตามเกม" อำนาจบางอย่าง แต่พอทักเรื่องนักการเมือง ก็กลับทนไม่ได้ กลับหาว่าเป็นการ "เล่นตามเกม"
ฯลฯ ฯลฯ




สมศักดิ์
(24 มีนาคม 2550)

ประเด็น

(1) ที่กล่าวว่า ควรปฏิเสธทั้งทางเลือกที่ 1 และ 2 และปฏิเสธว่า มีทางเลือกเพียง 2 ทาง ควรมีทางเลือกที่ 3, 4, 5

อะไรคือ คือทางเลือกที่ 3, 4, 5 ที่ว่า?
ในโลกที่เป็นจริง ที่ผ่านมา

การที่ไม่เคยชี้ออกมาได้ว่า 3, 4, 5 คืออะไร ได้แต่ยืนกรานว่า "มี" หรือ "ควรมี"
(แต่กล่าวหาว่าข้อเสนอผมเป็น "กับดัก") ไม่รู้สึกว่าเป็นการ "หลอกตัวเอง" (delusion) หรือ หลอกผู้อื่น หรือ?


(2) ที่สนับสนุนว่า การด่า "อัปรีย์จัญไร" เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะตรงจุด และไม่ไว้หน้าใครแล้ว

จะอธิบายการที่ไม่สามารถใช้คำนี้กับ A,B,x อย่างไร?
(และถ้าเช่นนั้น การใช้คำนี้ อย่าง "เลือกสรร" อย่างยิ่ง เช่นนี้จะมีความหมายอะไร?)

จะอธิบายการที่กล่าวหาว่า การ defend ทักษิณ ฯลฯ เป็น "เล่นตามเกม"
ขณะที่ยอม "เดินตามเกม" บางอย่างอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกัน (เมื่อพูดถึงกรณีนักการเมือง) ได้อย่างไร?

(ประเด็นเชื่อมโยง จะ justify การดูเบาเรื่องเลือกตั้ง แต่เงียบเฉยต่อการได้มาซึ่งอำนาจแบบอื่นได้อย่างไร? ไหนการวิพากษ์เชิงหลักการ เรื่อง representation ต่ออำนาจอื่น?)




สมศักดิ์
(25 มีนาคม 2550)

ผมยอมรับว่า ในการวิวาทะกับคุณภัควดีในช่วง 2 วันทีผ่านมา ผมโกรธ และเขียนด้วยถ้อยคำรุนแรง
แต่นี่ไม่ใช apology เป็นแต่เพียง explanation และ justification
กล่าวคือ


เมื่อปัญญาชนระดับคุณภัควดี ทำในสิ่งต่อไปนี้

(1) endorse การประนาม "อัปรีย์จัญไร" โดยการสนับสนุนว่า เป็นคำประนามที่ตรงจุด และ ไม่ไว้หน้าใคร

ทั้งๆที่ความจริง คำประนามนี้ ในสังคมไทย สามารถและถูก applied กับนักการเมืองเป็นหลักเท่านั้น
ที่สำคัญ ไม่มีทางถูกใช้กับ A,B,x ได้เลย

การ endorse ในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการหลอกตัวเอง ("ตรงจุด", "ไม่ไว้หน้าใคร") และหลอกคนอื่นด้วย

(2) ดูเบา-วิจารณ์ การเลือกตั้ง และไอเดียเรื่องการเลือกผู้แทน
โดยที่ไม่ยอมแตะต้อง อำนาจมืด อื่น ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ที่อ้างยิ่งกว่าความเป็นตัวแทน (ความจริงคืออ้างความเป็นบุพการี)

(3) วิจารณ์ว่า การสนับสนุนนักการเมืองแม้เพียงเล็กน้อย เป็นการ "เล่นตามเกม" ของนักการเมือง เป็นการ "หุบปาก" ต่อนักการเมือง ราวกับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่น่ารังเกียจ
แต่ขณะเดียวกัน ไม่ยอมเอ่ยถึง การต้องยอมทน "เล่นตามเกม" ของบางกลุ่มบางคนอยู่ทุกวินาที การยอมทน "หุบปาก" ต่ออำนาจมืดเหล่านั้นอยุ่ทุกวินาที ราวกับว่า การ "เล่นตามเกม", การ "หุบปาก" นั้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่พออะไรที่จะให้ประโยชน์นักการเมืองหน่อย เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

ซึ่งเป็นการมองที่หลอกตัวเอง เช่นเดียวกับ (1)

สิ่งเหล่านี้ contribute - อันที่จริง คือเป็นส่วนหนึ่งของ - ภูมิปัญญา/วัฒนธรรมการเมืองร่วมสมัย ที่ครอบงำสังคมไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแบ็กกราวน์ให้กับการฟื้นอำนาจครั้งใหญ่ของอำนาจมืดในขณะนี้

การพูดในลักษณะ (1)-(3) เป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านแบบไม่เกรงใจคือ พูดพล่อยๆ


ในหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลาย พูด "พล่อย" แบบนี้ จนกลายเป็นความเคยชิน โดยไม่ได้รับการท้าทายกันเอง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อวัฒนธรรมทางการเมือง

เวลาคุณพูดคำด่า (ที่เป็นได้แต่คำด่านักการเมือง) ทำนอง "อัปรีย์จัญไร" แล้วไม่รู้สึกอะไร
แต่พอถูกผมวิจารณ์กลับแบบแรงๆ กลับแสดงความไม่พอใจ


ไม่ทราบเคยคิดอย่างซีเรียส ถึงผลกระทบของการพูด (1)-(3) ตั้งแต่ต้นหรือไม่?
ไม่ทราบเคยคิดถึง "ความรับผิดชอบ" ในฐานะปัญญาชนสาธารณะต่อกระแส....ทุกวันนี้หรือไม่?



เวลาคุณ endorse คำอย่าง "อัปรีย์จัญไร" (เหมือนที่คนอย่างธีรยุทธ พูดถึง "อัครมหายำประเทศ" หรือ ประเวศ หรือ นิธิ "กู..มึง...")

แต่กลับ "หุบปาก" (คำของคุณเอง) อย่างสนิท ต่อ อำนาจมืดบางอย่าง

คุณเคยคิดถึง ความรับผิดชอบ ของคุณต่อกระแส.... ทุกวันนี้หรือไม่?

ธีรยุทธ บุญมี : กาฝาก 14 ตุลา และ "ปัญญาชนบริกร"



"กาฝาก 14 ตุลา"


หลัง 14 ตุลา (ในทีนี้ผมรวมถึงขบวนการต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2520) ธีรยุทธ ได้สร้างสรรค์งานอะไรที่ทำให้สมควรได้รับความสนใจ หรือนับถือ ในระดับที่ทำให้มีปรากฏการณ์ "แถลงข่าว" ให้ หนังสือพิมพ์พาดหัวแบบนี้บ้าง? คำตอบคือ ไม่มีเลย เหตุผลสำคัญประการเดียว ที่ธีรยุทธ ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะความประทับใจ หรือนับถือในผลงานวิชาการ หรือผลงานด้านสังคมอื่นๆ งาน "วิชาการ" ของเขา (ซึ่งมีน้อยมาก) ไม่เคยได้รับการยอมรับในวงวิชาการจริงๆ และเขาไม่เคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร ที่ทำอะไรออกมาจริงๆจังๆ สิ่งที่เขาทำจริงๆ ในรอบ 20 ปีนี้ ก็มีเพียงอย่างที่กำลังทำอยู่นี้แหละ คือ ออกมา "แถลงข่าว" เป็นระยะๆ - - - แต่เหตุผลประการเดียวที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ ก็คือ เขามีชื่อเสียงจาก 14 ตุลา

นั่นคือ การที่ธีรยุทธ สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะเขา อาศัย "ต้นไม้ 14 ตุลา" ซึ่งก็คือ เลือดเนื้อความเสียสละของผู้ปฏิบัติงาน และมวลชน จำนวนมหาศาล เป็น "แหล่งทำมาหากิน" .. เหมือนกาฝาก หรือในสำนวนไทยอีกอย่าง คือ "กินบุญเก่า" แต่เป็นบุญทีคนอื่นทำไว้เสียเยอะ (บุญที่เขาทำเอง หมดไปนานแล้ว เพราะไม่เคยต่อใหม่)



"ปัญญาชนบริกร"
นอกจาก "ความฉลาด" ในการเป็น "กาฝาก" ของ "ต้นไม้ 14 ตุลา" โดยไม่ยอมไป "ทำมาหากิน" ด้วยตัวเองจริงๆ แล้ว เหตุผลรองอีกประการหนึ่ง คือ "ความฉลาด" ในแง่เป็นคนคอย "บริการ" ให้กับ หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนไทย ซึ่งไม่เคยมีความฉลาดด้วยตัวเองพอจะเขียนหัวข้อข่าวด้วยตัวเอง และขณะเดียวกัน ก็ โง่พอที่จะหลงเชื่อว่า "คำเท่ห์ๆ" เป็นอะไรที่น่าสนใจลึกซึ้ง... .. ลักษณะที่ธีรยุทธ "คิดคำ" ที่นำไปพาดหัวได้ กลายเป็นอะไรบางอย่างที่มากเสียจนกลายเป็น parody ตัวเองไปแล้ว ในสมัยแรกๆ การ "คิดคำ" เหล่านี้ ยังมีลักษณะเพียงการเสริมการ "วิเคราะห์" ของเขาบ้าง ทุกวันนี้ นสพ.ไปฟัง และรายงาน "แถลงข่าว" เพื่อหา "พาดหัว" ล้วนๆ เพราะสิ่งที่ธีรยุทธ "วิเคราะห์" ออกมา มีคนอื่นพูดไปแล้วทั้งนั้น หลายรายพูดได้น่าสนใจกว่าเขา เพียงแต่ไม่มีใคร "ฉลาด" พอ หรือมีเวลาว่างพอ ในการคิดหาวิธีหลอก นสพ.แบบเขาได้ เขาได้พัฒนาเรื่องนี้จนเป็น art-form เป็น "ศิลปะ" อย่างหนึ่ง ความจริง หากในยามเกษียณอายุ (หวังว่าจะมีนะ กลัวแต่จะไม่ยอมไปไหน เหมือนประเวศ ที่เขากำลัง "เทรน" ตัวเอง ไว้แทนที่นั่นแหละ) แล้วใครต่อใคร โดยเฉพาะ นสพ. เริ่มฉลาดขึ้น และเลิกทำแบบนี้แล้ว เขาอาจจะไปเขียน "คู่มือ" การ "ปั่นข่าว" หากินต่อได้อีกสักระยะหนึ่งด้วย



