Friday, February 02, 2007

จอน, ใจ และ กลุ่ม "เวที" กำลัง "โหนดาบปลายปืน" คณะรัฐประหาร

(2 กุมภาพันธ์ 2550)



ต่อเนื่องจาก กระทู้นี้


จอน, ใจ, FTA Watch มูลนิธิกระจกเงา และ อื่นๆ ที่รวมกันเป็น "เวทีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" กำลังอาศัยดาบปลายปืนของคณะรัฐประหาร เพื่อผลักดันความเห็นของพวกตนเอง

(ดูรายงานการแถลงข่าวของกลุ่ม "เวที" ที่ ประชาไท)

ไม่ว่าพวกเขาจะคิดว่า ตัวเองกำลังทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" และ "ประชาชน" เพียงใด (นี่คือ มายาคติใหญ่ ฺBig Self-Delusion ที่ปัญญาชนแอ๊กติวิสต์ แชร์ร่วมกัน และมักจะอ้างเสมอๆในหลายปีที่ผ่านมา) แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำ ในทางปฏิบัติคือ การอาศัยดาบปลายปืนของคณะรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญเก่าและรัฐบาลเก่าที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยชอบธรรมลงไปก่อน แล้วผลักดันสิ่งที่เป็นทัศนะของกลุ่มตัวเอง... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากความจริงทีว่า ส่วนใหญ่ของพวกเขา ไม่เคยใช้พลังงานของตนกับการประนามคัดค้านการรัฐประหาร หรือ ในขณะนี้เอง ก็ไม่ได้มีท่าทีอย่างเด็ดขาดในการประนามรัฐประหารต่อสาธารณะ...

วิธีการ "โหน" หรือ "ฉวยโอกาส" ทางการเมือง ในลักษณะนี้ ออกจะชวนให้รู้สึกผะอืดผะอมในปากชอบกล...

ข้อสงสัยถึง ใจ อึ๊งภากรณ์ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน"

(1 กุมภาพันธ์ 2550)



ผมหวังว่าจะสามารถเขียนถึงสถานการณ์ของกลุ่มต่างๆที่ประกาศ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร ในเร็วๆนี้ หลังจากได้สังเกตการณ์ฟังการชุมนุมปราศรัยของกลุ่มต่างๆ (และการแสดงท่าทีทางสื่ออื่นๆ) ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา (ไม่ค่อยมีเวลาจริงๆช่วงนี้ ขออภัย) โดยเฉพาะทีน่าสนใจ (ในความรู้สึกของผม) คือ สถานการณ์ที่ดูเหมือนว่า เฉพาะกล่มที่จัดชุมนุมสาธารณะ ขณะนี้ กลุ่ม "พิราบขาว" ซึ่งประกาศ "จับมือ" อย่างเป็นทางการ กับกลุ่ม "คนวันเสาร์" จะเริ่มมีความ "แข้มแข็ง" กว่ากลุ่ม "เครือข่าย 19 กันยา" (ซึ่งดูคล้ายจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในตอนแรก) ... แต่เฉพาะหน้า เท่าที่มีเวลาเล็กน้อย ผมอยากตั้งคำถามบางอย่างถึงกลุ่ม "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" และ ใจ อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล่าสุด ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เวทีประชาธิปไตยประชาชน" (เว็บไซต์ "ไทยพูด") ซึ่งเตรียมจัดกิจกรรมร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับทางเลือกของประชาชน" โดยมี ใจและ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" ของเขา เข้าร่วมด้วย (ดูรายชื่อจากเว็บไซต์)

ข้อสงสัยคือ ในเมื่อใจ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" ได้ประกาศตัวในระยะแรกหลังรัฐประหาร ประณามคัดค้านการรัฐประหารอย่างเด็ดขาดไม่มีเงื่อนไข เหตุไฉน จึงเข้าร่วมกิจกรรมกับ "เวที" ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย แอ๊กติวิสต์ที่แม้โดย "ทางการ" จะแสดงความ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร แต่ในทางเป็นจริง ทั้งการพูด การเขียน และการปฏิบัติ ล้วนแต่ออกมาในลักษณะที่ "เข้าใจ" หรือ ยอมรับความชอบธรรม ของรัฐประหาร อย่างชัดเจน ("ไม่มีทางเลือก", "ต้องคิดถึงว่าทักษิณเลวร้ายมาก รัฐประหารจึงไม่ถึงกับแย่ไปหมด เพราะกำจัดทักษิณ" ฯลฯ) ไม่เพียงแต่ตัว จอน อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นผู้ประสานงานของ "เวที" เท่านั้น แต่ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ผู้ที่เรียกตัวว่า "ครป." ซึ่งก็คือ สุริยใส กตะศิลา หรือกลุ่มอื่นๆอีกหลายกลุ่ม

ใจ และ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" จะอธิบาย จังหวะก้าวนี้อย่างไร?

สืบเนื่องจากฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร : ธงชัย กับ "2 ไม่เอา" และการคิดเชิงยุทธวิธี

(21 มกราคม 2550)



ในหน้า 36 เชิงอรรถที่ 3 ธงชัย เขียนว่า (การเน้นคำของผม):
ในทุกระบอบประชาธิปไตย การเรียกร้องให้ผู้นำลาออกเป็นสิ่งทำได้เป็นปรกติ ตราบเท่าที่ใช้วิธีการตามระบบและกฎหมายโดยไม่มีการใช้อำนาจเถื่อนนอกระบบ ในระหว่างนั้นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งย่อมมีความชอบธรรมตามกฎหมาย นี่คือความหมายของการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ในทัศนะของผู้เขียน มิได้หมายถึงไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ความเห็นที่ว่าการ ‘ไม่เอาทักษิณ’ เป็นการเมืองไร้เดียงสา หรือเป็น ‘รอยัลลิสต์ง แบบ ‘ฉวยโอกาส’ เพราะเป็นการช่วยพวกรอยัลลิสต์ทางอ้อมและปูทางแก่การรัฐประหารนั้น (ดูข้อถกเถียงเรื่องใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปัญญาชน 14 ตุลา พันธมิตร และแอ๊กติวิสต์ ‘2 ไม่เอา’,” หน้า 382-430) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการใช้ตรรกะและทัศนะตีขลุมแบบเดียวกันกับพวกที่เห็นว่าคนที่ต่อต้านพันธมิตรฯ และต่อต้านรัฐประหารในเวลาต่อมาเป็นพวกทักษิณและฉวยโอกาสเพราะเป็นการหนุนทักษิณทางอ้อมและปูทางแก่การกลับมาของทักษิณ การ ‘ไม่เอาทักษิณ’ ไม่ใช่เป็นการไร้เดียงสาหรือฉวยโอกาสเลย แต่ เพราะปฏิเสธที่จะเล่นการเมืองเป็นแค่เกมแบบนั้นไม่ว่าในแง่หลักคิดหรือ timing ในช่วงวิกฤตการณ์ น่าคิดด้วยว่าทั้งสองฟากต่างหากที่เป็นการเมืองแบบ ‘ฉวยโอกาส’ ตัวจริง
เมื่อผมอ่านข้อความนี้ครั้งแรก ปฏิกิริยาผมคือ

"อ้าว! นึกว่างานธงชัยที่เขียนอยู่นี่ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองประเทศไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสียอีก แล้วไหงดันมาอ้างว่า ในระบอบประชาธิปไตย การเสนอให้ผู้นำออกจากตำแหน่ง “เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปรกติ”?

