Saturday, December 30, 2006

ทำไมทหารไทยจึงทำรัฐประหารได้?

(29 ธันวาคม 2549)



ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ทหารทำรัฐประหารได้ ต้องมี "เงื่อนไขการเมือง" (political conditions of possibility of a military coup) เพราะรัฐประหารคือ "การเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง" (military coup is a continuation of politics by other means) การเมืองจะแปรไปเป็น (continuation) รัฐประหาร ได้หรือไม่ ต้องดูที่การเมืองนั้นเอง

คำว่า "การเมือง" ในทีนี้มีทั้งในระดับ "โครงสร้าง" คือรูปแบบของรัฐและอุดมการณ์ และในระดับ "สถานการณ์" (การเมืองในระดับแคบ)

การเมืองระดับหลังขอไม่พูด เพราะเห็นกันชัดเจนทั่วไป (สถานการณ์แอนตี้ทักษิณในระยะ 1 ปีเศษที่ผ่านมา) ขอพูดถึงประเด็น "การเมือง" ระดับ "โครงสร้าง" คือ ระดับ "รูปการ/ระบอบการปกครอง" และ "อุดมการณ์" ที่ใช้สร้างความชอบธรรมควบคู่กัน (form of government/state and its accompanying justificatory ideological component)

ในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ไม่ใช่ไม่มี "คอรัปชั่น" หรือเรื่องอื้อฉาว (scandals) ใหญ่ๆ ไม่ใช่ไม่มี "รัฐบาลเลือกตั้งมือเปื้อนเลือด" (แบบที่คนโจมตีทักษิณเรื่อง 2500 ศพ, ภาคใต้ - ลองนึกถึงอีรัก มีรัฐบาลเลือกตั้งกี่ประเทศเกี่ยวข้อง อเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, อิตาลี, เสปน (สมัยหนึ่ง), ญี่ปุ่น ฯลฯ) แต่ไม่มีใครคิดว่า ทหารจะทำรัฐประหารได้ หรือควรทำรัฐประหาร เพราะทุกคนยอมรับการเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินอำนาจรัฐสูงสุด แม้ว่าการตัดสินนั้น จะออกมาแย่อย่างไร (เลือกมาแล้ว รัฐนั้นกลับกลายเป็นคอรัปชั่น หรือ เลือกแพ้ ฝ่ายที่ชนะ คือฝ่ายที่ทำสงครามที่ทำให้คนตายนับไม่ถ้วน (ไอเดียเรื่อง "รัฐบาลมือเปื้อนเลือด") ทุกคนก็ยอมรับการเลือกตั้ง ในฐานะวิธีเดียวที่จะตัดสินใจว่ารัฐสูงสุดควรเป็นใครอย่างไร

ในประเทศไทย มีสถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจรัฐมหาศาล แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องขึ้นต่อกระบวนการเลือกตั้ง - เสนอนโยบาย, "หาเสียง", "วิจารณ์-เปิดโปง" ได้ ทั้งเรื่อง "สาธารณะ" และเรื่อง "ส่วนตัว" (ครอบครัว รายได้ การใช้จ่าย ฯลฯ)

ตราบเท่าที่มีโครงสร้างการเมืองเช่นนี้ ก็ไม่มีทางที่การเมืองในระดับโครงสร้าง-อุดมการณ์ซึ่งปิดทางรัฐประหารแบบของประเทศที่พูดถึงข้างต้น จะสามารถมีที่มั่นอย่างถาวรได้ เพราะใน "จิตใต้สำนึก" ของทุกคน รู้ดีว่า ส่วนที่สำคัญมาก - มากที่สุด - ของรัฐ ไม่ใช่อะไรที่ได้มาด้วยการเลือกตั้ง หรือกระบวนการเลือกตั้ง นี่เป็นความจริงที่ทุกคน "ยอมรับ" เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต*

[* ในปี 2538 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนบทความวิจารณ์พวกที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนอองซานซูยี ที่พรรคของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า แต่ถูกกองทัพพม่าปราบปรามอย่างนองเลือด (เหตุการณ์ 8/8/88) ตอนหนึ่งว่า "ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่าพ่อแม่ผมก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ผมรักเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข....ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีสถาบันและผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ให้ยอมรับนับถือกันเลยหรือ"]


นี่คือเงื่อนไข (ทางการเมือง) ที่แท้จริง ที่ทำให้ทหารสามารถทำรัฐประหารได้ (political conditions of possibility of military coup)


ในหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของ (ที่สำคัญที่สุด) นิธิและเกษียร ที่โจมตีการเลือกตั้ง จึงเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในทางประวัติศาสตร์

(นี่ไม่ใช่การ "แบล็กเมล์" ที่เกษียรพูดถึงไม่นานมานี้ แต่ผมหวังว่า สักวัน พวกเขาควรต้อง take responsibility ต่อความผิดพลาดสำคัญนี้)

การเลือกตั้งที่เป็นปัญหา ไม่ใช่แก้ด้วยการวิจารณ์โจมตีการเลือกตั้ง แต่ด้วยการ "ขยายการเลือกตั้ง" ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น และยืนยันว่า การเลือกตั้งควรต้องเป็นวิธีเดียวที่ใช้ตัดสินอำนาจรัฐ



ปล. ขอให้สังเกตว่า ในบรรดาแอ๊กติวิสต์ปัญญาชน ที่ชูคำขวัญ "ไม่เอานายกฯพระราชทาน ทักษิณต้องออกไป" (ที่ผมเรียกว่าพวก "2 ไม่เอา") นั้น แท้จริง ก็ไม่เคยยอมรับโครงสร้างการเมืองแบบเลือกตั้งอย่างแท้จริงเช่นกัน และนี่คือความผิดทางยุทธศาสตร์ที่น่าเศร้าของพวกเขา