เผด็จการฟาสซิสต์ ไม่พอ
คำ "วิจารณ์" คมช.-รัฐบาลทหารของธีรยุทธ ครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน ("ขิงแก่", "ขมิ้นอ่อน", "โกกิ") คือ ไม่ใช่การวิจารณ์ว่ารัฐบาลนี้เป็นเผด็จการ ใช้อำนาจปืน มาจัดการผู้อื่น ทำให้กระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย ที่ควรเป็นกติกา หรือ กลไกที่เป็นกลางกับทุกฝ่าย ให้เป็นเพียงเครื่องมือเล่นงานศัตรูทางการเมือง .. "การตรวจสอบ" ต่างๆ ที่ดำเนินอยู่นี้ แม้แต่ชาวบ้าน ก็รู้ว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมหลอกๆ (show trial) คือ มีไว้เล่นงานศัตรูเท่านั้น (สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ถ้าเป็นสมัยก่อน เช่น การรับตำแหน่ง 4-5 ตำแหน่งพร้อมๆกันของผู้นำทหาร, การใช้ที่ดินป่าสงวนของนายกฯ แม้แต่เรื่อง การจดทะเบียนสมรสซ้อน, การตั้งลูกตัวเองเป็นเลขาฯ พาลูกไปเที่ยวอย่างน่าสงสัยว่าจะใช้เงินหลวง ฯลฯ.. ถ้าเป็นสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง ป่านนี้ถูกเล่นงานเปิดเปิงไปแล้ว ...) แต่ธีรยุทธ ยังเห็นว่าไม่พอ คือยังเห็นว่า ที่คณะทหารและรัฐบาลนี้ กำลังกระทำชำเรากฎหมาย กระทำชำเรากระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่พอ .. ยังไม่ฟาสซิสต์พอ คำวิจารณ์ของเขา ทั้งครั้งก่อนและครั้งนี้ สรุปแล้ว คือ "เอาแม่ งเลย" "เอาแม่ งเลย" ทักษิณน่ะ ไม่ต้องคำนึงถึงเปลือกนอก หรือกรอบอะไรของกฎหมายเลย (ซึ่งจริงๆก็ไม่คำนึงอยู่แล้ว แต่เขายังเห็นว่า ไม่พอ) .. "เอาเลย" ไม่ต้องห่วงเรื่องความชอบธรรมพวกนี้ ใช้อำนาจที่มีอยู่ เล่นงาน "แม่ง" เลย...

บันทึก "เปิดผนึก" ถึง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง : เมื่อไรจะหยุด "เกาะหางเสื้อคลุม" ของอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเกาะเสียทีครับ?

(24 กุมภาพันธ์ 2550)



เรียน อ.พิชญ์ ที่นับถือ


ผมยอมรับว่า รู้สึก annoyed ไม่น้อย ที่เห็นบทความล่าสุดของอาจารย์ ที่โพสต์ใน ประชาไท

ครั้งก่อน ที่ผมไม่ได้เถียงต่อเมื่ออาจารย์อภิปรายเรื่องทำไมจึงใช้ "พลังแผ่นดิน" ถึง 9 ครั้ง เพื่ออธิบาย Habermas นั้น บอกตรงๆว่า เพราะไม่อยากมีเรื่องต่อ แต่ผมยืนยัน และ ผมเชื่อว่าใครก็ตามถ้าไม่ใช่พวกโปรเจ้าสุดๆ ก็ย่อมเห็นว่า อาจารย์ทำพลาด ที่ใช้คำนั้นมาอธิบาย Habermas โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Habermas เลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากเป็นการไม่เคารพต่อตัว เจ้าของความคิด ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นการ "เกาะหางเสื้อคลุม" ของอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเกาะเลย ไม่สอดคล้องกันเลยกับปัญญาชนที่พยายาม (อ้างว่า) ทำเพื่อประชาชน และประชาธิปไตย

ในบทความล่าสุดนี้ อาจารย์ใช้วิธีทำนองเดียวกันอีก คราวนี้ อาจจะแย่กว่าคราวก่อนด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "พลังแผ่นดิน" แม้จะรู้ๆกันอยู่ว่าหมายถึงอะไร แต่ในบริบทของบทความ (อธิบายเรื่อง Habermas-deliberative democracy) แม้จะแย่พอแล้ว แต่ยังมีลักษณะ "ทฤษฎีนามธรรม" อยู่

แต่คราวนี้ อาจารย์เขียนเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง

อาจารย์เริ่มจากการยอมรับ (concede) ว่า การเสนอไอเดียเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องดี แต่วิธีการที่รณรงค์กันอยู่นั้นผิด

ผมเห็นว่า การเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือตัวอย่างของการใช้อำนาจรัฐบังคับทางอุดมการณ์

นี่คือการกดขี่ทางความคิดอย่างสุดๆ (นึกถึงติดคุก 15 ปี)

นี่ไม่ใช่ก่ารเสนอไอเดียวธรมดา (นาย ก นาย ข เสนอว่า ......) ซึ่งทุกคนสามารถพูดได้ว่า เป็นข้อเสนอทีน่าสนใจ เป็นข้อเสนอที่ดี ไปจนถึง เป็นข้อเสนอที่ silly ที่ idiotic ที่ ridiculous ได้ เรื่องนี้ ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรก็รู้เห็นกันอยู่ อาจารย์เขียนว่า
ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความพอดีและความพอเพียง อย่าว่าแต่ต่างชาติจะไม่เข้าใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่าอะไรเลยครับ ... ประชาชนในประเทศก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือความพอดีและความพอเพียงเช่นกัน

ถ้าประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคม หลักประกันความโปร่งใส และการคุ้มครองความปลอดภัย เราจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร?
จะเห็นว่า 2 ประโยคนี้ ใช้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นตัวตั้ง ราวกับว่า เป็นอะไรบางอย่างที่ดี ที่ควรยอมรับอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดเงื่อนไขที่ "ถูกต้อง" ที่จะทำให้แนวคิดนี้ปรากฏเป็นจริง ("ประชาธิปไตยคือหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง" คือ เรามามีประชาธิปไตยกันเถอะ จะได้มีเศรษฐกิจพอเพียง ("รัฐในแบบไหนที่จะ ทำให้สังคมสามารถไปสู่จุดหมายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ได้)

หรือ แม้แต่ประโยคแบบนี้ "หรือเอาเข้าจริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำกันอยู่นั้น เป็นเพียงกระบวนการประณามทุนนิยมและโลกาภิวัตน์แบบมือถือสากปากถือศีลไปเรื่อยๆ" ในบริบทของบทความ นี่เป็นเพียงการด่า รัฐบาล ไม่ใช่การวิพากษ์ การเสนอ เศรษฐกิจพอเพียง

ในบริบทของบทความ การที่อาจารย์เขียนว่า "ควร...สามารถตั้งคำถามและถกเถียงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้" จึงหมายถึงการตั้งคำถามกับการรณรงค์ของรัฐบาลและกับบรรดานายทุนทั้งหลาย ที่นำ "แนวพระราชดำริ" หรือ "ปรัชญา" (?) ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสนอ ไป "ผูดขาด"
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรถูกผูกขาดโดยรัฐราชการและทุนนิยมที่พยายามทั้งอ้างทั้งปั้นว่าความสำเร็จขององค์กรตัวเองจากอดีตมาสู่ปัจจุบันนั้นมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรเป็นของประชาชนที่มีเสรีภาพในการเลือกนำไปปฏิบัติ และประยุกติใช้ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปได้ในอนาคตมิใช่หรือ?
พูดแบบง่ายๆคือ ไอ้พวก รัฐบาลกับนายทุนนี่มันแย่ง "แนวพระราชดำริ" ไป พวกเราประชาชนต้องช่วยกันแย่งคืนมา เสียเอง (เพราะอะไร? อาจารย์ไม่ได้บอก ในบริบทสังคมไทย ก็คงต้องตอบว่า เพราะเป็นแนวคิดอันยอดเยี่ยม เป็นพระมหากรุณาธิคณ ที่ทรงห่วงใยราษฎร ฯลฯ ฯลฯ ใช่ไหมครับ?)

ไม่มีตรงไหนของบทความเลย ที่อาจารย์ชี้ให้เห็น ในสิ่งที่ควรจะชี้ให้เห็นว่า ก่อนอื่น (ดังกล่าวข้างต้น) การเสนอเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นการใช้อำนาจรัฐบังคับทางอุดมการณ์ (อาจารย์ควรทราบดีว่า ผมไม่ได้กำลังพูดถึงรัฐบาลอย่างที่อาจารย์พูด)

และ สอง (ซึ่งเป็นอีกด้านของเหรียญเดียวกันกับประโยคเมือ่ครู่) คือ เงื่อนไขพื้นฐานที่สุด ของสังคมสมัยใหม่ คือ การเสนอความเห็นอะไรต่อสาธารณะ จะต้องทำบนเงื่อนไขทีว่า ความเห็นนั้น เป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สามารถจะที่จะ "ติดป้าย" (characterization) อะไรก็ได้ ตั้งแต่ระดับ "ยอดเยี่ยม" "ลึกซึ้ง" "น่าชื่นชมยินดี" ไปจนถึง "งี่เง่า" "เฮงซวย" "ห่วยแตก" ได้

มิเช่นนั้น นั่นไม่ใช่การเสนอความเห็นทางสาธารณะ แต่เป็นการบังคับให้คนเชื่อ ด้วยการใช้อำนาจกดขี่เหี้ยมเกรียมของรัฐมาบังคับ