โอเค ยังงั้นก็ได้ ทำไมธงชัยไม่ทำอย่างปรกติในระบอบประชาธิปไตย บอกหน่อยว่า ใครบ้างที่เขาอยาก "ไม่เอา"?

ระบุชื่อออกมาให้หมดเลยนะตอนนี้

ทำไม่ได้ใช่ไหมล่ะ?

ไม่ว่าธงชัยหรือผมหรือใครก็ไม่กล้า (หรือไม่บ้า) พอจะระบุชื่อ "ไม่เอา" คนที่เราอยากจะ "ไม่เอา" แบบเดียวกับที่ระบุชื่อทักษิณหรอก

(footnote: อันนี้ น่าสังเกตว่า แม้แต่คำขวัญ "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอานายกฯพระราชทาน" นี่ก็มีส่วนของการ "ซ่อนเร้น" บางอย่างเหมือนกัน ใช่ คนจำนวนหนึ่ง "ไม่เอานายกฯพระราชทาน" เท่านั้น แต่คนอีกไม่น้อย - ธงชัยหรือผมเองเป็นต้น - ถ้าทำได้ คงระบุชื่อคนอื่นลงไปด้วยแล้ว)

การไม่ยอมระบุออกมาตรงๆตอนนี้ว่า ใครบ้างที่คุณอยากจะ "ไม่เอา" นี่ไม่ใช่การคิดในเชิง "timing" หรือในเชิงยุทธวิธีของธงชัยหรือ? อย่ามาทำเป็นดัดจริตว่าตัวเองคิดกว้างและยาวกว่าคนอื่น คนอื่นคิดเพียงแค่สั้นๆหรือตื้นๆหน่อยเลยครับ ไม่มีใคร โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย ที่ไม่ใช่ประเทศเสรีประชาธิปไตย เวลาผลิต political discourse จะสามารถยืนยันเรื่องสิทธิ “ปรกติ” ตาม "หลักการ" ระบอบประชาธิปไตยได้จริงๆหรอก เราต้องคิดในเชิงเวลาโอกาส และยุทธวิธีทั้งนั้นแหละ (และนีคือประเด็นทั้งหมดของการต่อสู้ในหลายสิบปีนี้แหละ คือทำให้ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตยจริงๆ ที่ทุกคนสามารถคิดและพูด-เขียนสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้จริงๆอย่างเสรี - ไอเดียเรื่อง freedom of thought and conscience, freedom of expression)

ประโยคตอนท้ายที่กล่าวหาว่าผมคิดสั้นๆแบบเชิงยุทธวิธี (“เล่นการเมืองเป็นแค่เกม”) นั้น แท้ที่จริง จึงเป็นการปกปิดหรือปฏิเสธความจริง ของความผิดพลาดของการคิดเชิงยุทธวิธีของธงชัยเอง

ปีที่แล้ว สนธิ ลิ้มทองกุลฉวยโอกาสความไม่พอใจกระทันหันของประชาชนเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษีของทักษิณ ปลุกการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อโค่นทักษิณที่ตัวเขามี agenda ของตัวเองมานานแล้ว ภายใต้การ "ชุธงเหลือง" อย่างขนาดใหญ่ ธงชัยคัดค้านการชูธงเหลือง คัดค้าน discourse เรื่อง "ขายชาติ" (ให้สิงคโปร์) ของสนธิ-พันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการเน้นเรื่องเงินเรื่องคอร์รัปชั่น .. แต่กระนั้น ธงชัยกลับสนับสนุนให้ถือโอกาสที่สนธิปลุกมวลชนขึ้นมาได้นั้น ร่วมการโค่นทักษิณด้วย แม้จะเสนอให้รณรงค์คนละอย่าง เช่น ล่ารายชื่อ ฟ้องศาล และ NO VOTE (การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ของนักศึกษาเป็นผลสะเทือนมาจากข้อเสนอนี้ไม่น้อย) นี่ไม่ใช่การคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing หรือ? นี่แหละคือประเด็นข้อวิจารณ์ของผมเรื่องการ "ฉวยโอากส" แหละ (ถ้าพูดตามภาษาวัยรุ่นที่ชอบใช้กันคือ "โหนกระแส") ผมวิจารณ์ตั้งแต่ตอนนั้นว่า การตัดสินใจ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" เช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด ธงชัยและหลายคนก็ยังยืนกรานว่า จะต้องเข้าร่วม โดยชูคำขวัญประเภท "2 ไม่เอา" ดังที่รู้กัน ในความเห็นของผม นี่เป็นความ arrogance หรือหลงตัวเองอย่างหนักของคนเหล่านี้ คือทั้งๆที่ตัวเองไม่มี candidate ของตัวเอง ในที่สุดก็เพียงแต่เป็นการไปช่วยหนุนกระแสโค่นทักษิณ ปูทางให้กับการรัฐประหารเท่านั้น

นี่เป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีที่ร้ายแรงทางประวัติศาสตร์