นั่นคือการ เอาปืนมาจ่อหัว แล้ว บังคับกรอกอะไรเข้าไปในปากให้กลืนเข้าไป

ถ้าอาจารย์บอกว่า ขืนเขียนอย่างที่ผมเพิ่งเสนอให้เขียนไปนี้ มีหวังไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์แน่ๆ

ก็อย่าเขียนสิครับ



ปล. ผมทราบดีว่า จารีตการเขียนแบบที่อาจารย์ทำ เป็นจารีตที่ ฝ่าย "ซ้าย" หรือ ฝ่าย "ก้าวหน้า" สมัยก่อนใช้กันอยู่บ้าง พูดอย่างตรงๆคือ การเขียนในทำนองว่า "รัฐบาล (และ / หรือ นายทุน) ไม่ได้ทำตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง, อย่างถูกต้อง เป็นเพียงการทำแบบหน้าไหว้หลังหลอก ฯลฯ ฯลฯ" แต่สิ่งที่เป็น premise ของการเขียนแบบนี้ คือ "แนวพระราชดำริ" คือ royal power และสภาพของ power นั้น

ขอให้ลองศึกษากรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่า "หมิ่น" ในปี 2499 ที่นี่

สิ่งที่อาจารย์หยุด เข้าใจดียิ่งคือ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ข้อวิจารณ์ของพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ทหารไม่ควรยุ่งการเมือง" เลย (ซึ่งคนที่มองตื้นๆ อย่างสมัยนี้ คงเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เหมือนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั่นแหละ) แต่อยู่ที่ การเสนอ นั่นต่างหาก)

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ใครก็ได้ ช่วยฝากไปบอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที ทีวันก่อน ออกมาประนาม FTA ว่าเป็นการ ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ ฯลฯ ..... (ดูที่นี่)

ช่วยบอกเขาทีครับว่า ตื่นออกมาจากกะลาเสียทีเถอะครับ เลิกโง่ได้แล้วครับ นี่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ครับ (หรืออยากให้เป็น?)



เพิ่มเติม
หลังจากผมโพสต์กระทู้นี้แล้ว พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ ได้เขียนแสดงความเห็นตอบ ดังนี้
เรียนอาจารย์สมศักดิ์ และบรรดาแฟนคลับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านงานของผมมาโดยตลอดนะครับ ผมคิดว่าคนที่ได้อ่านงานของผมหลังจากอ่านบทวิจารณ์ของอาจารย์คงจะได้รับอรรถรสในแบบที่อาจารย์ต้องการไม่มากก็น้อย (โดยเฉพาะลักษณะการวิจารณ์ที่ชัดเจนและจูงใจเช่นนี้)
ผมทำได้แค่เชิญชวนให้ท่านผู้อ่านอ่านงานของผมในมุมอื่นๆบ้าง และอ่านประโยคท้ายๆบทความที่นำไปสู่เชิงอรรถที่ 5 และ 6 สักหน่อยนะครับ
ท้ายที่สุดนี้ ผมว่าอาจารย์ควรจะเลิกเกาะหางเสื้อคลุมของผมแล้วเขียนออกมาเองบ้างก็จะดีครับ เพราะผมก็ทำได้เท่าที่ผมทำนั่นแหละครับ
สู้เขาครับอาจารย์สมศักดิ์ : )
ผมได้ตอบกลับว่า
เรียน อ.พิชญ์

เนื่องจาก ในโพสต์ของอาจารย์ไม่ได้มีตรงไหนที่โต้แย้งกับประเด็นทีผมเสนอ ผมจึงไม่ขอเพิ่มอะไร ยกเว้นส่วนที่ อ.เสนอมา เรื่องประโยคที่นำไปสู่ เชิงอรรถที่ 5 และ 6 ซึ่งผมอ่านอีกครั้ง ก็ยังมองไม่เห็นว่า จะเป็นเปลี่ยนทิศทางใหญ่ของบทความ ตามที่ผมเสนอได้อย่างไร ยิ่งเมือดูเปรียบเทียบกับประโยคอื่นๆที่ผมยกมา เช่น เรือง "รัฐในแบบไหน ที่จะ ทำให้สังคมสามารถไปสู่จุดหมายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" หรือ ตัวชื่อเรื่องเอง "ประชาธิปไตยคือหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งในบทความของอาจารย์มีอยู่จุดหนึ่ง (ตรงทีว่านำไปสู่เชิงอรรถที่ 6) ที่เขียนว่า "ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ค่อยมาว่ากันเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะดีกว่าครับ" ซึ่งผมเห็นว่า อันที่จริง นี่ไม่ใช่ตรงกับหัวข้อเรื่องที่อาจารย์จั่วไว้เอง เพราะถ้าบอกว่า "ให้เป็นประชาธิปไตยก่อน ค่อยมาว่ากันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง" จะเขียนว่า "ประชาธิปไตย คือหัวใจของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างไร? ห้วข้อ และ เนื่อหาส่วนใหญ่ที่สุด แปลได้อย่างที่ผมเขียนไปแล้วคือ "มาเป็นประชาธิปไตยกันเถอะ จะได้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง " (เพราะอย่างแรก "เป็นหัวใจของ" อย่างหลัง) ไม่ต้องพูดถึงประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งที่ผมวิจารณ์ว่า การเขีนยเช่นนี้ แม้ในประโยคของอาจารย์ที่เพิ่งยกมา ก็เป็นเพียงการวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่วิจารณ์อะไรที่ควรวิจารณ์ in the first place

By the way มี "ปรัชญา" ที่ไหนในโลกครับ ที่ is backed up by a 15-years jail sentence ?
"concession" เรื่อง "ชื่อเรียก" แค่นี้ ผมก็ว่า มากเกินไปแล้ว

ในส่วนประโยคเกี่ยวกับเรื่องผม "เกาะหางเสื้อคลุม" อาจารย์อะไรนั่น ผมไม่ amused แต่จะบอกอย่างจริงๆจังๆ สำหรับคนอื่น - เพราะผมว่า ระดับ อาจารย์ย่อมควรจะทราบดี - ว่า การเขียนโดยการวิจารณ์สิ่งที่ผู้อื่นเขียน เป็น mode ของการเขียนที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง และความจริง มีคนจำนวนมาก ที่ใช้ mode การเขียนนี้เป็นรูปแบบหลัก (ผมจำเป็นต้องอ้างตัวอย่างเร็วๆนี้ ที่รู้จักกันดีอย่าง Derrida ไหมว่า (ซึ่งเป็นประเด็นที่มีคนพูดกันเยอะคือ) งานของ Derrida นั้น consists entirely of reading of what other people write? คือเป็นงานที่ "อ่าน" งานของคนอื่นทั้งหมด ไม่ได้เริ่มงานเขียนเองเลย อันที่จริง ผมเองไม่ได้ใช้ mode นี้อย่างเดียวในการเขียนแต่อย่างใด)

สุดท้าย ที่อาจารย์ "ออกตัว" ว่า "ผมก็ทำได้ เท่าที่ผมทำนั่นแหละครับ" ผมจะถือแบบ face value ว่า นี่ไม่ใช่การประชดเสียดสี หรืออะไร และจะขอเสนอแบบตรงๆ เลยว่า ถ้า "ทำได้แค่นี้" จริง อย่าทำดีกว่า เรื่องนี้ ผมมีความเห็นมาโดยตลอดว่า เรื่องบางเรื่องนั้น ถ้าเขียนแบบวิพากษ์ ไม่ได้ ไม่เป็น ก็ อย่าเขียนดีกว่า เพราะถ้าเขียน เช่น ที่อาจารย์ (หรือตัวอย่างที่แย่กว่า คือกรณีชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในบทความเดือน พฤศจิกายน 2548) มีแต่ไปเสริมอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเสริม
(มีผู้อื่นมาเขียนวิจารณ์ผม และผมได้ตอบไปด้วย ดูได้ที่นี่)

Friday, July 20, 2007

ความเป็นมาของไอเดีย "ราชประชาสมาสัย"

(12 กุมภาพันธ์ 2550)



ถ้าจำไม่ผิด หลัง 17 พฤษภา ไม่นาน เกษียร เคยเขียนบทความใน ผู้จัดการ อธิบายแนวคิด "ราชประชาสมาสัย" บทความเกษียรน่าจะรวมอยู่ในหนังสือรวมบทความเล่มใดเล่มหนึ่งของเขา เข้าใจว่า เกษียรแปลคำว่า "ราชประชาสมาสัย" เป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย

ถ้าเข้าใจไม่ผิด คำว่า "ราชประชาสมาสัย" มาจาก ราช + ประชา + สม + อาสัย แปลว่า ราชากับประชาชนพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้นตำรับไอเดียนี้ในสมัยใหม่มาจากบทความชัยอนันต์ ที่ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ รายวัน 13 ธันวาคม 2516 ความจริง ชัยอนันต์เขียนเรื่องนี้ ไม่ใช่เพื่อสนับสนุน "สภาสนามม้า" ที่กำลังตั้ง (10 ธันวาคม 2516) โดยตรง แต่เขาเขียนในฐานะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งตั้งก่อน "สภาสนามม้า") ชัยอนันต์กล่าวถึง การที่ พระมหากษัตริย์กลายเป็นความหวังของประชาชนหลังจากการปกครองของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเป็นเวลานาน แล้วกล่าวว่า มีคนเสนอมาที่กรรมการ่างรัฐธรรมนูญว่า ให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พระมหากษัตริย์ในการเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก เพื่อเป็นการคานอำนาจของ ส.ส.ที่จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีคนค้านว่า ข้อเสนอดังกล่าว "อาจเป็นการนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมือง" แล้วชัยอนันต์ ก็เขียนตามทันที ในย่อหน้าสำคัญต่อไปนี้ (เน้นคำของผม)
ความคิดทั้งสองประการนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ซึ่งเป็นทางสายกลาง เราอาจเรียกวิธีการหรือระบบใหม่นี้ว่า ราชประชาสมาสัย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากนั้น ชัยอนันต์ได้เสนอวิธีการได้มาของวุฒิสมาชิก จากหลักการ "ราชประชาสมาสัย" ที่ว่านี้ในย่อหน้าถัดไป สรุปคือ ให้ องคมนตรี "ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย" เสนอรายชื่อ "บุคคลจากอาชีพต่างๆ ที่มีคุณธรรม ความสามารถ" โดยเสนอให้มากจำนวนกว่าจำนวนสมาชิกวุฒิสมาชิกจริง เช่น 3 เท่า (ตัวอย่าง ถ้าวุฒิสมาชิกมี 100 คน ให้เสนอ 300 รายชื่อ) แล้วให้ สภาผู้แทนราษฎร (ทีมาจากการเลือกตั้ง) เลือกให้เหลือจำนวนที่กำหนดไว้ (100 คนตามตัวอย่าง) แล้วประธานสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หลังจากนั้น ชัยอนันต์ ได้สรุป ข้อดีของข้อเสนของเขา (การได้มาของวุฒิสมาชิก) เป็น 4 ข้อ แล้วสรุป (ย่อหน้าสุดท้ายของบทความ) ว่า
ราชประชาสมาสัยเป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบการเมืองไทย ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการทางการเมืองและสังคมไทย
เนื่องจากบทความของชัยอนันต์ตีพิมพ์พอดีกับการตั้ง "สภาสนามม้า" ทำให้มีการนำคำนี้ไปใช้อธิบาย "สภาสนามม้า" ด้วย แต่ถ้าอ่าน text ของชัยอนันต์ดีๆ จะเห็นว่า ข้อเสนอของชัยอนันต์ ยังวางอยู่บนพื้นฐาน ที่ให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้เลือก วุฒิสมาชิก ที่ องคมนตรี เสนอรายชื่อมา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการมี ส.ส.แต่งตั้งทั้งหมดของ "สภาสนามม้า"

(รายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ จะอยู่ในบทความเรื่อง "สมัชชาแห่งชาติ 2516 หรือ วิธีทำรัฐประหารโดยไม่ให้คนรู้ตัว" ของผม ซึ่งยังไม่เสร็จเรียบร้อย

ส่วนคำว่า "เอนกนิกรสโมสรสมมุติ" แปลว่า บรรดาพลเมืองทั้งปวงมารวมกันแล้วตั้งกษัตริย์ ผู้เสนอเรื่องนี้ อ้างว่า กษัตริย์ของไทย เป็น เอนกนิกรฯ คือ พลเมืองพร้อมใจยอมรับให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจปกครองเหนือพลเมืองเอง (คือเป็น "ประชาธิปไตย" อย่างหนึ่ง)





ราชประชาสมาสัย
ชัยอนันต์ สมุทวณิช
(สยามรัฐ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๖ เน้นคำ ตัวหนาและตัวเอน ตามต้นฉบับ ผมแก้การพิมพ์ผิดบางแห่งให้)


การที่ระบบการเมืองไทยขาดรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมานานเป็นสาเหตุให้มีผู้พยายามเสนอวิธีการใหม่ๆหลายอย่างที่จะสร้างเสริมฐานะของรัฐบาล ให้รับผิดชอบต่อปวงชนโดยสมบูรณ์ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นต้น ความระส่ำระสายในวงการเมือง ความไม่มั่นคงของพรรคการเมือง ความไม่รับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การแผ่อำนาจเกินขอบเขตของผู้บริหารและระบบราชการ ล้วนแต่มีส่วนทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในการเมืองเป็นส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่า สถาบันทางการเมืองในปัจจุบันไม่อาจทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะเชื่อมโยงและสะท้อนถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้

การเมืองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนในชาติ แต่วงการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาได้ถูกจำกัดให้เป็นเวทีที่บุคคลและกลุ่มบุคคลเพียงจำนวนน้อยผลัดเปลี่ยนกันแย่งชิงอำนาจ และฉกผลประโยชน์ของประชาชนตลอดมา ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันให้อยู่นอกวงการเมือง ๔๐ กว่าปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งไม่กี่ครั้ง แต่ละครั้ง จบลงด้วยการยึดอำนาจของทหารตามอำเภอใจ ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนฝากชีวิตไว้ทำความผิดหวังให้ผู้เลือก พรรคการเมืองเป็นแต่เพียงการรวมกลุ่มกันตามแบบพิธีการของบุคคลผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน

ผลที่ตามมาจากสภาพการเหล่านี้ได้แก่ ความท้อแท้ สิ้นหวัง สิ้นศรัทธาในระบบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ประชาชนเริ่มถามตัวเองว่าเราได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้มีศักดิ์ มีสิทธิ์ และเสรีภาพโดยสมบูรณ์จริงหรือไม่ ในขณะที่สถาบันการเมืองแบบใหม่เสื่อมลงเป็นลำดับ สถาบันดั้งเดิมที่ถูกล้มล้างอำนาจอันเด็ดขาดไปได้พยายามปรับปรุงบทบาทให้เหมาะสมกับสภาพการที่เปลี่ยนไปทีละน้อยๆ ในขณะที่ศรัทธาของประชาชนในรัฐสภา พรรคการเมือง รัฐบาล และระบบราชการลดน้อยถอยลง พลังของประชาชน ความหวังใหม่ได้มุ่งไปสู่สถาบันเก่าแก่ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน

สถาบันกษัตริย์กลายเป็นทางเลือกของบุคคลจำนวนมาก ประชาชนทุกระดับเริ่มเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์มีบทบาททางการเมืองยิ่งขึ้น ในเวลาที่รัฐบาลห่างเหินประชาชน พระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นทุกขณะ แม้ว่าเสียงเรียกร้องจะมีมากมายที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นก็ตาม การเข้ารับเป็นฉนวนปกป้องราษฎรจากการขยายอำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาล ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นพลังการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างแท้จริง มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา

ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นจุดสุดยอดของการสั่งสมบารมีดังกล่าว และการเข้ารับภารกิจในการนำประเทศโดยตรง ด้วยการทรงเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก จึงเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนโดยทั่วไป

โดยเหตุที่ประชาชนขาดศรัทธาในสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ความหวังของประชาชนจึงมุ่งตรงมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงแห่งเดียว ด้วยความปรารถนาที่จะมอบพระราชอำนาจที่มีต่อระบบการเมืองมากขึ้น หลายคนมีความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะช่วยให้การเมืองไทยในอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่

ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญควรให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดตามพระราชอัธยาศัย เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพรรคการเมือง ถ้าจะให้สภาสูงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสภาแห่งเหตุผลและช่วยประคับประคองสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ควรให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกแห่งสภานั้น ในทำนองเดียวกัน ก็มีผู้แสดงความห่วงใยด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริงที่ว่าความคิดดังกล่าว หากนำมาปฏิบัติแล้วอาจเป็นการนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมือง

ความคิดทั้งสองประการนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ซึ่งเป็นทางสายกลาง เราอาจเรียกวิธีการหรือระบบใหม่นี้ว่า ราชประชาสมาสัย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร

ระบบใหม่นี้ใช้เฉพาะวุฒิสภา โดยคณะองคมนตรีซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย จะเป็นผู้เลือกสรรบุคคลจากอาชีพต่างๆ ที่มีคุณธรรม ความสามารถจำนวนหนึ่ง และเสนอรายชื่อบุคคลเหล่านี้ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกอีกชั้นหนึ่ง จำนวนบุคคลที่องคมนตรีเสนอไปนี้จะมีมากกว่าที่จะต้องได้รับเลือก อาจเป็น ๓ เท่า (วุฒิสภามีจำนวน ๑๐๐ คน คณะองคมนตรีจะเสนอชื่อไป ๓๐๐ ชื่อ) เมื่อสภาผู้แทนฯเลือกแล้ว ประธานสภาจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาต่อไป

วิธีการเช่นนี้มีผลดีหลายประการ และจะทำให้วุฒิสภามีคุณสมบัติตามที่ประชาชนต้องการ คือ

๑. วุฒิสภาจะประกอบด้วยบุคคลจากอาชีพต่างๆที่มีคุณธรรม ความสามารถ และไม่ฝักใฝ่กับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ

๒. เปิดโอกาสให้บุคคลจากกลุ่มอาชีพที่เสียเปรียบในสังคมแต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญ เช่น ชาวนา ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในรัฐสภา

๓. การที่คณะองคมนตรี เสนอรายชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก เท่ากับทำให้วุฒิสภาได้รับอาณัติจากปวงชนโดยทางอ้อม และก่อให้เกิดความชอบธรรมในการปฏิบัติงาน

๔. การที่คณะองคมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เลือกวุฒิสมาชิก จะทำให้ผู้ได้รับเลือกระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และมุ่งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ราชประชาสมาสัยเป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบการเมืองไทย ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการทางการเมืองและสังคมไทย

Friday, February 02, 2007

จอน, ใจ และ กลุ่ม "เวที" กำลัง "โหนดาบปลายปืน" คณะรัฐประหาร

(2 กุมภาพันธ์ 2550)



ต่อเนื่องจาก กระทู้นี้


จอน, ใจ, FTA Watch มูลนิธิกระจกเงา และ อื่นๆ ที่รวมกันเป็น "เวทีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" กำลังอาศัยดาบปลายปืนของคณะรัฐประหาร เพื่อผลักดันความเห็นของพวกตนเอง

(ดูรายงานการแถลงข่าวของกลุ่ม "เวที" ที่ ประชาไท)

ไม่ว่าพวกเขาจะคิดว่า ตัวเองกำลังทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" และ "ประชาชน" เพียงใด (นี่คือ มายาคติใหญ่ ฺBig Self-Delusion ที่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ แชร์ร่วมกัน และมักจะอ้างเสมอๆในหลายปีที่ผ่านมา) แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำ ในทางปฏิบัติคือ การอาศัยดาบปลายปืนของคณะรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญเก่าและรัฐบาลเก่าที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยชอบธรรมลงไปก่อน แล้วผลักดันสิ่งที่เป็นทัศนะของกลุ่มตัวเอง... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากความจริงทีว่า ส่วนใหญ่ของพวกเขา ไม่เคยใช้พลังงานของตนกับการประนามคัดค้านการรัฐประหาร หรือ ในขณะนี้เอง ก็ไม่ได้มีท่าทีอย่างเด็ดขาดในการประนามรัฐประหารต่อสาธารณะ...