ถึงตอนนี้ ฟ้าเดียวกัน หรือธงชัย หรือคนอื่นๆ พากันมาโจมตีวิพากษ์พันธมิตร แต่ขณะที่มีโอกาส จะหยุดยั้งพวกนี้ กลับไม่พยายามทำ กลับอาศัยกระแสที่พวกนี้ก่อขึ้น "โหน" การแอนตี้ทักษิณตามไปด้วย นิธิเอง อย่างที่รู้กันดีแล้ว ถึงขนาดจงใจไม่พูดอะไรที่จะทำให้พันธมิตรอ่อนกำลัง ต่างจากนิธิ ธงชัยยังวิจารณ์พันธมิตรตั้งแต่ระยะแรกในระดับ private แต่ตอนแรกการวิจารณ์นี้แม้ใน private ก็อยู่ในระดับน้อยมาก (ต้องให้ผมพูดอีกครั้งหรือว่า ตอนที่ผมเสนอว่า สนนท.ควรถอนตัวออกมา ธงชัยกลับเสนอว่า ผม going too far? - ว่าแต่ว่า นี่ไม่ใช่การคิดเชิง timing ของธงชัยเองหรือ?) เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการบอยคอตของฝ่ายค้าน ที่หนุนโดยการรณรงค์ NO VOTE ของนศ.ที่ธงชัยสนับสนุน ประสบความสำเร็จในการสร้าง "ทางตัน" ทางการเมือง กระทั่งเริ่มมีการ "แทรกแซงจากเบื้องบน" มากขึ้นๆ ธงชัยมีท่าที critical ต่อพันธมิตรโดยเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการสนับสนุนเรื่อง ม.7 และ "ตุลาการภิวัฒน์" (แต่ต้องให้ผมย้ำหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ ธงชัยยืนยันว่า มีวิธีอื่นเอาทักษิณออก และเจาะจงยกเรื่องฟ้องศาลขึ้นมาเสนอ ราวกับว่าศาลเป็นอะไรที่ "พึ่งได้" หรือ "เป็นกลาง" ยังงั้นแหละ พอศาลถูก "คนอื่น" ใช้เป็นเครื่องมือจริงๆ ธงชัยกลับออกมาเขียนวิจารณ์ โดยไม่ยอมถามตัวเองว่า แล้วข้อเสนอทีตัวเองให้ใช้การฟ้องศาลเล่นงานทักษิณก่อนหน้านั้นมันเข้าท่าหรือ) ถึงกระนั้น ท่าทีของเขาต่อกระแสที่สนธิ-พันธมิตรก่อขึ้นก็ยังคงเป็นการ "โหน" ตามไปด้วยโดยพื้นฐาน เพราะเขายังยืนกรานในคำขวัญ "2 ไม่เอา" ดังกล่าว (ไม่ต้องนับเรื่องที่ว่า ถึงตอนนั้น หลายอยางสายเกินไปแล้ว เช่น เรื่อง รณรงค์ NO VOTE) คือ ยืนยันว่าจะต้องเอาทักษิณออกให้ได้ในขณะนั้น โดยไม่เคยบอกได้เลยว่า ถ้าเอาทักษิณออก แต่ไม่เอา "นายกฯพระราชทาน" แล้วจะเอาใคร ถึงขั้นที่จุดหนึ่ง เขาเสนอข้อเสนอที่ ridiculous มากๆว่า ให้ สส.คนเดียวของ พรรคมหาชน เป็นนายกฯ

ผมยังยืนยันว่า นี่เป็นความผิดพลาด เป็นการ "ฉวยโอกาส" หรือ "โหนกระแส" ที่ไม่ควรจะ "โหน" ไปด้วย

อันที่จริง ถ้าทุกคนพร้อมใจกัน บอกมวลชนตั้งแต่แรกๆว่า กระแสแอนตี้ทักษิณที่นำโดยสนธิ-พันธมิตรเวลานั้น เป็นกระแสที่ผิด เป็นการนำไปสู่การยึดอำนาจของ "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เพราะรัฐบาลขณะนั้น ยังได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีแต่อาศัย "อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น ที่จะเอาออกได้ (Thaksin's infamous 'whisper') ถ้าทำเช่นนี้ จะสลายกำลังของพันธมิตรฯได้หรือไม่? และหยุดยั้งสถานการณ์ได้หรือไม่? ไม่มีใครบอกได้ แต่การไม่ทำ มาจากความคิดเรื่องอื่น มาจากความหลงตัวเองว่า ในขณะนั้น นอกจาก 2 ทางนี้ ยังมีทางอื่น ทั้งๆที่พวกตัวเองก็บอกไม่ได้คือทางอะไร ไม่ต้องพูดถึงการละเมิด "หลักการ" ของตัวเองที่ว่า "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" เพราะพวกคุณย่อมรู้ดีว่า เลือกตั้งต้องได้ใครเป็นนายกฯ คุณก็ยังยืนกรานว่า "ไม่เอา" คือ ปากก็พูดว่า เคารพประชาชน (ไม่เหมือนสนธิ-พันธมิตร) แต่เวลารณรงค์จริงๆ ก็ไม่แสดงความเคารพต่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย


สรุปแล้ว ธงชัยคิดในเชิงยุทธวิธี ในเชิง timing อยู่ตลอดเวลาเหมือนกับทุกๆคนนั่นแหละ แต่ชอบปฏิเสธ และนำเสนอว่าตัวเองคิด "ลึก" และ "ยาว" กว่า (อันที่จริง ถ้าคิดได้ "ลึก" จริงๆ ควรจะบอกได้แต่แรกว่า ถ้า "2 ไม่เอา" แล้วจะเอาอะไร? แต่นี่คิดสั้นๆเพียงแค่เสนอ "ไม่เอา" ไว้ก่อน โดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา) การคิดแบบยุทธวฺธี แต่นำเสนอ่ว่าไม่ใช่คิดแบบยุทธวิธีนี้ก็เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ เขาวิจารณ์ผมที่ออกมาด่าใครต่อใครที่เขาชื่นชม โดยเขากล่าวว่า ชีวิตมีมากกว่าเรื่องการเมือง (ดูตัวอย่างกรณีที่เขาออกมา defend จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น) ทั้งๆที่ โดยตัวข้อเสนอแบบนี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง คือการบอกว่า "มีมากกว่าเรื่องการเมือง" ในบริบทนั้น เป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง (เขากำลัง defend จอน ทางการเมือง)

แหม พูดเรื่องนี้แล้วไม่อยากแซวเลยว่า ชวนให้รู้สึกความ irony ของหน้าปกฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหารที่เขียนว่า 2006 the year in denial .. this is not a coup

อ่านธงชัยแล้วอยากเพิ่มเข้าไปว่า this is not a tactical thinking

"เรื่องเก่า" : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กับ "พลังแผ่นดิน"

(13 มกราคม 2550)



ผมมี "เรื่องเก่า" ที่อยากพูดถึงสั้นๆเรื่องหนึ่ง เนื่องจาก วันก่อนผม search เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ "พลังแผ่นดิน" แล้วไป "สะดุด" พบบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมตกใจ เสียใจ และผิดหวังมาก ผมยกเรื่องนี้มาพูด นอกจากความน่าสนใจเกี่ยวกับบทความดังกล่าวเองแล้ว ยังเพราะว่าเจ้าของบทความนี้ เป็นหนึ่งในผู้เขียนของ ฟ้าเดียวกันฉบับรัฐประหาร 19 กันยา ที่กำลังจะเปิดตัวในวันศุกร์นี้ด้วย

บทความที่ว่าคือ "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ : บททดลองเสนอ" ของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน คม ชัด ลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และ โอเพ่นออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่อีกทางเว็บไซต์ไม่กี่วันต่อมา (ดูที่นี่ หรือฉบับ printer friendly ที่นี่)

ความจริง ผมแปลกใจไม่น้อยที่ตัวเองตกหล่นไม่เห็นบทความนี้เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก แต่ที่ผมตกใจและเสียใจอย่างยิ่งคือ ในบทความนี้ พิชญ์ได้เสนอความคิดของ Habermas เกี่ยวกับ deliberative democracy ซึ่งเขาแปลว่า "ประชาธิปไตยแบบ" ผมไม่มีปัญหาในนำเสนอเรื่องนี้ แต่ที่ชวนให้ตกใจ คือ ในการนำเสนอความคิดเรื่องนี้ จู่ๆ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พิชญ์ เลือกที่จะ "แทรก" คำๆหนึ่งเข้ามาด้วย คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" นี่คือประโยคสำคัญที่ พิชญ์ "แทรก" คำนี้เข้ามาในการนำเสนอ Habermas
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ “พลเมือง” ซึ่งได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะมารวมกันปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” (หมายถึง ความเห็นของพลเมือง และเจตนารมณ์ของพลเมือง = will) ทั้งนี้การปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่ง “พลังแผ่นดิน” นี้มิได้วางอยู่บนเรื่องการ “แข่งขัน” ทางการเมือง หรือการ “เชื่อฟัง” เสียงส่วนใหญ่ และรัฐ เพียงเท่านั้น
ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่คำที่ Habermas ใช้อย่างแน่นอน การที่พิชญ์ จงใจใช้คำนี้ในบริบทของการแนะนำความคิดของ Habermas เรื่อง deliberative democracy โดยเฉพาะในย่อหน้าที่เพิ่งยกมานี้ เป็นการใช้แบบ "มั่วเข้ามา" (arbitrary) ให้ความรู้สึกเกือบจะเป็นการ "ไม่ให้ความเคารพ" ต่อผู้เขียนเดิมคือ Habermas อย่างยิ่ง (โดยไม่ต้องพูดถึงความสำคัญของ Habermas ในขบวนการภูมิปัญญาร่วมสมัย) เป็นการใช้ที่กล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นฐานหรือความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะใช้ ไม่มีคำอธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเลยว่าทำไมต้องใช้คำนี้ (พิชญ์ใช้คำนี้ในบทความถึง 9 ครั้ง)

ขอให้สังเกตด้วยว่า "นิยาม" ของคำนี้ของพิชญ์ในวงเล็บในย่อหน้าข้างต้น เรื่อง "เจนารมณ์ของพลเมือง" หรือ will ก็ไม่ใกล้เคียงเลยกับการที่จะแปลว่า "พลังแผ่นดิน"

มองได้อย่างเดียวว่านี่เป็นการใช้ทางการเมือง เป็นการ associate คำนี้ เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย

นี่เป็น BAD JUDGEMENT อย่างยิ่ง

คำนี้ ในประเทศไทย มีความหมายที่แน่นอน ที่ทุกคนรู้ดี

การที่พิชญ์ assciate คำนี้เข้ากับไอเดียประชาธิปไตย เป็นการ "อ่อนข้อ" ให้กับกระแสสังคม หรือ "จิตสำนึกร่วมสมัย" ที่ปัญญาชนนักวิชาการปัจจุบัน (ที่ผมเรียกว่า "ปัญญาชน 14 ตุลา") ช่วยกันสร้างขึ้น ซึ่งเพิกเฉยละเลยต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์

มิหนำซ้ำ ในบทความ พิชญ์ยังได้นำเสนอเรื่องนี้ คือไม่เพียงแต่ไอเดียเรื่อง deliberative democracy แต่คือคำว่า "พลังแผ่นดิน" ในลักษณะวิพากษ์การเลือกตั้งด้วย ("...'พลังแผ่นดิน' จากการปรึกษาหารือจึงไม่ใช่ 'ฉันทามติ' ที่รัฐบาลนำไปใช้ 'อ้างได้ตลอดเวลา' ว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเรียบร้อยแล้ว ด้วย 'จำนวน' อาทิ 19 ล้านเสียง...")

ผมจะไม่พูดซ้ำโดยละเอียดอีก แต่ขอยืนยันอย่างสั้นๆว่า การวิจารณ์การเลือกตั้ง (และนักการเมืองที่อ้างการเลือกตั้ง) ในบริบทสังคมไทยซึ่งรัฐส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ที่อยู่บนพื้นฐานกดขี่บังคับ มอบเมา เหยียบย่ำมนุษย์) มีอำนาจอย่างมหาศาล โดยที่คนวิจารณ์เองไม่เคยมีท่าทีคัดค้านอย่างจริงจัง พูดง่ายๆคือ แสดงความพร้อมที่จะ "ทนอย่างหน้าชื่น" (ถ้าไม่เชียร์เลยด้วยซ้ำ) นั้น เป็นอะไรบางอย่างที่ วิปริต (perverse) อย่างยิ่ง

สำหรับผม การนำเสนอคำว่า "พลังแผ่นดิน" ของพิชญ์ในบทความนี้ (ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องการเมือง) เป็นเรื่องน่าตกใจและเสียใจ เพราะผมคิดไม่ถึงว่าคนที่ highly intelligent อย่างพิชญ์ จะเขียนเช่นนี้ได้ แต่นี่ก็สะท้อนให้เห็น (ในทัศนะของผม) ถึงขอบเขตอันกว้างขวางของการ "อ่อนข้อ" เช่นนี้ในหมู่ปัญญาชนปัจจุบัน


(หมายเหตุ: ดูปฏิกิริยาของ พิชญ์ ต่อกระทู้นี้ได้ที่นี่)

เหตุใด ชัยวัฒน์ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้าง “ข้อกังขาทางศีลธรรม”

(12 มกราคม 2550)