วิธีการ "โหน" หรือ "ฉวยโอกาส" ทางการเมือง ในลักษณะนี้ ออกจะชวนให้รู้สึกผะอืดผะอมในปากชอบกล...

ข้อสงสัยถึง ใจ อึ๊งภากรณ์ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน"

(1 กุมภาพันธ์ 2550)



ผมหวังว่าจะสามารถเขียนถึงสถานการณ์ของกลุ่มต่างๆที่ประกาศ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร ในเร็วๆนี้ หลังจากได้สังเกตการณ์ฟังการชุมนุมปราศรัยของกลุ่มต่างๆ (และการแสดงท่าทีทางสื่ออื่นๆ) ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา (ไม่ค่อยมีเวลาจริงๆช่วงนี้ ขออภัย) โดยเฉพาะทีน่าสนใจ (ในความรู้สึกของผม) คือ สถานการณ์ที่ดูเหมือนว่า เฉพาะกล่มที่จัดชุมนุมสาธารณะ ขณะนี้ กลุ่ม "พิราบขาว" ซึ่งประกาศ "จับมือ" อย่างเป็นทางการ กับกลุ่ม "คนวันเสาร์" จะเริ่มมีความ "แข้มแข็ง" กว่ากลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" (ซึ่งดูคล้ายจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในตอนแรก) ... แต่เฉพาะหน้า เท่าที่มีเวลาเล็กน้อย ผมอยากตั้งคำถามบางอย่างถึงกลุ่ม "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" และ ใจ อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล่าสุด ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เวทีประชาธิปไตยประชาชน" (เว็บไซต์ "ไทยพูด") ซึ่งเตรียมจัดกิจกรรมร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับทางเลือกของประชาชน" โดยมี ใจและ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" ของเขา เข้าร่วมด้วย (ดูรายชื่อจากเว็บไซต์)

ข้อสงสัยคือ ในเมื่อใจ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" ได้ประกาศตัวในระยะแรกหลังรัฐประหาร ประณามคัดค้านการรัฐประหารอย่างเด็ดขาดไม่มีเงื่อนไข เหตุไฉน จึงเข้าร่วมกิจกรรมกับ "เวที" ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย แอ๊กติวิสต์ที่แม้โดย "ทางการ" จะแสดงความ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร แต่ในทางเป็นจริง ทั้งการพูด การเขียน และการปฏิบัติ ล้วนแต่ออกมาในลักษณะที่ "เข้าใจ" หรือ ยอมรับความชอบธรรม ของรัฐประหาร อย่างชัดเจน ("ไม่มีทางเลือก", "ต้องคิดถึงว่าทักษิณเลวร้ายมาก รัฐประหารจึงไม่ถึงกับแย่ไปหมด เพราะกำจัดทักษิณ" ฯลฯ) ไม่เพียงแต่ตัว จอน อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นผู้ประสานงานของ "เวที" เท่านั้น แต่ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ผู้ที่เรียกตัวว่า "ครป." ซึ่งก็คือ สุริยใส กตะศิลา หรือกลุ่มอื่นๆอีกหลายกลุ่ม

ใจ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" จะอธิบาย จังหวะก้าวนี้อย่างไร?

สืบเนื่องจากฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร : ธงชัย กับ "2 ไม่เอา" และการคิดเชิงยุทธวิธี

(21 มกราคม 2550)



ในหน้า 36 เชิงอรรถที่ 3 ธงชัย เขียนว่า (การเน้นคำของผม):
ในทุกระบอบประชาธิปไตย การเรียกร้องให้ผู้นำลาออกเป็นสิ่งทำได้เป็นปรกติ ตราบเท่าที่ใช้วิธีการตามระบบและกฎหมายโดยไม่มีการใช้อำนาจเถื่อนนอกระบบ ในระหว่างนั้นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งย่อมมีความชอบธรรมตามกฎหมาย นี่คือความหมายของการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ในทัศนะของผู้เขียน มิได้หมายถึงไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ความเห็นที่ว่าการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ เป็นการเมืองไร้เดียงสา หรือเป็น ‘รอยัลลิสต์ง แบบ ‘ฉวยโอกาส’ เพราะเป็นการช่วยพวกรอยัลลิสต์ทางอ้อมและปูทางแก่การรัฐประหารนั้น (ดูข้อถกเถียงเรื่องใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปัญญาชน 14 ตุลา พันธมิตร และแอ๊กติวิสต์ ‘2 ไม่เอา’,” หน้า 382-430) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการใช้ตรรกะและทัศนะตีขลุมแบบเดียวกันกับพวกที่เห็นว่าคนที่ต่อต้านพันธมิตรฯ และต่อต้านรัฐประหารในเวลาต่อมาเป็นพวกทักษิณและฉวยโอกาสเพราะเป็นการหนุนทักษิณทางอ้อมและปูทางแก่การกลับมาของทักษิณ การ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ไม่ใช่เป็นการไร้เดียงสาหรือฉวยโอกาสเลย แต่ เพราะปฏิเสธที่จะเล่นการเมืองเป็นแค่เกมแบบนั้นไม่ว่าในแง่หลักคิดหรือ timing ในช่วงวิกฤตการณ์ น่าคิดด้วยว่าทั้งสองฟากต่างหากที่เป็นการเมืองแบบ ‘ฉวยโอกาส’ ตัวจริง
เมื่อผมอ่านข้อความนี้ครั้งแรก ปฏิกิริยาผมคือ

"อ้าว! นึกว่างานธงชัยที่เขียนอยู่นี่ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองประเทศไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสียอีก แล้วไหงดันมาอ้างว่า ในระบอบประชาธิปไตย การเสนอให้ผู้นำออกจากตำแหน่ง “เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปรกติ”?

โอเค ยังงั้นก็ได้ ทำไมธงชัยไม่ทำอย่างปรกติในระบอบประชาธิปไตย บอกหน่อยว่า ใครบ้างที่เขาอยาก "ไม่เอา"?

ระบุชื่อออกมาให้หมดเลยนะตอนนี้

ทำไม่ได้ใช่ไหมล่ะ?

ไม่ว่าธงชัยหรือผมหรือใครก็ไม่กล้า (หรือไม่บ้า) พอจะระบุชื่อ "ไม่เอา" คนที่เราอยากจะ "ไม่เอา" แบบเดียวกับที่ระบุชื่อทักษิณหรอก

(footnote: อันนี้ น่าสังเกตว่า แม้แต่คำขวัญ "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" นี่ก็มีส่วนของการ "ซ่อนเร้น" บางอย่างเหมือนกัน ใช่ คนจำนวนหนึ่ง "ไม่เอานายกฯพระราชทาน" เท่านั้น แต่คนอีกไม่น้อย - ธงชัยหรือผมเองเป็นต้น - ถ้าทำได้ คงระบุชื่อคนอื่นลงไปด้วยแล้ว)

การไม่ยอมระบุออกมาตรงๆตอนนี้ว่า ใครบ้างที่คุณอยากจะ "ไม่เอา" นี่ไม่ใช่การคิดในเชิง "timing" หรือในเชิงยุทธวิธีของธงชัยหรือ? อย่ามาทำเป็นดัดจริตว่าตัวเองคิดกว้างและยาวกว่าคนอื่น คนอื่นคิดเพียงแค่สั้นๆหรือตื้นๆหน่อยเลยครับ ไม่มีใคร โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย ที่ไม่ใช่ประเทศเสรีประชาธิปไตย เวลาผลิต political discourse จะสามารถยืนยันเรื่องสิทธิ “ปรกติ” ตาม "หลักการ" ระบอบประชาธิปไตยได้จริงๆหรอก เราต้องคิดในเชิงเวลาโอกาส และยุทธวิธีทั้งนั้นแหละ (และนีคือประเด็นทั้งหมดของการต่อสู้ในหลายสิบปีนี้แหละ คือทำให้ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตยจริงๆ ที่ทุกคนสามารถคิดและพูด-เขียนสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้จริงๆอย่างเสรี - ไอเดียเรื่อง freedom of thought and conscience, freedom of expression)

ประโยคตอนท้ายที่กล่าวหาว่าผมคิดสั้นๆแบบเชิงยุทธวิธี (“เล่นการเมืองเป็นแค่เกม”) นั้น แท้ที่จริง จึงเป็นการปกปิดหรือปฏิเสธความจริง ของความผิดพลาดของการคิดเชิงยุทธวิธีของธงชัยเอง

ปีที่แล้ว สนธิ ลิ้มทองกุลฉวยโอกาสความไม่พอใจกระทันหันของประชาชนเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษีของทักษิณ ปลุกการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อโค่นทักษิณที่ตัวเขามี agenda ของตัวเองมานานแล้ว ภายใต้การ "ชุธงเหลือง" อย่างขนาดใหญ่ ธงชัยคัดค้านการชูธงเหลือง คัดค้าน discourse เรื่อง "ขายชาติ" (ให้สิงคโปร์) ของสนธิ-พันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการเน้นเรื่องเงินเรื่องคอร์รัปชั่น .. แต่กระนั้น ธงชัยกลับสนับสนุนให้ถือโอกาสที่สนธิปลุกมวลชนขึ้นมาได้นั้น ร่วมการโค่นทักษิณด้วย แม้จะเสนอให้รณรงค์คนละอย่าง เช่น ล่ารายชื่อ ฟ้องศาล และ NO VOTE (การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ของนักศึกษาเป็นผลสะเทือนมาจากข้อเสนอนี้ไม่น้อย) นี่ไม่ใช่การคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing หรือ? นี่แหละคือประเด็นข้อวิจารณ์ของผมเรื่องการ "ฉวยโอากส" แหละ (ถ้าพูดตามภาษาวัยรุ่นที่ชอบใช้กันคือ "โหนกระแส") ผมวิจารณ์ตั้งแต่ตอนนั้นว่า การตัดสินใจ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" เช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด ธงชัยและหลายคนก็ยังยืนกรานว่า จะต้องเข้าร่วม โดยชูคำขวัญประเภท "2 ไม่เอา" ดังที่รู้กัน ในความเห็นของผม นี่เป็นความ arrogance หรือหลงตัวเองอย่างหนักของคนเหล่านี้ คือทั้งๆที่ตัวเองไม่มี candidate ของตัวเอง ในที่สุดก็เพียงแต่เป็นการไปช่วยหนุนกระแสโค่นทักษิณ ปูทางให้กับการรัฐประหารเท่านั้น