ในบทความเรื่อง “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร 19 กันยา” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “อริสโตเติล กับ รัฐประหาร ‘19 กันยา’ ” ใน รัฐประหาร 19 กันยา (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 152-185) ได้พยายามอีกครั้งที่จะอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงมีท่าทีแบบหน่อมแน้มกับรัฐประหารครั้งนี้นัก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ เขานำเสนอตัวเองว่าอยู่ในภาวะที่มี “ปมปริศนา” หรือ “ข้อกังขาทางศีลธรรม” นั่นคือ ด้านหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยกำลัง สร้างแบบอย่างให้สังคมยอมรับการใช้กำลัง blah blah blah (“เพราะผลที่เกิดขึ้นของวิธีการที่เลือกใช้ต่อสังคมไทยโดยรวม ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสนทนา พูดจา และใช้เหตุผลนั้นมีข้อจำกัด และที่สุดก็ต้องยอมรับการขู่ว่าจะใช้ หรือการใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหาของบ้านเมือง”) แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็ “เข้าใจ” เหตุผลของฝ่ายที่ทำรัฐประหารและคนที่สนับสนุน หรือถ้ายืมคำที่เขาใช้ในบทความก่อนหน้านี้ (2) คือ เขายอมรับว่ารัฐประหารนี้เป็นการกระทำ for a good cause (ทำเรื่องที่ดี)*

(* ผมขอหมายเหตุประเด็นหนึ่งแต่จะไม่อภิปรายต่อโดยละเอียดเพราะไม่จำเป็น คือ วิธีนำเสนอของชัยวัฒน์นี้ อันที่จริงเท่ากับว่าเขาเองยอมรับส่วนที่เป็นข้ออ้างของคณะรัฐประหารทั้งหมด หมายถึงเหตุผลที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงข้ออ้างอย่าง "ความแตกแยกในสังคมไทย" และ "การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ข้อกังขาของเขาไม่เกี่ยวกับข้ออ้างเหล่านี้ ซึ่งเขายอมรับ แต่เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ คือ ใช้กำลังรัฐประหาร)

เขานำเสนอตัวเองว่า ไม่เหมือนคนอีก 2 พวกที่ไม่มีข้อกังขาทางศีลธรรมแบบนี้ เพราะพวกแรก "ชัดเจนว่าตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเห็นว่าเหตุผลต่างๆ ที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาเป็นข้ออ้างล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น" กับอีกพวกหนึ่งที่ "ชัดเจนว่าตนเห็นด้วยกับการรัฐประหารและรับเหตุผลของฝ่ายก่อรัฐประหารได้อย่างไม่กังขา"

ผมเห็นว่า ถ้าเราถือว่าบทความนี้ของชัยวัฒน์เป็นความจริง คือเขามีท่าทีหน่อมแน้มเพราะ "ข้อกังขาทางศีลธรรม" ดังกล่าว ก็หมายความว่า ที่ผ่านมาในระยะไม่นานนี้เอง เขาได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) ครั้งใหญ่ และก่อนหน้านั้น ในชีวิตทางวิชาการของเขา เขาก็ได้โกหกต่อสาธารณะ (และ/หรือ ต่อตัวเอง) อย่างมโหฬารเช่นกัน (หรือมิเช่นนั้น เราก็ต้องถือว่า บทความนี้เป็นเพียงการพยายามแก้ตัวแบบห่วยๆ ให้กับความขาดความกล้าหาญในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือบอกว่าเชื่อในอดีต)

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ในขณะที่วิกฤตการประท้วงรัฐบาลกำลังตึงเครียดอย่างสูง และผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 มาเป็นข้ออ้าง ให้พระมหากษัตริย์ตั้งนายกฯ ใหม่ นั่นคือให้ทำรัฐประหารเงียบล้มรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการประสานเสียงจาก นสพ. สภาทนายความ นักวิชาการใหญ่ๆ จนกลายเป็นกระแสเสียงที่ดังสนั่นมากๆ ชัยวัฒน์กับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคน (เกษียร, รังสรรค์, สุวินัย เป็นต้น มีสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากเชียงใหม่ลงชื่อด้วย) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ขึ้นหัวว่า "ยืนหยัดสันติวิธีและประชาธิปไตยโดยประชาชน คัดค้านความรุนแรงและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ"

ในบรรยากาศที่นายกฯ พระราชทาน กำลังเป็น “น้ำเชี่ยวกราก” นับว่าเป็นการกระทำที่สำคัญไม่น้อย (แต่ดังที่ผมวิจารณ์ไปในตอนนั้นว่าความจริงเนื้อหาของแถลงการณ์ยังไม่เพียงพอ ควรระบุชัดเจนว่า คัดค้านนายกฯ พระราชทานหรือนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ เนื้อหาจริงๆ ของแถลงการณ์ เป็นการหนุนการเคลื่อนไหวโค่นทักษิณของ “พันธมิตร” ต่อไป (ทั้งๆ ที่ “พันธมิตร” ชูประเด็นนายกฯ พระราชทาน คือให้ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั่นเอง) มีเฉพาะหัวข้อของแถลงการณ์เท่านั้นที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นการคัดค้านนายกฯ พระราชทาน บางคนเช่นธงชัยวิจารณ์ผมกลับว่า ผมเรียกร้องมากไป ผมยืนกรานในขณะนั้น - และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้พิสูจน์ความถูกต้องของการยืนกรานนี้ - ว่า ในบริบทที่เป็นอยู่ การเขียนเช่นนั้นไม่เพียงพอ และผิดพลาดอย่างยิ่ง)

โปรดสังเกตว่า ไม่มีที่ใดในแถลงการณ์นี้เลย ที่ชัยวัฒน์จะกล่าวว่า "ข้าพเจ้าคัดค้านการใช้กำลัง และอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่หากการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อเรื่องที่ดี (for a good cause) ข้าพเจ้าก็จะขอมีข้อกังขา ขอถอนคำคัดค้านนี้" นั่นคือ ไม่มีตรงไหนเลยที่ชัยวัฒน์บอกว่า การคัดค้านการใช้กำลังและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญนี้ เป็นไป อย่างมีเงื่อนไข ดังกล่าว

(ในแถลงการณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การยืนหยัดในวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธี แม้จะไม่นำมาซึ่งชัยชนะเฉพาะหน้านั้น ย่อมมีคุณค่าเหนือกว่าการบรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้า ซึ่งได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และนำไปสู่การสูญเสีย” ขอให้เปรียบเทียบกับน้ำเสียงของชัยวัฒน์ตอนนี้ ในแถลงการณ์มีน้ำเสียงของความ “กังขา” อยู่หรือ?)

ขอให้สังเกตด้วยว่า ข้ออ้างของพวกที่เสนอให้ใช้ “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” ในเดือนมีนาคม กับข้ออ้างของคณะรัฐประหาร 19 กันยาไม่ต่างกันเลย ("รัฐบาลทักษิณเลว ไม่มีทางอื่นที่จะเอาออกได้ ต้องขอให้กษัตริย์หรือทหารทำรัฐประหาร") ชัยวัฒน์ก็กล้าที่จะประกาศว่า "คัดค้าน" การเสนอเช่นนั้น ไม่ได้พูดเลยว่า "แต่ข้าพเจ้าเข้าใจ..." และไม่ได้ออกแถลงการณ์มาว่า "ข้าพเจ้ามีข้อกังขา ด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่สามารถเห็นด้วยได้กับการให้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกที่เรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี...."

(ผมขอหมายเหตุด้วยว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ ใช้วิจารณ์พวกที่ลงชื่อได้ทุกคน รังสรรค์ เกษียร สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่เมื่อหลังรัฐประหารต่างพากัน "หายหน้า" ไปหมด ไม่เคยมีแถลงการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ออกมาประณามคัดค้านการรัฐประหาร จากคนเหล่านี้เลย แม้แต่ฉบับเดียว)

กรณีชัยวัฒน์ ที่แย่กว่าคนอื่นๆ ที่ลงชื่อในแถลงการณ์นี้คือ ดังที่รู้กันทั่วประเทศไทย ตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการของเขา เขาเป็นผู้ที่ออกมาชู "สันติวิธี" คัดค้านการแก้ปัญหาด้วยกำลัง-ความรุนแรง

ถ้าบทความล่าสุดนี้เป็นความจริง คือเขาเกิด "ข้อกังขา" ขึ้นมาจากการรัฐประหารครั้งนี้ ก็แสดงว่าตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ชัยวัฒน์โกหก หรือหลอกชาวบ้านชาวเมือง (และ/หรือ ตัวเอง) อย่างมโหฬารมาโดยตลอด

เพราะตลอดกว่า 20 ปีนี้ ไม่มีเลยที่เขาจะพูดว่า การชู "สันติวิธี" ของเขา ทำไป "อย่างมีเงื่อนไข" ว่า ถ้ามีการกระทำใด (อย่างรัฐประหารครั้งนี้) ที่ทำไปเพื่อเรื่องที่ดี ("กำจัดรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ฯลฯ) เขาก็จะขออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถชู "สันติวิธี" อย่างเข้มแข็งเหมือนที่เขาพูดๆ อยู่นั้นได้

ไม่มีเลยที่เขาบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า "สันติวิธี" และการไม่ใช้ความรุนแรงที่เขาชักชวนให้ใครต่อใครเห็นด้วยนั้น เมื่อถึงเวลาเกิดความรุนแรงจริงๆ ต้องขอดูข้ออ้างและเป้าหมายที่ใช้ความรุนแรงนั้นดูก่อนด้วย

ที่แย่กว่านั้น ก็ดังที่รู้กันด้วยว่า เขาไม่เพียงเสนอเรื่อง "สันติวิธี" ยังเสนอเรื่องการขัดขืนที่ไม่ใช้ความรุนแรงด้วย ("อารยะขัดขืน") เขาไม่เคยบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า ที่เสนอนี้มีเงื่อนไข ถ้าเกิดรัฐประหารแบบที่เกิด (“for a good cause”) เขาก็ขอเงียบเป็นเป่าสากเรื่องการขัดขืน และขอยืนอยู่ข้างๆ ทำตัวเป็นนักปรัชญาที่มี "ข้อกังขาทางศีลธรรม" แทน


“อริสโตเติล” กับ รัฐประหาร 19 กันยา?

ครึ่งหนึ่งของบทความของชัยวัฒน์ (จากหน้า 159 ถึงหน้า 167) แทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐประหาร 19 กันยา เป็นการอภิปรายการตีความความหมายของ politics ของอริสโตเติล โดยโวเกลิน กับ สเตราส์ (ส่วนใหญ่เป็นเพียงการสรุปความเห็นของ 2 คนหลังนี้ ไม่ใช่การอภิปรายงานของอริสโตเติลโดยตรงดังที่ชื่อบทความชวนให้คิดด้วยซ้ำ) การที่รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์หรือไม่ใช่ศาสตร์ หรือการมีภาวะลำบากเชิงศีลธรรมในค่ายกักกันนาซี ไม่สามารถใช้สนับสนุนจุดยืนของชัยวัฒน์ในกรณีรัฐประหาร 19 กันยาได้โดยตรง และชัยวัฒน์เองไม่ได้ให้คำอภิปรายที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้กับท่าทีของตนอย่างแท้จริง ประเด็นที่ถูกเรียกด้วยภาษาสวยๆ ขลังๆ อย่าง “การไม่ลงตัวทางศีลธรรม” หรือ “ราคาของการตัดสินใจทางการเมือง” ที่พูดถึงตอนท้ายของบทความ เหมือนกับการแสดงท่าทีต่อรัฐประหารของเขาอย่างไร? (หรือถ้าประเด็นนี้มีส่วนเกี่ยวข้องจริง จะอธิบายท่าทีอย่างแถลงการณ์ 23 มีนาคม หรือการชู “สันติวิธี-อารยะขัดขืน” ในอดีตของเขา ดังที่อภิปรายข้างต้นอย่างไร?) ส่วนนี้ทั้งหมด - คือส่วนใหญ่ของบทความ - ให้ความรู้สึกว่า นี่เป็นเหมือนเครื่องประดับราคาแพงๆ ที่บรรดาผู้ดีใช้ใส่อวดกันในงานเลี้ยงหรูๆ เท่านั้น (พูดภาษาชาวบ้านคือ “ดัดจริต”)

(strategy ของชัยวัฒน์ในบทความนี้คือ ใช้สมบัติซึ่งท่าทีต่อการรัฐประหารยิ่งแย่กว่าเขาเสียอีก [ดูข้างล่าง] เป็นคู่สนทนา เพื่อเน้นด้านที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการรัฐประหารของเขาเอง [สมบัติตั้งคำถามการแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับรัฐประหารของชัยวัฒน์] เขาไม่กล้าที่จะถกเถียงกับคำวิจารณ์ด้านที่เขาแสดงท่าทีอ่อนข้อให้กับการรัฐประหารในประเด็นเรื่องความรุนแรง [“รัฐประหารที่ทำไปอย่างไม่รุนแรง”] และการสนับสนุน [“เข้าใจ”] ข้ออ้างรัฐประหารของเขา)