นี่เป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีที่ร้ายแรงทางประวัติศาสตร์

ถึงตอนนี้ ฟ้าเดียวกัน หรือธงชัย หรือคนอื่นๆ พากันมาโจมตีวิพากษ์พันธมิตร แต่ขณะที่มีโอกาส จะหยุดยั้งพวกนี้ กลับไม่พยายามทำ กลับอาศัยกระแสที่พวกนี้ก่อขึ้น "โหน" การแอนตี้ทักษิณตามไปด้วย นิธิเอง อย่างที่รู้กันดีแล้ว ถึงขนาดจงใจไม่พูดอะไรที่จะทำให้พันธมิตรอ่อนกำลัง ต่างจากนิธิ ธงชัยยังวิจารณ์พันธมิตรตั้งแต่ระยะแรกในระดับ private แต่ตอนแรกการวิจารณ์นี้แม้ใน private ก็อยู่ในระดับน้อยมาก (ต้องให้ผมพูดอีกครั้งหรือว่า ตอนที่ผมเสนอว่า สนนท.ควรถอนตัวออกมา ธงชัยกลับเสนอว่า ผม going too far? - ว่าแต่ว่า นี่ไม่ใช่การคิดเชิง timing ของธงชัยเองหรือ?) เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการบอยคอตของฝ่ายค้าน ที่หนุนโดยการรณรงค์ NO VOTE ของนศ.ที่ธงชัยสนับสนุน ประสบความสำเร็จในการสร้าง "ทางตัน" ทางการเมือง กระทั่งเริ่มมีการ "แทรกแซงจากเบื้องบน" มากขึ้นๆ ธงชัยมีท่าที critical ต่อพันธมิตรโดยเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการสนับสนุนเรื่อง ม.7 และ "ตุลาการภิวัฒน์" (แต่ต้องให้ผมย้ำหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ ธงชัยยืนยันว่า มีวิธีอื่นเอาทักษิณออก และเจาะจงยกเรื่องฟ้องศาลขึ้นมาเสนอ ราวกับว่าศาลเป็นอะไรที่ "พึ่งได้" หรือ "เป็นกลาง" ยังงั้นแหละ พอศาลถูก "คนอื่น" ใช้เป็นเครื่องมือจริงๆ ธงชัยกลับออกมาเขียนวิจารณ์ โดยไม่ยอมถามตัวเองว่า แล้วข้อเสนอทีตัวเองให้ใช้การฟ้องศาลเล่นงานทักษิณก่อนหน้านั้นมันเข้าท่าหรือ) ถึงกระนั้น ท่าทีของเขาต่อกระแสที่สนธิ-พันธมิตรก่อขึ้นก็ยังคงเป็นการ "โหน" ตามไปด้วยโดยพื้นฐาน เพราะเขายังยืนกรานในคำขวัญ "2 ไม่เอา" ดังกล่าว (ไม่ต้องนับเรื่องที่ว่า ถึงตอนนั้น หลายอยางสายเกินไปแล้ว เช่น เรื่อง รณรงค์ NO VOTE) คือ ยืนยันว่าจะต้องเอาทักษิณออกให้ได้ในขณะนั้น โดยไม่เคยบอกได้เลยว่า ถ้าเอาทักษิณออก แต่ไม่เอา "นายกฯพระราชทาน" แล้วจะเอาใคร ถึงขั้นที่จุดหนึ่ง เขาเสนอข้อเสนอที่ ridiculous มากๆว่า ให้ สส.คนเดียวของ พรรคมหาชน เป็นนายกฯ

ผมยังยืนยันว่า นี่เป็นความผิดพลาด เป็นการ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" ที่ไม่ควรจะ "โหน" ไปด้วย

อันที่จริง ถ้าทุกคนพร้อมใจกัน บอกมวลชนตั้งแต่แรกๆว่า กระแสแอนตี้ทักษิณที่นำโดยสนธิ-พันธมิตรเวลานั้น เป็นกระแสที่ผิด เป็นการนำไปสู่การยึดอำนาจของ "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เพราะรัฐบาลขณะนั้น ยังได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีแต่อาศัย "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น ที่จะเอาออกได้ (Thaksin's infamous 'whisper') ถ้าทำเช่นนี้ จะสลายกำลังของพันธมิตรฯได้หรือไม่? และหยุดยั้งสถานการณ์ได้หรือไม่? ไม่มีใครบอกได้ แต่การไม่ทำ มาจากความคิดเรื่องอื่น มาจากความหลงตัวเองว่า ในขณะนั้น นอกจาก 2 ทางนี้ ยังมีทางอื่น ทั้งๆที่พวกตัวเองก็บอกไม่ได้คือทางอะไร ไม่ต้องพูดถึงการละเมิด "หลักการ" ของตัวเองที่ว่า "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" เพราะพวกคุณย่อมรู้ดีว่า เลือกตั้งต้องได้ใครเป็นนายกฯ คุณก็ยังยืนกรานว่า "ไม่เอา" คือ ปากก็พูดว่า เคารพประชาชน (ไม่เหมือนสนธิ-พันธมิตร) แต่เวลารณรงค์จริงๆ ก็ไม่แสดงความเคารพต่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย


สรุปแล้ว ธงชัยคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing อยู่ตลอดเวลาเหมือนกับทุกๆคนนั่นแหละ แต่ชอบปฏิเสธ และนำเสนอว่าตัวเองคิด "ลึก" และ "ยาว" กว่า (อันที่จริง ถ้าคิดได้ "ลึก" จริงๆ ควรจะบอกได้แต่แรกว่า ถ้า "2 ไม่เอา" แล้วจะเอาอะไร? แต่นี่คิดสั้นๆเพียงแค่เสนอ "ไม่เอา" ไว้ก่อน โดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา) การคิดแบบยุทธวฺธี แต่นำเสนอ่ว่าไม่ใช่คิดแบบยุทธวิธีนี้ก็เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ เขาวิจารณ์ผมที่ออกมาด่าใครต่อใครที่เขาชื่นชม โดยเขากล่าวว่า ชีวิตมีมากกว่าเรื่องการเมือง (ดูตัวอย่างกรณีที่เขาออกมา defend จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น) ทั้งๆที่ โดยตัวข้อเสนอแบบนี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง คือการบอกว่า "มีมากกว่าเรื่องการเมือง" ในบริบทนั้น เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง (เขากำลัง defend จอน ทางการเมือง)

แหม พูดเรื่องนี้แล้วไม่อยากแซวเลยว่า ชวนให้รู้สึกความ irony ของหน้าปกฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหารที่เขียนว่า 2006 the year in denial .. this is not a coup

อ่านธงชัยแล้วอยากเพิ่มเข้าไปว่า this is not a tactical thinking

"เรื่องเก่า" : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กับ "พลังแผ่นดิน"

(13 มกราคม 2550)



ผมมี "เรื่องเก่า" ที่อยากพูดถึงสั้นๆเรื่องหนึ่ง เนื่องจาก วันก่อนผม search เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ "พลังแผ่นดิน" แล้วไป "สะดุด" พบบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมตกใจ เสียใจ และผิดหวังมาก ผมยกเรื่องนี้มาพูด นอกจากความน่าสนใจเกี่ยวกับบทความดังกล่าวเองแล้ว ยังเพราะว่าเจ้าของบทความนี้ เป็นหนึ่งในผู้เขียนของ ฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร 19 กันยา ที่กำลังจะเปิดตัวในวันศุกร์นี้ด้วย

บทความที่ว่าคือ "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ : บททดลองเสนอ" ของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน คม ชัด ลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และ โอเพ่นออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่อีกทางเว็บไซต์ไม่กี่วันต่อมา (ดูที่นี่ หรือฉบับ printer friendly ที่นี่)

ความจริง ผมแปลกใจไม่น้อยที่ตัวเองตกหล่นไม่เห็นบทความนี้เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก แต่ที่ผมตกใจและเสียใจอย่างยิ่งคือ ในบทความนี้ พิชญ์ได้เสนอความคิดของ Habermas เกี่ยวกับ deliberative democracy ซึ่งเขาแปลว่า "ประชาธิปไตยแบบ" ผมไม่มีปัญหาในนำเสนอเรื่องนี้ แต่ที่ชวนให้ตกใจ คือ ในการนำเสนอความคิดเรื่องนี้ จู่ๆ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พิชญ์ เลือกที่จะ "แทรก" คำๆหนึ่งเข้ามาด้วย คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" นี่คือประโยคสำคัญที่ พิชญ์ "แทรก" คำนี้เข้ามาในการนำเสนอ Habermas
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ “พลเมือง” ซึ่งได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะมารวมกันปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” (หมายถึง ความเห็นของพลเมือง และเจตนารมณ์ของพลเมือง = will) ทั้งนี้การปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” นี้มิได้วางอยู่บนเรื่องการ “แข่งขัน” ทางการเมือง หรือการ “เชื่อฟัง” เสียงส่วนใหญ่ และรัฐ เพียงเท่านั้น
ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่คำที่ Habermas ใช้อย่างแน่นอน การที่พิชญ์ จงใจใช้คำนี้ในบริบทของการแนะนำความคิดของ Habermas เรื่อง deliberative democracy โดยเฉพาะในย่อหน้าที่เพิ่งยกมานี้ เป็นการใช้แบบ "มั่วเข้ามา" (arbitrary) ให้ความรู้สึกเกือบจะเป็นการ "ไม่ให้ความเคารพ" ต่อผู้เขียนเดิมคือ Habermas อย่างยิ่ง (โดยไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของ Habermas ในขบวนการภูมิปัญญาร่วมสมัย) เป็นการใช้ที่กล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นฐานหรือความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะใช้ ไม่มีคำอธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเลยว่าทำไมต้องใช้คำนี้ (พิชญ์ใช้คำนี้ในบทความถึง 9 ครั้ง)

ขอให้สังเกตด้วยว่า "นิยาม" ของคำนี้ของพิชญ์ในวงเล็บในย่อหน้าข้างต้น เรื่อง "เจนารมณ์ของพลเมือง" หรือ will ก็ไม่ใกล้เคียงเลยกับการที่จะแปลว่า "พลังแผ่นดิน"

มองได้อย่างเดียวว่านี่เป็นการใช้ทางการเมือง เป็นการ associate คำนี้ เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย

นี่เป็น BAD JUDGEMENT อย่างยิ่ง

คำนี้ ในประเทศไทย มีความหมายที่แน่นอน ที่ทุกคนรู้ดี

การที่พิชญ์ assciate คำนี้เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย เป็นการ "อ่อนข้อ" ให้กับกระแสสังคม หรือ "จิตสำนึกร่วมสมัย" ที่ปัญญาชนนักวิชาการปัจจุบัน (ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 14 ตุลา") ช่วยกันสร้างขึ้น ซึ่งเพิกเฉยละเลยต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์

มิหนำซ้ำ ในบทความ พิชญ์ยังได้นำเสนอเรื่องนี้ คือไม่เพียงแต่ไอเดียเรื่อง deliberative democracy แต่คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" ในลักษณะวิพากษ์การเลือกตั้งด้วย ("...'พลังแผ่นดิน' จากการปรึกษาหารือจึงไม่ใช่ 'ฉันทามติ' ที่รัฐบาลนำไปใช้ 'อ้างได้ตลอดเวลา' ว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเรียบร้อยแล้ว ด้วย 'จำนวน' อาทิ 19 ล้านเสียง...")

ผมจะไม่พูดซ้ำโดยละเอียดอีก แต่ขอยืนยันอย่างสั้นๆว่า การวิจารณ์การเลือกตั้ง (และนักการเมืองที่อ้างการเลือกตั้ง) ในบริบทสังคมไทยซึ่งรัฐส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ที่อยู่บนพื้นฐานกดขี่บังคับ มอบเมา เหยียบย่ำมนุษย์) มีอำนาจอย่างมหาศาล โดยที่คนวิจารณ์เองไม่เคยมีท่าทีคัดค้านอย่างจริงจัง พูดง่ายๆคือ แสดงความพร้อมที่จะ "ทนอย่างหน้าชื่น" (ถ้าไม่เชียร์เลยด้วยซ้ำ) นั้น เป็นอะไรบางอย่างที่ วิปริต (perverse) อย่างยิ่ง

สำหรับผม การนำเสนอคำว่า "พลังแผ่นดิน" ของพิชญ์ในบทความนี้ (ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องการเมือง) เป็นเรื่องน่าตกใจและเสียใจ เพราะผมคิดไม่ถึงว่าคนที่ highly intelligent อย่างพิชญ์ จะเขียนเช่นนี้ได้ แต่นี่ก็สะท้อนให้เห็น (ในทัศนะของผม) ถึงขอบเขตอันกว้างขวางของการ "อ่อนข้อ" เช่นนี้ในหมู่ปัญญาชนปัจจุบัน


(หมายเหตุ: ดูปฏิกิริยาของ พิชญ์ ต่อกระทู้นี้ได้ที่นี่)

เหตุใด ชัยวัฒน์ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้าง “ข้อกังขาทางศีลธรรม”

(12 มกราคม 2550)



ในบทความเรื่อง “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร 19 กันยา” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร ‘19 กันยา’ ” ใน รัฐประหาร 19 กันยา (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 152-185) ได้พยายามอีกครั้งที่จะอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงมีท่าทีแบบหน่อมแน้มกับรัฐประหารครั้งนี้นัก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ เขานำเสนอตัวเองว่าอยู่ในภาวะที่มี “ปมปริศนา” หรือ “ข้อกังขาทางศีลธรรม” นั่นคือ ด้านหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยกำลัง สร้างแบบอย่างให้สังคมยอมรับการใช้กำลัง blah blah blah (“เพราะผลที่เกิดขึ้นของวิธีการที่เลือกใช้ต่อสังคมไทยโดยรวม ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสนทนา พูดจา และใช้เหตุผลนั้นมีข้อจำกัด และที่สุดก็ต้องยอมรับการขู่ว่าจะใช้ หรือการใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหาของบ้านเมือง”) แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็ “เข้าใจ” เหตุผลของฝ่ายที่ทำรัฐประหารและคนที่สนับสนุน หรือถ้ายืมคำที่เขาใช้ในบทความก่อนหน้านี้ (2) คือ เขายอมรับว่ารัฐประหารนี้เป็นการกระทำ for a good cause (ทำเรื่องที่ดี)*

(* ผมขอหมายเหตุประเด็นหนึ่งแต่จะไม่อภิปรายต่อโดยละเอียดเพราะไม่จำเป็น คือ วิธีนำเสนอของชัยวัฒน์นี้ อันที่จริงเท่ากับว่าเขาเองยอมรับส่วนที่เป็นข้ออ้างของคณะรัฐประหารทั้งหมด หมายถึงเหตุผลที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงข้ออ้างอย่าง "ความแตกแยกในสังคมไทย" และ "การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ข้อกังขาของเขาไม่เกี่ยวกับข้ออ้างเหล่านี้ ซึ่งเขายอมรับ แต่เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ คือ ใช้กำลังรัฐประหาร)

เขานำเสนอตัวเองว่า ไม่เหมือนคนอีก 2 พวกที่ไม่มีข้อกังขาทางศีลธรรมแบบนี้ เพราะพวกแรก "ชัดเจนว่าตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเห็นว่าเหตุผลต่างๆ ที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาเป็นข้ออ้างล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น" กับอีกพวกหนึ่งที่ "ชัดเจนว่าตนเห็นด้วยกับการรัฐประหารและรับเหตุผลของฝ่ายก่อรัฐประหารได้อย่างไม่กังขา"

ผมเห็นว่า ถ้าเราถือว่าบทความนี้ของชัยวัฒน์เป็นความจริง คือเขามีท่าทีหน่อมแน้มเพราะ "ข้อกังขาทางศีลธรรม" ดังกล่าว ก็หมายความว่า ที่ผ่านมาในระยะไม่นานนี้เอง เขาได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) ครั้งใหญ่ และก่อนหน้านั้น ในชีวิตทางวิชาการของเขา เขาก็ได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) อย่างมโหฬารเช่นกัน (หรือมิเช่นนั้น เราก็ต้องถือว่า บทความนี้เป็นเพียงการพยายามแก้ตัวแบบห่วยๆ ให้กับความขาดความกล้าหาญในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือบอกว่าเชื่อในอดีต)

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ในขณะที่วิกฤตการประท้วงรัฐบาลกำลังตึงเครียดอย่างสูง และผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 มาเป็นข้ออ้าง ให้พระมหากษัตริย์ตั้งนายกฯ ใหม่ นั่นคือให้ทำรัฐประหารเงียบล้มรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการประสานเสียงจาก นสพ. สภาทนายความ นักวิชาการใหญ่ๆ จนกลายเป็นกระแสเสียงที่ดังสนั่นมากๆ ชัยวัฒน์กับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคน (เกษียร, รังสรรค์, สุวินัย เป็นต้น มีสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากเชียงใหม่ลงชื่อด้วย) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ขึ้นหัวว่า "ยืนหยัดสันติวิธีและประชาธิปไตยโดยประชาชน คัดค้านความรุนแรงและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ"

ในบรรยากาศที่นายกฯ พระราชทาน กำลังเป็น “น้ำเชี่ยวกราก” นับว่าเป็นการกระทำที่สำคัญไม่น้อย (แต่ดังที่ผมวิจารณ์ไปในตอนนั้นว่าความจริงเนื้อหาของแถลงการณ์ยังไม่เพียงพอ ควรระบุชัดเจนว่า คัดค้านนายกฯ พระราชทานหรือนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ เนื้อหาจริงๆ ของแถลงการณ์ เป็นการหนุนการเคลื่อนไหวโค่นทักษิณของ “พันธมิตร” ต่อไป (ทั้งๆ ที่ “พันธมิตร” ชูประเด็นนายกฯ พระราชทาน คือให้ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั่นเอง) มีเฉพาะหัวข้อของแถลงการณ์เท่านั้นที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นการคัดค้านนายกฯ พระราชทาน บางคนเช่นธงชัยวิจารณ์ผมกลับว่า ผมเรียกร้องมากไป ผมยืนกรานในขณะนั้น - และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้พิสูจน์ความถูกต้องของการยืนกรานนี้ - ว่า ในบริบทที่เป็นอยู่ การเขียนเช่นนั้นไม่เพียงพอ และผิดพลาดอย่างยิ่ง)

โปรดสังเกตว่า ไม่มีที่ใดในแถลงการณ์นี้เลย ที่ชัยวัฒน์จะกล่าวว่า "ข้าพเจ้าคัดค้านการใช้กำลัง และอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่หากการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อเรื่องที่ดี (for a good cause) ข้าพเจ้าก็จะขอมีข้อกังขา ขอถอนคำคัดค้านนี้" นั่นคือ ไม่มีตรงไหนเลยที่ชัยวัฒน์บอกว่า การคัดค้านการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนี้ เป็นไป อย่างมีเงื่อนไข ดังกล่าว

(ในแถลงการณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การยืนหยัดในวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธี แม้จะไม่นำมาซึ่งชัยชนะเฉพาะหน้านั้น ย่อมมีคุณค่าเหนือกว่าการบรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้า ซึ่งได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และนำไปสู่การสูญเสีย” ขอให้เปรียบเทียบกับน้ำเสียงของชัยวัฒน์ตอนนี้ ในแถลงการณ์มีน้ำเสียงของความ “กังขา” อยู่หรือ?)

ขอให้สังเกตด้วยว่า ข้ออ้างของพวกที่เสนอให้ใช้ “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” ในเดือนมีนาคม กับข้ออ้างของคณะรัฐประหาร 19 กันยาไม่ต่างกันเลย ("รัฐบาลทักษิณเลว ไม่มีทางอื่นที่จะเอาออกได้ ต้องขอให้กษัตริย์หรือทหารทำรัฐประหาร") ชัยวัฒน์ก็กล้าที่จะประกาศว่า "คัดค้าน" การเสนอเช่นนั้น ไม่ได้พูดเลยว่า "แต่ข้าพเจ้าเข้าใจ..." และไม่ได้ออกแถลงการณ์มาว่า "ข้าพเจ้ามีข้อกังขา ด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่สามารถเห็นด้วยได้กับการให้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกที่เรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี...."