ปัจฉิมลิขิต

ในบทความของชัยวัฒน์ ได้อ้างบทความของสมบัติ จันทรวงศ์ หลายตอน ในต้นฉบับบทความของชัยวัฒน์ที่ผมอ่าน ไม่มีบทความฉบับเต็มของสมบัติอยู่ด้วย (4) แต่เท่าที่อ่านจากการสรุปอย่างกว้างขวางของชัยวัฒน์ บอกได้เพียงว่า ถ้อยคำบางตอนที่สมบัติใช้ในการแก้ต่างให้กับรัฐประหารตามที่ชัยวัฒน์ยกมา (ถ้อยคำแบบนิยายน้ำเน่า melodramatic ประเภท “กองทหารซึ่งใช้ในวันที่ 19 กันยา เป็นปฏิกิริยาของสังคมประชาธิปไตยต่อรัฐบาลซึ่งมีปัญหา” หรือ “democratic means has nothing to do when a democratic society is fighting for its survival - ไม่มีที่ทางสำหรับวิธีการประชาธิปไตยในเวลาที่สังคมประชาธิปไตยต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด” กระทั่งดูเหมือนจะเปรียบเทียบสถานการณ์ทักษิณ กับความยากลำบากของยิวในค่ายกักกันนาซี) เกือบจะทำให้ผมอาเจียนออกมาจริงๆ ผมสงสัยอย่างเศร้าใจมากๆ ว่า ทำไมนะคณะรัฐศาสตร์ ทั้งที่นี่และจุฬาฯ (กรณีไชยันต์ ไชยพร ก่อนหน้านี้) จึงมีหลายนักวิชาการที่เก่งแต่นำเสนอตัวเองว่าเป็น "นักปรัชญาการเมือง" พูดอ้างกรีกให้ฟังดูขลังๆ เพียงเพื่ออำพรางด้านที่ขี้ขลาดตาขาว ไม่มีหลักการของตัวเองอย่างสุดๆ (คือทำตัวเป็นแบบโสกราตีสจริงๆ ไม่ได้ ก็ขอพูดเรื่องโสกราตีสแบบคล่องปาก เพื่อให้คนอื่นและตัวเองหลงเชื่อว่าตัวเองเป็นเหมือนโสกราตีสก็ยังดี) ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่น่าสะอิดสะเอียน เหมือนกับเวลาฟังใครบางคนทำตัวเป็น "แบบอย่างทางจริยธรรม" นั่นแหละ (ในงานของ “นักปรัชญาการเมือง” อย่างสมบัติ ไม่เคยแตะต้องพูดถึง “อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” เลย แม้แต่นิดเดียวอย่างจงใจ แต่กลับแสดงท่าทีสูงส่งทางจริยธรรมเมื่อพูดถึงนักการเมือง)

แล้วผมก็อดคิดต่อไม่ได้ว่า ยิ่งกว่านักวิชาการของคณะใดๆ ทั้งหมด นักวิชาการจำนวนมากของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ (ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย) ซึ่งอาศัยเครดิตของความเป็นผู้ที่ชาวบ้านหลงเชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านการเมืองและกฎหมาย ช่างทำตัวเป็นแบบอย่างของ “ข้าแผ่นดินผู้จงรักภักดี” เสียนี่กระไร อะไรที่เป็นไป “เพื่อในหลวง” (รัฐประหารครั้งนี้คืออะไรถ้าไม่ใช่การการกำจัด “รัฐบาลที่มีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ไปในทางหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”?) ก็พร้อมจะออกมาให้การสนับสนุน นำเสนอให้ดูดีไปได้หมด (หรือไม่ดูแย่จนเกินไป) ไม่ว่าในแง่การเมืองหรือกฎหมาย หรือมองอีกอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่อย่างประชดแบบเมื่อครู่) ก็ต้องบอกว่า นักวิชาการไทยที่ควรจะเป็น “เสาหลักทางภูมิปัญญา” ให้กับสังคมและประชาธิปไตยไทยมากที่สุด เพราะควรจะรู้เรื่องหลักการ-ความถูกผิดทางการเมืองและกฎหมายดีที่สุด กลับทำตัวได้แย่ที่สุด กว่านักวิชาการสาขาอื่นๆ

โอกาสที่ไม่มีใครฉวย?

(11 มกราคม 2550)



หมายเหตุ : บันทึกข้างล่างนี้ ผมเขียนไว้หลายวันแล้ว แต่ไม่เสร็จ (ส่วนที่เป็น ...... ตอนท้าย คือส่วนทีตั้งใจจะเขียนแต่ไม่เสร็จ) และลังเลที่จะทำให้เสร็จหรือโพสต์เผยแพร่ (จึงปล่อยทิ้งไว้) แต่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการ confirm ในบางประเด็นที่เขียน การพูดของสนธิเรื่อง "หน่อมแน้ม" การออกมาขู่หนังสือพิมพ์ของ สะพรั่ง กับโฆษก คมช. ผมคิดว่าล้วนเป็นการยืนยันว่า คมช.-รัฐบาลนี้อยู่ในฐานะลำบากมากกว่าที่พวกเขาหวังหรือคาดไว้เมื่อทำรัฐประหาร ผมจึงลองโพสต์ดู เพื่อนำไปคิด-อภิปรายกันต่อ




คิดดังๆ : โอกาสที่ไม่มีใครฉวย?


ผมไม่แน่ใจว่า คิดไปเองหรือไม่ แต่มีความรู้สึกว่า ขณะนี้ เครดิต หรือ ความนิยม ในรัฐบาล-คมช. ไม่สูง หรือ ไม่หนักแน่นมากนัก ประเด็นสำคัญคือ ลักษณะไม่มีความสามารถ (imcompetent) ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องใหญ่โตอย่างกรณีควบคุมค่าเงินบาทเท่านั้น แต่รวมถึง ลักษณะการพูดกันคนละอย่างสองอย่าง ลักษณะการทำงานในลักษณะที่ภาษาสมัยนี้เรียกกันว่า "ไม่เป็นมืออาชีพ" (un-professional) แสดงออกที่เรื่อง "พลาด" แบบ "เล็กๆ" อื่นๆ ที่มีมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องล็อตเตอรี่ ไปจนถึงการตั้งทหารเป็นประธานรัฐวิสาหกิจ การเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติที่ไม่ "สวย" อย่างที่พยายามสร้างภาพไว้ เรื่องเขายายเที่ยง ทะเบียนสมรสซ้อน ทะเลาะชวลิต สภานิติฯที่ตั้งมาไม่ได้ทำอะไรให้เห็น บทบาทสะพรั่ง กระทั่งบทบาทของเปรมที่ออกมาอย่างมาก ก็ทำให้หลายคนไม่สบายใจลึกๆ (uneasy) ผมไม่คิดว่า (นอกจากคนจำนวนน้อย - ธีรยุทธคงเป็นคนหนึ่งกระมัง?) เครดิตเปรมสูงอย่างที่เขาเองคิด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ผมคิดว่า มีน้อยคนมากที่จะรู้สึกสบายใจที่เห็นประธานองคมนตรีมามีบทบาทออกหน้ามากขนาดนี้ ... ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องรวมถึงเรื่องระเบิดปีใหม่เลย แต่เมื่อรวมเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ฐานะจริงของรัฐบาล-คมช.มีความไม่มั่นคงไม่น้อย (มากในระดับที่คงไม่มีคาดถึงเมื่อรัฐประหารใหม่ๆ)

(ผมจำได้ว่า เคยเขียนกระทู้เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ๆว่า พวกคนประเภท คมช.มักประเมินตัวเองสูงเกินจริง ขนาดสมัย รสช. ที่มี คนระดับอานันท์ มาช่วยขัดตาทัพ ยังอยู่ในอำนาจได้เพียงปีเดียว แต่พวกนี้มือไม่ถึงขั้นอานันท์ด้วยซ้ำ และสถานการณ์ก็เปลียนไปจาก 15 ปีที่แล้วมาก ทำไมจึงคิดว่าจะคุมอยู่)

ปัญหาคือ คนจำนวนมากไม่ได้อยากจะกลับไปสู่ก่อน 19 กันยา อย่างเบ็ดเสร็จ พูดง่ายๆคือ ไม่อยากให้ทักษิณกลับมา เรื่องนี้ ไม่จำเป็นว่า เพราะไม่ชอบทักษิณเท่านั้น (แน่นอนที่ไม่ชอบมากๆก็ยังมีอยู่) แต่คือ ไม่อยากผ่านประสบการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองสังคมเหมือนปีที่แล้วอีก ผมคิดว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่

(ผมอ่านกระทู้ของคุณอะไรที่ว่าเป็นอดีตนักข่าวหลาย นสพ. เขียนถึงประเด็นทำนองนี้ว่า ในหมู่ นสพ. ความจริง รู้ดีเรื่องความไม่เอาไหน ปัญหาเชิงการกระทำผิดระเบียบของรัฐบาล คมช. แต่ไม่ยอมเขียน เพราะไม่อยากให้ทักษิณกลับมา ผมไม่ถึงกับเชื่อ 100 เปอร์เซนต์ที่เขาเล่า แต่รู้สึกว่า ฟังดูน่าจะมีส่วนจริงๆไม่น้อย)

สรุปแล้ว ในความรู้สึกของคนจำนวนมากคือ อยากให้รัฐบาลหรือ regime นี้ยุติลง แต่ก็ไม่อยากกลับไปก่อน 19 กันยา ดังนั้น เป็นธรรมดาที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ปัญหาคือ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่มีเครดิตมากนัก (นรนิติ อย่างไรเสียก็ไม่ใช่ อานันท์)

ดังนั้น ไม่จำเป็นว่า จะต้องเชื่อหมอดูหลายต่อหลายคนที่พูดเป็นเอกภาพอย่างประหลาดว่า ปีนี้ ดวงเมืองไม่ดี จะเกิดอาเพธ อาจถึงขั้นนองเลือด... ไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องพวกนี้ ใครที่สนใจข่าวสารบ้าง ก็ต้องรู้สึกในเชิงหวั่นๆอยู่ลึกๆถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังร่างรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร, การลงประชามติ ฯลฯ) .....

ผมไม่แน่ใจว่าคิดไปเองหรือไม่ แต่ผมรู้สึกว่า ถ้ามีข้อเสนอที่ยุติภาวะเช่นนี้ ที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่า ดีกว่า ภาวะไม่แน่ไม่นอน ภาวะรัฐบาลไม่มีความสามารถ อย่างที่เป็นอยู่ อาจเป็นไปได้ก็ได้ที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง อาจเป็นไปได้ที่จะยุติ regime ของ คมช. เร็วกว่าที่คิด?

ปัญหาคือ ข้อเสนออะไร?

เลือกตั้งทันที
Elections Now

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเสนอ และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ถ้าเราเสนอว่า แทนที่จะปล่อยให้เกิดภาวะไม่แน่ไม่นอน ซึ่งมีแต่ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองสังคมเพิ่มมากขึ้นๆ (ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ) และในที่สุด อาจจะเสี่ยงต่อภาวะวิกฤติ การปะทะ นองเลือด ในอนาคต ได้ ... แทนที่จะทนอยู่กับภาวะเช่นนี้ ทำไมเรามาเลือกตั้งทันที ให้มีทั้งสภาและรัฐบาลเลือกตั้งตัวจริงทันที (แน่นอนไม่ใช่ภายในวันนี้พรุ่งนี แต่เร็วที่สุด ซึ่งน่าจะทำได้ภายใน 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง หลังการยอมรับข้อเสนอนี้)

แล้วให้ทั้งรัฐสภาและรัฐบาลเลือกตั้งตัวจริง ทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เอง ขณะเดียวกันทหารก็ยุติบทบาทโดยทันที

ข้อเสนอนี้ มีปมปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ให้ตกก่อน:
จะเอายังไงกับทักษิณ?

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่ากระบวนการ เล่นงานล้างแค้นทักษิณอยู่ในขณะนี้ (คตส. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องยุบพรรค) เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม เป็น "กระบวนการยุติธรรมใต้ดาบปลายปืน" ซึ่งสมควรยกเลิก...

ปัญหาคือ ผมเชื่อว่า คนจำนวนมาก ไม่ต้องการกลับสู่ภาวะทักษิณเป็นผู้นำอีก (ดังกล่าวตอนต้น) พูดอีกอย่างคือ ข้อเรียกร้องใดๆที่มีนัยยะถึงการกลับสู่ก่อน 19 กันยา ในลักษณะทีทักษิณกลับเป็นผู้นำเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่ยากจะสำเร็จหรือได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง (นี่คือความจริง ที่ผมคิดว่าควรพยายามทำให้ผู้สนับสนุนทักษิณกล่มต่างๆ พิราบขาว, คนวันเสาร์ ฯลฯ ยอมรับ)

แต่จะทำอย่างไรที่จะยกเลิก ทำให้เป็นโมฆะกระบวนการเล่นงานล้างแค้นทักษิณในขณะนี้ แต่ไม่ถึงกับให้ทักษิณกลับมาทางการเมืองทันที?

..............


ผมจึงรู้สึกว่า อันที่จริง หากมีการเสนออย่างหนักแน่น โดยกลุ่มคนที่มีเครดิตทางสังคมพอสมควร ให้ "ยุติบทบาท ทหาร เดี๋ยวนี้ เลือกตั้งทันที" ..............