(ผมขอหมายเหตุด้วยว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ ใช้วิจารณ์พวกที่ลงชื่อได้ทุกคน รังสรรค์ เกษียร สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่เมื่อหลังรัฐประหารต่างพากัน "หายหน้า" ไปหมด ไม่เคยมีแถลงการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ออกมาประณามคัดค้านการรัฐประหาร จากคนเหล่านี้เลย แม้แต่ฉบับเดียว)

กรณีชัยวัฒน์ ที่แย่กว่าคนอื่นๆ ที่ลงชื่อในแถลงการณ์นี้คือ ดังที่รู้กันทั่วประเทศไทย ตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการของเขา เขาเป็นผู้ที่ออกมาชู "สันติวิธี" คัดค้านการแก้ปัญหาด้วยกำลัง-ความรุนแรง

ถ้าบทความล่าสุดนี้เป็นความจริง คือเขาเกิด "ข้อกังขา" ขึ้นมาจากการรัฐประหารครั้งนี้ ก็แสดงว่าตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ชัยวัฒน์โกหก หรือหลอกชาวบ้านชาวเมือง (และ/หรือ ตัวเอง) อย่างมโหฬารมาโดยตลอด

เพราะตลอดกว่า 20 ปีนี้ ไม่มีเลยที่เขาจะพูดว่า การชู "สันติวิธี" ของเขา ทำไป "อย่างมีเงื่อนไข" ว่า ถ้ามีการกระทำใด (อย่างรัฐประหารครั้งนี้) ที่ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี ("กำจัดรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ฯลฯ) เขาก็จะขออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถชู "สันติวิธี" อย่างเข้มแข็งเหมือนที่เขาพูดๆ อยู่นั้นได้

ไม่มีเลยที่เขาบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า "สันติวิธี" และการไม่ใช้ความรุนแรงที่เขาชักชวนให้ใครต่อใครเห็นด้วยนั้น เมื่อถึงเวลาเกิดความรุนแรงจริงๆ ต้องขอดูข้ออ้างและเป้าหมายที่ใช้ความรุนแรงนั้นดูก่อนด้วย

ที่แย่กว่านั้น ก็ดังที่รู้กันด้วยว่า เขาไม่เพียงเสนอเรื่อง "สันติวิธี" ยังเสนอเรื่องการขัดขืนที่ไม่ใช้ความรุนแรงด้วย ("อารยะขัดขืน") เขาไม่เคยบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า ที่เสนอนี้มีเงื่อนไข ถ้าเกิดรัฐประหารแบบที่เกิด (“for a good cause”) เขาก็ขอเงียบเป็นเป่าสากเรื่องการขัดขืน และขอยืนอยู่ข้างๆ ทำตัวเป็นนักปรัชญาที่มี "ข้อกังขาทางศีลธรรม" แทน


“อริสโตเติล” กับ รัฐประหาร 19 กันยา?

ครึ่งหนึ่งของบทความของชัยวัฒน์ (จากหน้า 159 ถึงหน้า 167) แทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐประหาร 19 กันยา เป็นการอภิปรายการตีความความหมายของ politics ของอริสโตเติล โดยโวเกลิน กับ สเตราส์ (ส่วนใหญ่เป็นเพียงการสรุปความเห็นของ 2 คนหลังนี้ ไม่ใช่การอภิปรายงานของอริสโตเติลโดยตรงดังที่ชื่อบทความชวนให้คิดด้วยซ้ำ) การที่รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์หรือไม่ใช่ศาสตร์ หรือการมีภาวะลำบากเชิงศีลธรรมในค่ายกักกันนาซี ไม่สามารถใช้สนับสนุนจุดยืนของชัยวัฒน์ในกรณีรัฐประหาร 19 กันยาได้โดยตรง และชัยวัฒน์เองไม่ได้ให้คำอภิปรายที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้กับท่าทีของตนอย่างแท้จริง ประเด็นที่ถูกเรียกด้วยภาษาสวยๆ ขลังๆ อย่าง “การไม่ลงตัวทางศีลธรรม” หรือ “ราคาของการตัดสินใจทางการเมือง” ที่พูดถึงตอนท้ายของบทความ เหมือนกับการแสดงท่าทีต่อรัฐประหารของเขาอย่างไร? (หรือถ้าประเด็นนี้มีส่วนเกี่ยวข้องจริง จะอธิบายท่าทีอย่างแถลงการณ์ 23 มีนาคม หรือการชู “สันติวิธี-อารยะขัดขืน” ในอดีตของเขา ดังที่อภิปรายข้างต้นอย่างไร?) ส่วนนี้ทั้งหมด - คือส่วนใหญ่ของบทความ - ให้ความรู้สึกว่า นี่เป็นเหมือนเครื่องประดับราคาแพงๆ ที่บรรดาผู้ดีใช้ใส่อวดกันในงานเลี้ยงหรูๆ เท่านั้น (พูดภาษาชาวบ้านคือ “ดัดจริต”)

(strategy ของชัยวัฒน์ในบทความนี้คือ ใช้สมบัติซึ่งท่าทีต่อการรัฐประหารยิ่งแย่กว่าเขาเสียอีก [ดูข้างล่าง] เป็นคู่สนทนา เพื่อเน้นด้านที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการรัฐประหารของเขาเอง [สมบัติตั้งคำถามการแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับรัฐประหารของชัยวัฒน์] เขาไม่กล้าที่จะถกเถียงกับคำวิจารณ์ด้านที่เขาแสดงท่าทีอ่อนข้อให้กับการรัฐประหารในประเด็นเรื่องความรุนแรง [“รัฐประหารที่ทำไปอย่างไม่รุนแรง”] และการสนับสนุน [“เข้าใจ”] ข้ออ้างรัฐประหารของเขา)


ปัจฉิมลิขิต

ในบทความของชัยวัฒน์ ได้อ้างบทความของสมบัติ จันทรวงศ์ หลายตอน ในต้นฉบับบทความของชัยวัฒน์ที่ผมอ่าน ไม่มีบทความฉบับเต็มของสมบัติอยู่ด้วย (4) แต่เท่าที่อ่านจากการสรุปอย่างกว้างขวางของชัยวัฒน์ บอกได้เพียงว่า ถ้อยคำบางตอนที่สมบัติใช้ในการแก้ต่างให้กับรัฐประหารตามที่ชัยวัฒน์ยกมา (ถ้อยคำแบบนิยายน้ำเน่า melodramatic ประเภท “กองทหารซึ่งใช้ในวันที่ 19 กันยา เป็นปฏิกิริยาของสังคมประชาธิปไตยต่อรัฐบาลซึ่งมีปัญหา” หรือ “democratic means has nothing to do when a democratic society is fighting for its survival - ไม่มีที่ทางสำหรับวิธีการประชาธิปไตยในเวลาที่สังคมประชาธิปไตยต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด” กระทั่งดูเหมือนจะเปรียบเทียบสถานการณ์ทักษิณ กับความยากลำบากของยิวในค่ายกักกันนาซี) เกือบจะทำให้ผมอาเจียนออกมาจริงๆ ผมสงสัยอย่างเศร้าใจมากๆ ว่า ทำไมนะคณะรัฐศาสตร์ ทั้งที่นี่และจุฬาฯ (กรณีไชยันต์ ไชยพร ก่อนหน้านี้) จึงมีหลายนักวิชาการที่เก่งแต่นำเสนอตัวเองว่าเป็น "นักปรัชญาการเมือง" พูดอ้างกรีกให้ฟังดูขลังๆ เพียงเพื่ออำพรางด้านที่ขี้ขลาดตาขาว ไม่มีหลักการของตัวเองอย่างสุดๆ (คือทำตัวเป็นแบบโสกราตีสจริงๆ ไม่ได้ ก็ขอพูดเรื่องโสกราตีสแบบคล่องปาก เพื่อให้คนอื่นและตัวเองหลงเชื่อว่าตัวเองเป็นเหมือนโสกราตีสก็ยังดี) ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่น่าสะอิดสะเอียน เหมือนกับเวลาฟังใครบางคนทำตัวเป็น "แบบอย่างทางจริยธรรม" นั่นแหละ (ในงานของ “นักปรัชญาการเมือง” อย่างสมบัติ ไม่เคยแตะต้องพูดถึง “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” เลย แม้แต่นิดเดียวอย่างจงใจ แต่กลับแสดงท่าทีสูงส่งทางจริยธรรมเมื่อพูดถึงนักการเมือง)

แล้วผมก็อดคิดต่อไม่ได้ว่า ยิ่งกว่านักวิชาการของคณะใดๆ ทั้งหมด นักวิชาการจำนวนมากของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ (ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย) ซึ่งอาศัยเครดิตของความเป็นผู้ที่ชาวบ้านหลงเชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านการเมืองและกฎหมาย ช่างทำตัวเป็นแบบอย่างของ “ข้าแผ่นดินผู้จงรักภักดี” เสียนี่กระไร อะไรที่เป็นไป “เพื่อในหลวง” (รัฐประหารครั้งนี้คืออะไรถ้าไม่ใช่การการกำจัด “รัฐบาลที่มีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ไปในทางหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”?) ก็พร้อมจะออกมาให้การสนับสนุน นำเสนอให้ดูดีไปได้หมด (หรือไม่ดูแย่จนเกินไป) ไม่ว่าในแง่การเมืองหรือกฎหมาย หรือมองอีกอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่อย่างประชดแบบเมื่อครู่) ก็ต้องบอกว่า นักวิชาการไทยที่ควรจะเป็น “เสาหลักทางภูมิปัญญา” ให้กับสังคมและประชาธิปไตยไทยมากที่สุด เพราะควรจะรู้เรื่องหลักการ-ความถูกผิดทางการเมืองและกฎหมายดีที่สุด กลับทำตัวได้แย่ที่สุด กว่านักวิชาการสาขาอื่นๆ